Onlinenewstime.com : กรมอนามัยเผยแพร่บทความเรื่องความเข้าใจผิดในการแก้ปัญหาก้างติดคอ หลายคนคงเคยประสบปัญหา “ก้างปลาติดคอ” ซึ่งสร้างความเจ็บปวดและวิตกกังวล แต่คนไทยจำนวนมากกลับเลือกวิธีแก้ไขที่ผิดพลาด นั่นคือ “การกลืนข้าวเหนียว” เพื่อดันก้างปลาลงไป ซึ่งเป็นความเชื่อที่อันตรายและมีผลลัพธ์ร้ายแรงได้
นอกจากนี้ ความเชื่อว่าการดื่มน้ำมะนาวแล้วจะทำให้ก้างปลาอ่อนนุ่มลง ก็ไม่เป็นความจริง เพราะน้ำมะนาวไม่สามารถทำให้ก้างปลาละลายและหลุดหายไปเองได้ และยิ่งดื่มน้ำมะนาวในปริมาณมาก อาจทำให้เกิดการระคายเคืองกระเพาะอาหารอีกด้วย
ความจริงที่น่าตกใจ กลืนข้าวเหนียว ไม่ได้ช่วยแก้ก้างปลาติดคอ
การกลืนข้าวเหนียวไม่เพียงไม่ช่วยให้ก้างปลาหลุดออก แต่ยังยิ่งทำให้ก้างปักลึกลงไปในเนื้อเยื่อ ทำให้เกิดการอักเสบ ติดเชื้อ และอาจถึงขั้นเป็นฝีหนองได้ ยิ่งกว่านั้น ข้าวเหนียวอาจติดค้างอยู่บริเวณก้างปลา ทำให้หายใจลำบาก ส่งผลร้ายแรงถึงชีวิต
วิธีแก้ไขที่ถูกต้อง
- ห้าม กลืนก้อนข้าวเหนียว ขนมปังหรือกล้วย ลงไปเพื่อให้ก้างปลาหลุด เพราะอาจทำให้ก้างปลามลึกลงไปและเกิดแผลมากขึ้น
- หลีกเลี่ยงการเอานิ้วล้วงเอาก้างปลาออก หรือการนวดหรือบีบคอจากภายนอก เพราะจะทำให้ก้างปลาทิ่มลึกลงไปมากกว่าเดิม
- การกลั้วคอด้วยน้ำดื่มแล้วบ้วนออก อาจทำให้ก้างปลาเล็ก ๆ หลุดออกได้ แต่หากกลั้วคอแล้วก้างปลายังติดคออยู่ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อนำก้างปลาออกอย่างถูกวิธี
- การปล่อยก้างปลาติดคอเป็นระยะเวลานาน นอกจากจะทำให้เจ็บ ทำให้เกิดแผล เกิดการติดเชื้อ เกิดภาวะแทรกซ้อน เป็นหนองในลำคอ ลุกลามไปสู่ช่องอกได้
การรักษาด้วยวิธีการส่องกล้อง หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์
สำหรับแนวทางการตรวจและรักษาเมื่อมีอาการก้างปลาติดคอนั้น แพทย์จะทำการซักประวัติก่อนว่า ทานปลาชนิดใด และก้างปลาติดคอมานานแค่ไหนแล้ว มีอาการเจ็บที่บริเวณตำแหน่งไหนบ้าง โดยการตรวจเบื้องต้นจะใช้ไฟฉายคาดบริเวณศีรษะ ใช้ไหมกดลิ้น เพื่อหาเศษก้างปลาในบริเวณที่มักพบบ่อยๆ
กรณีเคสที่หาก้างปลาไม่เจอ หรือเคสที่ก้างปลาติดในตำแหน่งลึก อาจจำเป็นต้องใช้กล้องขนาดเล็ก ส่องผ่านเข้าทางจมูกลงไปในบริเวณลำคอ หรือใช้ฟิล์มเอกซเรย์ เพื่อช่วยให้มองเห็นตำแหน่งที่แน่ชัดและใช้ที่คีบ ทำการคีบก้างปลาออกมา และหากใช้วิธีดังกล่าวแล้วยังหาไม่เจอ แต่ยังมีอาการเจ็บมาก หรือมีภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ อาจต้องทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) เพื่อรักษาต่อไป