fbpx
News update

สถิติการจดทะเบียนธุรกิจประจำเดือนพฤษภาคม 67

ทั้งนี้ ภายหลังจากการสิ้นสุดการรับงบการเงินประจำปี 2566 ของนิติบุคคลกลุ่มที่มีรอบปีบัญชี 31 ธันวาคม 2566 พบส่งงบการเงินตรงเวลาแล้ว 86.6% เหลืออีก 13.4% ที่ยังไม่ได้นำส่งและ มีโทษทางกฎหมาย สำหรับการวิเคราะห์งบการเงินที่ยื่นต่อกรมฯ พบว่า ธุรกิจมีรายได้กว่า 57.86 ล้านล้านบาท และกำไรกว่า 52.82 ล้านล้านบาท

แบ่งเป็น ภาคการผลิต ขายปลีก/ส่ง และบริการ และธุรกิจที่โกยทรัพย์มากที่สุด 10 อันดับ อาทิ ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากโรงกลั่นปิโตรเลี่ยม เครื่องประดับ ยานยนต์ ธนาคาร และเชื้อเพลิง

ด้านการวิเคราะห์รายธุรกิจพบว่า ธุรกิจของเล่นมีการเติบโตในช่วง 2 ปีหลังอย่างน่าสนใจ สามารถสร้างรายได้ที่เพิ่มขึ้นในกลุ่มการผลิตและขายสินค้า โดยส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดเล็ก (S) ที่ครองตลาด และยังมีปัจจัยเสริมทางสังคมอย่างเทรนด์การสะสม Art Toy จากผู้ใหญ่ที่มีกำลังซื้อสูงมาช่วยกระตุ้นการเติบโตให้รวดเร็วยิ่งขึ้นด้วย  

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในเดือนพฤษภาคม 2567 มีนิติบุคคลที่จดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่จำนวน 7,499 ราย เพิ่มขึ้น 969 ราย คิดเป็น 14.84% เมื่อเทียบกับเดือนเมษายน 2567 และเพิ่มขึ้น 62 ราย เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2566

โดยมีทุนจดทะเบียนอยู่ที่ 21,887.12 ล้านบาท ลดลง 5,384.75 ล้านบาท คิดเป็น -19.74% เมื่อเทียบกับเดือนเมษายน 2567 และลดลง 6,527.35 คิดเป็น -22.97% เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2566

โดยธุรกิจที่จัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 662 ราย ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 543 ราย และ ธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร 353 ราย คิดเป็นสัดส่วน 8.83%, 7.24% และ 4.71% ของจำนวนการจัดตั้งธุรกิจใหม่ในเดือนพฤษภาคม 2567 ตามลำดับ

ด้านการจดทะเบียนเลิกประกอบกิจการ มีจำนวน 1,004 ราย เพิ่มขึ้น 194 ราย คิดเป็น 23.95% เมื่อเทียบกับเดือนเมษายน 2567 และลดลง 230 ราย คิดเป็น -18.64% เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2566 โดยมีทุนจดทะเบียนเลิกอยู่ที่ 54,804.37 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 49,707.54 ล้านบาท คิดเป็น 975.26% เมื่อเทียบกับเดือนเมษายน 2567 และเพิ่มขึ้น 46,564.47 ล้านบาท คิดเป็น 565.11% เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2566

ทั้งนี้ มูลค่าทุนจดทะเบียนเลิกสูงผิดปกติเป็นผลมาจากการเลิกประกอบกิจการของ 2 บริษัทขนาดใหญ่เนื่องจากมีการปรับโครงสร้างการดำเนินงานของธุรกิจให้คล่องตัวยิ่งขึ้น สำหรับธุรกิจที่เลิกประกอบกิจการ 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 98 ราย ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 59 ราย และธุรกิจให้คำปรึกษาด้านการบริหารจัดการอื่นๆ 25 ราย คิดเป็นสัดส่วน 9.76%, 5.88% และ 2.49% ของจำนวนการเลิกประกอบกิจการเดือนพฤษภาคม 2567 ตามลำดับ

ปัจจุบัน (31 พฤษภาคม 2567) มีธุรกิจที่จดทะเบียนนิติบุคคลรวมทั้งสิ้น 1,916,267 ราย โดยจำนวนนี้เป็นนิติบุคคลที่ดำเนินกิจการอยู่จำนวน 916,634 ราย มูลค่าทุนจดทะเบียนอยู่ที่ 22.26 ล้านล้านบาท

แบ่งออกเป็นบริษัทจำกัดจำนวน 714,143 ราย คิดเป็น 77.91% ของจำนวนนิติบุคคลที่ดำเนินกิจการอยู่ทั้งหมด ทุนจดทะเบียน 16.02 ล้านล้านบาท ห้างหุ้นส่วนจำกัดและห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลจำนวน 201,031 ราย คิดเป็น 21.93% ของจำนวนนิติบุคคลที่ดำเนินกิจการอยู่ทั้งหมด ทุนจดทะเบียน 0.47 ล้านล้านบาท และบริษัทมหาชนจำกัด จำนวน 1,460 ราย คิดเป็น 0.16% ของจำนวนนิติบุคคลที่ดำเนินกิจการอยู่ทั้งหมด ทุนจดทะเบียน 5.77 ล้านล้านบาท

ปี 2567 มีนิติบุคคลที่ต้องนำส่งงบการเงินอยู่ทั้งหมดจำนวน 835,011 ราย ในจำนวนนี้เป็นนิติบุคคลที่มีรอบปีบัญชีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2566 จำนวน 671,823 ราย และต้องนำส่งงบการเงินภายในวันที่ 31 พฤษภาคม 2567 คิดเป็น 80% ของนิติบุคคลทั้งหมดที่ต้องนำส่งงบการเงิน โดยได้นำส่งงบการเงินตามระยะเวลา

ที่กฎหมายกำหนดจำนวน 581,856 ราย คิดเป็น 86.6% ในจำนวนนี้ยังมีนิติบุคคลที่ไม่ได้นำส่งอีกจำนวน 89,967 ราย คิดเป็น 13.4% ทั้งนี้ นิติบุคคลที่ไม่ได้ส่งงบการเงินภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด กรมฯ จะออกหนังสือแจ้งข้อกล่าวหา โดยอัตราค่าปรับจะเพิ่มขึ้นตามระยะเวลาที่ล่าช้า

จึงขอเตือนให้นิติบุคคลที่ยังไม่ได้นำส่งงบการเงินเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด รวมถึงนิติบุคคลอื่นๆ ที่จะกำลังจะถึงรอบการนำส่งงบการเงินโปรดเตรียมตัวให้พร้อมและนำส่งงบการเงินให้อยู่ภายในกรอบระยะเวลาตามที่กฎหมายกำหนด

จากการนำส่งงบการเงินประจำปี 2566 กรมฯ ได้นำข้อมูลผลประกอบการของนิติบุคคลมาวิเคราะห์      ในเชิงธุรกิจพบว่า รายได้ของนิติบุคคลทั่วประเทศมีจำนวนกว่า 57.86 ล้านล้านบาท และมีผลกำไรกว่า 2.34 ล้านล้านบาท

โดยกลุ่มภาคการผลิต สามารถทำรายได้สูงสุดจำนวน 23.72 ล้านล้านบาท คิดเป็น 41.00% ของรายได้ทั้งหมด เป็นผลกำไรจำนวน 1.10 ล้านล้านบาท คิดเป็น 47.03% ของกำไรสุทธิทั้งหมด

รองลงมาคือกลุ่มภาคขายส่ง/ปลีก ทำรายได้ 23.32 ล้านล้านบาท คิดเป็น 40.30% ของรายได้ทั้งหมด ทำกำไรอยู่ที่ 0.46 ล้านล้านบาท คิดเป็น 19.57% ของกำไรสุทธิทั้งหมด และกลุ่มภาคบริการ ทำรายได้จำนวน 10.82 ล้านล้านบาท คิดเป็น 18.70% ของรายได้ทั้งหมด เป็นผลกำไรจำนวน 0.78 ล้านล้านบาท คิดเป็น 33.40% ของกำไรสุทธิทั้งหมด

กรมฯ ยังได้วิเคราะห์ต่อเนื่องลงลึกไปถึงรายธุรกิจที่สามารถสร้างรายได้สูงสุด 10 อันดับแรกได้แก่

1) ธุรกิจผลิตผลิตภัณฑ์ที่ได้จากโรงกลั่นปิโตรเลี่ยม ทำรายได้ 3.84 ล้านล้านบาท

2) ธุรกิจขายส่งนาฬิกาและเครื่องประดับ ทำรายได้ 3.12 ล้านล้านบาท

3) ธุรกิจร้านขายปลีกเครื่องประดับ ทำรายได้ 2.39 ล้านล้านบาท       

4) ธุรกิจผลิตรถยนต์ส่วนบุคคล ทำรายได้ 1.56 ล้านล้านบาท

5) ธุรกิจผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์เสริมอื่นๆ สำหรับยานยนต์ ทำรายได้ 1.55 ล้านล้านบาท

6) ธุรกิจขายยานยนต์ใหม่ชนิดรถนั่งส่วนบุคคลฯ ทำรายได้ 1.45 ล้านล้านบาท  

7) ธนาคารพาณิชย์ ทำรายได้ 1.11 ล้านล้านบาท

8) ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ทำรายได้ 1.07 ล้านล้านบาท

9) ธุรกิจขายปลีกเชื้อเพลิงยานยนต์ในร้านเฉพาะสถานีบริการน้ำมัน ทำรายได้ 1.02 ล้านล้านบาท และ

10) ธุรกิจขายส่งเชื้อเพลิงเหลว ทำรายได้ 0.96 ล้านล้านบาท

อย่างไรก็ดี ธุรกิจทั้ง 10 อันดับที่กล่าวมาข้างต้นส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดไซส์ L ที่สามารถทำรายได้สูงสุดในธุรกิจแต่ละประเภท

นอกจากนี้ จากกระแส Art Toy ของเล่นสะสมที่สร้างสรรค์งานศิลปะโดยศิลปินจากต่างประเทศและศิลปินไทยก็กำลังเป็นที่นิยมทั่วโลก ส่งผลให้ ‘ธุรกิจของเล่น’ กลายเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ต้องจับตามอง แม้ในช่วง 5 ปี ย้อนหลังที่ผ่านมา (พ.ศ.2562-2566) ธุรกิจของเล่นจะมีการเติบโตที่ผันผวนเพราะมีปัจจัยด้านการแพร่ระบาดของโควิด19 มาส่งผลกระทบเชิงลบ

แต่เมื่อสถานการณ์สงบลงธุรกิจของเล่นก็ใช้เวลาไม่นานที่สามารถกลับมาพลิกฟื้นธุรกิจได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็ก (S) ที่ครองตลาดส่วนใหญ่มากถึง 1,024 ราย แบ่งเป็นกลุ่มผู้ผลิตจำนวน 220 ราย และกลุ่มขายจำนวน 804 ราย คิดเป็น 93.7% จากจำนวนธุรกิจของเล่นที่มีจำนวน 1,093 ราย

แบ่งเป็นกลุ่มผู้ผลิตจำนวน 238 ราย และกลุ่มขายจำนวน 855 ราย มีมูลค่าทุนจดทะเบียนทั้งหมด 5,692.21 ล้านบาท แบ่งเป็นกลุ่มผลิตจำนวน 2,909.61 ล้านบาท และกลุ่มขายจำนวน 2,782.60 ล้านบาท

สำหรับปี 2566 ธุรกิจของเล่น สามารถสร้างรายได้รวมถึง 19,677.21 ล้านบาท และทำกำไรได้ 467.62 ล้านบาท การเติบโตของธุรกิจของเล่นส่วนสำคัญเป็นผลมาจากการเกิดกลุ่มในวงการของเล่นที่เรียกว่า Kidult ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ใหญ่ที่มีความนิยมในการสะสมของเล่นและมีกำลังการซื้อสูงเพื่อตอบสนองความต้องการของตนเองในวัยเด็ก การสะสมเพื่อสร้างรายได้ในอนาคต” อธิบดี กล่าวทิ้งท้าย

error: Content is protected !!