Site icon Onlinenewstime.com – News and Knowledge to sustainability

EDUCA แนะ 9 เทคนิคให้ครูซ้อม Teach from Home

Onlinenewstimec.om : การระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้สถาบันการศึกษา ต้องเปลี่ยนรูปแบบการสอนครั้งใหญ่ โดยอาจารย์มหาวิทยาลัยได้ปรับโหมด สู่การสอนออนไลน์อย่างเต็มตัวแล้ว ส่วนครูในโรงเรียนต่างๆ อยู่ระหว่างเตรียมการสอน สำหรับการเปิดเทอมใหม่ของปีการศึกษา 2563 ซึ่งจะเริ่มต้นในวันที่ 1 กรกฎาคมนี้

อย่างไรก็ตาม เพราะไม่อาจคาดการณ์ได้ชัดเจนว่าวิกฤติไวรัสโควิด-19 จะจบลงเมื่อไร บวกกับสถานการณ์ ที่ต้อง Social Distancing ทำให้การพบปะพูดคุยกันแบบเดิม เปลี่ยนไปเป็นการสื่อสารผ่านหน้าจอโทรศัพท์มือถือหรือคอมพิวเตอร์ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า การใช้เวลาอยู่กับหน้าจอแบบนี้นานๆ คนเดียว โดยไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์กันแบบ Face to Face ก็อาจทำให้ครูและอาจารย์เกิดอาการ Burnout หรือภาวะหมดไฟในการทำงานได้

EDUCA รวบรวม 9 เทคนิคสำหรับการ Teach from Home ทั้งการเตรียมการสอน สำหรับช่วงเปิดเทอม ซึ่งจะเป็นแนวทางสำคัญให้กับครูสามารถจัดการตัวเอง ทั้งด้านการทำงาน และชีวิตส่วนตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ

1. เตรียมพร้อมด้านอุปกรณ์และโปรแกรม แม้จะมีหลายโปรแกรม ที่ครูสามารถดาวน์โหลดมาใช้งานได้ฟรี      ในการสอนออนไลน์ แต่บางโปรแกรม ก็อาจมีข้อจำกัดบางอย่าง เช่น ระยะเวลาในการออนไลน์ หรือจำนวนผู้เข้าร่วมกลุ่ม ซึ่งหากครูต้องการใช้งานโปรแกรมได้เต็มรูปแบบ จะต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม ดังนั้น ควรสอบถามถึงการสนับสนุนไปทางโรงเรียน โดยโรงเรียนบางแห่ง มีความพร้อมที่จะซื้อโปรแกรมสำหรับใช้งานรายปีให้กับครู   ทั้งระดับชั้น โดยเฉพาะช่วงปิดเทอมนี้ หากครูมีโปรแกรมช่วยบันทึกคะแนนนักเรียน หรือโปรแกรมช่วยตรวจข้อสอบ    ก็จะช่วยลดภาระงานของครูได้มากทีเดียว

2. ทำความเข้าใจกับสมาชิกในบ้าน ถ้าต้องใช้พื้นที่ส่วนกลางของบ้าน ในการสอนออนไลน์ ก็ควรพูดคุยและ       ทำความเข้าใจกับสมาชิกในบ้านก่อน ว่ามีสิ่งใดบ้างที่พวกเขาสามารถทำอะไรได้บ้าง หรือไม่ควรทำอะไรที่จะรบกวนการสอนออนไลน์ สำหรับบ้านที่มีเด็ก ก็ต้องหาพื้นที่ให้น้องๆ ได้ทำกิจกรรมเป็นสัดส่วนในขณะนั้น หรือบ้านที่มีสัตว์เลี้ยง ก็ต้องให้สมาชิกในบ้านมาช่วยดูแลแทนก่อน

3. ทำภารกิจส่วนตัวให้เรียบร้อย ควรทำภารกิจส่วนตัวต่างๆ ให้เรียบร้อยก่อนเริ่มสอน ทั้งการอาบน้ำ แต่งตัว การรับประทานอาหาร ชงกาแฟ รวมถึงการอัปเดตข่าวสาร เช็กอีเมล์ และโซเชียลมีเดียต่างๆ สิ่งเหล่านี้อาจดูเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ถ้าครูเสียเวลาไปกับกิจกรรมเหล่านี้เป็นระยะๆ ระหว่างการทำงาน ก็อาจส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานในภาพรวมได้

4. วางแผนงานที่ต้องทำ วางแผนการทำงานให้ชัดเจน ว่าแต่ละวันต้องทำอะไรบ้าง และต้องใช้เวลานานเท่าไร โดยเรียงลำดับ จากงานที่สำคัญที่สุดก่อน ซึ่งไม่เพียงแต่วางแผนเกี่ยวกับงานด้านการสอนอย่างเดียว ควรมองครอบคลุมไปถึงงานบ้านที่ต้องทำด้วย

5. ตั้งเตือนเวลาบนมือถือ เพราะการสอนจากที่บ้าน ไม่มีเสียงออดหรือระฆังคอยเตือนเวลา เหมือนการสอน        ที่โรงเรียน ดังนั้น ครูควรตั้งเวลาในการจัดการเวลา โดยอาจใช้โทรศัพท์มือถือในการกำหนดเวลา หรือตั้งเตือนสำหรับงานที่ต้องทำ เพราะโดยส่วนใหญ่แล้ว เรามักใช้เวลาทำงานต่างๆ นานกว่าที่เราคาดการณ์ไว้

6. เตรียมอาหารการกินให้พร้อม ครูควรเตรียมอาหารให้เสร็จเรียบร้อย ตั้งแต่คืนก่อนหน้า หรือในตอนเช้า เพื่อลดความวุ่นวายที่จะเกิดขึ้นระหว่างวัน พร้อมทั้งกำหนดเวลาพักรับประทานอาหาร และเวลาพักเบรกสั้นๆ ให้ชัดเจน เพื่อให้สมองและร่างกายไม่ล้าจนเกินไป

7. ออกไปสูดอากาศบริสุทธิ์ Teach from Home ไม่ได้หมายความว่าต้องสอน หรือทำงานอยู่ในตัวบ้านอย่างเดียว ครูอาจเลือกว่าในแต่ละวัน จะทำงานตรงไหนของบ้าน ซึ่งอาจเปลี่ยนบรรยากาศ มาสูดอากาศหรือทำงานในสวนก็ได้ ขอเพียงเป็นพื้นที่ที่เข้าถึงสัญญาณอินเทอร์เน็ตได้เป็นอย่างดี เพื่อให้การทำงานไม่ติดขัด และไม่มีเสียงรบกวนจากภายนอก เพราะหัวใจสำคัญคือ การสร้างสภาพแวดล้อม และบรรยากาศการทำงานที่มีความสุข

8. ทำงานอดิเรก หลังจากทำงานอย่างเต็มที่แล้ว ก็อย่าลืมให้เวลากับงานอดิเรกที่ตัวเองชื่นชอบ เพื่อได้ทำในสิ่งที่รัก และเป็นการผ่อนคลายความเครียดจากการทำงาน หรืออาจหากิจกรรมสนุกๆ ทำ อย่างการออกกำลังกายผ่าน YouTube ทำกับข้าวหรือขนมอร่อยๆ อ่านหนังสือ หรือดูซีรีส์ เป็นต้น

9. พูดคุยกับเพื่อนครูคนอื่น ช่วงเวลาของการอยู่บ้าน สำหรับการเตรียมการสอนสำหรับเทอมหน้า ตรวจข้อสอบเด็ก หรือสอนออนไลน์ ทำให้ครูไม่ได้พบปะเพื่อนครูบ่อยเหมือนเดิม ซึ่งไม่แปลกถ้าครูจะรู้สึกเหงาบ้าง แต่ครูสามารถใช้กลุ่มแชทในการพูดคุย หรือปรึกษาประเด็นต่างๆ กับเพื่อนครู ไม่ว่าจะการถามไถ่สารทุกข์สุขดิบ สอบถามเรื่องงาน หรือเรื่องสัพเพเหระทั่วไป

ทั้งนี้ แม้การปรับรูปแบบการสอนและการทำงาน เป็นแบบออนไลน์จะเป็นเรื่องใหม่สำหรับครูไทย เพราะมีความ     ท้าทายกับเครื่องมือ และโปรแกรมที่อาจยังไม่คุ้นชิน รวมถึงต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตกันครั้งใหญ่ แต่วิกฤติโควิด-19 ถือเป็นโอกาส ที่ทำให้ครูได้ทดลองสิ่งใหม่ๆ เพื่อเตรียมรับมือกับสถานการณ์ในอนาคต ที่คาดเดาไม่ได้ ซึ่งสิ่งสำคัญที่สุดคือ ครูต้องไม่ลืมรักษาสมดุล ระหว่างการทำงาน และดูแลสุขภาพกายใจให้มั่นคง เพื่อก้าวผ่านวิกฤตินี้ไปด้วยกัน

Exit mobile version