onlinenewstime.com : เมื่อวันที่ 20 พ.ย.2561 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยที่ลงทะเบียนรับสวัสดิการจากรัฐ จำนวน 4 มาตรการ ประกอบด้วย
มาตรการแรกเป็นวงเงินที่ถอนไม่ได้ ช่วยค่าไฟฟ้าไม่เกิน 230 บาท/ครัวเรือน/เดือน และค่าน้ำประปา 100 บาท/ครัวเรือน/เดือน เริ่มเดือน ธ.ค. 2561- ก.ย.2562 เป็นเวลา 10 เดือน จำนวน 8.2 ล้านครอบครัว ใช้เงิน 2.7 หมื่นล้านบาท
สำหรับวิธีการใช้คือเมื่อไปจ่ายค่าน้ำและค่าไฟ ถ้าอยู่ในกรอบวงเงินที่กำหนดก็สามารถนำบิลไปชำระที่การประปาและการไฟฟ้า ซึ่งเมื่อชื่อผู้ใช้ตรงกับชื่อผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ กรมบัญชีกลางจะโอนเงินตามที่ชำระคืนกลับเข้าไปในกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์
อย่างไรก็ตาม มาตรการดังกล่าวผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จะต้องใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 230 บาทต่อเดือน และน้ำประปาไม่เกิน 100 บาทต่อเดือนจึงจะได้รับสิทธิ์ ทั้งนี้รัฐคำนึงถึงหลักการใช้จ่ายอย่างประหยัด หากให้ทุกคนได้รับสิทธิ์หมดก็จะใช้น้ำและไฟกันอย่างไม่ประหยัด เพราะถือว่ารัฐจ่ายเงินสนับสนุนให้ส่วนหนึ่งแล้ว
ส่วนมาตรการที่สามารถเบิกถอนได้ มี 3 มาตรการ ได้แก่
มาตรการเติมเงินให้กับผู้ถือบัตร คนละ 500 บาทได้รับครั้งเดียว เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้มีรายได้น้อยในช่วงปลายปี 2561 ทั้งหมดจำนวน 14.5 ล้านคน โดยจะเติมเงินให้ระหว่างเดือน ธ.ค. 2561- ม.ค.2562 ใช้จ่ายเพิ่มเติม เป็นวงเงิน 7,250 ล้านบาท
มาตรการช่วยเหลือค่าเดินทางไปโรงพยาบาลของผู้มีรายได้น้อยสูงอายุ 65 ปีขึ้นไป จำนวน 1,000 บาท โดยจ่ายครั้งเดียว จำนวน 3.5 ล้านคน ใช้วงเงิน 3,500 ล้านบาท
มาตรการสนับสนุนค่าเช่าบ้านผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป 400 บาทต่อเดือน ให้ตั้งแต่ ธ.ค. 2561- ก.ย. 2562 จำนวน 2.3 แสนคน เป็นวงเงินที่ต้องใช้ 920 ล้านบาท
ซึ่งทั้ง 4 มาตรการนี้ จะใช้งบประมาณ 38,730 ล้านบาท จากกองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม
ทั้งนี้จะโอนให้ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจำนวน 11.4 ล้านคนทั่วประเทศ และผู้ผ่านการลงทะเบียนภายใต้โครงการไทยนิยมยั่งยืนอีกจำนวน 3.1 ล้านคน รวมทั้งหมดจำนวน 14.5 ล้านคน
โดยกรมบัญชีกลางจะนำเงินจากกองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม จำนวน 7,250 ล้านบาท กระจายใส่ในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐในช่องกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งผู้มีรายได้น้อยสามารถใช้ซื้อสินค้าและบริการผ่านเครื่อง EDC แอปพลิเคชันถุงเงินประชารัฐ และถอนเงินสดจากเครื่องถอนเงินอัตโนมัติได้