fbpx
News update

กรมควบคุมโรค แนะผู้ปกครองเตรียมความพร้อมส่งลูกไปโรงเรียน ปลอดภัยจากโควิด 19 ช่วงเปิดเทอม

โดยให้เน้นคัดกรองเด็กป่วยก่อนเข้าเรียนทุกเช้าหมั่นทำความสะอาดและเพิ่มจุดบริการล้างมือด้วยสบู่พร้อมแนะนำผู้ปกครองหากบุตรหลายมีอาการป่วยแม้เพียงเล็กน้อยก็ขอให้หยุดรักษาตัวที่บ้านจนกว่าจะหายดีแล้วจึงกลับไปเรียน

วันนี้ (14 พฤษภาคม 2567) นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีการผ่อนคลายมาตรการบางอย่างของโรคโควิด 19 เพื่อให้ประชาชนสามารถกลับมาใช้ชีวิตอย่างปกติให้ใกล้เคียงที่สุดเมื่อเทียบกับช่วงก่อนการระบาด และในช่วงนี้หลายโรงเรียนเริ่มทยอยเปิดเทอม

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข จึงได้จัดทำคำแนะนำสำหรับสถานศึกษา ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก โรงเรียนอนุบาล และโรงเรียนประถมศึกษา เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับครูผู้ดูแลเด็กและผู้ปกครองในการป้องกันโรคโควิด 19 และโรคระบบทางเดินหายใจที่อาจเกิดขึ้นในช่วงเปิดเทอม

โดยเน้นให้ตรวจคัดกรองเด็กและบุคลากรก่อนเข้าเรียนทุกเช้า แยกเด็กป่วยออกจากเด็กปกติ สวมหน้ากากอนามัยและให้ผู้ปกครองนำเด็กกลับบ้านเพื่อไปรักษา หมั่นทำความสะอาด สถานที่ อุปกรณ์ เครื่องมือเครื่องใช้ ของเล่น จัดให้มีจุดบริการล้างมือด้วยสบู่และน้ำสะอาด หรือแจลแอลกอฮอล์

ทั้งนี้ สามารถศึกษาคู่มือแนวทางการดำเนินงานป้องกันควบคุมโรคและภัยสุขภาพ สำหรับครู ผู้ดูแลเด็ก ภาพรวม ดาวน์โหลดเอกสารได้ที่ http://klb.ddc.moph.go.th/dataentry/handbook/form/188 ผู้มีอาการเหมือนไข้หวัดไม่ควรเข้าใกล้ผู้สูงอายุ

นายแพทย์ธงชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า หากเด็กป่วย แม้มีอาการเล็กน้อย เช่น ไข้ต่ำ ๆ ไอ จาม คัดจมูก น้ำมูกไหล แต่ยังรับประทานอาหารได้ ยังร่าเริงดี ขอให้เด็กหยุดเรียนและดูแลบุตรหลานที่บ้าน โดยดูแลรักษาตามอาการจนกว่าจะหายป่วย หากอาการหนัก หรืออาการไม่ดีขึ้น เช่น ไข้สูงเกิน 2-3 วัน หายใจเร็ว หรือหายใจหอบจนชายโครงบุ๋ม ไม่กินนม/น้ำ ไม่ร่าเริงเหมือนเคย ให้รีบพาไปพบแพทย์ และใช้ผ้าเช็ดหน้าปิดปากและจมูก เมื่อไอหรือจาม และล้างมือให้สะอาด

หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดผู้อื่น รับประทานอาหารที่ถูกสุขลักษณะ ครบ 5 หมู่ ดื่มน้ำมาก ๆ และพักผ่อนให้เพียงพอ ส่วนผู้ปกครอง ให้หมั่นล้างมือด้วยสบู่และน้ำบ่อย ๆ ทั้งก่อนและหลังการดูแลเด็กป่วยทุกครั้ง แยกของใช้ส่วนตัวของเด็ก เช่น แก้วน้ำ แปรงสีฟัน ช้อน และผ้าเช็ดมือ

สำหรับสถานการณ์โรคโควิด 19 ประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 7 มกราคม – 12 พฤษภาคม 2567 มีรายงานผู้ป่วยสะสม 14,937 ราย ผู้ป่วยเสียชีวิตสะสม 104 ราย และสัปดาห์ที่ 18 ระหว่างวันที่ 5 – 11 พฤษภาคม 2567 พบผู้ป่วยนอนรักษาในโรงพยาบาลรายใหม่ 1,880 ราย เฉลี่ย 269 รายต่อวัน ผู้ป่วยปอดอักเสบ 588 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 237 ราย และเสียชีวิต 11 ราย

โดยผู้เสียชีวิตอยู่ในกลุ่ม 608 โดยเฉพาะกลุ่มอายุ 70 ปีขึ้นไป ซึ่งมีประวัติไม่ได้รับวัคซีน ได้รับไม่ครบ 1 เข็ม ได้รับเข็ม 2 และไม่ได้รับการกระตุ้น เป็นไปตามคาดการณ์ช่วงต้นปี

เนื่องจากโรคโควิด 19 กลายเป็นโรคประจำถิ่น สามารถพบผู้ป่วยได้ตลอดทั้งปี ไม่ต่างจากโรคทางเดินหายใจอื่น ๆ ทั้งไข้หวัดใหญ่ หรือโรคติดเชื้อไวรัสอาร์เอสวี เป็นต้น จึงขอให้ประชาชนมีความตระหนักแต่ไม่ตระหนก โดยประชาชนทั่วไปควรเน้นรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคล

โดยเฉพาะเมื่อสงสัยป่วยควรสวมหน้ากากอนามัย เมื่ออยู่ในสถานที่แออัด หรือที่ที่มีการรวมกลุ่มคนจำนวนมาก เช่น ในการเดินทางสาธารณะ โรงพยาบาล และสถานที่ดูแลผู้สูงอายุ และหมั่นล้างมือบ่อย ๆ หากป่วยไม่ควรเข้าใกล้ผู้สูงอายุ เพราะเป็นกลุ่มเปราะบาง หากติดเชื้ออาจมีอาการหนัก สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรคโทร. 1422

ที่มา : กองโรคติดต่อทั่วไป/กองระบาดวิทยา/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ