
Onlinenewstime.com : กรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เผยแพร่คู่มือประชาชน แผ่นดินไหว ภัยใกล้ตัว ไม่น่ากลัว ถ้าเตรียมพร้อม พร้อมเปิดเผยข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับ ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นหลังแผ่นดินไหว ซึ่งหลายคนอาจเข้าใจผิดว่า เมื่อแรงสั่นสะเทือนสงบลง ภัยอันตรายก็สิ้นสุดลงทันที

ทว่าในความเป็นจริง แผ่นดินไหวยังคงส่งผลกระทบตามมา และอาจนำไปสู่ความเสียหายเพิ่มเติมได้
เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจและลดความเสี่ยง เราขอพาคุณไปรู้จักกับ 5 ปรากฏการณ์สำคัญที่มักเกิดขึ้นหลังแผ่นดินไหว ไม่ว่าจะในประเทศไทยหรือพื้นที่เสี่ยงภัยทั่วโลก!
กรมทรัพยากรธรณี เตือน 5 ปรากฏการณ์หลังแผ่นดินไหวที่ต้องรู้
1. แผ่นดินไหวตาม (Aftershock)
แผ่นดินไหวตามเป็นแผ่นดินไหวขนาดเล็กที่เกิดขึ้นหลังจากแผ่นดินไหวหลัก จากการปรับตัวของเปลือกโลกที่ได้รับแรงเครียดจากแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ แม้ว่าจะมีขนาดเล็กลง แต่แผ่นดินไหวตามก็อาจก่อให้เกิดอันตรายและสร้างความเสียหายเพิ่มเติม โดยเฉพาะกับอาคารที่ได้รับความเสียหายจากแรงสั่นสะเทือนครั้งแรก
2. หลุมยุบ (Sinkhole)
แรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวอาจกระตุ้นให้โพรงใต้ดินยุบตัวลง จนเกิดเป็นหลุมขนาดใหญ่บนพื้นผิวโลก ปรากฏการณ์นี้มักเกิดขึ้นในพื้นที่ที่มีชั้นดินหรือหินปูนที่ละลายน้ำได้ง่าย เช่นในบางพื้นที่ของภาคใต้ของประเทศไทย หลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 9.1 เมื่อปี 2547 ได้มีรายงานว่าหลุมยุบเกิดขึ้นจำนวนมาก สร้างความเสียหายต่อบ้านเรือนและพื้นที่เกษตรกรรม
3. โคลนพุ ทรายพุ (Liquefaction)
ปรากฏการณ์ทรายพุ หรือที่เรียกกันว่า “ทรายเดือด” เกิดขึ้นเมื่อดินที่มีน้ำแทรกซึมอยู่ได้รับแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวจนสูญเสียความแข็งแรง ส่งผลให้ตะกอนทรายที่อยู่ใต้พื้นดินเคลื่อนตัวขึ้นมาสู่ผิวดินในลักษณะของโคลนเหลว ทำให้สิ่งปลูกสร้างหรือถนนที่อยู่ด้านบนทรุดตัวลง
4. แผ่นดินถล่ม (Landslide)
แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในพื้นที่ภูเขาหรือเชิงเขา อาจทำให้ดินหรือหินที่ไม่มั่นคงเกิดการเคลื่อนตัว ส่งผลให้เกิดแผ่นดินถล่ม ปรากฏการณ์นี้สามารถทำลายบ้านเรือน เส้นทางสัญจร และสิ่งปลูกสร้างที่อยู่ด้านล่างได้ อีกทั้งยังเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดน้ำท่วมฉับพลันหากดินถล่มลงไปกั้นทางน้ำ
5. น้ำใต้ดินเปลี่ยนสี (น้ำบาดาล น้ำพุร้อน น้ำผุด)
เกิดจากแรงสั่นสะเทือนในชั้นดินที่มีตะกอนโคลนและทรายอยู่ใต้ดินภูกพัดเข้ามาผสมกับน้ำใต้ดิน ทำให้น้ำมีสีขุ่นผิดปกติ และจะค่อยๆ กลับสู่สภาพปกติได้เมื่อตะกอนตกตะกอนและชั้นน้ำใต้ดินกลับสู่สภาวะสมดุล
เตรียมพร้อมและเรียนรู้เพื่อรับมือกับแผ่นดินไหว แผ่นดินไหวอาจใช้เวลาเพียงไม่กี่วินาทีในการเกิดขึ้น แต่ผลกระทบที่ตามมาอาจอยู่กับเรานานกว่าที่คิด เราจึงควรตระหนักถึงความเสี่ยงของภัยธรรมชาตินี้ และเตรียมพร้อมรับมือเสมอ
วิธีลดความเสี่ยงจากปรากฏการณ์หลังแผ่นดินไหว
1. หลีกเลี่ยงการอยู่ในอาคารที่ได้รับความเสียหายหลังแผ่นดินไหว เพราะอาจพังถล่มลงมาได้หากเกิดแผ่นดินไหวตาม
2. ตรวจสอบพื้นดินและบริเวณโดยรอบ หากพบรอยแยกหรือการทรุดตัวผิดปกติ ควรแจ้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง
3. หากอยู่ในพื้นที่ลาดเชิงเขา ให้ระมัดระวังดินถล่ม โดยสังเกตสัญญาณเตือน เช่น มีรอยดินแตกร้าว น้ำบนภูเขาเปลี่ยนสี หรือเสียงดังจากใต้ดิน
4. ติดตามข่าวสารจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมอุตุนิยมวิทยา หรือกรมทรัพยากรธรณี เพื่อรับข้อมูลและคำแนะนำที่ถูกต้อง
แผ่นดินไหวอาจหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่เราสามารถเรียนรู้และเตรียมพร้อมเพื่อป้องกันความสูญเสียได้เสมอ กรมทรัพยากรธรณี โดยกองธรณีวิทยาสิ่งแวดล้อม รวมรวมข้อมูลที่ควรรู้ “แผ่นดินไหว ภัยใกล้ตัว ไม่น่ากลัว ถ้าเตรียมพร้อม”
คู่มือประชาชน มีข้อมูลและภาพประกอบที่เข้าใจง่ายที่รวบรวมข้อมูลสาเหตุของธรณีพิบัติภัยแผ่นดินไหว การรับมือและเตรียมพร้อมได้อย่างสมบูรณ์ ครบทุกประเด็น โดยกองทรัพยากรธรณีสิ่งแวดล้อม
เพราะทุกครั้งที่แผ่นดินไหวเกิดขึ้นในบริเวณประเทศไทยหรือประเทศเพื่อนบ้านก็ตาม มักส่งผลกระทบไม่มากก็น้อยทำให้ผู้คนเกิดความตื่นตระหนก เพื่อเป็นแนวทางให้ทุกคนได้ศึกษาทำความเข้าใจถึงสาเหตุของการเกิดแผ่นดินไหวรวมทั้งใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติตัวเบื้องต้น
ที่มา : กรมทรัพยากรธรณี