Site icon Onlinenewstime.com – News and Knowledge to sustainability

5 เทรนด์ SMEs น่าลงทุน ปี 2017

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เผย 5 ธุรกิจมาแรงตอบโจทย์ผู้บริโภคในปี 2017 ได้แก่ 1. ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ 2. ธุรกิจและบริการด้านฮาลาล 3. ธุรกิจความงาม เครื่องสำอาง และแฟชั่น 4. ธุรกิจการค้าและการบริการผ่านระบบออนไลน์ และ 5. ธุรกิจเพื่อผู้สูงวัย

โดยธุรกิจเหล่านี้ ถือเป็นธุรกิจที่มีแนวโน้มเติบโตสูง ในกลุ่มผู้บริโภค พร้อมทั้งยังสามารถเป็นทางเลือก ให้แก่ผู้ประกอบการ ที่ต้องการดำเนินธุรกิจ ที่ภาครัฐอุดหนุนโครงการอย่างเต็มแม็กซ์

ปัจจุบัน โลกได้ก้าวเข้าสู่ยุคที่การดำเนินธุรกิจ มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ดังนั้น เมื่อผู้ประกอบการทั้งเก่าและใหม่ มีแผนที่จะสร้างสินค้า หรือการบริการใด ๆ จึงจำเป็นต้องผลิตสิ่งที่สามารถตอบสนองความต้องการ ตามบริบทโลกและสังคม ซึ่งจะช่วยให้เกิดความอยู่รอด และสามารถดำเนินกิจกรรม ด้วยความเข้มแข็งได้ต่อไป

ดร.พสุ โลหารชุน อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า ผู้ประกอบการที่จะประสบความสำเร็จได้ จะต้องเป็นผู้ที่ก้าวทัน หรือล้ำยุคสมัย รวมทั้งมีการอัพเดทเทรนด์ธุรกิจใหม่ ๆ อยู่เสมอ

ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ประกอบการ มีขีดความสามารถในการแข่งขัน และศักยภาพที่เข้มแข็งในการลงทุนทำธุรกิจ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ในฐานะผู้ส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรม จึงได้รวบรวมเทรนด์ธุรกิจ ที่มีแนวโน้มเติบโต รับความต้องการของผู้บริโภคในปี 2560 เพื่อเป็นทางเลือก ในการตัดสินใจในการลงทุนดำเนินธุรกิจ ได้แก่

1. ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ

ผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม เพื่อสุขภาพที่มาแรง และมีกระแสตอบรับที่ดีในขณะนี้ ได้แก่ อาหารและเครื่องดื่มฟังก์ชั่น อาหารที่มาจากธรรมชาติ และดีต่อสุขภาพ ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม และ อาหารและเครื่องดื่มเพื่อการควบคุมน้ำหนัก

ซึ่งเมื่อพิจารณาดูแล้ว จะพบว่าประเทศไทย มีปัจจัยที่พร้อมส่งเสริม และสนับสนุน ในการทำธุรกิจในกลุ่มดังกล่าวนี้ ค่อนข้างสูง

สำหรับปี 2560 มีการคาดการณ์ไว้ว่า มูลค่าตลาดของอาหาร และเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ จะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยอาจสูงถึง 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ (ที่มา : Euromonitor International) ซึ่งหากผู้ประกอบการ ทั้งรายเล็กและรายใหญ่ ต่างตื่นตัวและให้ความสำคัญ ต่อธุรกิจประเภทนี้มากขึ้น ก็จะยิ่งเพิ่มช่องทาง ในการสร้างเม็ดเงินให้กับธุรกิจ มากขึ้นตามไปด้วย

2. ธุรกิจและบริการด้านฮาลาล

สำหรับผู้ประกอบการ ที่สนใจในธุรกิจกลุ่มนี้ สามารถสรรค์สร้างสินค้าและบริการ ได้อย่างหลากหลาย ไม่เพียงแค่เฉพาะอาหารเท่านั้น แต่ยังรวมถึง การให้บริการด้านอื่น ๆ

อาทิ บริการด้านโรงแรม ผลิตภัณฑ์เวชสำอาง การบริการด้านการเงิน ธุรกิจด้านการรักษาพยาบาล เป็นต้น

แต่อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลปี 2559 ตลาดอาหารฮาลาล ถือว่ายังคงมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมีมูลค่าประมาณ 8.29 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ที่มา: ฐานข้อมูลเพื่อสนับสนุนการพัฒนาฮาลาลไทย) และมีการคาดการณ์ว่า จะสามารถขยายตัวได้ถึง 1.6 ล้านล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ ในปี 2561 (ที่มา : หอการค้าและอุตสาหกรรมดูไบ)

3. ธุรกิจความงาม เครื่องสำอาง และแฟชั่น

ธุรกิจเหล่านี้ มีทิศทางการเติบโต ที่สวนกระแสเศรษฐกิจ ทั้งในระดับประเทศ และระดับโลก ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อการดูแลร่างกาย อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เพื่อการตกแต่ง คลินิกและสถาบันเสริมความงามต่าง ๆ ที่กระจายตัวอยู่ตามพื้นที่ทั่วไป และพบเห็นได้มากขึ้น

ตลอดจนธุรกิจแฟชั่น ก็มีการเติบโตที่ดีอย่างต่อเนื่อง สังเกตได้จากการเพิ่มขึ้น ของแบรนด์สินค้า ในกลุ่มเครื่องนุ่งห่ม เครื่องหนัง และเครื่องประดับ รวมทั้งการแต่งกาย ตามกระแสโลก ที่มีอย่างไม่จำกัด

ทั้งนี้ มูลค่าอุตสาหกรรมแฟชั่น ถือว่ามีตัวเลขที่น่าสนใจไม่น้อย โดยในปี 2559 ประเทศไทย มีการขยายตัวสู่หลัก 7 แสนล้านบาท ส่วนอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง ก็มีแนวโน้มว่าจะสามารถขยายตัวในปีนี้ ได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10 จากเดิมที่มีมูลค่ากว่า 2.1 แสนล้านบาท (ที่มา: คลัสเตอร์เครื่องสำอางไทย)

4. ธุรกิจการค้าและการบริการผ่านระบบออนไลน์

เป็นกระบวนการในการดำเนินธุรกิจ ที่ไม่ต้องลงทุนมาก โดยในปัจจุบัน ได้เกิดธุรกิจบนช่องทางดังกล่าวนี้ อย่างหลากหลาย อาทิ บริการขนส่งสินค้า บริการจองร้านอาหารและโรงแรม การค้า บนเว็บไซต์ และโซเชียลมีเดีย ธุรกิจการค้า การบริการด้านซอฟท์แวร์และแอพพลิเคชั่น (ของกลุ่มสตาร์ทอัพ) เป็นต้น ทั้งนี้ผู้ประกอบการ ต้องสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ตอบสนองความต้องการ ของผู้บริโภคที่มีอย่างไม่รู้จบ อีกทั้ง ยังต้องสร้างความแตกต่าง และความแปลกใหม่ ให้เกิดขึ้นกับสินค้า หรือการบริการ ซึ่งหากตรงกับพฤติกรรมของผู้บริโภคมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งประสบความสำเร็จเพิ่มตามไปด้วย

5. ธุรกิจเพื่อผู้สูงวัย

ผู้บริโภคในกลุ่มนี้ ถือเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อในอัตราที่สูง มีอำนาจต่อรอง และมีความต้องการ ในการอุปโภคบริโภค ในหลากหลายกลุ่มสินค้า

อาทิ อาหารเพื่อสุขภาพ สินค้าไลฟ์สไตล์ อาหารเสริมสุขภาพ และชะลอวัย อุปกรณ์ทางการแพทย์ บริการด้านการท่องเที่ยว เป็นต้น

สำหรับผู้ประกอบการ ที่ต้องการดำเนินธุรกิจในด้านนี้ จะต้องปรับกระบวนการการผลิตและบริการ ให้สอดคล้องกับความต้องการเฉพาะด้านของกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นการใช้งานที่ง่าย ไม่ซับซ้อน ตอบโจทย์คุณค่าและคุณประโยชน์ที่ครบถ้วน ซึ่งในความต้องการ ที่กล่าวมานี้ ไม่เพียงแต่จะตอบโจทย์กลุ่มผู้บริโภคสูงวัย ในประเทศไทยเท่านั้น ยังรวมถึงตลาดอื่น ๆ ในระดับต่างประเทศอีกด้วย

ดร.พสุ กล่าวทิ้งท้ายว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ยังมีโครงการต่าง ๆ ในปี 2560 เพื่อส่งเสริมและพัฒนา ผู้ประกอบการ ที่ต้องการจะดำเนินธุรกิจทั้ง 5 กลุ่มอุตสาหกรรมดังกล่าว เช่น โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมดิจิทัลและใช้ประโยชน์จากดิจิทัล โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด โครงการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมแฟชั่นและไลฟ์สไตล์ โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาล โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์ โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมไบโอชีวภาพ เป็นต้น

ซึ่งคาดว่า จะสามารถยกระดับความสามารถการแข่งขันให้กับ SMEs ได้อย่างแน่นอน  สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจรายละเอียด สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โทร.0 2202 4414 – 7 หรือ เข้าไปที่www.dip.go.th และสามาถติดตามข้อมูลข่าวสารด้านอุตสาหกรรมได้ที่ www.facebook.com/dip.pr

Exit mobile version