fbpx
News update

7 เรื่องน่ารู้ ด้านความยั่งยืนเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ใน “โอลิมปิกปารีส 2024”

การแข่งขันครั้งนี้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 26 กรกฎาคม ถึง 11 สิงหาคม 2024 โดยมีนักกีฬาจากหลายประเทศทั่วโลกมาร่วมแข่งขันในหลากหลายประเภทกีฬา ไม่ว่าจะเป็นกรีฑา ว่ายน้ำ ยิมนาสติก ฟุตบอล และกีฬาอื่น ๆ อีกมากมาย รวมถึงมีนักกีฬาไทยเข้าร่วมแข่งขันทั้งหมด 51 คน จาก 17 ชนิดกีฬา

โอลิมปิกปารีส 2024 ยังมีความสำคัญเพราะเน้นในเรื่องของความยั่งยืนและนวัตกรรม อาทิ การใช้สถานที่จัดการแข่งขันที่มีอยู่แล้วมากที่สุดเพื่อลดการสร้างสิ่งก่อสร้างใหม่ ลดการใช้พลังงานและทรัพยากร และมุ่งเน้นการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ปารีส 2024 ได้กำหนดมาตรฐานใหม่ด้านความยั่งยืนสำหรับกิจกรรมกีฬาระดับโลก โดยเน้นการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและเพิ่มประโยชน์ต่อสังคมและเศรษฐกิจ ผ่านการดำเนินการต่าง ๆ ที่ครอบคลุมถึง

  1. การลดการปล่อยมลพิษ ปารีส 2024 ตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 50% เมื่อเทียบกับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่ลอนดอน 2012 และริโอ 2016 ซึ่งสอดคล้องกับข้อตกลงปารีสว่าด้วย “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” โดยการแข่งขันครั้งนี้จะคำนึงถึงการปล่อยก๊าซคาร์บอนทั้งหมด ซึ่งครอบคลุมการปล่อยก๊าซโดยตรง ทางอ้อม และจากการเดินทางของผู้ชม
  2. สถานที่จัดงานของปารีส 2024 เป็นสถานที่ที่มีอยู่แล้วหรือสร้างขึ้นชั่วคราว ซึ่งคิดเป็น 95% ของสถานที่จัดงานทั้งหมด ความคิดริเริ่มนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งในการมีส่วนสนับสนุนในการลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนของการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกลงครึ่งหนึ่ง
  3. การสร้างสถานที่ใหม่เพื่อชุมชน สร้างขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของคนในท้องถิ่น โดยยึดหลักการของการลดการใช้และการนำกลับมาใช้ใหม่ อาทิ ศูนย์กีฬาทางน้ำและหมู่บ้านโอลิมปิกปารีส 2024 ที่มีหลังคาแผงโซลาร์เซลล์ขนาด 4,680 ตร.ม. ซึ่งให้พลังงานไฟฟ้าได้ประมาณ 20 % ของความต้องการใช้ไฟฟ้าในสถานที่ หรือที่นั่งที่ทำจากฝาขวดพลาสติกรีไซเคิล
  4. พลังงานหมุนเวียน ปารีส 2024 ใช้พลังงานหมุนเวียน 100% จากแหล่งพลังงานในท้องถิ่น โดยสถานที่จัดงานทั้งหมดเชื่อมต่อกับโครงข่ายไฟฟ้าที่ใช้พลังงานหมุนเวียน ซึ่งช่วยลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนได้อย่างมาก
  5. อาหารยั่งยืน เน้นแนวทางปฏิบัติด้านอาหารที่เพิ่มปริมาณอาหารจากพืช ลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว และนำอุปกรณ์อาหารกลับมาใช้ใหม่ อาทิ จุดบริการน้ำดื่มฟรี และผู้เข้าชมสามารถนำขวดที่นำมาใช้ซ้ำได้เข้ามาในสถานที่ได้
  6. ขนส่งสาธารณะ เน้นให้มีการเดินทางที่ใช้ระบบขนส่งสาธารณะ โดยสถานที่จัดงาน 80% อยู่ในรัศมี 10 กม. จากหมู่บ้านโอลิมปิก สถานที่จัดงานปารีส 2024 ทั้งหมดสามารถเข้าถึงได้ด้วยระบบขนส่งสาธารณะ
  7. เศรษฐกิจหมุนเวียน ลดการใช้ทรัพยากรใหม่ให้น้อยที่สุด โดยการเช่า และการนำกลับมาใช้ใหม่

นับว่า มาตรการเหล่านี้สะท้อนถึงการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่ยั่งยืนและรับผิดชอบต่อสังคม โดยลดการปล่อยมลพิษและใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ และความพยายามเหล่านี้ไม่เพียงแต่ช่วยลดผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อม แต่ยังสร้างประโยชน์ให้กับชุมชนและเศรษฐกิจในระยะยาวอีกด้วย