fbpx
News update

4 กูรูเปิดเวทีเสวนา“ภูมิทัศน์ใหม่ธุรกิจอุตสาหกรรมไทย 2020 ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น”

www.onlinenewstime.com : วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) แถลงเตรียมจัดงานวิศวกรรมแห่งชาติปี 2562 ซึ่งเป็นงานจัดแสดงนิทรรศการทางวิศวกรรมใหญ่ที่สุดในประเทศ และเปิดเวทีเสวนา เรื่อง “ภูมิทัศน์ใหม่ของธุรกิจอุตสาหกรรมไทย 2020…ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น”

เวทีเสวนานี้ เป็นที่มาของคำตอบว่า ท่ามกลางกระแสคลื่นเศรษฐกิจผันผวน และคลื่นดิจิทัล ที่หลายคนมีคำถามว่าปีหน้า 2020 ภูมิทัศน์ใหม่ของไทยจะเปลี่ยนไปอย่างไร? งานของคน 1.8 ล้านคนจะตกเป็นของ AI หรือ? “โอกาส” และ “หนทางรอด” ของอนาคตธุรกิจอุตสาหกรรมของประเทศอย่างไร? 

 ดร.ธเนศ วีระศิริ  นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ให้มุมมองว่าดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น จะเป็นเครื่องมือช่วยดิสรัปงานวิศวกรรม อย่างสร้างสรรค์ โดยเป็นโอกาสดีที่องค์กร และคนทำงานจะนำดิจิทัลมาเชื่อมโยง และปรับเปลี่ยนสู่องค์กรสมัยใหม่ ซึ่งจะทำให้ผลิตภัณฑ์และบริการมีคุณภาพมากขึ้น สร้างประสบการณ์ที่ดีกว่าแก่ลูกค้า ส่งเสริมให้มีการคิดค้นนวัตกรรมใหม่เพิ่มขึ้น ช่วยลดต้นทุน ประหยัดพลังงาน และสร้างผลกำไรมากขึ้น

การเข้าถึงข้อมูล จะมีความแม่นยำและสะดวกมากยิ่งขึ้น แก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน แม้เศรษฐกิจจะมีความผันผวน

แต่ประเทศไทยก็จะได้รับผลดี จากการเจรจาการค้าความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ ระดับภูมิภาค (RCEP) ในกลุ่มประเทศอาเซียน + 6 ประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ที่ไทยคาดว่าจะเจรจาสำเร็จในปลายปี 2019

ดังนั้นตลาดจะขยายใหญ่ เท่ากับประชากรครึ่งหนึ่งของโลก ซึ่งเป็นผลดีและโอกาสของธุรกิจอุตสาหกรรมไทยและงานวิศวกรรมในอนาคต

รับมือ ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่นอย่างไร

ทางด้าน ดร.ชิต เหล่าวัฒนา ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ EEC ด้านพัฒนาการศึกษา บุคลากรและเทคโนโลยี ได้ยกประเด็นบทบาทของ AI & Deep Tech ไม่ว่าจะเป็นBlockchain, Cloud, AI, Fintech, Quantum Computing จะยิ่งเข้ามาเปลี่ยนธุรกิจอุตสาหกรรม สู่คุณภาพและตอบโจทย์ความต้องการของตลาดในประเทศและตลาดโลกยิ่งขึ้น

กล่าวได้ว่า บนลู่การแข่งขันนั้น AI, Machine Learning และ Big Data เป็น “หนทางรอด” เดียวของเราไปสู่ความยั่งยืน

ในปี 2020 คาดว่างานของคน 1.8 ล้านคน จะตกเป็นของ AI แต่ขณะเดียวกันก็จะสร้างงานใหม่เพิ่มขึ้นมารองรับอีกถึง 2.3 ล้านคน

ภารกิจสำคัญ คือการพัฒนาการศึกษาบุคลากร รองรับการพัฒนาประเทศและเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ช่วงเปลี่ยนผ่านแห่งยุค “ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์มเมชั่น” (Digital Transformation) 

ยกตัวอย่างการลงทุนด้านการพัฒนาบุคลากรและการพัฒนางานวิจัย ระหว่าง HPE Thailand และสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO) ใน EEC สร้างกรณีตัวอย่าง (Use Case) สำคัญให้กับประเทศ เพื่อนำไปต่อยอดสู่แผนแม่บทอย่างเป็นรูปธรรม

โครงการ EEC ตั้งเป้าที่จะผลิตบุคลากรในการรองรับงานในสาขาต่าง ๆ ประมาณ 479,000 คนใน 10 เขตคลัสเตอร์ภาคตะวันออก โดย 38,000 คน จะรองรับงานเกี่ยวกับหุ่นยนต์, 120,000 คนจะรองรับตลาดงานด้านการพัฒนาดิจิทัล และ 15,000 คนจะประกอบอาชีพ Data Scientists โดย HPE Thailand จะให้ความร่วมมือในการอบรม Data Scientists ในลักษณะ Train the Trainer เพื่อการพัฒนา AI ร่วมกับ 24 มหาวิทยาลัยชั้นนำ สู่การผลิตบัณฑิตระดับปริญญาตรี โท เอก และนักวิจัยที่มีศักยภาพในการสร้างระบบ AI ที่ประยุกต์ใช้งานได้จริง แล้วยังมีความจำเป็นอย่างมากในการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมในยุคดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น โดยเฉพาะเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งถูกวางไว้เป็น Smart City และ Digital Hub ในภูมิภาค

เตรียมจัด “งานวิศวกรรมแห่งชาติ 62” 13 – 15 พ.ย. นี้

ดร.ธเนศ ยังได้กล่าวถึงการเตรียม “งานวิศวกรรมแห่งชาติ 2562”(National Engineering 2019) ซึ่งเป็นงานจัดแสดงผลิตภัณฑ์ นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยในประเทศไทย กำหนดจัดวันที่ 13 – 15 พ.ย. 62 ณ ฮอลล์ 4 อาคารอิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี ภายใต้แนวคิด “Engineering for Society : Digital Transformation” โดยมีวัตถุประสงค์การจัดงาน เพื่อเป็นศูนย์กลางติดต่อสื่อสาร และแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และนวัตกรรมสู่วิศวกร ผู้ออกแบบ ผู้ผลิต ผู้ใช้งาน และประชาชนทั่วไป นำเสนอผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีด้านวิศวกรรมที่ทันสมัย และเป็นเวทีกิจกรรมให้กับคนรุ่นใหม่ที่สนใจเทคโนโลยี ทั้งนี้ โดยตอบรับแนวนโยบายของภาครัฐในการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจดิจิทัล

สำหรับในปีนี้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีป้า) ได้มุ่งขับเคลื่อนธุรกิจนวัตกรรมดิจิทัลในทุกภาคส่วน และเปิด 3 สถาบัน ได้แก่ สถาบันไอโอทีและนวัตกรรมดิจิทัล, สถาบันวิจัยปัญญาประดิษฐ์แห่งประเทศไทย และสถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ

 ดร.ทศพร ศรีเอี่ยม (Dr.Tossaporn Sreeiam)ประธานจัดงานวิศวกรรมแห่งชาติ 2562 กล่าวเสริมว่า งานวิศวกรรมแห่งชาติ 2562 โดยรวบรวมไฮไลท์เกี่ยวกับเมืองอัจฉริยะและชีวิตทันสมัย (Smart City and Smart Life), พลังงานทางเลือก (Renewable Energy), การเปลี่ยนผ่านธุรกิจองค์กรด้วยดิจิทัล (Digital Transformation),การยกระดับวิศวกรรมในประเทศไทย (Leverage Thailand Engineering), เทคโนโลยีความปลอดภัยและความมั่นคง (Safety and Security), การพัฒนาด้วยระบบ BIM Development 

ภายในงานประกอบด้วยบูทนิทรรศการ นำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ก้าวล้ำด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม เครื่องมือและเทคโนโลยีงานวิศวกรรมทุกสาขาเพื่อรองรับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 มุ่งสู่การต่อยอดนวัตกรรมเพื่อธุรกิจ New S Curve และเทคโนโลยี เพื่อชีวิตทันสมัย ความปลอดภัย และการสร้างแรงบันดาลใจแก่คนรุ่นใหม่และคนไทย

นอกจาก ผู้มางานจะได้ประสบการณ์ลองผลิตภัณฑ์ไฮเทคด้วยตนเองแล้ว ยังมีโซนการแข่งขัน เช่น Battle Robot Warrior 2019 การแข่งขันหุ่นยนต์ต่อสู้ ระหว่าง 32 ทีม, การประกวดนวัตกรรม Kaizen ยอดเยี่ยมภาคอุตสาหกรรม 2019

พร้อมหัวข้อสัมมนากว่า 50 หัวข้อ ฟรี โดยผู้เชี่ยวชาญที่มีชื่อเสียงระดับประเทศมาถ่ายทอดประสบการณ์ตรง เช่น การออกแบบวิศวกรรมในกระแส IoT, AI ยกระดับธุรกิจอุตสาหกรรม, เทคโนโลยี 5G เพิ่มพลังในธุรกิจอุตสาหกรรมสู่เป้าหมาย เป็นต้น  กลุ่มเป้าหมายผู้มางานวิศวกรรมแห่งชาติ 2562 ได้แก่ ครอบครัวและคนทำงาน ไม่ว่าจะเป็นวิศวกร สถาปนิก นักออกแบบ ผู้ประกอบการ ผู้บริหารภาครัฐและเอกชน ผู้สนใจไอเดียธุรกิจใหม่ๆ เพื่อต่อยอดธุรกิจในอนาคต นักเรียนนักศึกษา และประชาชน สามารถติดตามข้อมูลได้ที่ เวบไซต์ 

ภายในงานแถลงข่าวครั้งนี้ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ ได้เปิดเวทีเสวนา เรื่อง“ภูมิทัศน์ใหม่ของธุรกิจอุตสาหกรรมไทย 2020…ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น” โดยได้เชิญ 4 ผู้เชี่ยวชาญ นำโดย ดร.อนันต์ วรธิติพงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดประเด็นถึงดิจิทัลและ 5G ที่กำลังเข้ามาเป็นตัวเร่งให้เกิดการเปลี่ยนผ่านและการเชื่อมต่อวิถีชีวิต ธุรกิจอุตสาหกรรมและโลกวิศวกรรมรวดเร็วยิ่งขึ้น เพิ่มช่องสัญญาณใน 1 ตารางกิโลเมตร สามารถรองรับ 1 ล้านการเชื่อมต่อได้พร้อมกัน ทำให้เกิดการพัฒนาธุรกิจและอุตสาหกรรมครั้งใหญ่ เช่น โรงงานอัจฉริยะ, ธุรกิจที่มีหลายสาขาเครือข่าย, การแพทย์ทางไกล, UAVอากาศยานไร้คนขับ เป็นต้น 

ดร.วิกรม วัชระคุปต์ ประธานกรรมการคลัสเตอร์วัสดุก่อสร้าง และกรรมการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบโครงการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart Cities) และเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ได้เผยถึงแนวคิดและประโยชน์ และแผนงานในปี 2020 ที่ทางสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยจะขับเคลื่อน SME ที่มีอยู่กว่า 10,000 บริษัท ใช้ดิจิทัลในการลดช่องว่างและพัฒนาผลิตภัณฑ์ นวัตกรรม พร้อมไปกับส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน ใช้ทรัพยากรให้น้อยลงแต่ได้ประสิทธิภาพมากขึ้น โดยรองรับการพัฒนา Smart Cities และ Circular Economy ไปสู่เป้าหมาย

ประเทศไทยจึงควรเตรียม 1.แผนพัฒนา AI ระดับชาติ  2.ให้การศึกษามาอยู่ใน loop เชื่อมต่อกับอุตสาหกรรม 3.พัฒนากลยุทธ์ Information Science และ Data Analytics และ 4.ทำแผนส่งเสริม Incentive Package รวมทั้งเสริมความร่วมมือของทุกภาคส่วน เช่น EEC กับ วสท., สมาคมสถาปนิกสยาม และสมาคม BIM ประเทศไทย เป็นต้น