Onlinenewstime.com : กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) เผยข้อมูลผลการศึกษาวิจัยภาระโรคจากปัจจัยเสี่ยงของประชากรไทยในปี 2562 พบว่า สาเหตุหนึ่งของการสูญเสียปีสุขภาวะของคนไทย คือ การมีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอ ส่งผลให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง และสูญเสียปีที่มีสุขภาพดีมาก ถึง 298,000 ปี
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ปัจจุบันทั่วโลกกำลังเผชิญกับปัญหาโรคไม่ติดต่อ (NCDs) เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคเบาหวาน และโรคมะเร็ง เป็นต้น ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร และเป็นปัญหาด้านสาธารณสุขและภาระทางด้านสุขภาพของประชากร ที่ทั่วโลกกำลังเผชิญและเตรียมความพร้อมในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว
องค์การอนามัยโลกจึงได้กำหนดตัวชี้วัดเพื่อลดอัตราการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อ ให้ลดลงเหลือร้อยละ 25 ภายใน ปี 2568 ภายใต้ 9 เป้าหมายหลัก คือ
1) ลดอัตราตายก่อนวัยอันควรด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน และโรคระบบทางเดินหายใจเรื้อรัง
2) ลดปริมาณการบริโภคแอลกอฮอล์
3) เพิ่มการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ
4) ลดปริมาณการบริโภคเกลือและโซเดียม
5) ลดการสูบบุหรี่
6) ลดอัตราการเกิดโรคความดันโลหิตสูง
7) ประชาชนป่วยด้วยโรคเบาหวานและภาวะอ้วนลดลง
8) ประชาชนที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้รับคำปรึกษาเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและได้รับยาที่เหมาะสม เพื่อป้องกันโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดสมอง และ
9) การมียาที่จำเป็นและเทคโนโลยีขั้นพื้นฐานสำหรับรักษา และการให้บริการผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อ
ซึ่งกรมอนามัยมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนประเด็นที่ 3 โดยลดการมีกิจกรรมทางกายที่ไม่เพียงพอ ร้อยละ 10 ภายใต้การดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์การส่งเสริมกิจกรรมทางกาย พ.ศ. 2561-2573 ร่วมกับภาคีเครือข่าย เพื่อสร้างโอกาสและสภาพแวดล้อมให้คนไทยมีกิจกรรมทางกายในชีวิตประจำวันอย่างเพียงพอให้สอดคล้องกับเป้าหมายขององค์การอนามัยโลก
ด้าน ดร.ทพญ.กนิษฐา บุญธรรมเจริญ หัวหน้าโครงการพัฒนาดัชนีภาระโรคแห่งประเทศไทย สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ผลการศึกษาวิจัยภาระโรคจากปัจจัยเสี่ยงของประชากรไทย ปี 2562 พบว่า การมีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอ หรือการมีกิจกรรมทางกายน้อยกว่า 150 นาทีต่อสัปดาห์ เป็นสาเหตุของการสูญเสียปีสุขภาวะ หรือปีที่มีสุขภาพดีของคนไทยที่มีอายุ 25 ปีขึ้นไป จาก 5 โรคไม่ติดต่อ คือ โรคหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง โรคเบาหวาน โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ และโรคมะเร็งเต้านม มากถึง 298,000 ปี
โดยเป็นการสูญเสียปีที่มีสุขภาพดีในเพศชายจำนวน 159,000 ปี ส่วนเพศหญิง มีสูญเสียเป็นจำนวน 139,000 ปี ส่วนใหญ่เป็นการสูญเสียในกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป
นอกจากนี้ การมีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอยังเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของคนไทย จำนวน 13,200 คน แบ่งเป็นเพศชาย จำนวน 6,700 คน และเพศหญิงจำนวน 6,500 คน ติดตามผลการวิจัยภาระโรคเพิ่มเติมได้ที่ http://bodthai.net
ทางด้าน นายแพทย์อุดม อัศวุตมางกุร ผู้อำนวยการกองกิจกรรมทางกายเพื่อสุขภาพ กล่าวว่า จากผลการศึกษาวิจัยดังกล่าว แสดงให้เห็นถึงการสูญเสียและภาระทางสุขภาพของกลุ่มโรคไม่ติดต่อจากการมีกิจกรรมทางกายที่ไม่เพียงพอ
กรมอนามัยจึงแนะนำให้เพิ่มกิจกรรมทางกายให้เพียงพอ ซึ่งทำได้ในชีวิตประจำวัน เช่น การลุกขึ้นยืนหรือขยับเคลื่อนไหวร่างกายจากการนั่งทำงานทุก 1-2 ชั่วโมง การใช้บันไดแทนลิฟต์ การใช้ขนส่งสาธารณะ และการออกกำลังกาย ควบคู่กับการกินอาหารตามหลักโภชนาการก็จะช่วยให้สุขภาพร่างกายแข็งแรงและห่างไกลจากโรคไม่ติดต่อได้