Onlinenewstime.com : รศ.ดร.สมิตร ส่งพิริยะกิจ ประธานสาขาวิศวกรรมโยธา วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ให้มุมมองต่อประเด็นการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ว่า มีเรื่อง “ไกลตัว” ที่สำคัญเกิดขึ้นในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา จนเราอาจจะนึกไม่ถึงว่าเกี่ยวข้องกับวงการก่อสร้างได้อย่างไร หลายๆ ท่านคงได้ยินข่าวว่า คณะผู้แทนประเทศไทย โดยท่านนายกรัฐมนตรี ได้แสดงเจตจำนงในการร่วมแก้ปัญหาภูมิอากาศอย่างเต็มที่ เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี ค.ศ. 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ในปี ค.ศ. 2065
พร้อมกันนี้ประเทศไทยได้แสดงถึงความก้าวหน้าอย่างเหนือชั้นโดย ในปี ค.ศ. 2019 ไทยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 17% เร็วกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ คือ 7% ภายในปี ค.ศ. 2020 ซึ่งเร็วกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ถึง 2 เท่า หลังให้สัตยาบันเป็นภาคีของความตกลงปารีสเมื่อปี ค.ศ. 2015 (COP21) นับว่าในวันดังกล่าวที่เมืองกลาสโกว์ สกอตแลนด์ ประเทศไทยยืนได้อย่างสง่าผ่าเผยประเทศหนึ่งในเวทีโลกว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
สำหรับคนในอุตสาหกรรมก่อสร้าง อาจจะอยากรู้ว่า ประเทศไทยทำอะไรไปบ้างกับเรื่องนี้ เราถึงมาได้ขนาดนี้ แต่ก็ยังไม่สำคัญเท่ากับการคาดการณ์ว่า ประเทศไทยจะทำอะไรต่อไป เพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายต่อไป และจะกระทบต่ออุตสาหกรรมก่อสร้างอย่างไรในอนาคต
มองย้อนกลับไปในช่วง 5 ถึง 6 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 2015 จะเห็นได้ว่า เรามีกิจกรรมการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาดเล็กเกิดขึ้นมากมาย ทั้งที่เป็น Solar Farm หรือโรงไฟฟ้าชีวมวล หรือโรงไฟฟ้าจากอุตสาหกรรมเลี้ยงสัตว์ หรือการรับซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านทดแทนการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงถ่านหิน เหล่านี้อาจถือได้ว่า เป็นผู้เล่นสำคัญในการลดการปล่อยก๊าซ CO2 และก๊าซมีเทน ประกอบกับการเข้ามาอย่างมากขึ้นของรถยนต์ประหยัดพลังงานหลากหลายรูปแบบ
นอกจากนี้เทรนด์ของสินค้าหลากหลายชนิด ให้ความสำคัญถึงการปล่อยก๊าซ CO2 ถ้าเราเลือกซื้อรถ รถแต่ละรุ่นจะแจ้งถึง CO2/km ที่ปล่อยออก ถ้าเราจองตั๋วเครื่องบิน เราจะได้รับแจ้งบนบอร์ดดิ้งพาสว่าเครื่องบินที่เรานั่งปล่อย CO2 กี่มากกี่น้อย ความเข้มข้นของความตั้งใจที่จะลดการปล่อย CO2 นี้ อาจจะทำให้เราเห็นในแบบก่อสร้างว่า อาคารแต่ละหลังปล่อย CO2 มากเท่าไหร่
และต่อไปการประมูลงานก่อสร้าง จะต้องคำนึงถึงกระบวนการทำงานที่ลดการปล่อย CO2 ด้วยเช่นกัน นอกเหนือไปจาก ราคา เวลา และคุณภาพ ทิศทางการก่อสร้าง น่าจะมุ่งไปในทิศทางที่เป็น Modular มากขึ้น ใช้เวลาการก่อสร้างน้อยลง ลด overhead ในเชิงของการใช้พลังงานสกปรกมากขึ้น ใช้วัสดุก่อสร้างที่ประหยัดพลังงานและลดการปล่อยก๊าซ CO2 ตั้งแต่วัสดุก่อสร้างจนถึงขั้นตอนก่อสร้างมากขึ้น
ปูนซีเมนต์ เป็นวัสดุก่อสร้างที่กระบวนการผลิตปล่อยก๊าซ CO2 ค่อนข้างมาก รองมาจากอุตสาหกรรมเหล็ก เนื่องจากกระบวนการผลิตที่ใช้ความร้อนสูงในการหลอมละลายแร่ธาตุต่างๆ ดังนั้น ผู้ผลิตปูนซีเมนต์ทุกรายในประเทศไทย จึงได้ร่วมมือกันผลักดันการใช้ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก เพื่อทดแทนการใช้งานปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ที่นิยมใช้ดั้งเดิม
โดยปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกจะสามารถลดปริมาณการปล่อย CO2 ได้ประมาณ 40 กิโลกรัม/ตันปูนซีเมนต์ที่ทดแทนได้ ถ้าเราสามารถใช้ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก ทดแทนปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ได้ 5.8 ล้านตัน (จากปริมาณการบริโภคประมาณ 35 ล้านตันต่อปี) เราจะลดการปล่อย CO2 ได้ถึง 3 แสนตัน CO2 ทีเดียว
ท่านนายกรัฐมนตรีกล่าวในการประชุม COP26 ต่อหน้าผู้แทนประเทศต่างๆ กว่า 190 ประเทศ ว่า เราไม่มีแผนสองสำหรับการลดอุณหภูมิของโลก เพราะว่าเรามีโลกเพียงใบเดียว ซึ่งเป็นบ้านของพวกเรา พร้อมกับคำสัญญาว่า “จะบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี ค.ศ. 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ในปี ค.ศ. 2065” ถึงตรงนี้ COP26 ดูเหมือนจะไม่ “ไกลตัว” เพราะเป็นเรื่องบ้านของเราเอง ถ้านักสร้างบ้านอย่างพวกเราไม่ปรับตัว ก็คงต้องหาโลกใหม่อยู่กันละครับ