Onlinenewstime.com : 5G ถือเป็นเทรนด์เทคโนโลยีสำคัญที่กำลัง “มาแรง” ในประเทศไทยขณะนี้ เนื่องจากโอเปอเรเตอร์ทั้งหลาย ต่างก็ประมูลทั้งคลื่น 700 MHz, 2600 MHz และ 26 GHz สำหรับเครือข่าย 5G ไปตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และได้เริ่มให้บริการแก่ผู้ใช้งานในไทย ที่สำคัญคือ เราได้เห็นการใช้งาน 5G ร่วมกับโซลูชันไอซีทีอื่นๆ จากภาคสาธารณสุขของไทย ที่ช่วยเสริมประสิทธิภาพการจัดการกับสถานการณ์โควิด-19 นี้ด้วย Telemedicine และ AI
โจทย์ต่อไปคือ เทรนด์ของการประยุกต์ใช้ 5G ในภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงเวลาที่ประเทศไทยต้องเริ่มฟื้นตัวจากโควิด
หนึ่งในกุญแจสำคัญ ที่จะทำให้เทรนด์ดังกล่าวเกิดขึ้นได้คือ “5G อีโคซิสเต็ม” ซึ่งจะช่วยผลักดันเศรษฐกิจของไทย ให้เดินต่อได้อย่างรวดเร็ว โดยส่วนประกอบสำคัญของ 5G อีโคซิสเต็มคือ การผสมผสานระหว่างผู้ประกอบการ หน่วยงานและภาครัฐ ดังนี้
โอเปอเรเตอร์ ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญอันดับแรก เพราะผู้ให้บริการเครือข่ายเป็นผู้ติดตั้งเครือข่าย 5G ให้สามารถใช้งานได้ในประเทศไทย ถือเป็นผู้วางโครงสร้างพื้นฐานให้แก่เครือข่ายยุคใหม่ และเป็นผู้ที่มีบทบาทโดยตรง ในการขยายเครือข่าย 5G ให้สามารถใช้งานได้อย่างครอบคลุมทั่วประเทศ
โซลูชัน โพรไวเดอร์ คือผู้จัดจำหน่ายอุปกรณ์ และผู้ให้บริการโซลูชันที่รวมถึงหัวเว่ย ซึ่งจำเป็นต้องทำงานร่วมกับผู้ให้บริการเครือข่ายในไทย โดยก่อนหน้านี้ เวนเดอร์อาจให้บริการเพียงช่วยวางเครือข่าย แต่ในยุคดิจิทัลนี้ ต้องคำนึงถึงการทำโซลูชัน เพื่อตอบโจทย์การใช้งานในแต่ละภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น และสามารถเพิ่มความ “อัจฉริยะ” ให้กับทุกภาคอุตสาหกรรมของไทย
อุตสาหกรรมแนวดิ่ง (Vertical Industry) คือภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ อย่างโรงงาน (ระดับมหภาค) หรือ SME รายย่อยต่างๆ (ระดับจุลภาค) ซึ่งเป็นผู้ใช้งานจริง และเป็นผู้นำเทคโนโลยี 5G ไปประยุกต์ใช้ในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ การสร้างเกษตรกรรมอัจฉริยะให้เป็นจริงได้ในประเทศไทย จะต้องดึงผู้ประกอบการรายย่อย ที่เป็นส่วนประกอบของภาคเกษตรกรรม หรือปศุสัตว์ให้เข้ามาร่วมในอีโคซิสเต็มของ 5G ด้วย เพราะพวกเขา คือผู้ที่จะนำนวัตกรรมใหม่นี้ ไปใช้งานจริง
พาร์ทเนอร์รายย่อยในประเทศ ถึงแม้เวนเดอร์ระดับโลกอย่างหัวเว่ย จะมีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและโซลูชันโทรคมนาคม แต่ก็ต้องอาศัยพาร์ทเนอร์ในไทย ที่มีความชำนาญเฉพาะด้านในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ เช่นกัน อาทิ ภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ โรงงาน เป็นต้น ซึ่งถือว่ามีความสำคัญมาก เพราะจะช่วยดึงศักยภาพด้านดิจิทัล หรือ 5G มาควบรวมเข้าไปในภาคอุตสาหกรรมนั้นๆ แล้วสร้างให้เกิดโซลูชัน ที่มีประโยชน์สูงสุด ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา เราเห็นตัวอย่างการใช้งาน 5G มากมาย ที่เกิดจากความร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ในภาคสาธารณสุข ซึ่งถือว่าประเทศไทย ทำได้ค่อนข้างดีมาก สำหรับประเทศที่เพิ่งมีเทคโนโลยี 5G เพียง 6 เดือนเท่านั้น
ภาครัฐและสมาคมในภาคอุตสาหกรรม นับว่ามีส่วนสำคัญไม่แพ้ส่วนอื่นๆ เนื่องจากเป็นผู้กำหนดนโยบาย กฎระเบียบ รวมถึงให้การสนับสนุนการใช้งานเทคโนโลยีในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งจะช่วยผลักดันให้เกิดการใช้งานอย่างกว้างขวาง ในภาคธุรกิจของประเทศ
สิ่งสำคัญของ 5G อีโคซิสเต็มคือ ไม่ใช่เป็นเรื่องเฉพาะขององค์กรใดองค์กรหนึ่ง แต่เป็นความพยายามร่วมกัน ในการผลักดันจากทุกภาคส่วน เพื่อให้เกิดนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ สร้างความได้เปรียบให้ประเทศไทยเดินหน้าต่อไปได้ ในโลกยุคหลังโควิด-19
ซึ่งการที่ประเทศไทยมีความก้าวหน้าด้านการนำเทคโนโลยี 5G มาประยุกต์ใช้เป็นอันดับแรกๆ ในภูมิภาคอาเซียน ถือเป็นความได้เปรียบเหนือประเทศอื่นๆ ในขณะนี้ หากเราสามารถนำศักยภาพที่มีอยู่ มาใช้งานได้อย่างเต็มที่ ก็จะยกระดับประเทศไทยให้เป็น “ไทยแลนด์ 4.0” ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเปิดทางสู่โอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ได้อย่างไร้ขีดจำกัด