Site icon Onlinenewstime.com – News and Knowledge to sustainability

DGA เปิดศักราชใหม่พ.ร.บ.รัฐบาลดิจิทัล

www.onlinenewstime.com : พ.ร.บ. การบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล พ.ศ. 2562 หรือ พ.ร.บ.รัฐบาลดิจิทัล มีผลใช้บังคับตั้งแต่ 23 พฤษภาคม 2562 แล้ว นับเป็นการเปิดศักราชใหม่ในการบริการภาครัฐให้สะดวกขึ้น โดย สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) สพร. หรือ DGA เร่งเดินหน้าขับเคลื่อนการดำเนินงานตามกฎหมายฉบับนี้ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนและประเทศ

 
ดร. ศักดิ์ เสกขุนทด ผู้อำนวยการ DGA กล่าวว่า กฎหมายนี้ มีที่มาจากข้อเสนอการปฏิรูปประเทศ และบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย หมวดว่าด้วยการปฏิรูปประเทศ ที่มุ่งหวังให้เกิดการปฏิรูประบบข้อมูลภาครัฐ สู่การเป็นรัฐบาลที่เปิดเผยและเชื่อมต่อกัน (Open and Connected Government) รวมทั้งเป็นกลไกขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการบริหารราชการแผ่นดิน โดยมีเป้าหมาย เพื่อให้ระบบการทำงานและข้อมูลของภาครัฐสามารถเชื่อมโยงระหว่างกัน ได้อย่างมั่นคงปลอดภัย มีประสิทธิภาพ เปิดเผยและโปร่งใส ภายใต้ธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐ โดยมีกลไกตามกฎหมายเพื่อให้เกิดการทำงานที่สอดคล้องและไม่ซ้ำซ้อนกับกฎหมายดิจิทัลอื่น

กลไกสำคัญของกฎหมาย 8 หัวข้อ คือ 1. ให้มีการจัดทำแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (แผนระดับชาติ) 2. ให้มีคณะกรรมการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน 3. ให้สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) สนับสนุนการดำเนินการตามกฎหมายนี้ 4. ให้มีธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐ เป็นกรอบในการจัดการบริหารข้อมูลของหน่วยงานภาครัฐ 5. ให้หน่วยงานภาครัฐ จัดทำข้อมูลและบริการในรูปแบบดิจิทัล (Digitization) 6. ให้หน่วยงานของรัฐเปิดเผยข้อมูลเปิดภาครัฐ ในรูปแบบดิจิทัล (Open Government Data) 7. ให้หน่วยงานของรัฐแลกเปลี่ยน และเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกัน (Integration) และมีศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลกลาง 8. สนับสนุนการเชื่อมโยงบริการดิจิทัล ให้เกิดบริการสาธารณะแบบเบ็ดเสร็จ 

ดร. ศักดิ์ เสกขุนทด ผู้อำนวยการ DGA

“เมื่อกฎหมายฉบับนี้ประกาศใช้แล้วจะเป็นประโยชน์ทั้งต่อหน่วยงานรัฐเองและประชาชนทั่วไปอย่างแน่นอน เนื่องจากการทำงานภาครัฐจะเปลี่ยนไป จะสามารถเชื่อมโยงการทำงานระหว่างหน่วยงานรัฐด้วยกันได้สะดวกขึ้น การบริหารงานก็จะมีความโปร่งใส และมีความปลอดภัยด้วยธรรมาภิบาลข้อมูล”

ด้านประชาชนก็จะได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้นใน 4 ข้อ ดังนี้

  1. ได้รับการบริการจากภาครัฐที่สะดวกและรวดเร็วไม่สร้างภาระแก่ประชาชน ลดการใช้สำเนาเอกสารในการติดต่อราชการ
  2. การติดต่อภาครัฐ ใช้บัตรประชาชนเพียงใบเดียวทำได้ทุกเรื่อง หรือติดต่อออนไลน์ได้แบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Service)
  3. ใช้ข้อมูลเปิดภาครัฐ สำหรับการติดตามและตรวจสอบการดำเนินการของรัฐ
  4. สามารถนำข้อมูลเปิดของหน่วยงานรัฐพัฒนานวัตกรรมที่สร้างประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคม

การจัดตั้งคณะกรรมการรัฐบาลดิจิทัล

นางสาวอภิณห์พร อังคกมลเศรษฐ์ รองผู้อำนวยการ DGA กล่าวเพิ่มเติมว่า ตามมาตรา 6 ของกฎหมายฉบับนี้ กำหนดให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการรัฐบาลดิจิทัล ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ รวมถึงผู้ทรงคุณวุฒิตามคณะกรรมการชุดต่างๆ ซึ่งคณะกรรมการฯชุดนี้ เป็นการรวมคณะกรรมการด้านดิจิทัล จากหลากหลายคณะ ทำให้สามารถเชื่อมโยงการทำงานในภาพรวม เพื่อให้การพัฒนาประเทศไปในทิศทางเดียวกัน

สำหรับในส่วนงานราชการสามารถเตรียมการ หรือเริ่มการดำเนินการตามกฎหมายฉบับนี้ได้เลย เช่น การนำระบบดิจิทัลที่เหมาะสม มาประยุกต์ใช้กับการบริหารงาน และการให้บริการประชาชน ลดการใช้กระดาษหรือสำเนาเอกสาร การจัดให้มีระบบการชำระเงินทางดิจิทัลอีกช่องทางหนึ่ง รวมทั้งสร้างความตระหนักแก่บุคลากร ในการปฏิบัติตามกฎหมายนี้ เป็นต้น

ในช่วงเริ่มต้นการดำเนินการในบางเรื่อง จำเป็นต้องรอให้มีการกำหนดรายละเอียดใ นแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ตลอดจนมาตรฐาน หรือหลักเกณฑ์และวิธีการตามกฎหมายนี้ก่อน จึงจะสามารถดำเนินการได้อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งสพร.ได้จัดการประชุมระดมสมอง ทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน เพื่อนำความคิดเห็น มาจัดทำร่างกรอบแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลต่อไป โดย DGA จะเป็นหน่วยงานกลาง ที่ทำหน้าที่อำนวยการ เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการดำเนินงานเกี่ยวกับการเป็นรัฐบาลดิจิทัล 

ศูนย์ฯเพื่อบูรณาการเชื่อมโยงข้อมูล

นางไอรดา เหลืองวิไล รองผู้อำนวยการ DGA การเป็นรัฐบาลดิจิทัลสิ่งสำคัญ ต้องให้ประชาชนได้สัมผัสถึงความเป็นดิจิทัล ซึ่งหนึ่งในกลไกหลักของ พ.ร.บ. รัฐบาลดิจิทัลในหัวข้อการแลกเปลี่ยนข้อมูลเชื่อมโยงระหว่างกัน คือ จะต้องมีศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลกลาง โดยกฎหมายกำหนดให้ ในช่วง 2 ปีแรก DGA จะต้องดำเนินการจัดตั้งศูนย์ฯ เพื่อการบูรณาการระหว่างหน่วยงานต่างๆ ทั้งการเชื่อมโยงข้อมูล และการดำเนินงาน ให้สามารถเห็นข้อมูลประชาชน เป็นภาพเดียวที่สมบูรณ์

ทั้งนี้เพื่อให้เกิดบริการภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จ ครบวงจร ณ จุดเดียวหรือ One Stop Service (OSS) โดยแบ่งออกเป็นการบริการภาคประชาชน (Citizen Portal) และ ภาคเอกชน (Business Portal) ซึ่งได้ดำเนินงานสำหรับภาคประชาชน (Citizen Portal) ด้วยการพัฒนาระบบ Citizen Portal ในส่วนของ Information ให้เป็นศูนย์กลางในการเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับบริการภาครัฐแล้ว

ในปัจจุบันประชาชน สามารถประเมินความพึงพอใจ หลังใช้บริการภาครัฐได้ผ่านแอปพลิเคชัน CITIZENinfo ได้ทันที เพื่อให้หน่วยงานรัฐ สามารถพัฒนาและยกระดับบริการได้ตรงใจประชาชนมากที่สุด ซึ่งจะพัฒนาต่อยอดให้เป็นเสมือน Google ภาครัฐที่ให้บริการข้อมูลด้านอื่นๆ เพื่อการติดต่อกับภาครัฐได้ในแอปเดียว ทั้งติดตามสถานะบริการ จองคิวออนไลน์ ติดต่อทำธุรกรรมของหน่วยงานต่างๆ ออนไลน์ สามารถนำทางไปยังพิกัดสถานที่ราชการ สถานประกอบการ และสถานที่อื่นๆ เป็นข้อมูลเปิด เป็นต้น

สำหรับการพัฒนา OSS ในภาคเอกชน (Business Portal) ปัจจุบันมีการเชื่อมโยงขอใบอนุญาตบริการภาครัฐแล้วกว่า 40 ใบอนุญาต ที่เว็บไซต์ biz.govchannel.go.th ตั้งแต่การเริ่มต้นธุรกิจ การขอใบอนุญาตต่างๆ โดยในอนาคต จะมีการเพิ่มบริการเพื่ออำนวยความสะดวกด้านการประกอบธุรกิจมากขึ้นอีก         

Open Government Data

นายวิบูลย์ ภัทรพิบูล รองผู้อำนวยการ DGA กล่าวถึงการให้ข้อมูลแลกเปลี่ยน ในเรื่องของข้อมูลเปิดภาครัฐ (Open Government Data) ให้หน่วยงานของรัฐเปิดเผยข้อมูลตามกฎหมายว่าด้วยข้อมูลข่าวสารของราชการ ในรูปแบบดิจิทัลต่อสาธารณะ ผ่านศูนย์กลางข้อมูลเปิดภาครัฐ โดยประชาชนสามารถนำข้อมูล ไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนานวัตกรรมเพื่อต่อยอดธุรกิจเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ

จะเห็นได้ว่าเนื้อหาส่วนใหญ่ของ พ.ร.บ. ฉบับนี้ เป็นเรื่องของข้อมูลทั้งสิ้น จึงต้องมีธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐ (Data Governance) เป็นกรอบการกำกับดูแลข้อมูล โดยกรอบการกำกับดูแลข้อมูล (Data Governance Framework) มีเพื่อกำหนดสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในการบริหารจัดการข้อมูล เพื่อให้ได้มาและการนำไปใช้ข้อมูลของหน่วยงานภาครัฐถูกต้อง ครบถ้วน เป็นปัจจุบัน มั่นคงปลอดภัย รักษาความเป็นส่วนบุคคล และสามารถเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนกันได้ อย่างมีประสิทธิภาพและมั่นคงปลอดภัยได้จริง

เพราะฉะนั้นทุกส่วนราชการต้องให้ความสำคัญ ทั้งการออกนโยบาย แนวปฏิบัติ การรักษาข้อมูลส่วนบุคคล สิ่งเหล่านี้จะเป็นกลไกที่สำคัญที่จะทำให้สามารถบริหารจัดการข้อมูลหน่วยงานของตนเองได้ เพื่อมุ่งสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ         

กฎหมายนี้ได้กำหนดหน้าที่ ให้หน่วยงานของรัฐทุกหน่วยงาน ดำเนินการให้เป็นไปตามแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัล รวมทั้งข้อกำหนดและหลักเกณฑ์ตามกฎหมาย โดยมีคณะกรรมการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลทำหน้าที่ขับเคลื่อน การดำเนินการตามกฎหมายนี้ ซึ่งหน่วยงานของรัฐที่อยู่ภายใต้กฎหมายฉบับนี้ ได้แก่ ราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน รัฐสภา ศาล องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ องค์กรอัยการ สถาบันอุดมศึกษาของรัฐ และหน่วยงานอิสระของรัฐ 

Exit mobile version