ภาพ : นาซ่า
onlinenewstime.com : เวบไซด์ World Economic Forum หรือสภาเศรษฐกิจโลก เผยแพร่เรื่องราวเกี่ยวกับ นาซา (องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ) และสิ่งที่ได้มาจากการศึกษาภาวะ Climate change หรือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
1. ปี 2016 เป็นปีที่อากาศร้อนทุบสถิติ
ในปี 2016 อุณหภูมิพื้นผิวโลกสูงที่สุดตั้งแต่ที่เริ่มมีการบันทึกในปี 1880 ตามการวิจัยของนาซ่าและ NOAA (National Oceanic and Atmospheric Administration) โดยมีอุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกสูงขึ้น 1.78 องศาฟาเรนไฮต์ (0.99 องศาเซลเซียส) เทียบกับค่าเฉลี่ยในกลางศตวรรษที่ 20
2. ก๊าซเรือนกระจกเคลื่อนไหวอยู่รอบโลก
ก๊าซเรือนกระจกซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิง กำลังทำให้โลกร้อนขึ้น นาซา เปิดเผยวิดีโอที่แสดงให้เห็นถึงการเคลื่อนไหวของก๊าซ ผ่านชั้นบรรยากาศ และระยะเวลาที่ก๊าซปกคลุม ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อนักวิทยาศาสตร์ ในการคาดการณ์สภาวะอากาศของโลกในอนาคตได้ดีขึ้น
3. อะไรกำลังเกิดขึ้นกับน้ำแข็งในอาร์กติก
น้ำแข็งในทะเลอาร์กติก เป็นอีกวิธีหนึ่งที่เราจะสามารถมองเห็นภาวะโลกร้อนได้อย่างชัดเจน มันไม่เพียงเกิดการหดตัว แต่ยังมีการละลายในน้ำแข็ง ที่มีอายุนานซึ่งแสดงถึงความเสี่ยง ในการละลายในอนาคต ภาพเคลื่อนไหวจะแสดงให้เห็น ถึงการก่อตัวของน้ำแข็งขั้วโลกเหนือในช่วงฤดูหนาว และการละลายในช่วงฤดูร้อน ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงในแต่ละปี น้ำแข็งที่มีอายุน้อยกว่าจะแสดงเป็นสีเข้ม ในขณะที่มีอายุอย่างน้อยสี่ปีจะแสดงเป็นสีขาว
4. ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกับหมีขั้วโลกและสัตว์อื่น
การใช้ข้อมูลดาวเทียมของนาซ่า ทำให้นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ได้ว่า ปริมาณหมีขั้วโลกมีโอกาสลดลงถึง 30% ในอีก 35 ปีข้างหน้า เพราะน้ำแข็งซึ่งเป็นที่อยู่หลักของหมีขั้วโลกมีการหดตัวลง
นอกจากนี้ ยังมีแนวโน้มภัยแล้งรุนแรงในทางตะวันตกเฉียงใต้ของสหรัฐ ทำให้พืชลดปริมาณ และไม่เจริญเติบโต ซึ่งนอกจากจะส่งผลกระทบต่อจำนวนสัตว์กินพืช เช่น กวาง หรือฬ่อแล้วนั้น ยังส่งผลไปถึงสัตว์นักล่าหลัก เช่น สิงโตภูเขาอีกด้วย
5. การปรับตัวของชุมชน
บริษัท ร่วมทุนระหว่างนาซา และองค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ (USAID) ได้นำข้อมูลไปเผยแพร่กับประชาชน ในพื้นที่หลักทั่วโลก ที่จะต้องเผชิญกับปัญหาสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ โดยมีโครงการ SERVIR ที่เป็นความคิดริเริ่ม ในการใช้ภาพถ่ายผ่านดาวเทียม มาทำแผนที่ เพื่อช่วยประกอบการตัดสินใจ ปรับปรุงสิ่งแวดล้อมในหมู่ประเทศกำลังพัฒนา ประเทศแถบตะวันออก และทางใต้ของแอฟริกา ภูมิภาคฮินดูกูช ของเทือกเขาหิมาลัย และตอนใต้ของลุ่มแม่น้ำโขง มีตัวอย่างในเทือกเขาหิมาลัย ที่ใช้ภาพสังเกตการณ์จากดาวเทียม เพื่อตรวจสอบไฟไหม้ป่า ช่วยให้จัดการให้ไฟสงบได้รวดเร็วขึ้น
6. การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล
ระดับน้ำทะเลสูงที่ขึ้นเป็นตัวบ่งชี้ชัดเจนว่า กิจกรรมของมนุษย์เป็นตัวการที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของโลก นาซ่ากล่าวว่าแม้แค่การเปลี่ยนแปลงเล็กๆของน้ำ ก็สามารถสร้างผลกระทบใหญ่หลวงต่อสภาพภูมิอากาศ
โดยได้มีการปล่อยดาวเทียม เจสัน-3 ออกไปเมื่อเดือนมกราคมปี 2016 ซึ่งจะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์ สามารถติดตามสภาพของมหาสมุทร และคาดการณ์ การเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศได้มากยิ่งขึ้น
7. ความงามของโลกในมุมมองจากอวกาศ
นาซาเผยแพร่ภาพชวนตะลึงของโลก จากอวกาศ ในอีกมุมมอง ภาพนี้ถูกถ่ายจากดาวเทียมใหม่ล่าสุดของ NOAA GOES-16 ในเดือนมกราคมปีนี้ จากวงโคจร 22,3000 ไมล์เหนือโลก
นาซากล่าวว่า ภารกิจหนึ่งที่สำคัญของพวกเขาคือ การดูแลโลกให้ดีที่สุด
“ถ้าคุณมีโอกาสที่จะเห็นโลกจากอวกาศ คุณจะเข้าใจดาวเคราะห์ที่เป็นบ้านเกิดของเราได้ดีขึ้น และจะรู้ว่าโลกดูแลทุกชีวิตได้อย่างวิเศษแค่ไหน
“นาซาเห็นสิ่งเหล่านี้ผ่าน กล้องสังเกตการณ์โลกผ่านดาวเทียม และความรู้ที่ได้มานั้น จะช่วยทำให้ทุกคนบนโลกมีชีวิตที่ดีขึ้น “