Onlinenewstime.com : ผลสำรวจความคิดเห็นออนไลน์ของเยาวชนจำนวน 40,000 คนในกว่า 150 ประเทศทั่วโลกพบว่า คนหนุ่มสาวจำนวนมาก รู้สึกว่า การศึกษาในปัจจุบัน ยังขาดการเสริมสร้างทักษะที่จำเป็นต่อการหางานทำในอนาคต
1 ใน 3 (31%) ของเยาวชนที่ตอบแบบสำรวจของยูนิเซฟ (UNICEF) ผ่านแพลตฟอร์ม U-Report กล่าวว่า โครงการฝึกอบรม และทักษะที่พวกเขาได้รับ ไม่ตรงกับความต้องการ และมากกว่า 1 ใน 3 ของผู้ตอบแบบสำรวจ (39%) ยังกล่าวด้วยว่า ตนไม่สามารถหางานที่อยากทำได้ ในชุมชนที่อาศัยอยู่
ทั้งนี้ จากการสำรวจพบว่า ทักษะสำคัญที่เยาวชนต้องการ เพื่อช่วยให้พวกเขาได้มีงานทำในอีกทศวรรษหน้าประกอบด้วย ทักษะความเป็นผู้นำ (22%) ตามมาด้วยทักษะการคิดเชิงวิเคราะห์และนวัตกรรม (19%) และทักษะด้านการประมวลผลข้อมูล (16%)
ก่อนหน้านี้ ผลสำรวจทั่วโลกของ PwC [1] พบว่า 74% ของซีอีโอทั่วโลก มีความกังวลเกี่ยวกับการเฟ้นหาบุคลากร ที่มีทักษะที่ใช่เพื่อช่วยขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโต
เพื่อรับมือกับความท้าทายเหล่านี้ ทางยูนิเซฟและ PwC ได้ผนึกกำลังกันในช่วง 3 ปีข้างหน้า เพื่อช่วยให้เยาวชนทั่วโลก ได้มีทักษะที่จำเป็นสำหรับการทำงานในอนาคต โดยจะสนับสนุนการวิจัย เกี่ยวกับความท้าทายด้านทักษะทั่วโลก ตลอดจนมีการพัฒนา ขยายขอบเขต และให้ทุนการศึกษาและการฝึกทักษะในประเทศต่าง ๆ รวมถึงอินเดียและแอฟริกาใต้
“เยาวชนกำลังบอกเราว่า พวกเขาต้องการทักษะดิจิทัล และทักษะที่ถ่ายทอดได้ เพื่อให้ตนสามารถประสบความสำเร็จ ในการทำงานในอนาคต” นางเฮนเรียตตา โฟร์ผู้อำนวยการบริหาร องค์การยูนิเซฟ กล่าว “การตอบสนองความต้องการนี้ จะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยการร่วมมือกัน ระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนทั่วโลก นั่นเป็นเหตุผลที่เราร่วมมือกับพันธมิตรอย่าง PwC เพื่อมอบโอกาสให้เยาวชนทั่วโลก ได้เติบโตและมีเจริญความก้าวหน้า”
ทุกเดือน มีเยาวชนราว 10 ล้านคนที่ก้าวเข้าสู่วัยทำงาน โดยส่วนใหญ่อยู่ในประเทศที่มีรายได้ต่ำและรายได้ปานกลาง โดยผลจากการวิจัยทั่วโลกพบว่า เยาวชนในประเทศเหล่านี้ ใช้เวลาถึง 1 ปีครึ่งโดยเฉลี่ยในการเข้าสู่ตลาดแรงงาน และต้องใช้เวลานานถึง 4 ปีครึ่ง กว่าจะได้งานที่เหมาะสมทำเป็นงานแรก [2] สถานการณ์นี้อาจมีแนวโน้มแย่ลง หากไม่ได้รับการแก้ไข เนื่องจาก 20-40% ของงานที่คนหนุ่มสาวอายุระหว่าง 16-24 ปีทำอยู่ในปัจจุบัน มีความเสี่ยง ที่จะถูกแทนที่ด้วยระบบอัตโนมัติภายในกลางทศวรรษหน้า[3]
“เราเชื่อว่าภาคธุรกิจมี ส่วนรับผิดชอบในการช่วยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย แก้ไขปัญหาที่ท้าทาย ในการยกระดับทักษะ ครอบคลุมถึงชุมชนที่เราอาศัย ทำงาน รวมถึงพลเมืองโดยรวมทั้งหมด ซึ่งนี่ความเชื่อนี้ ยังมีความสมเหตุสมผลในทางธุรกิจด้วย
โดยผลการสำรวจความคิดเห็น ของซีอีโอทั่วโลกล่าสุดของ PwC พบว่า 3 ใน 4 ของซีอีโอกล่าวว่า การขาดแคลนทักษะ เป็นความกังวลและความเสี่ยงที่สำคัญ ในขณะเดียวกัน คนจำนวนมาก ที่ต้องการการยกระดับทักษะมากที่สุด กลับได้รับโอกาสน้อยที่สุด” นาย บ๊อบ มอริตซ์ ประธาน PwC โกลบอล กล่าว
“ด้วยการผนึกกำลังกับยูนิเซฟ เราเชื่อว่าจะสามารถช่วยผู้คนจำนวนมากที่ อาจถูกทิ้งไว้ข้างหลัง และเราตั้งเป้าว่า ด้วยความร่วมมือกัน เราจะสามารถยกระดับทักษะให้แก่เยาวชนได้อีกหลายล้านคน”
ความร่วมมือระหว่างยูนิเซฟ และ PwC จะช่วยสนับสนุนแพลตฟอร์ม Reskilling Revolution ของ World Economic Forum ซึ่งทั้งคู่เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง โดยแพลตฟอร์มดังกล่าว มีเป้าหมาย ในการยกระดับการจ้างงาน การศึกษา และการเสริมสร้างทักษะที่ดีขึ้นให้แก่ผู้คนกว่า 1 พันล้านคนในอีก 10 ปีข้างหน้า
ทักษะ ความเชี่ยวชาญ และทรัพยากรของ PwC จะช่วยสนับสนุนโครงการเยาวชนกล้าคิด สะกิดสังคม (Generation Unlimited) ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือระดับโลก
ที่จัดทำขึ้นโดยยูนิเซฟ เพื่อช่วยให้เยาวชนประสบความสำเร็จ ในการเปลี่ยนผ่านจากการศึกษาและการฝึกอบรม
ไปสู่การมีงานทำที่เหมาะสม ซึ่งทาง PwC และ Generation
Unlimited จะร่วมมือกับภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมในการพัฒนาโอกาสการลงทุน ริเริ่มโครงการและนวัตกรรม
ที่สนับสนุนให้เยาวชนได้เติบโตเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพและมีส่วนร่วมในสังคม
ข้อมูลอ้างอิง
[1] PwC’s 23rd Annual Global CEO Survey
[2] Manacorda, Marco, et al., Pathways from School to Work in the Developing World, IZA DP No. 9456, 2015