fbpx
News update

11 เดือนปี 2566 สถิติต่างชาติลงทุนในไทย 98,288 ล้านบาท

เป็นการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จำนวน 209 ราย และการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว (ผ่านช่องทางการลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน หรือได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และการใช้สิทธิตามสนธิสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศ) จำนวน 403 ราย เงินลงทุนทั้งสิ้น 98,288 ล้านบาท จ้างงานคนไทย 6,086 คน

โดยชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุน 5 อันดับแรก ได้แก่

1. ญี่ปุ่น 129 ราย คิดเป็นร้อยละ 21 ของจำนวนธุรกิจต่างชาติในไทยในช่วง 11 เดือนของปี 2566 มีเงินลงทุน 30,106 ล้านบาท ในธุรกิจ อาทิ ธุรกิจบริการขุดเจาะหลุมปิโตรเลียมภายในบริเวณพื้นที่แปลงสำรวจที่ได้รับสัมปทานในอ่าวไทย

ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตชิ้นส่วนยานพาหนะ และธุรกิจบริการทางวิศวกรรมและเทคนิค เช่น การวิเคราะห์และประมวลผลข้อมูลการใช้ก๊าซเรือนกระจกในกิจกรรมต่างๆ ของธุรกิจ เป็นต้น

2. สิงคโปร์ 95 ราย คิดเป็นร้อยละ 16 ของจำนวนธุรกิจต่างชาติในไทยในช่วง 11 เดือนของปี 2566 มีเงินลงทุน 22,219 ล้านบาท ในธุรกิจ อาทิ ธุรกิจนายหน้าประกันชีวิต/ประกันวินาศภัย ธุรกิจโรงแรม และธุรกิจการให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

3. สหรัฐอเมริกา 95 ราย คิดเป็นร้อยละ 16 ของจำนวนธุรกิจต่างชาติในไทยในช่วง 11 เดือนของปี 2566  
มีเงินลงทุน 4,235 ล้านบาท ในธุรกิจ อาทิ ธุรกิจบริการให้ใช้สิทธิและให้ใช้ช่วงสิทธิซอฟต์แวร์ที่ใช้ในธุรกิจและอุตสาหกรรมทุกประเภท

ธุรกิจบริการออกแบบและพัฒนา ติดตั้ง วางระบบเกี่ยวกับโปรแกรมซอฟต์แวร์ (Software) และแอปพลิเคชัน (Application) ที่ใช้สำหรับการดำเนินธุรกิจและให้บริการด้านการธนาคารและด้านการเงิน และธุรกิจนายหน้าและตัวแทนจัดซื้อ จัดหา และจัดจำหน่ายสินค้าประเภทรถยนต์ไฟฟ้าและรถทุกชนิด เป็นต้น

4. จีน 56 ราย คิดเป็นร้อยละ 9 ของจำนวนธุรกิจต่างชาติในไทยในช่วง 11 เดือนของปี 2566 มีเงินลงทุน 15,818 ล้านบาท ในธุรกิจ อาทิ ธุรกิจบริการก่อสร้าง รวมทั้งติดตั้งและทดสอบเกี่ยวกับการวางท่อส่งก๊าซธรรมชาติและสถานีควบคุมก๊าซธรรมชาติ ธุรกิจบริการบำรุงรักษาหลุมขุดเจาะปิโตรเลียมบนชายฝั่ง และธุรกิจบริการรับจ้างผลิตผลิตภัณฑ์กลุ่มภาพและเสียง (Audio Visual Product) และ Network Device เป็นต้น

5. ฮ่องกง 26 ราย คิดเป็นร้อยละ 4 ของจำนวนธุรกิจต่างชาติในไทยในช่วง 11 เดือนของปี 2566 มีเงินลงทุน 5,813 ล้านบาท ในธุรกิจ อาทิ ธุรกิจบริการบำรุงรักษา และซ่อมแซมรถยนต์ไฟฟ้า ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตท่อเหล็กไร้ตะเข็บ และธุรกิจบริการจองบัตรโดยสารสายการบินผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ เป็นต้น

ถือได้ว่าการเข้ามาประกอบธุรกิจของคนต่างชาติในไทยช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมข้างต้น
มีส่วนช่วยในการถ่ายทอดเทคโนโลยีอันเป็นองค์ความรู้เฉพาะด้านจากประเทศผู้เข้ามาลงทุนให้แก่คนไทย เช่น องค์ความรู้เกี่ยวกับการขุดเจาะปิโตรเลียม องค์ความรู้เกี่ยวกับการออกแบบระบบไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ในโครงการรถไฟฟ้า องค์ความรู้เกี่ยวกับระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบก และองค์ความรู้เกี่ยวกับวิธีการบำรุงรักษาและดูแลชิ้นส่วน เครื่องมือ อุปกรณ์ สำหรับงานซ่อมบำรุงโรงไฟฟ้า เป็นต้น

เมื่อเปรียบเทียบช่วงมกราคม – พฤศจิกายน ของปี 2565 พบว่า การอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย เพิ่มขึ้น 82 ราย คิดเป็นร้อยละ 15 (เดือน ม.ค. – พ.ย.66 อนุญาต 612 ราย / เดือน ม.ค. – พ.ย.65 อนุญาต 530 ราย)

โดยแม้มูลค่าการลงทุนจะลดลง 14,169 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 13 (เดือน ม.ค. – พ.ย.66 ลงทุน 98,288 ล้านบาท / เดือน ม.ค. – พ.ย.65 ลงทุน 112,457 ล้านบาท) แต่มีการจ้างงานคนไทยเพิ่มขึ้น 1,078 ราย คิดเป็นร้อยละ 22 (เดือน ม.ค.- พ.ย.66 จ้างงาน 6,086 คน / เดือน ม.ค. – พ.ย.65 จ้างงาน 5,008 คน) โดยจำนวนนักลงทุนที่เข้ามาสูงสุดยังคงเป็นนักลงทุนญี่ปุ่น เช่นเดียวกับปี 2565

ธุรกิจที่ได้รับอนุญาตเดือนมกราคม – พฤศจิกายน 2566 ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจที่สอดคล้องกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ นโยบายการส่งเสริมการลงทุนเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ อาทิ

  • บริการที่เกี่ยวข้องกับการขุดเจาะหลุมปิโตรเลียม
  • บริการออกแบบ จัดซื้อ จัดหา ติดตั้ง ปรับปรุง พัฒนา ทดลองระบบ สำหรับโครงการรถไฟฟ้า
  • บริการก่อสร้าง ติดตั้งและทดสอบระบบ สำหรับโครงการระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบก
  • บริการเกี่ยวกับการพัฒนาซอฟต์แวร์ และการพัฒนาแพลตฟอร์ม
  • บริการเป็นศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ ซึ่งให้บริการแก่กิจการของวิสาหกิจในเครือในต่างประเทศ

นางอรมนฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการลงทุนในพื้นที่ EEC ของนักลงทุนต่างชาติ เดือนมกราคม – พฤศจิกายน 2566 มีนักลงทุนต่างชาติสนใจลงทุนในพื้นที่ EEC จำนวน 120 ราย คิดเป็นร้อยละ 20 ของจำนวนนักลงทุนต่างชาติในไทยในช่วง 11 เดือนของปี 2566

ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2565 ในช่วงเวลาเดียวกัน ร้อยละ 15 โดยมีมูลค่าการลงทุนในพื้นที่ EEC 19,531 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 20 ของเงินลงทุนทั้งหมด

เป็นนักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่น 43 ราย ลงทุน 6,853 ล้านบาท จีน 28 ราย ลงทุน 3,927 ล้านบาท ฮ่องกง 6 ราย ลงทุน 4,046 ล้านบาท และประเทศอื่นๆ อีก 43 ราย ลงทุน 4,705 ล้านบาท ธุรกิจที่ลงทุน อาทิ

  • บริการจัดหา ติดตั้ง ทดสอบ ซ่อมแซม บำรุงรักษา และฝึกอบรมเกี่ยวกับเครื่องจักร เครื่องมือ อุปกรณ์ และระบบการทำงานต่างๆ ที่ใช้สำหรับโครงการก่อสร้างโรงงานผลิตและประกอบยานยนต์ไฟฟ้า 
  • บริการทางวิศวกรรม โดยการให้คำปรึกษาและแนะนำ การออกแบบ การปรับปรุงประสิทธิภาพของเครื่องจักร (Modifies) สำหรับใช้ในอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ 
  • บริการรับจ้างผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์  
  • บริการรับจ้างผลิตผลิตภัณฑ์กลุ่มภาพและเสียง (Audio Visual Product) และ Network Device 
  • บริการทางวิศวกรรมและเทคนิค เช่น การให้คำปรึกษาแนะนำข้อมูลด้านนวัตกรรม การออกแบบและผลิตวัตถุดิบแก่ผู้ผลิตวัตถุดิบในประเทศ เพื่อพัฒนาวิธีการผลิตวัตถุดิบให้ได้คุณภาพ และตรงตามมาตฐานที่กำหนด เป็นต้น

ทั้งนี้ เฉพาะเดือนพฤศจิกายน 2566 มีการอนุญาตให้คนต่างชาติประกอบธุรกิจในประเทศไทย จำนวน 56 ราย เป็นการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จำนวน 20 ราย และการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว (ผ่านช่องทางการลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน หรือได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และการใช้สิทธิตามสนธิสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศ) จำนวน 36 ราย เงินลงทุนทั้งสิ้น 3,322 ล้านบาท

ส่วนใหญ่เป็นคนต่างชาติจากสิงคโปร์ จีน และสหรัฐอเมริกา มีการจ้างงานคนไทย 130 คน รวมถึง มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีอันเป็นองค์ความรู้เฉพาะด้านโดยตรงจากประเทศผู้เข้ามาลงทุนให้แก่คนไทย เช่น องค์ความรู้เกี่ยวกับระบบการจัดการด้านการดูแลและใช้งานของตั๋วโดยสาร

องค์ความรู้เกี่ยวกับการใช้โปรแกรมซอฟต์แวร์ในการวิเคราะห์ข้อมูล องค์ความรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีในเครื่องอัดอากาศและแก๊ส (Air and Gas Compressors) และองค์ความรู้เกี่ยวกับการออกแบบติดตั้งและการบำรุงรักษาระบบ Solar roof ตามมาตรฐาน  เป็นต้น

สำหรับธุรกิจที่คนต่างด้าวได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจในเดือนพฤศจิกายน 2566 ได้แก่ 

  • บริการจองบัตรโดยสารสายการบิน ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ และแอปพลิเคชัน
  • บริการตรวจสอบและวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับขนาดของหุ่นรองเท้าพลาสติก (Plastic Shoe Lasts) และหุ่นพื้นรองเท้า พร้อมทดลองฉีดชิ้นงานดังกล่าว และรายงานผลการวิเคราะห์และทดลอง
  • บริการทางด้านดิจิทัล เช่น FINTECH, DIGITECH, MEDTECH, AGRITECH เป็นต้น
  • บริการรับจ้างผลิตแม่พิมพ์ และชิ้นส่วนพลาสติกสำหรับอุตสาหกรรม
  • บริการพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อจำหน่าย และ/หรือให้บริการ เช่น ซอฟต์แวร์บริหารจัดการข้อมูลและระบบงานภายในองค์กร เป็นต้น