Onlinenewstime.com : เศรษฐกิจโลก ความตึงเครียดทางการค้าที่สูงขึ้นอาจสร้างความไม่แน่นอนต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและทิศทางนโยบายการเงินในระยะถัดไป
สหรัฐ
แม้เศรษฐกิจสหรัฐฯยังโตดีแต่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นในระยะข้างหน้าจากภาวะการเงินที่ตึงตัวและสงครามการค้าที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ในเดือนมกราคม ดัชนี PMI ภาคการผลิตเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 50.9 กลับมาขยายตัวได้เป็นครั้งแรกในรอบ 10 เดือน
ส่วนภาคบริการขยายตัวชะลอลงจาก 54 ในเดือนก่อนสู่ระดับ 52.8 สำหรับการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 169,000 ตำแหน่ง ชะลอลงจาก 307,000 ตำแหน่งในเดือนธันวาคม อัตราการว่างงานปรับลดลงเล็กน้อยสู่ระดับ 4.0% ขณะที่ ค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยขยายตัว 4.1% YoY
แม้ว่าภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงแข็งแกร่ง แต่เริ่มเห็นสัญญาณการชะลอตัวที่ชัดขึ้นผ่านความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ต่ำสุดในรอบ 7 เดือน และภาคบริการที่ชะลอลง ขณะที่ความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีนรุนแรงขึ้นเพิ่มความไม่แน่นอนต่อทิศทางเศรษฐกิจและนโยบายการเงิน
วิจัยกรุงศรีประเมินกรณีสหรัฐฯ ขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนที่ 10% และจีนโต้กลับในอัตรา 10-15% กับบางสินค้าจากสหรัฐฯ ผลกระทบต่อ GDP ของสหรัฐฯ และโลกจะอยู่ที่ -0.16% และ -0.05% ตามลำดับ
นอกจากนี้ ประธานาธิบดีทรัมป์เตรียมจัดเก็บภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียม 25% จากทุกประเทศ พร้อมกับวางแผนที่จะประกาศใช้ภาษีศุลกากรตอบโต้กับประเทศคู่ค้าในสัปดาห์นี้ ซึ่งจะเป็นการยกระดับความตึงเครียดของสงครามการค้าสูงขึ้น
ญี่ปุ่น
เศรษฐกิจญี่ปุ่นทยอยฟื้นตัวจากภาคบริการที่แข็งแกร่งรวมถึงค่าจ้างและเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ในเดือนมกราคม ดัชนี PMI ภาคการผลิตยังหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 อยู่ที่ 48.7 ส่วนภาคบริการเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 53 สูงสุดในรอบ 4 เดือน ขณะที่ค่าจ้างแรงงานโตมากสุดในรอบเกือบ 30 ปีที่ 4.8% YoY ในเดือนธันวาคม สอดคล้องกับยอดใช้จ่ายภาคครัวเรือนที่ขยายตัว 2.7% สูงสุดนับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2565
ดัชนีชี้วัดส่วนใหญ่ยังคงชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มการฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไปจากความเชื่อมั่นภาคธุรกิจที่ปรับดีขึ้น ภาคบริการที่ยังขยายตัวต่อเนื่อง มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากรัฐบาล (มูลค่า 39 ล้านล้านเยน) รวมถึงการบริโภคที่ฟื้นตัวตามค่าจ้างและเงินเฟ้อที่สูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม สงครามการค้ามีแนวโน้มรุนแรงขึ้น รวมถึงภาคการผลิตและส่งออกที่ยังคงซบเซาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า อาจกระทบต่อภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นในปีนี้ ด้วยเหตุนี้ วิจัยกรุงศรีประเมินว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ครั้งถัดไปจะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งหลังปีนี้
จีน
เศรษฐกิจจีนคึกคักมากขึ้นช่วงเทศกาลตรุษจีน ขณะที่สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนทวีความรุนแรงขึ้น การใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลตรุษจีนเพิ่มขึ้น 7% YoY ส่วนการบริโภคสินค้าและบริการขยายตัวถึง 9.9% และ 12.3% ตามลำดับ
อย่างไรก็ตาม สงครามการค้ามีแนวโน้มรุนแรงขึ้น หลังสหรัฐฯ ปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าทุกประเภทจากจีนในอัตรา 10% โดยมีผลบังคับใช้วันที่ 4 กุมภาพันธ์ ขณะที่จีนตอบโต้สหรัฐฯ ด้วยการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าในอัตรา 10% สำหรับน้ำมันดิบ เครื่องจักรทางการเกษตร และยานยนต์บางประเภท และในอัตรา 15% สำหรับถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 10 กุมภาพันธ์เป็นต้นไป
การใช้จ่ายในช่วงเทศกาลตรุษจีนประกอบกับมาตรการอุดหนุนการแลกซื้อสินค้าใหม่ คาดว่าจะช่วยให้การบริโภคในช่วงสองเดือนแรกปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงปลายปีที่ผ่านมาซึ่งเติบโตเพียง 3-3.5% ขณะที่การปรับขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ และจีนรอบล่าสุด
คาดว่าจะทำให้ GDP ของจีนลดลง -0.16% โดยอุตสาหกรรมที่เสี่ยงมากที่สุดคือ อิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์ไฟฟ้า ขณะที่บางอุตสาหกรรมอาจได้ประโยชน์จากการตอบโต้ทางภาษีกลับของจีน เช่น ยานยนต์และอุปกรณ์ขนส่ง
เศรษฐกิจไทย
คาดเงินเฟ้อในไตรมาสแรกอยู่ในกรอบเป้าหมายแต่เฉลี่ยทั้งปียังอยู่ใกล้ขอบล่าง เปิดโอกาสให้กนง.ปรับลดดอกเบี้ยได้ในปีนี้ ท่ามกลางสงครามทางการค้าที่รุนแรงขึ้น
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนมกราคมอยู่ในกรอบเป้าหมายต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 คาดกนง.อาจปรับลดดอกเบี้ยนโยบายสู่ระดับ 2.0% ในปีนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนมกราคมอยู่ที่ 1.32% YoY เพิ่มขึ้นจาก 1.23% ในเดือนธันวาคม โดยมีปัจจัยหลักจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงซึ่งสูงขึ้นจากฐานราคาที่ต่ำในปีก่อน
ประกอบกับราคาสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มปรับสูงขึ้นจากราคาผลไม้สด เครื่องประกอบอาหาร และเครื่องดื่มที่มิใช่แอลกอฮอล์ ด้านอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (หักราคาหมวดอาหารสดและพลังงาน) เดือนมกราคมอยู่ที่ 0.83% เพิ่มขึ้นจาก 0.79% ในเดือนธันวาคม
วิจัยกรุงศรีประเมินอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วงไตรมาสแรกของปีอาจยังอยู่ในกรอบเงินเฟ้อเป้าหมายของทางการอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานของราคาน้ำมันดีเซลที่ต่ำในช่วงไตรมาสแรกของปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 30 บาทต่อลิตร เทียบกับปัจจุบันที่กำหนดเพดานที่ 33 บาทต่อลิตร นอกจากนี้ กิจกรรมท่องเที่ยวที่เติบโตต่อเนื่องในช่วงต้นปีอาจหนุนให้ราคาสินค้าและบริการมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น
สำหรับมุมมองดอกเบี้ยนโยบาย แม้อัตราเงินเฟ้อจะทยอยกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายแต่คาดว่าเฉลี่ยทั้งปี 2568 จะยังอยู่ในระดับต่ำใกล้ขอบล่างของกรอบที่ 1% ขณะที่อุปสงค์ภายในประเทศมีแนวโน้มฟื้นตัวชะลอลงแม้จะได้รับปัจจัยหนุนจากมาตรการรัฐ
สะท้อนจากดัชนีการบริโภคภาคเอกชนที่ยังคงซบเซาในไตรมาส 4 ปี 2567 (-0.1% QoQ) แม้มีมาตรการเงินโอน 10,000 บาท ให้แก่ประชาชนกว่า 14 ล้านคน ในช่วงเวลาเดียวกัน
นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยยังเผชิญกับแรงกดดันจากปัจจัยภายนอกทั้งความขัดแย้งทางการค้าของสหรัฐฯกับจีน และยังมีความไม่แน่นอนจากของนโยบายทรัมป์ 2.0 วิจัยกรุงศรีจึงประเมินว่ายังมีความเป็นไปได้ที่กนง. อาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงจากปัจจุบันที่ 2.25% สู่ 2.00% ในปีนี้
วิจัยกรุงศรีประเมินกรณีจีนตอบโต้กลับสหรัฐฯ ที่เรียกเก็บภาษีนำเข้ากับสินค้าจีนเพิ่ม 10% อาจมีผลบวกสุทธิต่อไทยเล็กน้อย หลังจากที่มาตรการภาษีของสหรัฐฯ มีผลบังคับใช้ในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ล่าสุดรัฐบาลจีนได้ตอบโต้ด้วยการเรียกเก็บภาษีนำเข้าถ่านหินและก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) จากสหรัฐฯ ในอัตรา 15% และเรียกเก็บภาษีนำเข้าน้ำมันดิบ อุปกรณ์ด้านการเกษตร และรถยนต์บางประเภท ในอัตรา 10% โดยเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 10 กุมภาพันธ์
การประเมินผลกระทบจากการขึ้นภาษีนำเข้าระหว่างกันของสหรัฐฯกับจีนล่าสุด โดยใช้แบบจำลองการวิเคราะห์การค้าโลก (Global Trade Analysis Project: GTAP) พบว่าปริมาณการส่งออกและ GDP ของไทย จะเพิ่มขึ้นจากกรณีฐาน +0.27% และ +0.02% ตามลำดับ
อย่างไรก็ตาม ผลกระทบเชิงบวกสุทธิต่อไทยอาจมีเพียงเล็กน้อยและจำกัดอยู่ในอุตสาหกรรมบางกลุ่มเท่านั้น อาทิ กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์ไฟฟ้า ขณะที่อุตสาหกรรมอื่นๆ จะได้รับผลเชิงลบเป็นส่วนใหญ่
ทั้งนี้ ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนยังมีความเสี่ยงที่จะรุนแรงขึ้นได้อีกในระยะถัดๆ ไป รวมถึงยังมีความไม่แน่นอนจากนโยบายการค้าของประธานาธิบดีทรัมป์ต่อประเทศอื่นๆ รวมถึงไทย ซึ่งนับเป็นประเด็นท้าทายที่สำคัญต่อทิศทางและแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจไทยในปีนี้