Onlinenewstime.com : กรมพัฒนาธุรกิจการค้ามอบประกาศนียบัตรให้กับ 66 ผู้ประกอบการที่ผ่านการพัฒนาจาก 2 หลักสูตรแฟรนไชส์อย่างเข้มข้นประจำปี 2567 ทั้งหลักสูตรสร้างธุรกิจรายใหม่เข้าสู่ระบบแฟรนไชส์ (B2B Franchise) รุ่นที่ 27 จำนวน 33 ราย และการยกระดับธุรกิจสู่เกณฑ์มาตรฐานคุณภาพการบริหารจัดการธุรกิจแฟรนไชส์ (DBD Franchise Standard) จำนวน 33 ราย ทั้ง 2 หลักสูตรจะช่วยขยายช่องทางการตลาดให้กับธุรกิจไทยผ่านระบบแฟรนไชส์ และสร้างมาตรฐานธุรกิจให้แฟรนไชส์ยกระดับได้บนเกณฑ์มาตรฐานสากล
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้นายสถาพร ร่วมนาพะยา รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เป็นประธานมอบประกาศนียบัตรให้แก่ผู้ประกอบการที่ผ่านการพัฒนาใน 2 หลักสูตรแฟรนไชส์ ณ ศูนย์ประชุม 1 ศตวรรษ ชั้น 6 กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
โดยหลักสูตรแรกคือ การสร้างธุรกิจรายใหม่เข้าสู่ระบบแฟรนไชส์ หรือ B2B Franchise รุ่นที่ 27 เป็นการพัฒนาความรู้แก่ธุรกิจที่มีสาขาแล้วอย่างน้อย 2 สาขา ให้เข้าใจถึงระบบแฟรนไชส์ระดับพื้นฐาน ไปจนกระทั่งสามารถจัดทำแผนธุรกิจเชิงกลยุทธ์และสร้างคู่มือปฏิบัติงานในระบบแฟรนไชส์ (Franchise Operation Manual) ในธุรกิจของตนเองได้ ซึ่งใช้ระยะเวลาอบรมถึง 174 ชั่วโมง
ความพิเศษของรุ่นที่ 27 นี้กรมฯ ได้เพิ่มเนื้อหาเรื่องการใช้เทคโนโลยีมาช่วยในการบริหารจัดการให้ธุรกิจสะดวกมากยิ่งขึ้น และการเตรียมความพร้อมขยายธุรกิจไปต่างประเทศเพื่อให้ธุรกิจได้เกิดแรงบันดาลใจในการขยายธุรกิจเข้าสู่ระบบแฟรนไชส์ได้อย่างถูกต้องด้วยการติดกระดุมเม็ดแรกให้ถูกทิศทาง
นำไปสู่การต่อยอดธุรกิจในอนาคต และการปรับหลักสูตรครั้งนี้ยังสอดคล้องกับสถานการณ์การดำเนินธุรกิจในปัจจุบันอีกด้วย นับตั้งแต่เริ่มจัดหลักสูตร B2B Franchise เมื่อปี 2544 จนถึงปัจจุบันมีธุรกิจที่ผ่านการอบรมแล้วจำนวน 27 รุ่น รวม 1,205 ธุรกิจ แบ่งเป็นธุรกิจ 6 ประเภท คือ
1) ธุรกิจอาหาร 531 ราย 2) ธุรกิจบริการ 194 ราย 3) ธุรกิจค้าปลีก 173 ราย 4) ธุรกิจเครื่องดื่ม 157 ราย 5) ธุรกิจความงามและสปา 82 ราย 6) ธุรกิจการศึกษา 68 ราย
และรุ่นที่ 27 ในครั้งนี้มีธุรกิจที่ผ่านการอบรมจนได้รับประกาศนียบัตรจำนวน 33 ราย แบ่งเป็น ธุรกิจอาหาร 18 ราย ธุรกิจค้าปลีก 5 ราย ธุรกิจเครื่องดื่ม 4 ราย ธุรกิจการศึกษา 3 ราย และธุรกิจบริการ 3 ราย
สำหรับกิจกรรมที่ 2 การยกระดับธุรกิจสู่เกณฑ์มาตรฐานคุณภาพการบริหารจัดการธุรกิจแฟรนไชส์ หรือ Franchise Standard ผู้ผ่านการพัฒนาเป็นนิติบุคคลที่มีแฟรนไชส์แล้วอย่างน้อย 2 สาขา จดทะเบียนเครื่องหมายการค้า และดำเนินธุรกิจมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี
โดยมีธุรกิจผ่านการพัฒนาในครั้งนี้จำนวน 33 ธุรกิจ แบ่งเป็นธุรกิจ 6 ประเภท ดังนี้ 1) ธุรกิจอาหาร 15 ราย 2) ธุรกิจเครื่องดื่ม 6 ราย 3) ธุรกิจบริการ 5 ราย 4) ธุรกิจการศึกษา 4 ราย 5) ธุรกิจความงามและสปา 2 ราย และ 6) ค้าปลีก 1 ราย
กิจกรรม Franchise Standard เป็นการยกระดับธุรกิจแฟรนไชส์ให้ผ่านมาตรฐานตามที่กรมฯ กำหนด โดยธุรกิจต้องผ่านกระบวนการพัฒนา 6 ขั้นตอนคือ 1) สร้างองค์ความรู้ด้านคุณภาพมาตรฐานแฟรนไชส์ 2) มีทีมที่ปรึกษา ลงพื้นที่ ณ สถานประกอบการ เพื่อวิเคราะห์ศักยภาพของแต่ละธุรกิจที่จะต้องได้รับการพัฒนาในแต่ละด้านให้ตรงจุด และให้คำปรึกษา (Coaching) เชิงลึก
3) เชื่อมโยงเครือข่ายและต่อยอดธุรกิจระหว่างผู้ประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ที่เข้าร่วมกิจกรรม 4) การศึกษาดูงาน ณ สถานประกอบการของธุรกิจแฟรนไชส์ที่ผ่านการพัฒนาตามเกณฑ์มาตรฐาน (Best Practice) 5) ตรวจประเมินธุรกิจแฟรนไชส์ตามเกณฑ์มาตรฐาน ณ สถานประกอบการ
และ 6) การนำธุรกิจแฟรนไชส์ที่ผ่านการยกระดับไปร่วมงานแสดงสินค้าต่างๆ เพื่อนำเสนอศักยภาพของธุรกิจ (Business Showcase)
ซึ่งกระบวนการดังกล่าวเป็นไปอย่างเข้มข้นตลอดหลักสูตรเพื่อผลลัพธ์ที่ดีในการพัฒนาแฟรนไชส์ไทยให้มีคุณภาพตรงตามมาตรฐานสากลและได้รับความไว้วางใจจากนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติในอนาคต กิจกรรม Franchise Standard ได้ดำเนินการตั้งแต่ปี 2552 จนถึงปัจจุบัน เป็นระยะเวลา 16 ปี มีธุรกิจแฟรนไชส์ไทยที่เข้าร่วมและผ่านการประเมินตามเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพฯ แล้วทั้งสิ้น 545 ราย
ทั้งนี้ แฟรนไชส์ที่ผ่านหลักสูตร Franchise Standard จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางธุรกิจมากมาย อาทิ ใบประกาศเกียรติคุณ พร้อมเครื่องหมาย Franchise Standard เพื่อการันตีคุณภาพของธุรกิจแฟรนไชส์นาน 2 ปี การศึกษาดูงานจากธุรกิจแฟรนไชส์ต้นแบบที่ประสบความสำเร็จระดับประเทศ เข้าร่วมงานแสดงสินค้าต่างๆ ที่เป็นพันธมิตรของกรมฯ และการประชาสัมพันธ์รายชื่อธุรกิจที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานฯ บนเว็บไซต์กรมพัฒนาธุรกิจการค้า https://franchise.dbd.go.th/th เป็นต้น
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้ดำเนินการส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจแฟรนไชส์มาอย่างต่อเนื่องและครบวงจร ตั้งแต่การสร้างธุรกิจแฟรนไชส์รายใหม่ โดยการเสริมสร้างองค์ความรู้ด้านการประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ การยกระดับธุรกิจแฟรนไชส์สู่มาตรฐานคุณภาพ และการสร้างโอกาสทางการตลาดและเชื่อมโยงเครือข่ายธุรกิจ
เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยให้เข้มแข็ง ซึ่งการสนับสนุนการพัฒนาธุรกิจแฟรนไชส์จะมีส่วนสำคัญในการบรรลุเป้าหมายการขับเคลื่อน GDP ของ SME ให้ถึงร้อยละ 40 ในปี 2570 ตามนโยบายของรัฐบาลอีกด้วย อธิบดี กล่าวทิ้งท้าย