Onlinenewstime.com : “ภาวะความบกพร่องในการเรียนรู้” หรือ Learning Disorder (LD) เป็นโรคทางพัฒนาการที่พบบ่อยในเด็ก โดยข้อมูลจากกระทรวงศึกษาธิการ ในปีการศึกษา 2566 พบนักเรียนที่มีปัญหาการเรียนรู้มากถึงกว่า 2.3 แสนคน
เด็กกลุ่มนี้จะมีความผิดปกติของกระบวนการเรียนรู้ที่แสดงออกทางด้านการอ่าน การเขียนสะกดคำ การคำนวณและเหตุผลเชิงคณิตศาสตร์ อันเกิดจากการทำงานที่ผิดปกติของสมอง
ทำให้ผลการเรียนของเด็กต่ำกว่าศักยภาพที่แท้จริง ทั้งที่เด็กมีสติปัญญาอยู่ในระดับปกติและมีความสามารถด้านอื่นๆ ดีโดยตัวอย่างของบุคคลที่ประสบความสำเร็จ แต่เคยประสบกับภาวะเช่นนี้ อย่างเช่น “อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์”
ทั้งนี้ภาวะ LD แบ่งได้ในหลายด้าน แต่ที่พบบ่อยที่สุดคือ “ภาวะบกพร่องการเรียนรู้ด้านการอ่าน” หรือ Reading Disorder หรือ Dyslexia ซึ่งพบได้ราว 3-7% ของกลุ่มเด็กวัยเรียน โดยเฉพาะในช่วงชั้นประถมศึกษา ซึ่งเด็กจะเผชิญกับปัญหาความยากลำบากในการอ่าน อ่านผิด อ่านช้า จับใจความไม่ได้ ทำให้กระทบถึงการเรียนรู้ด้านอื่นๆ
ตลอดจนปัญหาพฤติกรรมและอารมณ์ ซึ่งการช่วยเหลือเด็กที่มีปัญหาการอ่าน “ตั้งแต่เริ่มต้น” เป็นสิ่งสำคัญ โดยการตรวจคัดกรองเด็กที่เผชิญความยากลำบากในการอ่านให้เจอได้เร็วที่สุด หรือตั้งแต่ยังมีอาการน้อย และหนึ่งในตัวช่วย นั่นก็คือ “AKSORN” แอปพลิเคชันเกมเพื่อคัดกรองเด็กที่มีความยากลำบากในการอ่าน และช่วยสอนทักษะพื้นฐานการอ่านพยัญชนะไทยให้กับเด็ก
สำหรับแอปพลิเคชันนี้เป็นผลผลิตจากงานวิจัยเรื่อง AIoT สำหรับการประเมินและฝึกทักษะการอ่านภาษาไทยในเด็กที่สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) สนับสนุนทุนวิจัยให้แก่ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในการดำเนินการวิจัย ซึ่งได้พัฒนาแอปพลิเคชันเกม สำหรับประเมินทักษะพื้นฐานการอ่านภาษาไทย และคัดกรองเด็กกลุ่มเสี่ยงต่อภาวะ Dyslexia จากเด็กในโรงเรียนที่เริ่มเรียนภาษาไทยในชั้นอนุบาล 3 ถึงประถมศึกษาปีที่ 1
และเป็นแอปพลิเคชันเกม ที่ช่วยฝึกทักษะพื้นฐานการอ่านภาษาไทยที่เหมาะสมกับความสามารถของเด็กแต่ละคน โดยมีการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการเล่นเกมของเด็กแต่ละคนในระบบ cloud computing ให้เป็นคลังข้อมูลขนาดใหญ่ เพื่อนำไปวิเคราะห์และพยากรณ์ปัญหาความบกพร่องด้านทักษะการอ่านภาษาไทยของเด็กต่อไป
งานวิจัยนี้เป็นความร่วมมือของกลุ่มสหวิชาชีพ ผู้เชี่ยวชาญด้านเนื้อหา ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการศึกษาพิเศษ ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาแอปพลิเคชันเกม อาทิ กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการ, จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น นักเขียนนิทานเด็ก, game developer, นักวิทยาการคอมพิวเตอร์ ฯลฯ เพื่อร่วมกันประดิษฐ์แอปพลิเคชันเกม software ที่มีเนื้อหาสำหรับฝึกทักษะการอ่านภาษาไทยให้กับเด็กอย่างเป็นระบบ
ศ.นพ.ภาสกร ศรีทิพย์สุโข หัวหน้าโครงการวิจัยฯ ได้บอกเล่าถึงที่มาของการค้นพบเครื่องมือนี้ว่า ระบบการช่วยเหลือเด็กที่มีปัญหาการอ่านในประเทศไทยยังมีข้อจำกัด ทำให้เด็กกลุ่มเสี่ยงไม่ได้รับการคัดกรอง
ส่วนเด็กที่ได้รับการคัดกรอง ก็อาจไม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างเหมาะสม เนื่องด้วยครูในห้องเรียนปกติอาจไม่เข้าใจภาวะบกพร่องการเรียนรู้ด้านการอ่าน ปัญหาการขาดกำลังคน ตลอดจนปัญหาการประสานงานส่งต่อเพื่อการวินิจฉัย
ศ.นพ.ภาสกร เล่าต่อว่า นับตั้งแต่ปี 2558 ได้มีความพยายามของคณะวิจัยในการพัฒนาเครื่องมือที่จะช่วยในการประเมินและคัดกรองเด็กที่มีปัญหาการอ่าน ไม่ว่าจะเป็น “SWU-TU reading assessment” ที่ใช้วิธีการให้เด็กอ่านคำและเรื่องสั้น แล้วจับเวลาเพื่อนับจำนวนคำที่อ่านได้ถูกต้อง
หรือแอปพลิเคชัน “คิดอ่าน Kidarn” ซึ่งเป็นแอปฯ ทดสอบทักษะพื้นฐานของการอ่านภาษาไทยใน 5 ด้าน ได้แก่ อักษรขึ้นต้น เสียงขึ้นต้น อ่านเลขเร็ว ผสมคำ และแยกส่วนประกอบของคำ ซึ่งเมื่อเราค้นหาเด็กกลุ่มเสี่ยงได้แล้ว ก็พบอุปสรรคต่อมาว่า แม้เราจะสามารถช่วยกันพัฒนาทักษะพื้นฐานการอ่านของเด็กกลุ่มนี้ได้
แต่ภารกิจนี้ยังต้องการครูพิเศษเพื่อจัดการสอนเสริม ซึ่งจำนวนครูพิเศษก็ไม่ได้มีมากพอ ขณะเดียวกันยังมีปัจจัยความแตกต่างของเทคนิคและวิธีการสอนของครูแต่ละคน การจัดเวลาในการเรียนการสอน ความเร็วในการเรียนรู้ที่ไม่เท่ากันของเด็กแต่ละคน ฯลฯ ตลอดจนอุปสรรคในช่วงโควิด-19 ที่ไม่สามารถสอนเด็กได้อย่างต่อเนื่อง
สิ่งเหล่านี้จึงนำมาสู่โจทย์วิจัยในระยะต่อมา มีการนำเทคโนโลยีมาช่วยในการสอน โดยพยายามออกแบบโปรแกรมที่สามารถนำไปขยายผลใช้งานได้ในวงกว้าง ซึ่งครูสามารถนำโปรแกรมไปใช้ได้ทันที ในขณะที่เด็กก็ได้รับการเรียนรู้ที่เหมาะสม
รวมถึงสามารถปรับได้ตามความสามารถของเด็กแต่ละคน จนในที่สุดก็สำเร็จออกมาเป็นแอปพลิเคชันเกม “อักษร AKSORN” ในปี 2565 ที่สามารถช่วยได้ทั้ง “คัดกรอง” เด็กที่มีความยากลำบากในการอ่าน และช่วย “ฝึกสอน” ทักษะพื้นฐานการอ่านพยัญชนะไทย
โดยแอปพลิเคชันเกมนี้ มีเนื้อหาในการสอนการอ่านพยัญชนะไทย ก-ฮ ตามหลักวิชาการ ที่ออกแบบโดยผู้เชี่ยวชาญสหสาขาวิชาชีพ ช่วยเสริมทักษะด้านการจำอักษรและสัญลักษณ์ โดยวิธีการใช้จะให้มีการลงทะเบียนเล่นเกมเพื่อเก็บเป็นฐานข้อมูลการเรียนรู้ของเด็กแต่ละคน ผ่านระบบปฏิบัติการ Windows และ Android ซึ่งสามารถใช้งานได้ผ่านทั้งคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล คอมพิวเตอร์พกพา ไปจนถึงโทรศัพท์มือถือ จึงทำให้เข้าถึงเด็กได้ง่ายและปลอดภัย
ในส่วนของตัวเกมจะมีเนื้อหารวม 9 ด่าน เรียงลำดับการอ่านจากง่ายไปยาก และมีด่านหนึ่งในเกมที่ถูกออกแบบให้แตกต่างกันรายบุคคล โดยการใช้ “AI algorithm” ซึ่งจะทบทวนการอ่านพยัญชนะที่ผิดบ่อยๆ ของเด็กแต่ละคน และปรับความเร็วตามความสามารถของเด็กรายนั้นๆ ควบคู่กับภาพการ์ตูนเคลื่อนไหว และมีเสียงอ่านคมชัด ช่วยให้เด็กเล่นเกมได้อย่างสนุก และเสริมทักษะการฟังเพื่อแยกแยะเสียง
“การออกแบบมาเป็นเกม ช่วยให้เด็กสนใจและมีส่วนร่วมได้มากขึ้น ต่างจากวิธีการเปิดวิดีโอสอน โดยให้เด็กนั่งดูอย่างเดียว หรือการใช้เกมฝึกสอนที่มีรูปแบบซ้ำๆ ตายตัว โดยเกมนี้จะมีระบบหลังบ้านอัจฉริยะที่เก็บข้อมูลคะแนนการเล่นผ่านระบบคลาวด์
พร้อมมีแดชบอร์ดที่แสดงผลให้ครูและผู้ปกครองได้ติดตามความก้าวหน้าของเด็กรายบุคคล และในอนาคตหากมีจำนวนเด็กเล่นเกมมากขึ้น ก็จะพัฒนาเป็น Big Data ที่อาจช่วยให้เราสามารถพยากรณ์สถานการณ์ปัญหาการอ่านของเด็กไทยได้
นอกจากนี้อาจร่วมมือกับบริษัทสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยี เพื่อนำแอปฯ นี้ไปต่อยอดให้เกิดธุรกิจเชิงสังคม หรือ Social Enterprise เพื่อให้ผู้ปกครองเด็ก และชาวต่างชาติที่สนใจเรียนภาษาไทย สามารถซื้อให้เด็กเล่นเกมเพื่อฝึกทักษะพื้นฐานการอ่านภาษาไทยได้ด้วย” ศ.นพ.ภาสกร อธิบาย
ศ.นพ.ภาสกร ระบุต่อว่า ผลงานวิจัยดังกล่าว สามารถนำไปใช้เป็นสื่อการสอนภาษาไทยสำหรับเด็กชั้นอนุบาล-ประถมต้น ซึ่งนอกจากใช้ช่วยเหลือในเด็กกลุ่มที่มีปัญหาบกพร่องด้านการอ่านแล้ว ยังสามารถเป็นประโยชน์กับเด็กกลุ่มอื่นๆ เช่น เด็กที่เรียนโรงเรียนนานาชาติจนเริ่มอ่านหรือพูดภาษาไทยไม่คล่อง ก็สามารถนำไปใช้ได้ด้วยเช่นกัน
ปัจจุบันแอปฯ อยู่ระหว่างทดสอบการใช้งานในเด็กชั้น ป.1 ของโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร รวมถึงล่าสุด ผลงานวิจัยสามารถคว้ารางวัลเหรียญทองแดง จากงานประกวดนวัตกรรมที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อปี 2566 ที่ผ่านมา
ด้าน ดร.จุไรรัตน์ พรหมใจ ผู้จัดการงานวิจัย สวรส. กล่าวว่า สวรส. เห็นถึงความสำคัญในประเด็นปัญหาโรคพัฒนาการของเด็ก ซึ่งส่งผลให้เกิดความบกพร่องในการเรียนรู้ และการดำเนินชีวิต ตลอดจนการเกิดภาระโรคที่ส่งผลกระทบต่อครอบครัวและผู้ดูแล
กรณี “ภาวะบกพร่องการเรียนรู้ด้านการอ่าน” ในเด็กก็เป็นปัญหาที่ไม่ควรมองข้าม เพราะการอ่านนับเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการเรียนรู้ และการพัฒนาด้านอื่นๆ ตลอดจนการดำรงชีวิต
สำหรับการวิจัยพัฒนานวัตกรรมเพื่อการประเมินและฝึกทักษะการอ่านภาษาไทยดังกล่าว สามารถเป็นตัวช่วยให้กับครูและผู้ปกครองได้เป็นอย่างดี
ส่วนการต่อยอดงานวิจัยในระยะถัดไป ทีมวิจัยกำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการวิจัยเพื่อพัฒนาแอปพลิเคชันที่ชื่อ “สอนไทย SORNTHAI” ซึ่งจะช่วยเสริมทักษะเพิ่มขึ้นในเรื่อง สระ วรรณยุกต์ การผสมสระ โดยคาดว่าน่าจะใช้เวลาพัฒนาประมาณ 1 ปี ส่วนด้านการนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงนโยบายอาจมีการเสนอให้ผู้บริหารโรงเรียน สำนักงานการศึกษา
รวมถึงท้องถิ่นนำแอปพลิเคชันเกมนี้ไปใช้เป็นเครื่องมือประเมินคัดกรองเด็กกลุ่มเสี่ยงที่มีความบกพร่องด้านการอ่าน ในระดับชั้นอนุบาล 3 ถึง ป.1 ตลอดจนใช้เป็นสื่อการสอนเพื่อช่วยครูในการพัฒนาทักษะพื้นฐานการอ่านภาษาไทยในเด็กกลุ่มเสี่ยง และสามารถติดตามผลได้อย่างเป็นระบบ