
onlinenewstime.com : แนวโน้มการทำงานในอนาคตอันใกล้ จากบทความ World Economy Forum ชี้ให้เห็นถึงมุมมองต่างๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นจากการเข้ามาของ AI และเครื่องจักร ระบบอัตโนมัติ
ไม่ว่าจะมีมุมมองของงานในอนาคตแบบ โลกสวย หรืออยู่ในความวิตกกังวล ว่าหุ่นยนต์จะเข้ามาแย่งงานเร็วๆนี้ก็ตาม
สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ โลกของการทำงานวันนี้ กำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน ไปสู่มือเครื่องจักร ระบบอัตโนมัติ และ AI ซึ่งเป็นความเปลี่ยนแปลง ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และแน่นอนว่ามีผลกับการจ้างงาน
ในมุมของนายจ้าง จะมองเห็นถึงความต้องการ และความคาดหวังที่สูงขึ้นอย่างมาก แต่ในทำนองเดียวกัน ลูกจ้างเองก็คาดหวังเพิ่มมากขึ้นจากองค์กรเช่นกัน
จากการสำรวจผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพยากรมนุษย์ทั่วโลกกว่า 5,000 ตัวอย่าง ผสมผสานกับการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงพฤติกรรม ที่จัดทำโดย LinkedIn ทำให้เห็นแนวโน้ม 4 เรื่อง ที่จะส่งผลต่อการจ้างงาน และการทำงานในองค์กร ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

Source : World Economic Forum
ความจริงที่ต้องเข้าใจเรื่องของซอฟท์สกิล
คำว่า “ซอฟท์สกิล” เป็นเรื่องที่อธิบายได้ยาก เพราะมีความซับซ้อน ในการสื่อความอย่างเป็นรูปธรรม ตัวอย่างเช่น การเอาใจใส่ ความฉลาดทางอารมณ์ ความคิดสร้างสรรค์ ทักษะในการทำงานร่วมกับคนอื่น หรือแม้แต่ทักษะในการสื่อสาร
แต่ซอฟท์สกิล กลายเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมาก ในมุมมองขององค์กร กว่า 80% ของผู้ทำแบบสำรวจ แม้จะระบุว่า องค์กรกำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น และตระหนักถึงความสำคัญของคน กับความสำเร็จขององค์กร แต่ 89% จากทั้งหมด ก็ยังยอมรับถึงปัญหาการขาดซอฟท์สกิลของพนักงานโดยรวม

Source : World Economic Forum
นอกจากนี้ ซอฟท์สกิล ยังเป็นหัวข้อที่ปรากฎ ในรายงานเรื่อง Future of Jobs Report ของ World Economic Forum ซึ่งได้อธิบายว่าเป็นปัจจัยที่มีส่วนช่วยในการยกระดับขีดความสามารถเฉพาะตัว
ความท้าทายของนายจ้างวันนี้ ก็คือความยากลำบาก ในการนำคุณสมบัติ ที่เป็นซอฟท์สกิล เข้าไปอยู่ในกระบวนการสรรหาคนและยิ่งยากกว่านี้น เมื่อจะตัดสินซอฟท์สกิล ของผู้เข้าสมัคร การประเมินซอฟท์สกิลในการจ้างงาน อย่างไม่มีหลักการ จึงกลายเป็นปัญหาสำคัญ โดย 68% กล่าวว่า วิธีเดียวในการประเมิน คือการเลือกสิ่งชี้นำ ที่แสดงออกมาในระหว่างการสัมภาษณ์
ซึ่งนั่นหมายถึง ทุกอย่างขึ้นอยู่กับ ผู้เข้ารับการสัมภาษณ์ ว่าจะสามารถนำเสนอตัวตนที่ชัดเจนได้หรือไม่ บนข้อจำกัดของเวลา และความเครียดระหว่างการสัมภาษณ์ และยังขึ้นอยู่กับผู้ทำการสัมภาษณ์ ที่จะตัดสินออกมาได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่
นายจ้างจำเป็นต้องเริ่มจัดการ วิธีการประเมินซอฟท์สกิลอย่างเป็นทางการ โดยต้องมีความชัดเจนว่า ต้องการทักษะประเภทใด แล้วใช้ AI เป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์ผู้สมัครว่ามีทักษะเหล่านั้นหรือไม่
ความยืดหยุ่นในการทำงาน
เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา การทำงานที่บ้าน ดูจะเป็นเรื่องยากและเป็นเรื่องใหญ่ แต่ตอนนี้แทบจะกลายเป็นเรื่องปกติไปเสียแล้ว
ความยืดหยุ่นในการทำงาน กำลังจะเป็นบรรทัดฐานใหม่ และเป็นความท้าทายในการบริหารจัดการขององค์กร
เทคโนโลยีถือเป็นปัจจัยหลัก ที่นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงนี้ ตั้งแต่การรับส่งอีเมล ไปยังการตอบข้อความอัตโนมัติ จนถึงการประชุมทางโทรศัพท์ และแพลตฟอร์มธุรกิจในปัจจุบัน จึงไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ที่เราจะเจอเพื่อนร่วมงานได้ตลอดเวลา

Source : World Economic Forum
ทัศนคติของคนที่มีกับงาน ก็เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง หมดสมัยแล้ว สำหรับแนวคิดที่มองว่า งานมีส่วนสำคัญกับชีวิต การทุ่มเทให้กับงานอย่างหนัก เหมือนจะไม่มีอีกต่อไป คนต้องการความสมดุลในชีวิตที่มากขึ้น ยิ่งมีความเปลี่ยนแปลงมากเท่าไร คนก็เรียนรู้ถึงความจำเป็นของการยืดหยุ่นมากเท่านั้น

วิธีที่จะดึงดูดและรักษาคนดี ถือเป็นแนวทางสำคัญ ที่มีประโยชน์กับธุรกิจ ถ้านายจ้างอนุญาตให้มีความยืดหยุ่นในการทำงาน ผลดีที่ได้รับนอกจากทางตรงแล้ว ยังจะสามารถลดค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสำนักงานลงไปด้วย
ยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีอย่าง Dell สร้างปรากฏการณ์ประหยัดค่าใช้จ่าย เฉลี่ย 12 ล้านเหรียญต่อปี ด้วยโปรแกรมการทำงานที่ยืดหยุ่นลักษณะนี้
เข้มงวดต่อปัญหาการล่วงละเมิดและการกลั่นแกล้ง (Bully)
นายจ้างมีหน้าที่ทางจริยธรรม ในการปกป้องพนักงาน จากการถูกกลั่นแกล้งและการล่วงละเมิดทุกรูปแบบ และในบางเคส เรื่องนี้ถือเป็นข้อกำหนดทางกฎหมาย ซึ่งสิ่งที่จำเป็นต้องทำคือ การส่งเสริมวัฒนธรรมองค์กรที่ปลอดภัย และให้การสนับสนุนอย่างชัดเจน ถ้าต้องการให้นโยบายต่อต้านการล่วงละเมิดประสบความสำเร็จ
การล่วงละเมิดทางเพศ เป็นปัญหาที่บ่อนทำลายองค์กร ในทุกอุตสาหกรรมทั่วโลก และส่งผลกระทบต่อคนทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะมีความต่างในรายได้ ระดับการศึกษา หรือสาขาอาชีพใด

ในปี 2017 Hashtag #metoo สร้างปรากฏการณ์ไวรัลที่ยิ่งใหญ่ หลังจากผู้หญิงที่มีชื่อเสียงและทรงอิทธิพลหลายคน กล้าออกมาปริปากเล่าถึงชายที่ล่วงละเมิดเธอ
การแชร์ประสบการณ์ถูกล่วงละเมิด เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมหาศาล ในโซเชียลแพลตฟอร์มต่างๆ เช่น LinkedIn ทำให้เกิดการผลักดัน ให้ทบทวนเรื่องความปลอดภัยในสถานที่ทำงาน
องค์กรที่ล้มเหลวกับการใช้มาตรการยุติการคุกคาม หรือยิ่งไปกว่านั้นคือไม่สามารถจัดการกับผู้ที่ล่วงละเมิดผู้อื่น มีความเสี่ยงสูงต่อความเสียหายในชื่อเสียงขององค์กร

Source : World Economic Forum
ตามรายงานของ LinkedIn กล่าวว่า “การต่อต้านการล่วงละเมิด” กลายเป็นประเด็นร้อนระอุที่ประเทศอินเดีย และ 87% ของผู้เชี่ยวชาญ ยอมรับว่าการป้องกันการล่วงละเมิด เป็นแนวโน้มที่สำคัญมาก สำหรับอนาคตการจ้างงาน และการบริหารทรัพยากรบุคคล
วิธีการเอาชนะปัญหาการล่วงละเมิด และการสร้างวัฒนธรรมองค์กร เพื่อสนับสนุน ถือเป็นการสร้างความสอดคล้อง จากนโยบายไปสู่การปฏิบัติ การปรับปรุงความหลากหลาย และการร่วมมือในทุกระดับขององค์กร จะสามารถนำไปสู่การสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย ในการร้องขอความช่วยเหลือ โดยต้องมั่นใจว่า พนักงานที่ขอความช่วยเหลือ จะได้รับการดูแลอย่างจริงจัง
ปฏิวัติเรื่องความลับของเงินเดือน
องค์กรวิจัยค่าตอบแทน PayScale ทำการสอบถามคนอเมริกัน 93,000 คน ถึงความคิดเห็นว่า พวกเขาได้รับค่าตอบแทนดีหรือไม่ เมื่อเทียบกับตลาดงานโดยรวม ผลที่ออกมาคือ 2 ใน 3 ส่วนของผู้เข้าร่วมทำวิจัย เชื่อว่าตนเองได้รับค่าจ้างน้อยกว่าที่ควรจะเป็น
รากของปัญหานี้ก็คือ ไม่มีใครรู้จำนวนเงินที่คนอื่นๆได้รับ และนำไปสู่การคาดคะเนว่า ตัวเองได้รับค่าจ้างที่เลวร้ายที่สุด ซึ่งการก่อตัวของความเชื่อนี้ จะสร้างความไม่ไว้ใจ และบานปลายไปสู่ความบาดหมางในที่สุด
อย่างไรก็ตาม ความลับของค่าจ้างกำลังจะถึงจุดจบแล้ว อ้างอิงรายงานของ LinkedIn พบว่า มีนโยบายการจ่ายค่าจ้างอย่างโปร่งใสเพิ่มขึ้นถึง 136% ตั้งแต่ปี 2014

Source : World Economic Forum
วัตถุประสงค์ของการจ่ายค่าจ้างแบบโปร่งใส ก็เพื่อให้แน่ใจว่า ทุกคนได้รับผลตอบแทนในอัตราที่เป็นธรรม เทียบกับงานของตนเอง
สำหรับประเด็นความลับของค่าจ้างนี้ เห็นได้ชัดว่ามีความเคลื่อนไหว เกิดขึ้นทั่วโลก เช่น ในประเทศอังกฤษ ซึ่งมีการออกข้อบังคับให้องค์กรขนาดใหญ่ เปิดเผยตัวเลขที่แสดงความแตกต่างของค่าจ้าง ระหว่างชาย – หญิง ซึ่งมีส่วนช่วยเป็นอย่างมาก ในการลดความไม่เท่าเทียมระหว่างชายและหญิงในที่ทำงาน
การดำเนินนโยบายนี้ ยังสามารถต่อยอดไปจนถึง การสร้างความไว้วางใจ และสนับสนุนความหลากหลาย และยังรวมไปถึงลดเวลาในการต่อรองอัตราเงินเดือน เมื่อแรกจ้างอีกด้วย
การปฏิวัติทักษะของการทำงาน
จากรายงานของ World Economic แสดงให้เห็นอย่างชัดเจน เรื่องความสำคัญของการพัฒนาทักษะที่หลากหลาย และภายในปี 2022 ทักษะเช่น การคิดเชิงวิเคราะห์ การสร้างนวัตกรรม หรือทักษะการแก้ปัญหาที่ซับซ้อน ล้วนมีแนวโน้มความต้องการสูง
จึงอาจกล่าวโดยสรุปว่า องค์กรทั้งหลายมีความจำเป็นเร่งด่วน ในการปรับปรุงทักษะ (reskill) การทำงานในปัจจุบัน โดย 54% ของพนักงานในแต่ละองค์กร ต้องมีการปรับปรุงทักษะ และเพิ่มทักษะ (upskill) ที่สำคัญ ภายในปี 2022
ถึงเวลาที่เราต้องหันกลับมาดูแล้วว่า เราพร้อมสำหรับอนาคตของการทำงานหรือยัง