Onlinenewstime.com : สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จัดงาน “Go Digital with ETDA” โชว์ผลงานเด่นปี 63 และนโยบายก้าวต่อไปในอนาคต กับภารกิจสำคัญที่จะพาคนไทยโกดิจิทัลไปกับเอ็ตด้า ด้วยการส่งเสริม และพัฒนาบริการพื้นฐานด้านดิจิทัล (Common Service) ที่สำคัญ ณ ห้องประชุม Walk the Talk ชั้น 15 ของ ETDA เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2563
นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “Future of Digital Economy and Society” โดยระบุว่า จากรายงาน World Competitiveness Ranking 2020 ของสถาบัน IMD (International Institute for Management Development) พบว่า ปีนี้ประเทศไทยมีขีดความสามารถการแข่งขันอันดับที่ 29 จากทั้งหมด 63 ประเทศ
ขณะที่ปัจจัยหลักทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ ศักยภาพทางเศรษฐกิจ (Economic Performance) ประสิทธิภาพของรัฐบาล (Government Efficiency) ประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ (Business Efficiency) และโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) พบว่าจาก 2 ใน 4 อันดับสูงขึ้นจากปีที่แล้ว คือ ด้านประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ อยู่อันดับที่ 23 ขึ้นจากอันดับที่ 27 ในปืที่แล้ว และด้านโครงสร้างพื้นฐาน อยู่อันดับที่ 44 จากอันดับที่ 45
เป็นผลมาจากการที่กระทรวงดิจิทัลฯ ร่วมเดินหน้าขับเคลื่อนและเสริมสร้างความแข็งแกร่งด้านโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลมาอย่างต่อเนื่อง เช่น เทคโนโลยี 5G ซึ่งไม่ใช่แค่เทคโนโลยี แต่คือโอกาสที่คนไทยจะเท่าเทียมกัน การควบรวม CAT และ TOT เป็นบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ (NT) เพื่อรับมือการแข่งขันในอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
โครงการ Thailand Digital Valley เพื่อสร้างระบบนิเวศดิจิทัลดึงดูดการลงทุน การพัฒนาระบบคลาวด์กลางภาครัฐ (Government Data Center and Cloud Service : GDCC) เพื่อเป็นโครงสร้างพื้นฐานระบบคลาวด์ เพิ่มสปีดรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ ที่เริ่มให้บริการแล้วนอกจากนี้ กระทรวงดิจิทัลฯ ยังเป็นกำลังสำคัญ ในการพาสังคมก้าววิกฤตโควิด-19 เช่น การสร้างแอปพลิเคชันและแพลตฟอร์มต่าง ๆ โดยเฉพาะ “ไทยชนะ” ที่สามารถช่วยควบคุมป้องกันโรค ผ่านวิธีการเช็กอินและเช็กเอาต์สถานประกอบการต่าง ๆ
“อย่างไรก็ตาม เราก็ไม่ได้มองข้ามการพัฒนาขีดความสามารถในด้านอื่น ๆ ที่คะแนนลดลง ทั้งประสิทธิภาพของภาครัฐ หรือผลคะแนนด้านเศรษฐกิจ เพื่อขยับให้อันดับของประเทศไทยสูงขึ้น ด้วยการส่งเสริม และพัฒนาบริการดิจิทัลพื้นฐานหรือ Common Service ของประเทศให้น่าเชื่อถือ มั่นคงปลอดภัย และได้มาตรฐานระดับสากล
ผ่านการดำเนินงานสำคัญ ๆ ของ ETDA เช่น การเปิด Digital Service Sandbox เพื่อทดสอบนวัตกรรมหรือบริการ เกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เพิ่มความเชื่อมั่นก่อนใช้งานจริง การพัฒนา Digital ID Ecosystem ที่เป็นโครงสร้างพื้นฐาน ที่ส่งเสริมบริการออนไลน์ให้มีความน่าเชื่อถือ ผ่านการพิสูจน์และยืนยันตัวตน โดยไม่ต้องเดินทางและเสียเวลาการลงทะเบียนใหม่ซ้ำ ๆ กัน
ซึ่งกระทรวงฯ กำลังจะประสานให้ทุกหน่วย มาร่วมพัฒนาแพลตฟอร์มกลาง สำหรับบริการประชาชน และ ETDA จะเป็นหน่วยงานสำคัญ ในการดูแลเรื่องมาตรฐานบริการ การพัฒนามาตรฐานและกฎหมายของบริการดิจิทัลอื่น ๆ ให้เทียบเท่าระดับสากล
เพราะตอนนี้เทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น บล็อกเชน, เอไอ ฯลฯ ยังไม่มีมาตรฐานกลาง และการป้องกันระวังภัยคุกคามทางออนไลน์ (Online Fraud Prevention) ด้วยการยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภคออนไลน์ ร่วมกับภาคีเครือข่าย ผ่านการเชื่อมโยงข้อมูล เพื่อผู้บริโภคออนไลน์ ได้รับความช่วยเหลือเร็วยิ่งขึ้น รวมถึงการดูแลเฝ้าระวังภัยไซเบอร์ให้กับหน่วยงานภาครัฐ” นายพุทธิพงษ์ กล่าว
ด้าน นายชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการ ETDA (เอ็ตด้า) เปิดเผยว่า ETDA มีเป้าหมายสำคัญคือ “Go Digital with ETDA” หรือการเป็นองค์กรขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม ด้วยธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ โดยสร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วน เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างเท่าทัน กับสถานการณ์โลก
ภายใต้บทบาทหน้าที่หลักคือ การส่งเสริมให้เกิดการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ สร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วน ผลักดันการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์อย่างบูรณาการ และสุดท้ายคือ การกำกับดูแลธุรกิจบริการดิจิทัล สร้างความน่าเชื่อถือ รองรับการขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล
ด้วยงานสำคัญทั้งการกำกับดูแลธุรกิจบริการด้านดิจิทัล พัฒนามาตรฐานและกฎหมายด้านดิจิทัล การพัฒนาระบบนิเวศดิจิทัลไอดี การป้องกันการหลอกลวงทางออนไลน์ และการพัฒนาความพร้อมของคนดิจิทัล
ใน ปี 2563 ETDA ได้ส่งมอบงานสำคัญผ่าน 5 โครงการ ได้แก่
1. โครงการ Digital Governance เพื่อให้ทุกภาคส่วน ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างมั่นใจ มีกลไกกำกับดูแลที่น่าเชื่อถือ ผ่านกฎหมายและมาตรฐานสำคัญๆ เช่น ร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ. Digital ID) รองรับการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล ส่งเสริมธุรกิจเกี่ยวกับดิจิทัลไอดี เพื่อให้ประชาชน ได้รับบริการที่เชื่อถือได้ สะดวก รวดเร็ว
และ ร่าง พ.ร.ฎ. ว่าด้วยการควบคุมดูแลธุรกิจการให้บริการออกใบรับรองเพื่อสนับสนุนลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ (CA) รวมทั้งการออกข้อเสนอแนะฯ มาตรฐาน แนวทางการลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ (e-Signature) เกิดการใช้งานอย่างแพร่หลาย ลดความเสี่ยง
รวมถึงผลักดัน เรื่องระบบการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์หรือ e-Meeting ทั้งการออกกฎหมายและมาตรฐาน ในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา ซึ่งช่วยปลดล็อกกฎหมายที่มีอยู่เดิม และช่วยรับรองผู้ให้บริการระบบประชุม เพื่อให้ผู้ใช้ เกิดความเชื่อมั่นในระบบที่ใช้งานด้วย พร้อมเปิด Digital Service Sandbox เพื่อทดสอบการใช้นวัตกรรม หรือบริการดิจิทัลใหม่ ๆ ให้สอดคล้องข้อกฎหมาย หรือมาตรฐานต่าง ๆ ก่อนการใช้งานจริง
2. โครงการ Speed-up e-Licensing เร่งเครื่องระบบดิจิทัล ในบริการภาครัฐ เพื่อลดค่าใช้จ่ายและให้ภาคธุรกิจและประชาชน ได้รับบริการที่รวดเร็ว โดยการพัฒนาบริการของรัฐให้เป็นบริการดิจิทัล ผ่านโครงสร้างข้อมูล (Schema) การออกใบอนุญาตหรือเอกสารหลักฐานของภาครัฐให้เป็นระบบดิจิทัล พร้อมสร้างความน่าเชื่อถือให้เกิดขึ้น กับบริการดิจิทัลของเอกชน ด้วยการตรวจประเมินรับรองระบบสารสนเทศและการใช้บริการ e-Timestamping ประทับรับรองเวลาของ e-Document
3. โครงการ Digital Transformation ให้ภาครัฐมีระบบดิจิทัลที่มั่นคงปลอดภัย ห่างไกลภัยไซเบอร์ ด้วยโครงการ Government Threat Monitoring System (GTM) เฝ้าระวังภัยไซเบอร์ให้กับหน่วยงานรัฐ พร้อมเตรียมพัฒนาแพลตฟอร์ม Threat Watch ยกระดับการเฝ้าระวัง ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
4. โครงการ Thailand e-Commerce Sustainability ลดเหลื่อมล้ำ เพิ่มรายได้ ด้วยอีคอมเมิร์ซ อย่างยั่งยืน ผ่านความร่วมมือกับเครือข่าย ลงพื้นที่พัฒนาศักยภาพอีคอมเมิร์ซชุมชนทั่วประเทศ รวมถึงการพัฒนาหลักสูตรด้านอีคอมเมิร์ซ ปูทางความพร้อมให้กับนักเรียน (ทสรช.) นักศึกษา (มศว, เอแบค ฯลฯ) เพื่อป้อนตลาดแรงงานยุคดิจิทัล เปิดหลักสูตรออนไลน์ เพื่อให้คนไทยเรียนรู้ได้ ผ่านแพลตฟอร์มของ ETDA และสำนักงาน ก.พ. พร้อมผลักดันแผนธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อกำหนดทิศทางพัฒนาให้ทุกภาคส่วน ตลอดจนเดินหน้าสำรวจการใช้อินเทอร์เน็ตของคนไทย มูลค่าอีคอมเมิร์ซประเทศไทย และสถิติต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับไปวางแผนการตลาด และสร้างโอกาสในการทำธุรกิจบนโลกออนไลน์ได้
5. โครงการ Stop e-Commerce Fraud ทั้ง คุ้มครองผู้บริโภคออนไลน์เชิงรุก ผ่านการนำเครื่องมือ Social Listening วิเคราะห์ข้อมูลในโลกออนไลน์ เพื่อนำมาแจ้งเตือนภัยก่ อนเกิดเหตุหรือลุกลาม และการจัดอบรมและเสริมสร้างความสามารถด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ให้แก่บุคลากรที่เกี่ยวข้องและประชาชนที่สนใจ เพื่อให้ประเทศไทยมีกำลังคนด้านไซเบอร์เพิ่มขึ้น
นายชัยชนะ กล่าวเพิ่มเติมว่า “นโยบายและแผนการดำเนินงานก้าวต่อในปี 64” ETDA จะเดินหน้าดำเนินงานผ่าน 3 โครงการที่จะยกระดับการขับเคลื่อนจากปี 63 ให้เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้นดังนี้
1. การนำการขับเคลื่อนธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ด้วยการสร้างกลไกขับเคลื่อนธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศ ผ่านแผนยุทธศาสตร์โครงสร้างพื้นฐานด้านมาตรฐาน พร้อมผลักดันแผนยุทธศาสตร์เกี่ยวกับธุรกรรมฯ ให้ทุกภาคส่วน นำไปกำหนดแนวทางการพัฒนาในทิศทางเดียวกัน พร้อมจัดการสำรวจวิจัยที่ทำให้มองภาพอนาคต (Foresight) ชัดเจนขึ้น สู่การกำหนดนโยบาย ทิศทางการดำเนินธุรกิจ และการทำการตลาด รวมถึงเสริมสร้างทักษะด้านอีคอมเมิร์ซ เพื่อพัฒนากำลังคน ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดยุคดิจิทัล ไปพร้อมๆ กับการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ยกระดับการคุ้มครอง โดยการสร้างระบบเชื่อมโยงข้อมูลกับเครือข่าย ทำให้การคุ้มครองมีความรวดเร็วขึ้น
2. การเร่งเครื่องกลไกดูแลธุรกิจดิจิทัล ด้วยการจัดทำหลักเกณฑ์ กฎหมาย มาตรฐาน รวมถึงแนวปฏิบัติในการดูแลธุรกิจดิจิทัล และบริการที่สำคัญ ๆ พร้อมสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชน ในการใช้บริการธุรกิจบริการด้านดิจิทัล ที่เปิดให้บริการไปแล้ว และกำลังจะเปิดให้บริการ เช่น บริการด้าน e-Meeting บริการด้าน Digital ID ด้วยระบบการตรวจประเมินที่มีมาตรฐาน
3. การเสริมฐานรากแพลตฟอร์มดิจิทัลของรัฐ สู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัลอย่างเป็นรูปธรรม ผู้ประกอบการและประชาชน ได้รับบริการที่สะดวก รวดเร็ว มั่นใจ ปลอดภัย ด้วยการพัฒนาแบบจำลองมาตรฐาน และแบบจำลองข้อมูล (Data Model) แลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงาน สนับสนุนศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลกลางภาครัฐ จัดทำมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง กับการใช้เอกสารอิเล็กทรอนิกส์ Digital ID และ e-Signature สร้างความพร้อม ความตระหนัก แก่บุคลากรภาครัฐ ผ่านการอบรม พร้อมให้บริการเฝ้าระวัง ตอบสนองและจัดการภัยคุกคามไซเบอร์ ให้กับโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลและบริการออนไลน์ของหน่วยงานภาครัฐ
“จากการดำเนินงานข้างต้น ETDA ตั้งเป้าไว้ว่า ภายในปี 65 ประเทศจะต้องมีภูมิทัศน์ด้านบริการดิจิทัลที่ได้มาตรฐาน หรือ Digital Services Landscape ที่ครบถ้วน เพื่อเป็นทิศทางการพัฒนาประเทศ รวมถึงเกิดระบบนิเวศ Digital ID หรือ Digital ID Ecosystem สำหรับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้อง เพื่อจะนำไปสู่การใช้งาน Digital ID ในวงกว้าง และหน่วยงานรัฐ จะต้องมีระบบบริการอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Service และระบบสำนักงานอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-office ภายใต้มาตรฐาน กฎเกณฑ์ และการขับเคลื่อนให้เกิดขึ้นจริงของ ETDA ที่จะพาทุกภาคส่วน Go Digital ไปพร้อมกัน” นายชัยชนะ กล่าว