fbpx
News update

7 เคล็ดลับเพื่อความปลอดภัยในโลกออนไลน์สำหรับยุคโควิด-19

Onlinenewstime.com : การระบาดครั้งใหญ่ของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตและการทำงาน ทั้งยังทำให้เทคโนโลยี มีบทบาทในชีวิตประจำวันมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการทำงานทางไกล เข้าคลาสเรียนออนไลน์ หรือพูดคุยกับเพื่อนๆ ผ่านโซเชียลมีเดียแทนการเจอหน้ากัน

โอม ศิวะดิตถ์ ผู้บริหารด้านนโยบายภาครัฐ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด ให้ความเห็นว่า ในเมื่อเราต้องใช้เวลา อยู่บนโลกออนไลน์มากขึ้น ความปลอดภัยในโลกออนไลน์ จึงมีความสำคัญมากยิ่งขึ้นเช่นกัน เพราะวิถีชีวิตแบบ “New Normal” ในยุคนี้ ทำให้ทุกคนสร้างข้อมูลมากขึ้น เปิดเผยข้อมูลและตัวตนของเราในโลกออนไลน์มากขึ้น และนำข้อมูลไปใช้ในรูปแบบหรือพื้นที่ที่ควบคุมได้ยากขึ้น จึงเท่ากับเป็นการเปิดพื้นที่ และโอกาสให้ผู้ประสงค์ร้ายเข้าจู่โจมได้มากกว่าที่เคย

ถึงแม้ว่าที่ทำงาน โรงเรียน หรือมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ จะมีแนวทางปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยของข้อมูลอยู่แล้ว แต่เราทุกคน ในฐานะเจ้าของข้อมูลของตัวเอง ก็ยังสามารถนำแนวทางปฏิบัติเพิ่มเติมนี้ไปใช้งาน เพื่อให้ใช้ชีวิตในโลกดิจิทัลได้มั่นใจยิ่งขึ้น และหลีกเลี่ยงภัยจากการโจมตีทางไซเบอร์ ที่อาจเกิดขึ้นอย่างคาดไม่ถึง

1. เปิดรับอัปเดทอัตโนมัติ ให้พีซีของคุณเท่าทันทุกภัยร้าย โดยส่วนใหญ่แล้ว อาชญากรไซเบอร์มักมุ่งเป้าจู่ โจมไปที่อุปกรณ์ ที่ขาดการปกป้องหรือมีช่องโหว่มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ ที่ไม่ได้รับอัปเดทด้านความปลอดภัยล่าสุด ไม่มีไฟร์วอลล์ หรือไม่ใช้บริการป้องกันไวรัส ทำให้สามารถคุกคาม เข้าถึงข้อมูลในเครื่องได้ง่าย การลดความเสี่ยงนี้ ทำได้ง่าย ๆ ด้วยการเปิดรับอัปเดทแบบอัตโนมัติ ติดตั้งเครื่องมือตรวจจับและป้องกันไวรัส ที่ทำงานอย่างต่อเนื่องตลอดเวลาที่เปิดเครื่อง และเปิดการใช้งานไฟร์วอลล์ ที่ช่วยคัดกรองการรับส่งข้อมูลผ่านอินเทอร์เน็ต

2. อย่ามองข้ามอุปกรณ์ที่ใช้เชื่อมต่อเครือข่าย นอกจากเครื่องพีซีที่คุณใช้แล้ว อุปกรณ์ที่ใช้เชื่อมต่อกับเครือข่าย เช่นโมเด็มหรือเราเตอร์ ก็อาจกลายเป็นช่องทาง ให้อาชญากรไซเบอร์จู่โจมได้เช่นกัน ดังนั้น คุณจึงควรตรวจสอบให้แน่ใจ ว่าอุปกรณ์เครือข่ายที่ใช้งานอยู่ทุกชิ้นนั้น ได้รับการอัปเดทเรียบร้อยแล้ว และหลีกเลี่ยงการใช้รหัสผ่านมาตรฐาน ที่ตั้งมากับเครื่อง หรือแม้แต่รหัสผ่านที่คาดเดาได้ง่าย เช่นวันเกิด เบอร์โทรศัพท์ ชื่อ นามสกุล หรือเลขบัตรประจำตัวต่าง ๆ เป็นต้น ถ้าจะให้ดี ลองตั้งรหัส Wi-Fi ของคุณให้เดาได้ยาก โดยผสมทั้งตัวตัวพิมพ์เล็ก ตัวพิมพ์ใหญ่ สัญลักษณ์และตัวเลข

3. ปกป้องข้อมูลส่วนตัว ล็อกทุกบัญชีผู้ใช้ให้แน่นหนา ยิ่งชีวิตเราต้องเชื่อมต่อกับโลกออนไลน์มากขึ้นเท่าไหร่ เรายิ่งต้องดูแลตัวตนบนโลกดิจิทัลของตัวเอง ให้ปลอดภัยมากขึ้นเท่านั้น เริ่มจากการสร้างรหัสผ่านที่รัดกุมและคาดเดายาก ต่อด้วยการเลือกใช้วิธียืนยันตัวตนผู้ใช้ ด้วยข้อมูลทางชีวภาพ เช่นการสแกนลายนิ้วมือหรือใบหน้า ถ้าเป็นไปได้ ควรเปิดใช้การยืนยันตัวตนแบบหลายปัจจัย (Multi-factor authentication; MFA) เช่น แอป Microsoft Authenticator ซึ่งทำให้การเข้าใช้งานแต่ละบัญชีผู้ใช้ ที่ผูกกับแอปเอาไว้นั้น ต้องอาศัยรหัสผ่านชั่วคราวชุดที่สอง ที่เปลี่ยนไปทุก ๆ หนึ่งนาที และต้องเปิดดูจากสมาร์ทโฟนในมือคุณเท่านั้น

4. ระวังตัวอยู่เสมอในขณะแชทหรือเปิดวิดีโอคอลล์ การประชุมทางไกล หรือตั้งวงคุยกับเพื่อนผ่านวิดีโอ กลายเป็นเรื่องปกติ ในชีวิตประจำวันยุคโควิด-19 ไปแล้ว แต่อย่าลืมว่าการใช้บริการประเภทนี้ มีประเด็นด้านความเป็นส่วนตัวที่คุณต้องคำนึงถึงด้วย ไม่ว่าจะเป็น

  • การประชุมหรือสายสนทนาที่คุณใช้ เปิดให้ใครมองเห็นหรือเข้าร่วมได้บ้าง?
  • สามารถบันทึกการประชุมได้หรือไม่? ถ้าได้ ผู้เข้าร่วมทุกคนรู้ตัวหรือไม่ว่าจะมีการบันทึก?
  • มีการบันทึก หรือแชร์บทสนทนาผ่านข้อความในห้องแชทหรือไม่?
  • หากมีการแชร์ไฟล์ในการประชุม ไฟล์เหล่านั้นจะถูกเก็บไว้ที่ไหน?

นอกจากนี้ คุณยังสามารถปกปิด ไม่ให้ผู้อื่นรู้ว่าคุณอยู่ที่ไหนได้ง่าย ๆ ด้วยฟีเจอร์ยอดฮิต ในแอปประชุมทางไกล อย่างการเปลี่ยนหรือเบลอฉากหลัง ซึ่งนอกจากจะสร้างสีสันในการประชุมได้แล้ว ยังช่วยรักษาความเป็นส่วนตัว แยกพื้นที่การทำงาน กับพื้นที่ส่วนตัวที่บ้านออกจากกันได้อีกแบบ

5. แชร์ไฟล์อย่างมั่นใจ ใช้ช่องทางที่เหมาะสมกับการทำงาน การทำงานจากที่บ้านนั้น อาจทำให้ไฟล์งาน หลงไปปะปนกับไฟล์ส่วนตัวได้ง่าย ๆ ทางที่ดี ควรแยกไฟล์ทั้งสองประเภทออกจากกัน อย่างเป็นระบบ เพื่อลดความสับสน และเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ส่วนการรับส่งไฟล์กับเพื่อนร่วมงานนั้น ก็ควรเลือกใช้บริการ ที่ออกแบบมา เพื่อการใช้งานในเชิงธุรกิจอย่างเต็มตัว เช่น SharePoint หรือ OneDrive for Business เพื่อลดความเสี่ยง ที่อาจเกิดจากการรั่วไหลของข้อมูล ผ่านบริการแชร์ไฟล์ ที่ออกแบบมาสำหรับการใช้งานทั่วไป ซึ่งอาจไม่ได้มาตรฐานที่เหมาะสมในด้านความปลอดภัย นอกจากนี้ ระบบป้องกันข้อมูลรั่วไหล ที่มาพร้อมกับวินโดวส์อย่าง Windows Information Protection ก็ยังสามารถควบคุมการส่งต่อข้อมูล ภายใต้นโยบายขององค์กร ป้องกันไม่ให้ข้อมูลที่ควรเป็นความลับของบริษัท ถูกส่งออกไปภายนอก หรือจะเลือกตั้งรหัสผ่านให้แต่ละเอกสาร แล้วส่งรหัสผ่านให้ผู้รับไฟล์ไปต่างหากในอีกช่องทาง เพื่อความปลอดภัย

6. เปิดการเข้ารหัสอุปกรณ์เสมอ เพราะการปกป้องคอมพิวเตอร์ของคุณ ด้วยระบบเข้ารหัสอย่าง BitLocker ที่มีมาให้ในวินโดวส์ จะทำให้ไม่มีใครเข้าถึงข้อมูลในอุปกรณ์ชิ้นนั้นได้ โดยไม่ได้รับอนุญาต แม้ในกรณีที่ตัวอุปกรณ์เองสูญหาย หรือถูกขโมยไป

7. ระวังกลโกงแบบฟิชชิง (Phishing) และการปลอมแปลงตัวตน (Identity scams) อาชญากรไซเบอร์จำนวนมาก ยังคงมุ่งหาประโยชน์ จากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ด้วยการหลอกลวงผู้ใช้ให้เผยวิธีการเข้าถึงบัญชี และข้อมูลส่วนตัวของตนเอง จากความเคยชินในการใช้งาน ทุกคนควรระวังตัว และเฝ้าสังเกตทั้งเว็บไซต์และแอปพลิเคชันแปลก ๆ ที่ขอให้ลงชื่อเข้าใช้งานด้วยข้อมูลส่วนตัว และในกรณีที่คุณเปิดใช้งานระบบ MFA (Multi-factor authentication) เรียบร้อยแล้ว ก็อย่าไปกดยืนยันคำขอใด ๆ ที่ตัวคุณเองไม่ได้เป็นคนส่งมา จากอุปกรณ์เครื่องอื่น นอกจากนี้ อย่าหลงเชื่อโปรโมชั่น หรือข้อเสนอ ที่ดูดีจนเหลือเชื่อ หรือการโฆษณาแจกของรางวัลใด ๆ เพราะเบื้องหลังคำสัญญาสวยหรูเหล่านี้ อาจมีแต่การหลอกลวงเพื่อขโมยข้อมูลส่วนตัว หรือแม้แต่เงินจากบัญชีของคุณก็เป็นได้

ถึงแม้ว่าโลกไซเบอร์ จะยังมีภัยอันตรายซ่อนอยู่ไม่น้อย แต่ด้วยความเข้าใจ และขั้นตอนการปกป้องตัวเองง่าย ๆ ทั้งหมดนี้ คุณก็สามารถใช้งานเทคโนโลยีได้อย่างอุ่นใจ

หากต้องการเรียนรู้เพิ่มเติม เกี่ยวกับโซลูชั่นด้านความปลอดภัยของไมโครซอฟท์ สามารถค้นหาข้อมูลได้ที่ เว็บไซต์ไมโครซอฟท์ โดยสามารถติดตามความเคลื่อนไหวล่าสุดในด้านความปลอดภัยไซเบอร์ ได้ทั้งทางบล็อก และทวิตเตอร์ @MSFTSecurity