Site icon Onlinenewstime.com – News and Knowledge to sustainability

แนะผู้นำธุรกิจครอบครัวทุกรุ่น ปลดล็อกตนเองสู่ความสำเร็จด้วยกลยุทธ์ 3S-2L

fmaz080624

ทั้งนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.เอกชัย อภิศักดิ์กุล คณบดี คณะวิทยพัฒน์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ผู้ก่อตั้ง FAMZ  บริษัทที่ปรึกษาธุรกิจครอบครัวชั้นนำของประเทศไทย ได้กล่าวถึงการสืบทอดปัญหาธุรกิจครอบครัวว่า

โดยทั่วไป ผู้นำธุรกิจครอบครัวระหว่างรุ่นใหญ่ และ รุ่นต่อไปมักจะมีมุมมอง ความเห็น หรือแม้แต่สไตล์การบริหารที่แตกต่างกัน ซึ่งเป็นสาเหตุที่มาจากปัจจัย ทั้งจากสภาพแวดล้อมของการเติบโต ประสบการณ์ การบ่มเพาะและสถานการณ์ทางธุรกิจ

นอกจากนี้ บรรยากาศภายในธุรกิจครอบครัวที่ยังคงดำเนินอยู่ ทั้งฝ่ายผู้นำรุ่นใหญ่อาจจะกังวล ร้อนใจ จนอาจมีผลกระทบกับสุขภาพ ความเครียด เนื่องจากตระหนักดีถึงการเปลี่ยนแปลงเร่งด่วนที่จำเป็นต้องทำเพื่อรักษามรดกของครอบครัวไว้ แต่อาจจะยังหาทายาทที่จะเข้ามารับช่วงต่อธุรกิจไม่ได้ และไม่รู้ว่าตนเองจะทำอะไรได้

ขณะเดียวกัน บรรยากาศจากฝ่ายทายาท ซึ่งจะต้องเป็นผู้นำธุรกิจครอบครัวรุ่นใหม่ก็มีทั้งความเบื่อหน่ายที่จะต้องรอคอยว่าเมื่อไรจะขึ้นเป็น “ตัวจริง” เสียที แต่ที่จริง การดำเนินการต่างๆ ก็ยังต้องรอการอนุมัติจากพ่อแม่หรือผู้อาวุโสในครอบครัวเสียก่อน

เพื่อปลดล็อกความกดดัน และทำให้การสืบทอดธุรกิจครอบครัวเป็นไปได้อย่างราบรื่น รองศาสตราจารย์ ดร.เอกชัย ให้แนวทางว่า ผู้นำธุรกิจครอบครัวทุกรุ่นจำเป็นต้องเปลี่ยนกรอบความคิดและแนวทางของตนเอง ด้วยกลยุทธ์ 3S-2L : Secret Keeper –  Self Confident – Strategy – Leadership – Learning

โดยผู้นำธุรกิจครอบครัวที่มีอายุมากก็จะต้องวางมือจากการควบคุมและพัฒนาเป้าหมายหรือมรดกที่สืบทอดมาหลายชั่วอายุคน เพื่อที่จะทำให้ผู้นำธุรกิจครอบครัวรุ่นใหม่มองเห็นความชัดเจนเกี่ยวกับอาชีพ การสืบทอดกิจการ และอนาคตของตนเอง  

ทั้งนี้ กลยุทธ์ 3S-2L ประกอบด้วย

  1. Secret Keeper (การรักษาความลับ) เนื่องจากครอบครัวเป็นแหล่งพลังที่สำคัญในการสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคมเชิงบวก ด้วยว่าครอบครัวร่วมมือกันเพื่อนำความมั่งคั่งมหาศาลมาสู่ประเทศและธุรกิจของตน สำหรับในประเทศหรือภาคธุรกิจใดๆ ฉะนั้น สิ่งสำคัญที่สุดที่สามารถทำได้ เพื่อสนับสนุนครอบครัวของตนเอง คือ การรักษาความลับเกี่ยวกับความมั่งคั่งของครอบครัว เพื่อให้สามารถพัฒนาความเข้าใจเชิงลึกเกี่ยวกับความรู้ทางการเงิน

    โดยครอบครัวที่รักษาความลับได้จะสามารถพัฒนาทุนครอบครัว (Family Capital) อย่างเป็นรูปธรรม กลายเป็นโครงสร้างทางสังคมที่มีพลังในการดำเนินชีวิต โดยมีเป้าหมายและมีค่านิยมร่วมกัน ซึ่งทุนครอบครัวที่เกิดขึ้นจะขับเคลื่อนทุกแง่มุมของธุรกิจครอบครัวและกระบวนการตัดสินใจด้วย คนรุ่นใหม่จำเป็นต้องเชื่อมต่อกับผู้อื่น เพื่อพัฒนาความรู้ทางการเงิน (Financial Literacy)  ซึ่งจะช่วยให้ในการหารือเกี่ยวกับการเงิน ค่านิยม การเติบโต ความเสี่ยง ความสามารถในการทำกำไร และมรดกตกทอดได้เป็นอย่างดี

  2. Self Confident (สร้างความเชื่อมั่นให้กับคนรุ่นใหม่) ด้วยการเปิดโอกาสให้โอกาสคนรุ่นใหม่แสดงออก ขณะที่ผู้นำรุ่นใหม่เองก็จะต้องประเมินจุดแข็ง พิสูจน์ความสามารถของตน ขับเคลื่อนการตัดสินใจเรื่องสืบทอดและความต่อเนื่องของกิจการ สนับสนุนผู้อาวุโส สร้างโมเดลค่านิยมครอบครัวที่ตนประทับใจ และส่งเสริมนวัตกรรม ความสามารถในการทำกำไร และมรดก โดยปราศจากความขัดแย้ง

    ด้วยเหตุนี้ ผู้นำรุ่นใหม่จึงควรต้องฟังความคิดเห็นของผู้อาวุโสด้วย ขณะที่ผู้นำรุ่นผู้ใหญ่ก็จะต้องให้โอกาสคนรุ่นใหม่ในการแสดงออกและพูดคุยเกี่ยวกับสิ่งที่พวกเขาสนใจ เพราะนวัตกรรมจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการแชร์และนำไอเดียใหม่ๆ มาใช้ ดังนั้น การให้โอกาสให้ผู้นำรุ่นใหม่แสดงความคิดเห็นและความรู้สึกเกี่ยวกับเรื่องที่สำคัญจึงมีความสำคัญมาก และทำให้คนรุ่นใหม่เชื่อมั่นในตนเองมากขึ้นด้วย

  3. Strategy (พัฒนากลยุทธ์) ผู้นำธุรกิจครอบครัวจำเป็นต้องรับผิดชอบในการจัดการสินทรัพย์ในระยะยาว ซึ่งเป็นมรดกของครอบครัว ดังนั้น จึงต้องมี “การคิดอย่างมีกลยุทธ์” (Strategic Thinking) เพราะธุรกิจครอบครัวมีแนวโน้มที่จะอยู่รอดได้ เมื่อเจ้าของมีส่วนร่วมในการอภิปรายและการใช้จ่ายทางการเงิน ซึ่งส่วนใหญ่มักมีการเขียนข้อความเป็นลายลักษณ์อักษรเกี่ยวกับ ค่านิยม ธรรมนูญครอบครัว แนวทางการจ้างงาน และข้อตกลงผู้ถือหุ้น เป็นต้น

  4. Leadership (ภาวะผู้นำ) ในการบริหารธุรกิจครอบครัวนั้นการทำงานเป็นทีมมีความสำคัญ ฉะนั้น ผู้นำรุ่นใหม่จึงต้องมีภาวะผู้นำที่ดี เพื่อให้มั่นใจถึงประสิทธิผลของการ “นำ” ธุรกิจครอบครัวของคนรุ่นใหม่ ฉะนั้น จึงจำเป็นต้องมีทีมที่ไว้ใจได้อยู่รอบตัว

    ผู้นำธุรกิจที่ประสบความสำเร็จทุกคนมักรายล้อมไปด้วยผู้เชี่ยวชาญที่ไว้ใจได้ ซึ่งสามารถให้ข้อมูลเชิงลึกที่เป็นความลับ ร่วมมือกันหาทางออกและทำการตัดสินใจได้อย่างรวดเร็ว โดยต้องฝึกฝนการแบ่งปันข้อมูลสำคัญกับทีมของตน ผู้นำยุคใหม่จำเป็นต้องมีทีมที่ยอดเยี่ยมเพื่อช่วยให้ในการตัดสินใจทางธุรกิจอย่างชาญฉลาด

  5. Learning (ความใฝ่รู้) เนื่องจากความอยากรู้อยากเห็นเป็นขุมทรัพย์ของการเรียนรู้ เป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้นำที่จะต้องรักษาความใฝ่รู้ การมีข้อมูลหรือกลยุทธ์ใหม่ๆจะสามารถสร้างนวัตกรรมใหม่ๆให้กับธุรกิจได้ ดังนั้น ผู้นำรุ่นใหม่จะต้องพัฒนาวินัยในการแสวงหาความรู้ใหม่ๆ อยู่เสมอ

รองศาสตราจารย์ ดร.เอกชัยกล่าวในตอนท้ายว่า “การเตรียมความพร้อมและการวางแผนเชิงกลยุทธ์ถือเป็นความสำคัญที่เจ้าของธุรกิจครอบครัวต้องโฟกัส เพื่อให้ธุรกิจครอบครัวมีความยืดหยุ่น และสามารถปรับตัวได้เมื่อเกิดวิกฤตการณ์ขึ้น ซึ่งเรามักจะพบว่า ทายาทคนรุ่นใหม่มักจะเรียนรู้จากผู้นำธุรกิจครอบครัวรุ่นเจ้าของที่มีความกระตือรือร้น

อย่างไรก็ตาม เพื่อใช้ประโยชน์สูงสุดจากการเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ ผู้นำธุรกิจที่จะต้องพิจารณาทุกด้าน รวมทั้งอัตลักษณ์ของธุรกิจครอบครัว รวมทั้งประเด็น 3S-2L ซึ่งเป็นการรักษาความลับ การสร้างความรู้สึกเชื่อมั่นในตนเอง การเชื่อมโยงกับครอบครัว ความใฝ่รู้ และการอยู่ร่วมกับคนที่ไว้วางใจได้ ตลอดจนการพัฒนากลยุทธ์ ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยสำคัญในการริเริ่มการเปลี่ยนแปลงและรักษามรดกไว้สำหรับรุ่นต่อๆ ไป

Exit mobile version