Site icon Onlinenewstime.com – News and Knowledge to sustainability

10 เทคนิครับฟัง ช่วยลดความสูญเสียด้านสุขภาพจิต

Onlinenewstime.com : กรมสุขภาพจิต แนะเทคนิคในการเปิดใจรับฟังกัน 10 ประการ ตามแนวคิด “ฟังกัน…วันละสิบ” ให้เป็นเครื่องมือที่ทุกคนสามารถทำได้ เพื่อช่วยให้คนไทยเข้าใจกันมากขึ้น รับฟังกันมากขึ้น ลดความสูญเสียด้านสุขภาพจิต และส่งเสริมให้คนไทยมีสุขภาพใจที่เข้มแข็ง

นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ปัจจุบันผู้คนเริ่มให้ความสำคัญกับความรู้ด้านสุขภาพจิตมากขึ้น ไม่ต่างจากสุขภาพทางกาย แต่ปัญหาด้านสุขภาพจิตและความสูญเสียที่เกิดขึ้นยังคงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก โลกยุคใหม่ที่เร่งรีบ เคร่งเครียดมากขึ้น มีเวลาให้กันน้อยลง สาเหตุเหล่านี้นำไปสู่ความเครียดและปัญหาด้านสุขภาพจิตอื่นๆ ตามมา อาทิ โรคซึมเศร้า ที่มีผู้ประสบกับปัญหานี้อยู่ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคนทั่วประเทศ และมีตัวเลขผู้เสียชีวิตกว่า 4,000 รายต่อปีจากการฆ่าตัวตาย หรือมีคนเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย 1 รายในทุก 2 ชั่วโมง รวมทั้งมีคนพยายามฆ่าตัวตายปีละ 53,000 คน หรือมีคนพยายามฆ่าตัวตายทุก 9 นาที 55 วินาที

ซึ่งกรมสุขภาพจิตได้เล็งเห็นถึงความสำคัญดังกล่าว จึงจัดกิจกรรมรณรงค์เนื่องในงานสัปดาห์สุขภาพจิตแห่งชาติตามจุดต่างๆ ขึ้นทั่วประเทศมากกว่า 20 แห่งตลอดเดือนพฤศจิกายนนี้ เพื่อให้คนไทยมีสุขภาพจิตที่ดี โดยเป็นการร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานในสังกัดกรมสุขภาพจิตกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนทั่วประเทศ เน้นสุขภาพจิตไทย ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยไม่ละเลยคนที่มีความเสี่ยงหรือกำลังประสบปัญหาด้านสุขภาพจิต และหยิบยื่นความช่วยเหลือออกไปให้คนรอบข้าง เริ่มจากจุดเล็กๆ เช่น ครอบครัว โรงเรียน ที่ทำงาน และขยายไปสู่จุดที่ใหญ่ขึ้น เช่น องค์กร ชุมชน และสังคมไทย

อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า เพื่อเป็นการรณรงค์แสดงพลังและสร้างความตระหนักถึงความเข้าใจด้านสุขภาพจิตอย่างต่อเนื่อง กรมสุขภาพจิต ขอแนะนำเทคนิคในการเปิดใจรับฟังกัน 10 ประการ ตามแนวคิด “ฟังกัน…วันละสิบ” เพราะการรับฟังคือพลังที่ดีที่สุด รวมทั้งเพื่อสื่อถึงการให้คนไทยใช้เวลารับฟังคนรอบตัวให้ได้ครบ 10 ครั้งในหนึ่งวัน หรือใช้เวลารับฟังกันเพิ่มขึ้นอีกวันละ 10 นาที ดังนี้

10 เทคนิครับฟัง ช่วยลดความสูญเสียด้านสุขภาพจิต

1. แสดงความใส่ใจ ประสานสายตา พยักหน้าตอบรับด้วยท่าทีอบอุ่น

2. ฟังอย่างเปิดใจ แล้วทำความเข้าใจผู้พูดให้มาก เพราะถ้าเราฟังเพื่อเข้าใจเขา เราจะรับรู้ตามความเป็นจริง

3. ใจอยู่กับผู้พูดตลอด ไม่เผลอคิดเรื่องอื่น ไม่เผลอคิดแทนว่า เขาควร… หรือตัดสินว่า เขาเป็นแบบนั้นแบบนี้

4. สังเกตภาษากายของผู้พูด สีหน้า แววตา ท่าทาง ตั้งแต่เริ่มพูดคุยเป็นอย่างไร ระหว่างที่คุยหรือแม้แต่สิ้นสุดการคุยว่าเปลี่ยนแปลงอย่างไร

5. ฟังน้ำเสียง จังหวะการพูด ว่าเขามีอารมณ์ความรู้สึกอย่างไรต่อเรื่องที่เล่า

6. ระหว่างที่ฟัง เราพยักหน้าหรือขานรับเป็นระยะๆ ให้รู้ว่า เราฟังเค้าอยู่ ก็จะช่วยให้เขาเปิดใจที่จะพูดเพิ่มขึ้น

7. มีการทวนข้อความ หรือซักถามประเด็นเพิ่มเติม เพื่อเราและเขาเข้าใจตรงกันในเนื้อหาที่กำลังสนทนา

8. การฟัง จะช่วยให้พวกเขาได้ระบายความเครียดออกมา พวกเขาจะรู้สึกมีคนที่พร้อมจะเป็นเพื่อนและอยู่เคียงข้างเขา

9. คนทุกคนอยากมีค่าในสายตาของใครสักคนเสมอ

10. เราสามารถใช้ใจของเรารับรู้อารมณ์ ความรู้สึกของผู้พูดได้

อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าวทิ้งท้ายว่า ขอแค่ตั้งใจเรียนรู้และฝึกฝน ซึ่งจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ทุกคนสามารถทำได้ โดยการ “ใช้หัวใจฟัง” ให้ได้ยิน ในวันที่เขายังมีลมหายใจอยู่ข้างๆ คุณ จะช่วยให้คนไทยเข้าใจกันมากขึ้น ห่วงใยกันมากขึ้น และได้ระบายความทุกข์ใจก่อนที่จะสะสมจนกลายเป็นปัญหาด้านสุขภาพจิตตามมา รวมทั้งเพื่อช่วยลดความสูญเสียด้านสุขภาพจิต และส่งเสริมให้คนไทยมีสุขภาพใจที่เข้มแข็ง

Exit mobile version