fbpx
News update

เปิด 5 เทรนด์วิศวกรยุคใหม่ รับไทยแลนด์ 4.0

 

เมื่อประเทศไทยกำลังก้าวสู่ยุคใหม่ “ไทยแลนด์ 4.0” ที่ใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อน ความก้าวหน้าและองค์ความรู้ใหม่ๆ ทำให้คนไทยกำลังเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในหลายๆด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านสังคม วัฒนธรรม การดำรงชีวิต หรือแม้แต่การประกอบอาชีพ ซึ่งสายงานด้านวิศวกรรมเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่น่าจับตา เพราะต้องพึ่งพาเทคโนโลยีในการทำงานเกือบทุกขั้นตอน วิศวกรจึงต้องปรับตัวพร้อมกับความเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้น

 

 

รศ.ดร.ธีร เจียศิริพงษ์กุล คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
รศ.ดร.ธีร เจียศิริพงษ์กุล คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

รศ.ดร.ธีร เจียศิริพงษ์กุล คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับ ความท้าทายของวิศวกรยุคใหม่ไว้อย่างน่าสนใจ ว่าการเปิดโลกทัศน์ให้เห็นมุมมองใหม่ๆ ทันต่อความเปลี่ยนแปลง ถือเป็นเรื่องที่สำคัญ

เพราะที่ผ่านมา หลักสูตรด้านวิศวกรรมศาสตร์ในประเทศไทย ส่วนใหญ่ยังมุ่งเน้นการเรียนเฉพาะสาขาพื้นฐาน  ได้แก่   โยธา ไฟฟ้า เครื่องกล อุตสาหการ และเคมี

แต่ในปัจจุบันการเรียนรู้ด้านวิศวกรรมศาสตร์โดยอาศัยองค์ความรู้เพียงสาขาเดียวอาจไม่เพียงพออีกต่อไป

 

การทำลายกำแพงด้านหลักสูตร หรือการประยุกต์องค์ความรู้ด้านอื่นๆมาใช้งาน โดยเฉพาะเทคโนโลยีในยุคดิจิทัล ถือเป็นเรื่องสิ่งที่สำคัญ

 

ซึ่งถ้ามองภายใต้บริบทของประเทศไทยภายใต้ไทยแลนด์ 4.0 มหาวิทยาลัยมีส่วนสำคัญอย่างมากในการสร้างบัณฑิตที่มีความพร้อม และจำเป็นต้องสร้างเทรนด์ของวิศวกรยุคใหม่ เพื่อให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลง

 

โดยเทรนด์ในปี 2562 ของความต้องการวิศวกรในอนาคต จะประกอบไปด้วย 5 เทรนด์ดังนี้

 

1.สุขภาพดี วิศวกรรมการแพทย์ คือความต้องการของโลก

 

“การไม่มีโรค เป็นลาภอันประเสริฐ” วลีนี้ยังคงมีความหมายต่อผู้คนในทุกยุคสมัย การเอาชนะโรคภัยและการดูแลตัวเองให้ มีสุขภาพแข็งแรงอยู่เสมอ ยังเป็นเทรนด์ที่ได้รับความนิยม ซึ่งที่ผ่านมาทั่วโลกต่างยอมรับว่า วิวัฒนาการด้านการแพทย์ ทำให้มนุษย์มีอายุขัยที่ยืนยาวขึ้น เกิดเป็นสังคมผู้สูงอายุ ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีประชากรผู้สูงอายุ (อายุ 60 ปีขึ้นไป) มากกว่า 10 ล้านคน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยคาดว่าไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบในปี 2564 คือมีสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุประมาณ 1 ใน 4 ของประชากรทั้งประเทศ ดังนั้น เมื่อมองทิศทางความต้องการด้านสุขภาพของสังคมไทยในอนาคต “วิศวกรรมการแพทย์” จะเป็นองค์ความรู้ที่ตอบโจทย์ ทั้งในเรื่องของการพัฒนาคุณภาพอาหารและยา เทคโนโลยีการดูแลและการรักษาพยาบาลที่ทันสมัย เข้าถึงได้ง่ายมากขึ้น

 

 

 

2.AI จะกลายเป็นปัจจัยพื้นฐาน สะท้อนวิวัฒนาการทางเทคโนโลยี

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI กำลังเข้ามามีบทบาทสำคัญในการดำรงชีวิตของเรามากขึ้น ซึ่งการวิเคราะห์ที่แม่นยำ ฉลาด การประมวลผลที่รวดเร็ว และใช้ต้นทุนต่ำ คือจุดเด่นของเทคโนโลยีนี้ จึงไม่แปลกที่จะเห็นเทคโนโลยี AI  ถูกประยุกต์ใช้ในนวัตกรรมต่างๆ มากขึ้น สังเกตได้จากเทคโนโลยีที่อยู่ใกล้ตัวมากที่สุดอย่างสมาร์ทโฟน ที่นำเทคโนโลยี AI มาช่วยยกระดับอุปกรณ์สื่อสารบนมือเราให้ฉลาดขึ้น รู้ใจผู้ใช้งาน กลายเป็นจุดขายที่ผู้ผลิตนำมาแข่งขันในตลาดสมาร์ทโฟนมากขึ้น นอกจากนี้ AI ยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในงานด้านวิศวกรรมได้ทุกสาขา กลายเป็นเทรนด์ที่วิศวกรในปัจจุบันจะต้องปรับตัว และคาดว่าเทคโนโลยี AI จะกลายเป็นปัจจัยพื้นฐานของการผลิตในอนาคต และมีความสำคัญต่อชีวิตประจำวันของเรามากขึ้น

 

 

 

3.ภัยพิบัติทุกรูปแบบกำลังจะทวีความรุนแรง 

ความสามารถในการรับมือกับภัยพิบัติรูปแบบต่างๆ เป็นเทรนด์ที่ทั่วโลกให้ความสนใจ เพราะหมายถึงความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในประเทศ ซึ่งการพัฒนาเทคโนโลยีการเตือนภัยและนวัตกรรมเพื่อการเอาชนะภัยพิบัติต่างๆ เช่น อุทกภัย แผ่นดินไหว ดินถล่ม ต้องอาศัยองค์ความรู้ด้านวิศวกรรมไปประยุกต์ใช้ทั้งสิ้น แต่ในปัจจุบันประเทศไทยยังขาดแคลนบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านการรับมือภัยพิบัติ ซึ่งถือเป็นความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง บนพื้นฐานของการประยุกต์ใช้องค์ความรู้ที่มีความหลากหลาย ต้องมีความเข้าใจด้านสภาพอากาศ ภูมิศาสตร์ และการวิเคราะห์ข้อมูลสารสนเทศ ไทยจึงจำเป็นต้องเร่งพัฒนาวิศวกรที่มีความเชี่ยวชาญพิเศษด้านภัยพิบัติ เช่น วิศวกรด้านน้ำ วิศวกรด้านแผ่นดินไหว ซึ่งจะเป็นที่ต้องการอย่างมากในอนาคต

 

 

4.“ยานยนต์ไฟฟ้า” จะเป็นเรื่องปกติในไม่ช้า

การเติบโตทางเศรษฐกิจของทั่วโลก ส่งผลให้ “น้ำมันดิบ” จำนวนมากถูกขุดขึ้นมาใช้ จนกลายเป็นแหล่งพลังงานที่กำลังจะหมดไป ทำให้การพัฒนายานยนต์รุ่นใหม่ ที่ใช้พลังงานทดแทนประเภทอื่น กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว ซึ่งในหลายประเทศเริ่มให้การยอมรับว่าพลังงานไฟฟ้า เป็นพลังงานสะอาดที่จะเข้ามาทดแทนน้ำมันได้ในอนาคต ทำให้ยานยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า (Electric Vehicle) หรือ รถอีวี กลายเป็นเทรนด์ของเทคโนโลยียานยนต์ที่วิศวกรทั่วโลกให้ความสำคัญ ซึ่งประเทศไทยมีความได้เปรียบในแง่ของการเป็นฐานการผลิตชิ้นส่วน และความเชี่ยวชาญด้านการประกอบรถยนต์ วันนี้ถึงเวลาแล้วที่วิศวกรไทยต้องปรับตัวเพื่อให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลง ยิ่งปรับปตัวได้เร็วเท่าไหร่ ยิ่งได้เปรียบในเชิงการแข่งขันมากขึ้นเท่านั้น

 

 

5.ไทยจะใช้ IOT ในทุกภาคส่วนไม่เว้นแต่ เกษตรกรรม

การเข้ามาของการสื่อสารรูปแบบใหม่ “อินเตอร์เน็ตในทุกสิ่ง” หรือ Internet of Thinks (IOT) ที่มีความสามารถในการเชื่อมโยงอุปกรณ์ต่างๆ โดยผู้ใช้งานไม่จำเป็นต้องอยู่ในพื้นที่นั้นๆ กำลังจะเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของเรามากขึ้น โดยในอนาคตสิ่งที่น่าจับตา คือ การนำเทคโนโลยี IOT ไปใช้ในเกษตรกรรม เชื่อมต่อกับอุปกรณ์และเครื่องจักรทางการเกษตร ที่จะพลิกโฉมเกษตรกรรมไทยไปสู่ Smart Farming ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิต ควบคุมปัจจัยในโรงเรือนให้มีความเหมาะสมกับพืชหรือสัตว์แต่ละชนิด เช่น ความชื้น อุณหภูมิ สารอาหารที่จำเป็น ปรสิต แมลงศัตรูพืช ซึ่งมีเป้าหมายในการยกระดับคุณภาพชีวิต และยังเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรในอนาคต

 

“ทั้ง 5 เทรนด์ ไม่ใช่สิ่งที่เพ้อฝัน แต่กำลังเกิดขึ้นจริงในอนาคต ซึ่งสิ่งสำคัญที่สุดในขณะนี้ คือ สถาบันการศึกษาจะต้องปรับวิธีการเรียนการสอนใหม่ โดยเน้นการประยุกต์ใช้องค์ความรู้ด้านต่างๆ และพัฒนานวัตกรรมให้สอดคล้องกับความต้องการในอนาคต ปรับตัวให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลง

 

ซึ่งในวันศุกร์ ที่ 2 พฤศจิกายน 2561 คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กำลังจะจัดงานใหญ่ในรอบ 30 ปี เพื่อตอกย้ำความเป็นผู้นำด้านหลักสูตรการเรียนการสอน เปลี่ยนผ่านไปสู่บริบทใหม่ ภายใต้ชื่องาน  “Unbox TSE”  ซึ่งมีความสำคัญอย่างมากต่อการเรียนด้านวิศวกรรมศาสตร์ของคนรุ่นใหม่ ที่ต้องการจะประสบความสำเร็จท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของอนาคต อยากให้ทุกท่านติดตาม” ดร.ธีร กล่าว