fbpx
News update

8 ประเด็นที่เร่งแก้ไข เพื่อสู่เป้าหมาย “ปี 2565 เป็นปีแห่งการแก้หนี้ภาคครัวเรือน”

Onlinenewstime.com : แนวทางแก้ไขสถานการณ์หนี้ครัวเรือนอย่างมีประสิทธิภาพตามข้อสั่งการนายกรัฐมนตรีและมติคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อยตามที่นายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งจัดตั้งคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย โดยมีรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน (นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์) เป็นประธาน เพื่อพิจารณาแนวทางแก้ไขสถานการณ์หนี้ครัวเรือนอย่างมีประสิทธิภาพ และประธานกรรมการฯ ได้เสนอรายงานสรุปผลการดำเนินการของคณะกรรมการฯ ต่อนายกรัฐมนตรี โดยนายกรัฐมนตรีมีข้อสั่งการเพิ่มเติมให้ทุกหน่วยงานที่รับผิดชอบเร่งติดตามความก้าวหน้าการดำเนินการในทุกมิติ และเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2564 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบตามที่คณะกรรมการฯ เสนอ นั้น  

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า จากที่นายกรัฐมนตรีได้กำหนดให้ปี 2565 เป็นปีแห่งการแก้หนี้ภาคครัวเรือน จึงได้สั่งการและมอบหมายให้หน่วยงานต่างๆ ในสังกัดกระทรวงการคลังและสถาบันการเงินเฉพาะกิจ กำหนดให้การแก้ไขปัญหาหนี้สินของประชาชนเป็นพันธกิจหลักและเร่งดำเนินการในประเด็นต่าง ๆ ที่ได้รับมอบหมายให้แล้วเสร็จโดยเร็วต่อไป ดังนี้


1. การแก้ไขปัญหาหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ได้ดำเนินการช่วยเหลือลูกหนี้แล้วในหลายด้าน เช่น การปรับปรุงรูปแบบการจ่ายชำระคืน การปรับปรุงลำดับการตัดชำระหนี้ การปรับลดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ การปรับโครงสร้างหนี้ให้กับผู้ที่มีปัญหา เป็นต้น เพื่อให้ลูกหนี้มีภาระที่ลดลง ทั้งนี้ ได้กำชับให้ กยศ. เร่งติดตามการแก้ไขพระราชบัญญัติเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. 2560 ซึ่งอยู่ระหว่างนำเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ให้มีผลใช้บังคับโดยเร็ว พร้อมทั้ง กยศ. ได้เร่งดำเนินการช่วยเหลือลูกหนี้อย่างต่อเนื่องทั้งช่องทางออนไลน์ผ่าน Application “กยศ. Connect” และเว็บไซต์ www.studentloan.or.th รวมทั้งช่องทางออฟไลน์


2. การกำหนดให้การไกล่เกลี่ยและการปรับโครงสร้างหนี้เป็นวาระของประเทศ กระทรวงการคลังได้เห็นชอบในหลักการของประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เรื่อง แนวทางการปรับปรุงโครงสร้างหนี้สำหรับลูกหนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs) อย่างยั่งยืน ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 เป็นต้นไป และได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) แจ้งไปยังผู้แทนกระทรวงการคลังในทุก SFIs เพื่อให้เร่งกำหนดวิธีปฏิบัติและแนวนโยบายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการไกล่เกลี่ยและปรับปรุงโครงสร้างหนี้เพื่อให้มีผลบังคับใช้พร้อมกันในเดือนมกราคม 2565 และได้กำชับให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ติดตามการดำเนินการของ SFIs เพื่อช่วยเหลือลดภาระให้กับลูกหนี้ตามประกาศดังกล่าว


3. การแก้ไขปัญหาหนี้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ได้มอบหมายให้ สศค. พิจารณาร่วมกับ ธปท. กำหนดแนวทางกำกับดูแลสินเชื่อและธุรกรรมที่มีลักษณะคล้ายคลึงสินเชื่อ เพื่อให้มีการกำกับดูแลธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ที่เหมาะสมต่อไป


4. การแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการ โดยเฉพาะข้าราชการครูและข้าราชการตำรวจ ได้มอบหมายให้ธนาคารออมสินเร่งแก้ไขปัญหาหนี้ข้าราชการครูอย่างจริงจัง และร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ขับเคลื่อนโครงการแก้ไขปัญหาหนี้ครูผ่านการใช้สหกรณ์ออมทรัพย์ครูต้นแบบ


5. การปรับลดและทบทวนโครงสร้างและเพดานอัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม และการออกมาตรการคุ้มครองสิทธิของลูกหนี้ ที่ผ่านมากระทรวงการคลังได้ใช้ SFIs เป็นเครื่องมือในการแทรกแซงดอกเบี้ยในตลาดและดำเนินโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อช่วยเหลือประชาชนและผู้ประกอบการ SMEs อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นไปตามพันธกิจของ SFIs ที่ต้องช่วยให้ประชาชนและผู้ประกอบการ SMEs สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ในอัตราที่เหมาะสม


6. การแก้ไขปัญหาหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ได้มีนโยบายให้ธนาคารออมสินและธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ให้เข้าร่วมกับโครงการคลินิกแก้หนี้ของ ธปท. เพื่อสนับสนุนให้ปรับเปลี่ยนหนี้บัตรเครดิต บัตรกดเงินสด และสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกันให้เป็นสินเชื่อระยะยาวที่มีดอกเบี้ยต่ำลง นอกจากนี้ กระทรวงการคลังได้ร่วมกับ ธปท. SFIs  และธนาคารพาณิชย์ ดำเนินโครงการหมอหนี้เพื่อประชาชน เพื่อให้คำปรึกษาเกี่ยวกับแนวทางปรับธุรกิจและมาตรการต่างๆ ให้กับลูกหนี้เป็นรายกรณี อีกทั้ง ยังได้มอบหมายให้ SFIs ทุกแห่งพิจารณาแนวทางช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาให้กับลูกหนี้ของแต่ละ SFIs อีกด้วย


7. การแก้ไขปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของประชาชนรายย่อยและ SMEs ได้มอบหมายให้ สศค. และ ธปท. พิจารณาแนวทางการดูแลลูกหนี้ SMEs ที่ได้สินเชื่อ Softloan ระยะแรกและจะครบกำหนดชำระ 2 ปี โดยจะเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาแนวทางการดูแลดังกล่าวได้ก่อนที่สินเชื่อ Softloan จะครบกำหนดในช่วงเดือนเมษายน 2565


8. การปรับปรุงขั้นตอนในกระบวนการยุติธรรมเพื่อเอื้อให้เกิดการแก้ไขปัญหาหนี้สิน โดยกระทรวงการคลังพร้อมสนับสนุนกระทรวงยุติธรรมและสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาในการเร่งรัดการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวข้องกับการฟื้นฟูกิจการของ SMEs ให้แล้วเสร็จ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงการคลังได้ดำเนินมาตรการเพื่อช่วยเหลือและลดภาระให้กับลูกหนี้มาอย่างต่อเนื่อง โดยในระยะสั้นได้มอบหมายให้ธนาคารออมสินจัดทำโครงการ “สร้างงานสร้างอาชีพ” เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ประสบกับปัญหาการขาดรายได้จากการตกงาน ถูกเลิกจ้าง หรือลดเงินเดือน ให้เข้าโครงการอบรมเสริมความรู้ และได้รับสินเชื่อนำไปประกอบอาชีพเพื่อเพิ่มช่องทางในการหารายได้และลดภาระหนี้สิน

นอกจากนี้ ในระยะยาวกระทรวงการคลังอยู่ระหว่างจัดทำแผนการให้ความรู้ทางการเงินแก่ประชาชนอย่างครบถ้วนและทั่วถึง เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาหนี้สินครัวเรือนอย่างยั่งยืนและจะเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาแผนฯ ดังกล่าวต่อไป

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
– กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา โทร 02 016 2600 หรือ 02 016 4888 หรือ E-Mail : info@studentloan.or.th
– การไกล่เกลี่ยและการปรับโครงสร้างหนี้ ติดต่อสถาบันการเงินที่มีสินเชื่ออยู่ในปัจจุบัน
– โครงการคลินิกแก้หนี้ โทร 1443 หรือ www.debtclinicbysam.com
– โครงการหมอหนี้เพื่อประชาชน โทร 1213 หรือ www.bot.or.th/app/doctordebt ผ่าน Chatbot หรือไลน์ @doctordebt
– โครงการสร้างงานสร้างอาชีพ ติดต่อธนาคารออมสิน โทร 1115 หรือ 02 299 8000