fbpx
News update

“Virtual Hospital พบแพทย์ออนไลน์” ไม่ต้องมาโรงพยาบาล “กรมการแพทย์” พัฒนาระบบลดความแออัดในโรงพยาบาลอย่างเป็นรูปธรรม

แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า กรมการแพทย์ เป็นกรมวิชาการของกระทรวงสาธารณสุข มีความพร้อมในหลายด้าน ทั้งในด้านองค์ความรู้ กำลังคนที่มีความเชี่ยวชาญหลายสาขา ทำให้มีความพร้อมในการดำเนินการตามนโยบายของ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

เร่งขับเคลื่อน 5+5 เร่งรัดพัฒนา สานต่อ โดยมีการยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ รวมทั้ง Digital Health การพัฒนางานดิจิทัล อาทิ ระบบ DMS PHR ประวัติสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์ส่วนบุคคล การให้บริการแพทย์ทางไกลครบวงจร และ Smart Hospital การแพทย์ปฐมภูมิ

โดยการนำเอา virtual hospital และอื่นๆมาใช้ โดยกรมการแพทย์มีโรงพยาบาลราชวิถีเป็นหน่วยงานนำร่องที่เริ่มดำเนินการ Virtual Hospital ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2567 และมีการสำรวจพร้อมเตรียมการทดลองอีก 11 หน่วยงาน ภายใต้แนวคิด “โรงพยาบาลเสมือนจริงเป็นระบบดิจิทัลด้านสุขภาพที่ให้บริการทางการแพทย์หลากหลายแบบออนไลน์ และช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลรักษาโดยไม่ต้องไปที่สถานที่ให้บริการทางการแพทย์”

โดยนำ Virtual Care มาใช้ในการให้บริการ 1. Virtual visit ประกอบด้วยการทำบัตรผู้ป่วย ระบบพิสูจน์และยืนยันตัวตนที่ได้มาตรฐาน การตรวจสอบและยืนยันสิทธิ์การรักษาและการนัดหมายออนไลน์ 2. Telemedicine เป็นการใช้ Video call ในการให้บริการ และการใช้เวชระเบียนอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Medical Record) ในขณะให้บริการ โดยมีการสื่อสารระหว่างพยาบาลกับผู้ป่วย ที่ช่วยในการคัดกรอง และมีการสื่อสารระหว่างแพทย์กับผู้ป่วยในการตรวจรักษา

3. E-payment มีการจ่ายเงินออนไลน์ ผ่าน Application เป๋าตัง, Internet Banking 4. Tele-pharmacy การส่งยาทางไปรษณีย์ โดยมีเภสัชให้คำปรึกษาเรื่องยา  5. PHR  เป็นคืนข้อมูลการรักษาพยาบาลให้ผู้ป่วยเพื่อประโยชน์ในการดูแล

ทั้งนี้ โรงพยาบาลราชวิถี เป็นโรงพยาบาลแห่งแรกในสังกัดกรมการแพทย์ ที่ได้ดำเนินการ Virtual Hospital และได้มีการพัฒนาระบบ  Virtual Hospital มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถปรึกษาและพบแพทย์ได้แบบออนไลน์ โดยไม่ต้องมาโรงพยาบาล

อีกทั้ง ยังมีการให้บริการเจาะเลือดที่บ้านหรือใกล้บ้าน เพื่อเพิ่มความสะดวกของผู้ป่วยในการเข้าถึงบริการ และลดความแออัดในโรงพยาบาล จะเห็นได้ว่า จากนโยบายที่ชัดเจนของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นผลให้เกิดการคลี่คลายปัญหาความแออัดได้อย่างเป็นรูปธรรม มีประสิทธิภาพและรวดเร็วยิ่งขึ้น

นายแพทย์จินดา โรจนเมธินทร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี กล่าวต่อว่า โรงพยาบาลราชวิถี กรมการแพทย์ เป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่และเปิดให้บริการแก่ประชาชนมากว่า 73 ปี จากสถิติที่ผ่านมามีผู้ป่วยนอกมารับบริการทางการแพทย์มากกว่า 1,000,000 รายต่อปี หรือประมาณ 5,400 รายต่อวัน ในแต่ละวันพบว่ามีความแออัดของผู้ป่วยเป็นจำนวนมาก สร้างความไม่สะดวกแก่ผู้รับบริการเป็นอย่างยิ่ง 

การพัฒนาและปรับเปลี่ยนรูปแบบระบบบริการในโรงพยาบาลถือเป็นอีกทางหนึ่งที่จะช่วยลดความแออัดของผู้ป่วยในโรงพยาบาล และเพิ่มความสะดวกสบายให้แก่ผู้ป่วย โรงพยาบาลราชวิถีจึงได้นำเทคโนโลยีสารสนเทศมาปรับใช้สำหรับบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขแก่ประชาชน โดยการพัฒนาระบบ Virtual Hospital ซึ่งเป็นระบบปรึกษาการแพทย์ทางไกลผ่าน DMS Telemedicine ที่เชื่อมโยงกับระบบบริการทางการแพทย์เดิม

ช่วยให้ผู้ป่วยและแพทย์สามารถพูดคุยตอบโต้กันได้แบบ Real-time พร้อมด้วยบริการครบวงจรเสมือนการเข้าโรงพยาบาลจริง โดยผู้เข้ารับบริการสามารถเข้ารับบริการได้ทั้งผู้ป่วยใหม่และผู้ป่วยเก่าที่เข้าเงื่อนไขการเข้ารับบริการ เช่น ผู้ป่วยมีอาการคงที่ ไม่เร่งด่วน ไม่มีโรคประจำตัวร้ายแรง สามารถพูดคุยกับหมอผ่านระบบออนไลน์ได้

นอกจากนี้ยังมีบริการเจาะเลือดที่บ้านหรือเจาะเลือดใกล้บ้าน บริการจัดส่งยาทางไปรษณีย์ และสำหรับผู้ป่วยในรายที่อาการคงที่สามารถนอนพักรักษาที่บ้านแทนการนอนที่โรงพยาบาล (Home Ward) ได้อีกด้วย ซึ่งผู้รับบริการสามารถเข้าถึงบริการของโรงพยาบาลราชวิถีได้จากทุกที่ ง่าย สะดวกสบาย ประหยัดเวลา เหมือนกับการมารับบริการที่โรงพยาบาล