Site icon Onlinenewstime.com – News and Knowledge to sustainability

สถิติการจดทะเบียนธุรกิจประจำเดือน มกราคม 2568

Onlinenewstime.com : เปิดศักราชใหม่ปี 2568 ธุรกิจตั้งใหม่ยังอยู่ขาขึ้น เดือนแรกพุ่งไปกว่า 8.8 พันราย จดเลิกลดลง   ด้านต่างชาติยกขบวนเข้ามาทำธุรกิจในไทย 103 ราย หอบเงินมาลงทุน 2.3 หมื่นล้านบาท

ขณะไทยมาถึงจุดที่ ‘ธุรกิจความงาม’ ติดดาว โตตามเทรนด์รักสุขภาพ พร้อมปรับลุคให้ดูดี และเสียงโหวตเรียกเอกสารเจ้าบ้าน ผลไม่เห็นด้วย 86.37% เดินหน้าป้องปรามบัญชีม้านิติบุคคลต่อ

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า แจง 4 ประเด็นใหญ่ 1) ผลการจัดตั้งธุรกิจประจำเดือนม.ค.68 ธุรกิจตั้งใหม่เพิ่มขึ้น 102% และทุนจดทะเบียนเพิ่ม 8.98% จากเดือน ธ.ค.67

2) ต่างชาติลงทุนในไทย ม.ค.68 เพิ่มขึ้นจากม.ค.67 91% มูลค่าการลงทุนเพิ่มขึ้น 223% ประเทศที่เข้ามาลงทุน 7 อันดับแรก ได้แก่ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา จีน สิงคโปร์ ฮ่องกง ไต้หวัน และเยอรมนี

3) ธุรกิจดาวเด่นยกให้ธุรกิจความงาม จัดตั้งใหม่โดดเด่นมาตลอด 5 ปี โกยรายได้กว่า 3 แสนล้านต่อปี ปัจจัยมาจากเทรนด์การดูแลตัวเองของผู้บริโภคเพิ่มมากขึ้น ได้สิ่งเร้ามาจาก Social Media และการพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

และ 4) เปิดโหวตมาตรการเรียกเอกสารยินยอมให้ใช้สถานที่จากเจ้าบ้าน ผลประชาพิจารณ์ไม่เห็นด้วย 86.37% น้อมรับและขอบคุณทุกความเห็นกับข้อเสนอแนะ ยืนยันจะดำเนินมาตรการที่เข้มข้นป้องปรามบัญชีม้านิติบุคคลต่อไปไม่มีหยุด

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้วิเคราะห์สถานการณ์การจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่เดือนมกราคม 2568 พบว่า

มีธุรกิจจัดตั้งใหม่ 8,862 ราย เพิ่มขึ้น 4,485 ราย (102%) เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม 2567 (4,377 ราย) และทุนจดทะเบียนรวม 24,951 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2,056 ล้านบาท (8.98%) เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม 2567 (22,895 ล้านบาท)

ในเดือนนี้มีนิติบุคคลที่จดทะเบียนทุนสูงเกิน 1,000 ล้านบาท จำนวน 1 ราย ทุนจดทะเบียน 2,000 ล้านบาท ประกอบกิจการ ผลิต จำหน่าย ส่งออก ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วง

ด้านธุรกิจที่มีการจัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 1) ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 691 ราย ทุน 1,423 ล้านบาท 2) ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 612 ราย ทุน 2,039 ล้านบาท และ 3) ธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร 336 ราย ทุน 731 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 7.80%, 6.91% และ 3.79% ของจำนวนการจัดตั้งธุรกิจในเดือนมกราคม 2568 ตามลำดับ

มีจำนวน 1,431 ราย ลดลง 4,634 ราย (-76.41%) เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม 2567 (6,065 ราย) และมีทุนจดทะเบียนเลิก 4,601 ล้านบาท ลดลง 30,501 ล้านบาท (-86.89%) เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม 2567 (35,102 ล้านบาท)

ในจำนวนนี้มีธุรกิจเลิกประกอบกิจการที่ทุนจดทะเบียนสูงเกิน 1,000 ล้านบาท จำนวน 1 ราย ทุนจดทะเบียน 1,568 ล้านบาท ประกอบกิจการนำเข้าและส่งออก ยารักษาโรค เภสัชภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ เครื่องมือแพทย์ทุกชนิด สำหรับประเภทธุรกิจที่เลิกประกอบกิจการสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่

1) ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 151 ราย ทุนเลิก 264 ล้านบาท 2) ธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร 58 ราย ทุนเลิก 178 ล้านบาท และ 3) ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 52 ราย ทุนเลิก 158 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 10.55%, 4.05% และ 3.64% ของจำนวนการเลิกประกอบธุรกิจในเดือนมกราคม 2568 ตามลำดับ

ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 31 มกราคม 2568) มีธุรกิจที่จดทะเบียนนิติบุคคลรวมทั้งสิ้น 1,973,692 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 30.54 ล้านล้านบาท โดยมีนิติบุคคลดำเนินกิจการอยู่ 929,377 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 22.32 ล้านล้านบาท แบ่งออกเป็นบริษัทจำกัด 732,081 ราย หรือ 78.77% ของจำนวนนิติบุคคลดำเนินกิจการอยู่ทั้งหมด

ทุนจดทะเบียนรวม 16.30 ล้านล้านบาท ห้างหุ้นส่วนจำกัดและห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล 195,813 ราย หรือ 21.07% ของจำนวนนิติบุคคลดำเนินกิจการอยู่ทั้งหมด ทุนจดทะเบียนรวม 0.43 ล้านล้านบาท และบริษัทมหาชนจำกัด  1,483 ราย หรือ 0.16% ของจำนวนนิติบุคคลดำเนินกิจการอยู่ทั้งหมด ทุนจดทะเบียนรวม 5.59 ล้านล้านบาท

สำหรับนิติบุคคลในกลุ่มธุรกิจบริการเป็นประเภทธุรกิจที่มีสัดส่วนการจดทะเบียนมากที่สุดมีจำนวน 501,709 ราย ทุนจดทะเบียน 12.98 ล้านล้านบาท รองลงมาคือ กลุ่มธุรกิจค้าส่ง/ค้าปลีก 304,831 ราย ทุน 2.52 ล้านล้านบาท และธุรกิจผลิต 1.23 แสนราย ทุน 6.83 ล้านล้านบาท คิดเป็น 53.98%, 32.80% และ 13.22% ของจำนวนนิติบุคคลที่ดำเนินกิจการอยู่ตามลำดับ

คาดการณ์ในไตรมาสแรกของปี 2568 จะมีธุรกิจจดทะเบียนจัดตั้งใหม่อยู่ที่ 27,000-28,000 ราย คิดเป็น 30% ของยอดจดทะเบียนทั้งปี และตลอดปี 2568 จะอยู่ที่ราว 90,000-95,000 ราย โดยอัตราส่วนการจัดตั้งธุรกิจต่อการเลิกธุรกิจในเดือนมกราคม 2568 พบว่าอยู่ที่ 6:1 ซึ่งถือว่ามีการจัดตั้งใหม่ที่เติบโตสูง

ขณะที่การเลิกยังต่ำ เมื่อเปรียบเทียบกับอัตราส่วนเฉลี่ย ปี 2567 อยู่ที่ 4:1 และ 5 ปี ย้อนหลัง (2562-2566) อยู่ที่ 3:1 แสดงให้ถึงแนวโน้มที่ดีของภาคธุรกิจในปี 2568

การอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย ภายใต้พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 ประจำเดือนมกราคม 2568 มีจำนวน 103 ราย

โดยเป็นการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว 21 ราย และการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว (ผ่านช่องทางการลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน หรือได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และการใช้สิทธิตามสนธิสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศ) 82 ราย

เงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 23,160 ล้านบาท โดยการอนุญาตฯ ในเดือนมกราคม 2568 มีจำนวนเพิ่มขึ้นจากมกราคม 2567 จำนวน 49 ราย (91%) และมูลค่าการลงทุนเพิ่มขึ้น 15,990 ล้านบาท (223%) อย่างไรก็ดี ชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทยสูงสุด 7 อันดับแรก ได้แก่

1. ญี่ปุ่น 21 ราย คิดเป็น 20% ของธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุน 8,880 ล้านบาท ส่วนใหญ่ลงทุนในธุรกิจบริการจัดหาวัสดุอุปกรณ์ การเปลี่ยนและทำการเชื่อมต่อท่อส่งใต้ทะเลระหว่างแท่นหลุมผลิตในโครงการขุดเจาะน้ำมัน ธุรกิจบริการตรวจสอบและสอบเทียบอุปกรณ์การตรวจจับการรั่วไหลของแก๊ส และธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า

2. สหรัฐอเมริกา 14 ราย คิดเป็น 14% ของธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุน 971 ล้านบาท ส่วนใหญ่ลงทุนในธุรกิจค้าปลีกสินค้า ธุรกิจบริการสนับสนุนข้อมูลเพื่ออำนวยความสะดวกในกระบวนการซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และธุรกิจบริการรับจ้างผลิต

3. จีน 10 ราย คิดเป็น 10% ของธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุน 3,925 ล้านบาท ส่วนใหญ่ลงทุนในธุรกิจบริการอาคารโรงงานพร้อมสาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวก และธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า

4. สิงคโปร์ 10 ราย คิดเป็น 10% ของธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุน 2,178 ล้านบาท ส่วนใหญ่ลงทุนในธุรกิจ บริการติดตั้ง บำรุงรักษา ซ่อมแซม และการปรับ (Calibration) เกี่ยวกับเครื่องจักร เครื่องกล ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตภาพยนตร์ ละคร แอนิเมชัน และรายการบันเทิง และธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า

5. ฮ่องกง 9 ราย คิดเป็น 9% ของธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุน 1,251 ล้านบาท ส่วนใหญ่ลงทุนในธุรกิจบริการทางวิศวกรรมและเทคนิค ธุรกิจบริการศูนย์กระจายสินค้าด้วยระบบที่ทันสมัย และธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า

6. ไต้หวัน 8 ราย คิดเป็น 8% ของธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุน 681 ล้านบาท ส่วนใหญ่ลงทุนในธุรกิจบริการออกแบบ ก่อสร้าง และติดตั้งโครงสร้างเหล็กของอาคารคลังสินค้า ธุรกิจบริการออกแบบระบบสถาปัตยกรรมทางด้านดิจิทัล (Digital Architecture Design Service) และธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า

7. เยอรมนี 7 ราย คิดเป็น 7% ของธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุน 3,048 ล้านบาท ส่วนใหญ่ลงทุนในธุรกิจบริการวิจัยและพัฒนาเครื่องปั๊มความร้อน (Heat pump) ธุรกิจบริการทำการตลาดและส่งเสริมการขายสิ่งทอเทคนิค และธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า

สำหรับการลงทุนในพื้นที่ EEC ของนักลงทุนต่างชาติประจำเดือนมกราคม 2568 มีนักลงทุนต่างชาติสนใจลงทุนในพื้นที่ EEC จำนวน 29 ราย คิดเป็น 28% ของนักลงทุนต่างชาติในไทย เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม 2567 จำนวน 12 ราย (71%) มูลค่าการลงทุนในพื้นที่ EEC จำนวน 12,329 ล้านบาท คิดเป็น 53% ของเงินลงทุนทั้งหมด

เป็นนักลงทุนจากประเทศ ญี่ปุ่น 11 ราย ลงทุน 5,574 ล้านบาท จีน 6 ราย ลงทุน 1,775 ล้านบาท สิงคโปร์ 3 ราย ลงทุน 1,610 ล้านบาท และประเทศอื่นๆ 9 ราย ลงทุน 3,370 ล้านบาท ธุรกิจที่ลงทุน อาทิ ธุรกิจค้าปลีกแม่พิมพ์โลหะและจิ๊ก (JIG) สำหรับใช้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้า ธุรกิจบริการตรวจสอบและสอบเทียบอุปกรณ์การตรวจจับการรั่วไหลของแก๊ส และธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า เป็นต้น

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้จัดทำข้อมูลธุรกิจเพื่อวิเคราะห์ธุรกิจที่มีแนวโน้มการเติบโตที่น่าสนใจ และเฟ้นหาธุรกิจดาวเด่นที่น่าจับตามอง พบว่า ธุรกิจความงาม มีแนวโน้มการจดทะเบียนจัดตั้งใหม่และมีการเติบโตที่ดีอย่างต่อเนื่องใน 5 ปีที่ผ่านมา (2563-2567)

ปัจจุบันมีนิติบุคคลที่ประกอบธุรกิจความงามอยู่ 6,621 ราย ทุนจดทะเบียน 190,160 ล้านบาท หากย้อนไปปี 2563 มีการจัดตั้งนิติบุคคลในธุรกิจนี้ 527 ราย/ปี และก้าวกระโดดเพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ จนกระทั่งปี 2566 มีการจัดตั้งใหม่จำนวน 1,161 และ ปี 2567 จัดตั้ง 1,135 ราย

ขณะที่วิเคราะห์เชิงลึก 3 ปี ย้อนหลัง (2564-2566) สามารถสร้างรายได้ที่สูงเฉลี่ยกว่า 3 แสนล้านบาทต่อปี ประกอบด้วย ปี 2564 รายได้ 304,724 ล้านบาท ปี 2565 รายได้ 354,823 ล้านบาท และปี 2566 รายได้ 363,145 ล้านบาท

ด้านการลงทุนของชาวต่างชาติในประเทศไทยพบว่า มีมูลค่าการลงทุนสูงถึง 2,799 ล้านบาท โดยสัญชาติที่ลงทุนมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ มาเลเซีย 201 ล้านบาท จีน 182 ล้านบาท และสิงคโปร์ 94 ล้านบาท

การเติบโตของธุรกิจความงามเป็นผลมาจากการเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เกิดค่านิยมทางสังคมที่ซึมซับมาจากโซเชียลมีเดียที่นำเสนอเรื่องราวการดูแลตนเอง ผ่านอินฟลูเอนเซอร์ที่มีบุคลิกที่ดูดี จึงเป็นจุดโน้มน้าวให้ผู้ติดตามต้องการปรับภาพลักษณ์ รูปร่าง หน้าตา ผิวพรรณของตัวเองให้ดูดีขึ้น และสังคมเปิดกว้างกับทำศัลยกรรมมากขึ้น

ประกอบกับเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่มีวิวัฒนาการมากขึ้น การนำนวัตกรรมด้านความงามมาให้บริการในราคาที่ถูกลง เจ็บน้อยลง แผลเล็กลง และการรักษาที่มีความปลอดภัยสูง จึงทำให้ลูกค้าไม่ได้จำกัดแค่เพียงผู้หญิงเพียงกลุ่มเดียว แต่ยังขยายลูกค้าไปยังกลุ่มผู้ชาย กลุ่ม Gen Z ที่เริ่มเข้าสู่สังคมการทำงาน ผู้สูงอายุที่ใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์เพื่อการชะลอวัย และลูกค้าต่างชาติที่จะเข้ามาใช้บริการ จึงเป็นโอกาสสำคัญของผู้ประกอบการไทยประเภทธุรกิจความงามที่ต้องรีบคว้าไว้

ตั้งแต่วันที่ 31 มกราคม – 15 กุมภาพันธ์ 2568 (16 วัน) ที่ผ่านมากรมฯ ได้เปิดรับฟังความคิดเห็น (ประชาพิจารณ์) ร่างคำสั่งสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกลาง กำหนดหลักเกณฑ์และเอกสารประกอบคำขอจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนและบริษัทจำกัด และจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมสถานที่ตั้งสำนักงานแห่งใหญ่ของห้างหุ้นส่วนและบริษัทจำกัด

ซึ่งจะแสดงให้เห็นว่าเจ้าของที่ตั้งยินยอมให้ใช้เป็นสำนักงานนิติบุคคล โดยปรากฏว่า มีผู้เข้ามาแสดงความคิดเห็นจำนวนมาก โดยผลการแสดงความคิดเห็นมีดังนี้

1. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดให้ผู้ขอจดทะเบียนส่งหลักฐานเพื่อแสดงว่าเจ้าของที่ตั้งสำนักงานยินยอมให้ห้างหุ้นส่วนและบริษัทจำกัดใช้สถานที่เป็นที่ตั้งสำนักงานแห่งใหญ่ประกอบคำขอจดทะเบียน (มีผู้แสดงความเห็นทั้งหมด 719 คน) * เห็นด้วย 98 ราย คิดเป็น 13.63% * ไม่เห็นด้วย 621 ราย คิดเป็น 86.37%

2. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับคำสั่งฯ ฉบับนี้ (มีผู้แสดงความเห็นทั้งหมด 718 คน) * เห็นด้วย 94 ราย คิดเป็น 13.09% * ไม่เห็นด้วย 624 ราย คิดเป็น 86.91%

3. ข้อเสนอแนะอื่นๆ มีผู้แสดงความคิดเห็น 210 ราย

เหตุผลที่ไม่เห็นด้วย เช่น เป็นการเพิ่มภาระแก่ผู้ประกอบการที่สุจริต เพิ่มต้นทุน เกิดความล่าช้าในการจัดตั้งธุรกิจ สวนทางกับการเดินหน้าสู่รัฐบาลดิจิทัล และเห็นว่ามาตรการนี้ไม่ช่วยในการแก้ไขบัญชีม้านิติบุคคลแต่อย่างใด ฯลฯ

อย่างไรก็ดี ยังได้ให้ข้อเสนอแนะที่น่าสนใจใน 3 ประเด็นว่า 1) ควรใช้เทคโนโลยีมาช่วยตรวจสอบสถานที่ตั้งนิติบุคคล ซึ่งจะมีความรวดเร็วและประหยัดค่าใช้จ่ายในระยะยาว 2) เชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานท้องถิ่นหรือหน่วยงานที่เกี่ยวกับการเก็บภาษี 3) หากพบการกระทำผิดกฎหมายควรส่งเรื่องให้ปปช. สำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อดำเนินการทางกฎหมาย

 กรมฯ ขอขอบคุณทุกความเห็นจากภาคประชาชน และยินดีที่จะนำข้อเสนอแนะมาปรับใช้ในการป้องปรามปัญหาบัญชีม้านิติบุคคล ทั้งนี้ กรมฯ ยังมีอีกหลายมาตรการที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนด้านการสกัดกั้นมิจฉาชีพไม่ให้หาประโยชน์จากการจดทะเบียนนิติบุคคล ได้แก่

* ระบบตรวจสอบที่ตั้งสำนักงานแห่งใหญ่ของนิติบุคคลซึ่งเปิดให้บริการแล้วผ่าน www.dbd.go.th โดยขอเชิญชวนให้ประชาชนเข้ามาตรวจสอบที่อยู่ของตนเองได้ว่าถูกนำมาจดทะเบียนฯ โดยไม่ได้ยินยอมหรือไม่

* มาตรการหมายเหตุในหนังสือรับรองว่า ‘นิติบุคคลไม่มีสำนักงานแห่งใหญ่ ณ ที่ตั้งตามที่จดทะเบียนไว้’ กรณีที่พบว่านิติบุคคลรายนั้นไม่มีที่ตั้งตามที่จดทะเบียนจริง และส่งเรื่องให้ตำรวจดำเนินการตามกฎหมาย

* ความร่วมมือกับไปรษณีย์ไทยปักหมุดนิติบุคคลคาดจะดำเนินการได้เร็วๆ นี้  

* ความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการปราบปรามบัญชีม้านิติบุคคลเพื่อเอาผิดทางกฎหมายกับผู้กระทำผิด

* มาตรการชะลอการรับจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจกรณีเป็นบุคคลที่มีรายชื่ออยู่ในบัญชี HR-03 ของปปง. โดยต้องมาแสดงตัวต่อหน้านายทะเบียน กรมฯ คาดว่ามาตรการที่กล่าวมาจะช่วยป้องปรามบัญชีม้านิติบุคคลได้อย่างเป็นรูปธรรม และขอความร่วมมือประชาชนให้สังเกตและระมัดระวังตัวอย่างสูงสุดเพื่อไม่ให้ตัวเองตกไปเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพกลุ่มนี้” อธิบดีอรมน กล่าวทิ้งท้าย

Exit mobile version