fbpx
News update

5 แนวโน้มผู้บริโภคปี 2020 (ตอนจบ)

3. METAMORPHIC DESIGN

ผู้บริโภคต้องการบริการที่มีความเชื่อมโยง ปรับเปลี่ยนตามความปรารถนา และต้องการทุกอย่างให้เป็นแบบเฉพาะตัว ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญในสังคมบริโภคนิยม แต่ทว่าในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา การตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค และคอนเซปท์ “ทุกอย่างคือการบริการ”  ได้มาพลิกโฉมหน้าของคำว่าสะดวกสบายให้ล้ำไปอีกขั้น

บทใหม่ของบริการ ในปี 2020 เมื่อผู้บริโภคได้รับประสบการณ์จากวิวัฒนาการของดิจิทัล และความสมาร์ทของสิ่งรอบตัว ซึ่งพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จะทำให้เกิดความเคยชินกับความสะดวกสบายที่เป็นพิเศษ และสร้างมุมมองที่ทุกอย่างต้องมีบริการ และนั่นหมายถึงความคาดหวังที่ยกระดับขึ้นไปอีกขั้น

Trend นี้เกิดจากข้อเท็จจริงของความเป็นมนุษย์ ซึ่งมีสภาวะที่ลื่นไหลอยู่ตลอดเวลา จึงไม่มีผลิตภัณฑ์ หรือการบริการใดที่สมบูรณ์แบบสำหรับทุกคน การทำให้เกือบสมบูรณ์แบบ หมายถึงการปรับตัวอย่างต่อเนื่อง ไปตามความต้องการเฉพาะของลูกค้า ในแต่ละจังหวะที่เปลี่ยนแปลง

แล้วทำไมการบริการถึงมีความเข้มข้นขึ้น นั่นเพราะเทคโนโลยีต่างๆ ที่เป็นตัวแปรสำคัญ โปรแกรมจดจำใบหน้า อุปกรณ์เซ็นเซอร์ และผลิตภัณฑ์อัจฉริยะ ล้วนทำให้โลกของผู้บริโภคเปลี่ยน ผลลัพธ์ที่ตามมา คือความคาดหวังที่เพิ่มมากขึ้น ให้เกิดการปรับเปลี่ยนในแบบเฉพาะตัว จึงไม่น่าแปลกใจที่ 39% ของธุรกิจทั่วโลก ต่างพากันนำเสนอการส่งมอบประสบการณ์ส่วนตัวในแบบเรียลไทม์ มาสู่คำถามที่ว่า เราพร้อมหรือยังที่จะปรับเปลี่ยนสินค้าและบริการ เพื่อตอบโจทย์ในปี 2020 ลองมาดูตัวอย่างจากหลายๆธุรกิจที่กำลังวิ่งไล่จับ Trend นี้กันดีกว่า

ตัวอย่างที่น่าสนใจ

แอปคิดสูตรบำรุงผิวเฉพาะบุคคล –เมื่อเดือนกรกฎาคม 2019 Shiseido แบรนด์ผลิตภัณฑ์เพื่อความงามของญี่ปุ่น  ประกาศเปิดตัว Optune บริการดูแลผิว ซึ่งให้ผู้ใช้ถ่ายเซลฟี่ผ่านแอพพลิเคชั่น โดยโปรแกรมจะวิเคราะห์สภาพผิวจากภาพถ่าย ร่วมกับปัจจัยภายนอกอื่นๆ เช่น อุณหภูมิ และความชื้น ไปจนถึงข้อมูลการนอนหลับ ซึ่งข้อมูลทั้งหมดนี้จะผ่านการวิเคราะห์ และส่งไปยังอุปกรณ์การผลิต เพื่อผสมครีมบำรุงผิว ที่เหมาะกับผู้ใช้ตรงตามความต้องการเฉพาะตัว Optune ถูกทดลองใช้ครั้งแรกในปี 2018

Cr. Trendwatching.com

วิตามินและอาหารเสริมเฉพาะบุคคล – จะดีสักแค่ไหนถ้าเรามีอาหารเสริมสุขภาพ ที่เป็นสูตรเฉพาะสำหรับเราคนเดียว จากไอเดียนี้ Baze สตาร์ทอัพจำหน่ายวิตามินและอาหารเสริม ได้เปิดให้ลูกค้า ใช้อุปกรณ์เก็บตัวอย่างเลือด และส่งเข้าไปยังบริษัทฯเพื่อทำการทดสอบ จากนั้นลูกค้าของ Baze จะได้รับสิทธิสมาชิกรายเดือนสำหรับผลิตภัณฑ์วิตามินและอาหารเสริมอื่น ๆ ที่มีการปรับให้เหมาะสมกับความต้องการทางโภชนาการส่วนบุคคล การตรวจเลือดจะมีการทำซ้ำทุกไตรมาส และมีการปรับวิตามินหรืออาหารเสริมให้อย่างถูกต้องตรงตามความต้องการส่วนบุคคล

Cr. Trendwatching.com

สมาร์ทยิมที่ประเมินการออกกำลังกายของแต่ละคน – ในโลกแห่งอุปกรณ์สมาร์ท ผลิตภัณฑ์ทุกชิ้นสามารถปรับเป็นบริการเฉพาะตัวได้ Tonal  บริการออกกำลังกายรูปแบบใหม่  ที่นำเสนอ Workout station ติดตั้งบนผนังที่บ้าน และสตรีมคลาสออกกำลังกายให้กับสมาชิก  และเมื่อเดือนตุลาคม 2019 Tonal ได้เปิดตัวฟังก์ชัน Coach A.I. ซึ่งรวมการออกกำลังกายเบื้องต้น   และการประเมินความแข็งแรงของผู้เล่นแต่ละคน เพื่อปรับระดับการออกกำลังอย่างต่อเนื่อง ให้สอดคล้องกับความแข็งแกร่งของผู้ใช้ที่เปลี่ยนแปลงไป

Cr. Trendwatching.com

ห้องโดยสารปรับ Mood – อนาคตของรถยนต์ต้องเป็นอย่างไร? ในเดือนมกราคม 2019 Kia Motors ของเกาหลีใต้ ได้เปิดตัวแนวคิด Real-time Emotion Adaptive Driving (READ) ที่สร้างขึ้นโดยความร่วมมือกับ MIT Media Lab READ โดยใช้ AI เพื่อวิเคราะห์อารมณ์ของผู้ขับขี่ ผ่านอัตราการเต้นของหัวใจและการแสดงออกทางสีหน้า ระบบจะทำการปรับแสงของห้องโดยสาร เสียง อุณหภูมิ และแม้แต่การสั่นสะเทือนของที่นั่ง เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่ผ่อนคลายยิ่งขึ้น KIA เป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ผลิตรถยนต์ ที่ทดลองการปรับสภาพภายในรถที่ตอบสนองผู้ขับขี่

Cr. Trendwatching.com

แน่นอนว่าแผนธุรกิจของหลายคน คงไม่เกี่ยวกับอาหารเสริม วิตามิน หรือผลิตภัณฑ์ความงาม  แต่เรื่องราวนี้คือการเน้นให้เห็นความคาดหวังพื้นฐานของผู้บริโภค ซึ่งเป็นสัญญาณใหม่ที่สำคัญ

ความสะดวกสบาย และความเฉพาะตัวของลูกค้า เป็นสิ่งที่ต้องอยู่ในโฟกัสของเราแล้ว ใน Trend ของ  METAMORPHIC ผู้บริโภคคาดหวังการหลอมรวม 2 ปัจจัยนี้เข้าด้วยกัน ไม่เพียงแค่การเสนอบริการ แต่ต้องเป็นบริการ “ที่ใช่” ในแบบ “เฉพาะตัว” อีกด้วย

คำถามสำคัญสำหรับธุรกิจก็คือ อะไรเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคคาดหวัง อะไรที่จะช่วยยกระดับบริการไปสู่เป้าหมายนั้น และอะไรที่ทำให้ผู้บริโภคสะดวกสบายขึ้นเป็นพิเศษ เราอาจจะออกสินค้าใหม่ ที่ทำให้ตรงกับความคาดหวังเฉพาะของผู้บริโภค  หรือเราอาจเพิ่มเติมคุณสมบัติของสินค้าที่ปรับได้ตรงกับความต้องการ ที่สำคัญก็คือการปรับอย่างต่อเนื่องเพื่อให้จับใจผู้บริโภคให้ได้

4. THE BURNOUT

แบรนด์ที่ฉลาด ให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือคนที่อยู่ในภาวะ Burnout หรือภาวะเหนื่อยล้าหมดไฟ ที่เป็นผลกระทบจากการใช้ชีวิตในปัจจุบัน

86% ของชาวอังกฤษกล่าวว่า มีภาวะความวิตกกังวลจากความเครียดในการทำงาน และ 87% มีปัญหาที่ไม่สามารถจบได้ในงาน จนต้องแบกความตึงเครียดกลับมาที่บ้าน นอกจากนี้  79% กล่าวถึงความรู้สึกล้มเหลวอยู่ตลอดเวลา

สองในสามของคนทำงานในออสเตรเลีย พยายามอย่างมากในการดูแลสุขภาพ ที่มีปัญหาจากความตึงเครียดที่แบกรับจากการทำงานและการเลี้ยงดูบุตร และหนึ่งในสี่ก็กำลังคิดจะลาออกจากงาน

71% ของผู้หญิงและ 66% ของผู้ชายในประเทศสิงคโปร์ รู้สึกว่าพวกเขาต้องทำงานอยู่ “ตลอดเวลา” จากงานที่ตามติดมาในรูปแบบของอีเมล การรับสาย และการเช็คข้อมูลในโทรศัพท์ จึงไม่น่าแปลกใจเลย ที่ในเดือนพฤษภาคม 2019 องค์การอนามัยโลก ได้ออกมาประกาศว่า “ภาวะเหนื่อยล้าหมดไฟ” เป็นปัญหาทางสุขภาพที่กำลังวิกฤต

แรงกดดันอย่างต่อเนื่องที่ต้องตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา และยังต้องสมดุลย์ระหว่างเรื่องส่วนตัวกับหน้าที่การงาน ทำให้หลายคนเผชิญสภาวะหมดไฟ เหนื่อยล้า และสิ้นหวัง ที่กระทบทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต ในขณะที่เราอยู่ท่ามกลางการให้ความสำคัญกับมาตรฐานชีวิตที่ดี  แต่แทบทุกคนก็เผชิญกับผลกระทบจากวิถีชีวิตแบบใหม่ ซึ่งในปี 2020 ผู้บริโภคจะมองหาแบรนด์ที่ช่วยต่อสู้กับสภาวะนี้

อย่างไรก็ตาม ถือได้ว่าเป็นโอกาสที่สำคัญของแบรนด์ ทั้งการเข้าหาผู้บริโภคในเวลาที่ถูกต้อง และการตรวจสอบภายในองค์กรของตนเอง  แบรนด์ต้องเตรียมพร้อมสำหรับอนาคต และไม่มองข้ามความสุขของพนักงานในองค์กร จัดลำดับเรื่องการดูแลพนักงาน ให้มีความสำคัญเทียบเท่ากับซัพพลายเชน รำลึกไว้เสมอว่า องค์กรที่ดีต้องตระหนักในปัญหาการหมดไฟในการทำงาน และต้องพร้อมปรับปรุงเพื่อแก้ไขปัญหานี้ให้เบาบางลง

ตัวอย่างที่น่าสนใจ

ทดสอบความเครียดจากน้ำลาย – ลองมาดูเครื่องมือใหม่ๆ ที่จะช่วยให้ผู้บริโภคจัดการกับสภาวะ BURNOUT นี้ Thriva บริษัทดูแลสุขภาพที่บ้านในประเทศอังกฤษ เปิดตัวบริการทดสอบระดับความเครียด เมื่อไตรมาสที่ 1 ปี 2019 ซึ่งเป็นการทดสอบที่ใช้น้ำลายมาวัดระดับคอร์ติซอล ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับความเครียด ผู้ใช้สามารถดูระดับคอร์ติซอลของตัวเองว่าสูงหรือไม่ และในเวลาช่วงไหนที่อยู่ในระดับสูงสุด วิธีการคือการเคี้ยววัสดุทดสอบ 4 ครั้ง / วัน จากนั้นส่งตัวอย่างกลับไปที่ Thriva เพื่อทำการวิเคราะห์  ซึ่งจะได้ผลลัพธ์ภายใน 48 ชั่วโมง

Cr. Trendwatching.com

อุปกรณ์ตรวจสอบความวิตกกังวล – การโฟกัสกับสวัสดิการทางใจของพนักงาน ก็ถือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับองค์กร และในวาระของวันสุขภาพจิตโลก เมื่อเดือนตุลาคม 2019 พนักงานของ WPP Health ในลอนดอน มิลาน และซิดนีย์ ได้รับ BioBeats ซึ่งเป็นอุปกรณ์สวมใส่อัจฉริยะ  (Wearable) ที่ติดตั้งตัววัดอัตราการเต้นของหัวใจ การเดิน และการนอนหลับ ซึ่งผู้ใส่จะสามารถเช็คระดับความวิตกกังวล ผ่านแอพพลิเคชั่นที่มี AI ให้คำแนะนำการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต ซึ่งหลังการทดลอง BioBeats ได้แบ่งปันข้อมูลให้ WPP Health เพื่อประกอบการพิจารณาการลงทุนเพื่อสนับสนุนด้านสุขภาพจิตให้กับพนักงานด้วย

Cr. Trendwatching.com

ปรับวัฒนธรรมองค์กร – ในฐานะของบริษัทยักษ์ใหญ่ Microsoft ให้ความสำคัญในการสนับสนุนวัฒนธรรมองค์กร เพื่อสร้างความสมดุลย์ภายใน เมื่อเดือน สิงหาคม 2019 Microsoft ที่ประเทศญี่ปุ่น ได้ทดลองโครงการทำงานสัปดาห์ละ 4 วัน โดยระหว่างการทดลองสำนักงานจะปิดทุกวันศุกร์ และการประชุมจะจำกัดเวลาไว้ไม่เกิน 30 นาที พนักงานประจำของบริษัทฯจะได้สิทธิการ ‘ลาพิเศษ’ ซึ่งได้รับค่าจ้าง และมีการสนับสนุนให้ใช้เวลากับงานอาสาสมัครต่างๆ หรือกับครอบครัว รวมไปถึงการมุ่งเน้นให้การพัฒนาทักษะในวิชาชีพ นอกจากนี้ ยังมีเงินอุดหนุนให้กับกิจกรรม หรือการศึกษาเพิ่มเติมของพนักงาน โดยผลลัพท์ที่ได้จากโครงการนี้ พบว่ามียอดขายเพิ่มขึ้นถึง 40% เมื่อเทียบกับเดือนสิงหาคม 2018 และพนักงานจำนวนถึง 92% เห็นด้วยกับการทำงานที่น้อยลงในแต่ละสัปดาห์

Cr. Trendwatching.com

รณรงค์ให้เห็นว่าเรื่องนอนเป็นเรื่องใหญ่ – จากการวิจัยพบคนจำนวนถึง 63% รู้สึกถึงการนอนไม่เต็มอิ่ม IKEA ได้จัดทำแคมเปญตลอดปี 2019 พร้อมกันทั่วโลก เพื่อเน้นความสำคัญของการนอนหลับ และแคมเปญที่ออกโดย Ikea India ในเดือนตุลาคม 2019 มุ่งเน้นไปที่ปัญหาการนอนหลับไม่เพียงพอในครอบครัวชาวอินเดีย รวมไปถึงสภาพที่แออัดยัดเยียดในห้องนอน เสียงรบกวนรอบข้าง และเครื่องนอนที่ทำให้รู้สึกไม่สบาย การรณรงค์นี้ยังมีการออกภาพยนตร์ที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับวงจรการนอนหลับที่มีคุณภาพ และติดตั้ง  Sleep Pods (ตู้นอน) ในห้างสรรพสินค้าที่ Hyderabad

Cr. Trendwatching.com

เส้นทางในปีหน้านั้น ธุรกิจคงไม่สามารถมองข้ามภาวะ ความเหน็ดเหนี่อยของผู้บริโภค แต่หากเราไม่มีสินค้าหรือบริการ ที่จะจัดการกับเรื่องนี้ได้ในทางตรง หนทางหนึ่งที่จะก้าวไปพร้อมกับ Trend นี้ก็คือ การทำให้สินค้าหรือบริการของเรา ง่ายขึ้น เร็วขึ้น และมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อให้แบรนด์มีส่วนช่วยในการจัดการกับความยุ่งยาก หรือความเครียดของผู้บริโภค แสดงให้เห็นถึงความเข้าใจในปัญหา และสื่อให้รู้ว่าเป็นเหตุผลที่แบรนด์ทำสิ่งต่างๆเพื่อช่วยให้มันดี

ที่สำคัญคือต้องไม่มองข้ามสภาวะนี้ในองค์กร สร้างการเปลี่ยนแปลงที่มีความหมาย ช่วยลดความเครียดและความเหนื่อยหน่ายที่อาจเกิดขึ้นกับพนักงานของเรา นอกจากจะได้ทำในสิ่งที่ถูกต้อง มีโอกาสเพิ่มประสิทธิภาพในองค์กรแล้ว  วัฒนธรรมภายในองค์กร ยังมีบทบาทสำคัญที่สามารถส่งสัญญาณอันทรงพลัง เพื่อแสดงตัวตนของแบรนด์ว่าเป็นอย่างไร

5. CIVIL MEDIA

ทำไมอนาคตของสังคม จึงเกิดความเชื่อมโยงกันอย่างมีความหมายมาก นั่นเป็นเพราะสื่อโซเชียลปัจจุบัน  กลายเป็นเครื่องมือที่ใช้ห้ำหั่น ทำร้ายกันไปเสียแล้ว ทั้งการแบ่งแยก และการรังแกรายบุคคล ในขณะที่เจ้าของแพลตฟอร์มกลับจะดูเหมือนสนใจแต่เรื่องทำให้คนเสพติดโซเชียลเท่านั้นเอง

แน่นอนว่าอาจมีคนไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ เพราะในทางกลับกัน หลายคนก็ไม่มีปัญหากับข้อมูลดีๆที่ได้จากโซเชียลมีเดียต่างๆ  อย่างไรก็ตามคงปฏิเสธไม่ได้ว่า สิ่งที่เข้ามาครอบงำวันนี้ คือเนื้อหาที่เป็นพิษ และการกลั่นแกล้งรังแกออนไลน์

ในปี 2020 ผู้บริโภคจะเสาะแสวงหาทางแก้ไขมลพิษในชุมชนออนไลน์ จะมีความพยายามลดช่องว่างทางดิจิตอลขนาดใหญ่ให้เล็กลง สร้างความใกล้ชิดมากขึ้น ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการเคารพซึ่งกันและกัน สร้างโอกาสให้มีสังคมกับคนที่คล้ายกัน และเป็นตัวของตัวเองอย่างแท้จริง

มีหลักฐานที่แสดงว่าสื่อสังคมออนไลน์หลักเป็นพิษ รวมถึงการกลั่นแกล้งและคุกคาม ซึ่งไม่สามารถเพิกเฉยได้ โดยจากการศึกษาของมหาวิทยาลัย Cornell เมื่อเร็วๆนี้พบว่า Influencer หญิงใน Instagram จะถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง ทั้งในแง่ของความเป็นตัวตนจนเกินไป และแน่นอนว่าปลอมจนเกินไปอีกด้วย และที่สำคัญคือพบความเชื่อมโยงของโซเชียลมีเดีย ที่มีส่วนเพิ่มอัตราการฆ่าตัวตายของวัยรุ่นที่สูงขึ้นจนน่าตกใจ

เมื่อนำหลายๆปัจจัยมารวมกัน  จึงสื่อให้เห็นว่าปี 2020 จะเป็นปีที่มีการค้นหาสื่อทางสังคมรูปแบบใหม่ ซึ่งนำไปสู่คำถามว่า ธุรกิจจะเข้ามามีส่วนร่วมหรือไม่และอย่างไร?

ตัวอย่างที่น่าสนใจ

การสร้างอำนาจให้ชุมชนขนาดย่อม – เมื่อเดือน กรกฎาคม 2019 Quilt สตาร์ทอัพในประเทศสหรัฐอเมริกา ได้เปิดตัวแอพพลิเคชั่น ที่ช่วยให้เกิดการรวมตัวเป็นกลุ่มแชทขนาดย่อยของผู้หญิง โดยผู้ใช้สามารถค้นหาการรวมกลุ่มเพื่อสังสรรค์กับคนในพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งการรวมกลุ่มแชทนี้ จะเป็นลักษณะของการรวมตัว เพื่อแบ่งปันประสบการณ์ส่วนตัวในหลากหลายหัวข้อ ตั้งแต่การแลกเปลี่ยนข้อมูลเรื่องเงิน การระดมทุน เรื่องความรัก และแม้แต่ปัญหาการเสพติดสื่อออนไลน์

Cr. Trendwatching.com

การเป็นพันธมิตรของแพลตฟอร์มออนไลน์เพื่อสร้างพื้นที่ส่วนตัว – เมื่อเดือนตุลาคม 2019 เครื่องดื่มยี่ห้อ Sprite ได้เปิดตัวแคมเปญ You are Not Alone ในละตินอเมริกา โดยได้ทำงานร่วมกับ Google เพื่อระบุปัญหาส่วนตัวของคนหนุ่มสาว จากนั้นได้เปิดฟอรัมใน Reddit เพื่อให้กลุ่มวัยรุ่นสามารถเชื่อมต่อและพูดคุยกันได้ โดยในแต่ละฟอรัม จะมีการนำ Influencer ที่มีประสบการณ์ในประเด็นต่างๆ ที่เป็นข้อกังวลของเจนฯนี้  เช่น การเปิดตัวในเพศทางเลือก ปัญหาทางเพศ และเรื่องคับข้องใจอื่นๆ แคมเปญนี้เป็นการต่อยอดจากแคมเปญ I Love You Hater เมื่อเดือนมกราคม 2019 ซึ่งออกมาพูดถึงปัญหาการกลั่นแกล้งออนไลน์

Cr. Trendwatching.com

โลกของแม่ลูกอ่อนที่ต้องการความช่วยเหลือ – เรากำลังพูดถึงชุมชนที่เชื่อมโยงกับแต่ละช่วงเวลาของชีวิต หรือภารกิจเฉพาะ The Night Feed เป็นโซเชียลแอพพลิเคชั่น ของประเทศอังกฤษ สำหรับแม่ที่ต้องให้นมบุตรยามดึก เช่นเดียวกับฟังก์ชั่นแชทของโซเชียลแอพฯ แอพฯนี้ยังมีเนื้อหาที่มีประโยชน์ รวมถึงการสัมภาษณ์พยาบาลผดุงครรภ์ และกุมารแพทย์เพื่อให้คำแนะนำต่างๆ ตั้งแต่เสื้อผ้าที่เหมาะสมสำหรับการให้นมบุตร ไปจนถึงการตั้งชมรมหนังสือ และเรื่องที่น่าสนใจอื่นๆของคนในชุมชน นอกจากนี้ แอพฯ ยังมีฟังก์ชันจัดสรรเวลาการให้นมบุตร เพื่อช่วยเหลือคุณแม่ในการตรวจสอบตาราง และมีบริการเตือนเวลาพักผ่อนให้ทั้งคุณแม่และทารก

Cr. Trendwatching.com

พื้นที่สำหรับคนทุกกลุ่ม –ในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2019 มีการก่อตั้งกลุ่ม Stream Queens ที่เป็นกลุ่มของศิลปินสาวประเภทสอง ที่มารวมกลุ่มกันเล่นวิดีโอเกมบน Twitch ที่เป็นแพลตฟอร์มวิดีโอสตรีมสดของ Amazon ทั้งนี้เพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัย ให้สามารถเล่นเกมกับสมาชิกในกลุ่ม สตรีมตัวเองผ่านเว็บแคม และแสดงความคิดเห็นร่วมกันผ่านแชทบ็อกซ์  โดยกลุ่มนี้เริ่มก่อตั้งขึ้นโดยศิลปินสาวประเภทสองในสหรัฐอเมริกา และเติบโตจนมีสมาชิก 30 คนทั่วโลก ที่มาร่วมเล่นเกมที่หลากหลาย และแสดงออกโดยการแต่งกายและรูปลักษณ์ได้อย่างเสรี

Cr. Trendwatching.com

การปฏิสัมพันธ์ และการแสดงออกเป็นความต้องการขั้นพื้นฐานของมนุษย์ ผู้บริโภคจะยังคงพยายามที่จะสนองความต้องการเหล่านี้ทางออนไลน์อย่างต่อเนื่อง แต่การสร้างแพลตฟอร์ม CIVIL MEDIA ใหม่นั้น ขึ้นอยู่กับความสามารถในการทำสิ่งที่สื่อโซเชียลดั้งเดิมไม่สามารถทำได้ และที่สำคัญคือต้องมองข้ามการแข่งขัน เพื่อแสวงหาผลกำไรระยะสั้น แต่ควรมุ่งมั่นในภารกิจระยะยาว

ควรสร้างพื้นที่ทางสังคมออนไลน์อย่างสร้างสรรค์ และมีขนาดที่เหมาะสม สร้างชุมชนใหม่ และส่งเสริมการเชื่อมโยงซึ่งกันและกันให้ได้อย่างแท้จริง ถามตัวเองว่าจะช่วยสนับสนุนผู้บริโภคในแง่มุมการใช้ชีวิตได้อย่างไร

และที่สำคัญที่สุด คิดให้มากกับกลุ่มที่เสี่ยงกับพิษของสังคมออนไลน์  เช่น กลุ่มคนชายขอบ และกลุ่มที่มักถูกมองข้าม ซึ่งน่าเศร้าแต่เป็นความจริงว่ากลุ่มนี้รวมไปถึงเพศหญิงด้วย

หากเราสามารถสร้างพื้นที่ CIVIL อย่างแท้จริง เพื่อให้ผู้บริโภคมารวมตัวกันทางออนไลน์ในปี 2020 ที่สุดแล้วรางวัลที่ได้รับจะมีมากมายกว่าที่คิด แต่อย่าลืมว่าความมุ่งมั่นของเราที่จะให้บริการชุมชน จะต้องเป็นของจริง มีความจริงใจในการทำ และทำอย่างถูกต้อง

หวังว่าแนวโน้มที่กล่าวมาทั้งหมด คงจะมีส่วนช่วยให้ธุรกิจมองเห็นโอกาส และแนวทางในการเคลื่อนตัวไปข้างหน้า เพื่อประสบความสำเร็จอย่างแท้จริง  สุดท้ายแล้วการนำแนวโน้มเหล่านี้มาใช้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็คือการสร้างนวัตกรรมใหม่ที่น่าสนใจ ที่จะสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้าของคุณเท่านั้นเอง


Source