fbpx
News update

Fjord Trends 2021 วิเคราะห์เทรนด์โลก มองปี 2021 เป็นจุดเปลี่ยนของศตวรรษที่ 21

Onlinenewstime.com : รายงานฉบับใหม่ของเอคเซนเชอร์ (NYSE: ACN) พบว่า ในเวลาที่วิกฤตโควิด-19 ได้ทำให้เกิดนิยามใหม่ และการปรับเปลี่ยนของระบบเศรษฐกิจและสังคมโดยรวม แต่อัจฉริยภาพของมนุษย์ ทำให้สามารถคิดนวัตกรรมคลื่นลูกใหม่ ให้พร้อมเป็นพิมพ์เขียวสำหรับหลายทศวรรษข้างหน้

รายงานฟยอร์ดเทรนด์ (Fjord Trends 2021)” จัดทำเป็นปีที่ 14 จากการวิจัยข้อมูลในเครือข่ายนักออกแบบ และสร้างสรรค์งานระดับโลกของเอคเซนเชอร์ อินเทอร์แอ็กทิฟ พบว่าองค์กรต่าง ๆ จะมีโอกาสเปิดศักยภาพและตลาดใหม่ จากการนำกลยุทธ์ บริการ และประสบการณ์แบบใหม่ ๆ ไปใช้ตอบสนองความต้องการของมนุษย์ ที่พัฒนาและเปลี่ยนไปอยู่ตลอด

“จากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา เมื่อโลกผ่านพ้นวิกฤตหนึ่งมาได้ ยุคแห่งแนวคิดใหม่ก็จะเริ่มต้นขึ้น” นายดาวิน สมานนท์ กรรมการผู้จัดการ กลุ่มงานบริการทางการเงิน เอคเซนเชอร์ ประเทศไทยกล่าว และเสริมว่า “เมื่อมองภาพถึงอนาคตข้างหน้า ยังมีศักยภาพอีกมากมายในโลกที่รอเราอยู่ บางอย่างอาจน่ากลัว บางอย่างน่าตื่นเต้น ที่ยังรอให้เราสำรวจค้นหา สิ่งที่เราทำในปัจจุบันนี้ จะเป็นตัวกำหนดว่า เวลาช่วงที่เหลือของศตวรรษนี้จะเป็นอย่างไร ซึ่งทุกธุรกิจต่างก็มีสิทธิ์และอิสระที่จะคิด จะทำ ต่างกันออกไป”

นายดาวิน สมานนท์

รายงานฟยอร์ดเทรนด์ในปีนี้พบว่า โรคระบาด ทำให้เกิดทั้งความชัดแจ้งและความตกใจ ขณะที่ก็เกิดความโกลาหลและความเศร้าสลดด้วย สถานการณ์ดังกล่าว ได้เผยให้เห็นว่า สิ่งสำคัญสำหรับมนุษย์คืออะไร และได้สร้างแรงบันดาลใจใ ห้แก่ชุมชนและนักคิดที่สร้างสรรค์งานอยู่กับบ้าน

เราได้เห็นการทดลองใหม่ ๆ ในภาคธุรกิจ เช่นการจะตอบสนองต่อสถานการณ์ ในด้านมาตรการและการสื่อสารอย่างไร จะสนองต่อความคาดหวังของลูกค้า ที่ยกระดับมากขึ้นอย่างไร และจะทำให้ลูกค้ารู้สึกว่าองค์รับรู้และเข้าใจได้อย่างไร ทั้งหมดนี้ต้องดำเนินต่อเนื่องไป ในขณะที่องค์กรก็ต้องฝ่าฟันสภาพเศรษฐกิจที่ไม่มั่นคงด้วย

รายงาน Fjord Trends 2021 ได้สำรวจ 7 แนวโน้มเด่น ที่จะเข้ามามีบทบาทต่อธุรกิจ พฤติกรรมผู้บริโภค และสังคมในอนาคต พร้อมให้คำแนะนำที่เป็นรูปธรรมแก่องค์กรในการฟื้นฟูศตวรรษที่ 21 ให้สดใส

  1. วิถีใหม่ห่างเพราะห่วง (Collective Displacement): ในปี 2563 วิถีที่คนได้รับประสบการณ์ และสถานที่เกิดประสบการณ์นั้น ๆ เปลี่ยนไปจากที่เคยเป็นมา ทุกคนต่างต้องแยกย้าย แยกกันทำงานหรือทำกิจกรรม เราต่างต้องหาวิธีใหม่และสถานที่ใหม่ ในการจะทำการงานที่จำเป็น รวมทั้งทำกิจกรรมที่ชื่นชอบ ไม่ว่าจะเป็นวิธีการทำงาน ซื้อของ เรียนรู้ เข้าสังคม เลี้ยงลูก และดูแลสุขภาพ สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เปลี่ยนไปสำหรับหลาย ๆ คน ตัวแบรนด์เอง ก็ต้องหาแนวทางใหม่ และนำเสนอประสบการณ์ใหม่ ๆ เพื่อมีปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าด้วย
  2. นวัตกรรม DIY (Do-it-yourself innovation): นับวัน นวัตกรรมก็ยิ่งขับเคลื่อนด้วยความปราดเปรื่องของมนุษย์ ที่ต้องค้นหาแนวทางใหม่ หรือ “เอาตัวรอด” เมื่อต้องเจอกับความท้าทาย ตั้งแต่เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างงานบ้าน เอาแผ่นรองรีดผ้ามาทำเป็นโต๊ะเขียนหนังสือ หรือโต๊ะทำงาน การต้องรับบทครูแทนบทบาทของพ่อแม่ เป็นต้น เทคโนโลยีจึงเข้ามามีบทบาท เป็นตัวช่วยดึงความอัจฉริยะ ความคิดสร้างสรรค์ของผู้คนจึงฉายแสงออกมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง ไปจนถึงเทรนเนอร์ส่วนตัวที่ยึดแพลตฟอร์ม TikTok และวิดีโอเกมเป็นเวทีแสดงแนวคิด หรือสื่อสารออกมาให้สาธารณะได้รับรู้ มนุษย์จึงต้องการโซลูชั่นที่ดีขึ้นกว่าเดิม อย่างไรก็ตาม ในยุคที่แบรนด์ถูกคาดหวังให้คิดค้นโซลูชั่นที่สำเร็จมาแล้ว กลับเปลี่ยนเป็นยุคที่แบรนด์ ต้องสร้างสิ่งแวดล้อมที่ผลักดันให้เกิดนวัตกรรมของแต่ละบุคคลมากขึ้น
  3. ความเป็นทีมที่หลากหลาย (Sweet teams are made of this): จากที่เคยทำงานข้างนอก ตอนนี้การต้องอยู่ต้องกินในบ้านซึ่งกลายมาเป็นที่ทำงาน ส่งผลอย่างมากต่อความสัมพันธ์ที่มี ระหว่างนายจ้างและพนักงาน รวมทั้งประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ใครจะเป็นคนตัดสินใจเรื่องชุดที่ใส่ เมื่อมีการทำวิดีโอคอลคุยเรื่องงาน ในสถานที่ที่เป็นบ้านของเขาเอง หรือใครเป็นคนรับผิดชอบ ในการสงวนสิทธิ์ความเป็นส่วนตัวของคนที่ทำงานที่บ้าน แม้ว่าเราจะมีวัคซีนแล้วก็ตาม แต่การเปลี่ยนแปลงนี้ ได้เกิดขึ้นอย่างถาวรแล้ว ในด้านความสัมพันธ์ระหว่างคนกับงาน และระหว่างนายจ้างกับทีมงาน รูปแบบการทำงานจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป และจะมีความหลากหลายมากขึ้นในอนาคต
  4. ท่องโลกแบบอินเทอร์แอ็กทิฟ (Interaction wanderlust): ผู้คนมีปฏิสัมพันธ์ผ่านทางหน้าจอมากขึ้น เราจะสังเกตเห็น “สิ่งเดิม ๆ” ในหน้าจอที่เหมือนเป็นเทมเพลตเดียวกันในแง่ประสบการณ์ดิจิทัล องค์กร จึงต้องคิดใหม่ในเรื่องการออกแบบ เรื่องคอนเทนต์ กลุ่มเป้าหมาย และการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน เพื่อให้สามารถสร้างความแตกต่าง ตื่นเต้น เร้าใจ เพลิดเพลิน และโดนใจ เจาะเข้าไปในประสบการณ์ที่พวกเขาพบเจอบนหน้าจอ
  5. ระบบโครงสร้างพื้นฐานที่ไหลลื่น (Liquid infrastructure): เมื่อวิธีการได้รับผลิตภัณฑ์และการบริการของคน กระจายแยกพื้นที่กันไป องค์กรจึงต้องคิดใหม่ในเรื่องซัพพลายเชน และการใช้สินทรัพย์ทางกายภาพ รวมทั้งจุดให้บริการ ว่าจะทำให้เกิดความเพลิดเพลินและประทับใจต่อผู้บริโภคได้อย่างไร บริษัทจึงต้องปรับตัวให้ไวและยืดหยุ่นพอ ที่จะฟื้นตัวรองรับสถานการณ์ ซึ่งการจะปรับตัวได้เร็วนั้น ควรคิดถึงการเปลี่ยนแปลงเสมอ โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงในอนาคต ที่จะเกิดขึ้นเพราะคนแสวงหาหนทางที่ยั่งยืน
  6. แบรนด์ที่ใส่ใจอย่างจริงใจ (Empathy challenge): คนในปัจจุบันใส่ใจว่าแบรนด์มีจุดยืนต่อสถานการณ์ต่าง ๆ ในสังคม และแสดงให้เห็นถึงคุณค่าของแบรนด์อย่างไร สถานการณ์โรคระบาด ได้ฉายสปอตไลต์ให้คนเห็นระบบที่ไม่เชื่อมโยงกัน และไม่เท่าเทียมกันในโลก ตั้งแต่เรื่องการเข้าถึงบริการสุขภาพไป จนถึงความเท่าเทียมกันของมนุษย์ บริษัทจึงต้องทำงานอย่างหนัก ในการจัดระบบเรื่องราวที่ผู้คนรับรู้หรือมองภาพเกี่ยวกับแบรนด์ โดยให้ความสำคัญกับประเด็นที่ใกล้ตัวเขามากที่สุด และผลักดันให้เกิดพฤติกรรมที่สอดคล้อง
  7. พิธีกรรมที่เปลี่ยนไป (Rituals lost and found): การที่วิถีในการดำรงชีวิตหรือพิธีกรรมต่าง ๆ ถูกยกเลิกและเปลี่ยนโฉมไป ตั้งแต่เรื่องการยินดีในวาระการเกิด ไปจนถึงการจากลาในวาระที่เสียชีวิต พิธีกรรมต่าง ๆ ในช่วงชีวิตของคนเรา ล้วนส่งผลอย่างมากต่อกลุ่มต่าง ๆ ในสังคม แนวโน้มของการละเลิก อันเนื่องมาจากภาวะนิวนอร์มัลเป็นโอกาสที่ดี ที่องค์กรจะช่วยให้ผู้คนค้นหาความหมาย ด้วยวิถีใหม่ ๆ ที่ให้ความเพลิดเพลินและสบายใจ แบรนด์ควรเริ่มต้นจากความเข้าใจวิถีแบบเดิม ๆ ที่สูญหาย จากนั้นจึงออกแบบสิ่งใหม่เข้ามาทดแทน

“นวัตกรรมไม่จำเป็นต้องเริ่มต้นที่เทคโนโลยี สิ่งที่เราได้เห็นในช่วงหลายปีที่ผ่านมาคือ นวัตกรรม อาจเป็นเครื่องมืออันทรงพลังในเสริมสร้างอัจฉริยภาพของมนุษย์ได้ แม้ในสถานการณ์อันสับสน” นายดาวินกล่าว

“ปีนี้จะเป็นอีกปีที่ชี้วัดความหวัง เราได้สังเกตความเป็นมาเป็นไป และกลายเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในสังคม แนวโน้มเหล่านี้ จะกลายเป็นพิมพ์เขียวด้านวิธีคิดและสิ่งที่เรากำลังจะทำต่อไป สิ่งที่เราเรียนรู้ และทิ้งไว้เบื้องหลัง เราต้องทำได้ดีกว่านี้ มนุษยชาติควรต้องได้รับสิ่งดี ๆ ที่ดียิ่งกว่าเดิม”

ในแต่ละปี เอคเซนเชอร์ อินเทอร์แอ็กทิฟ ประมวลแนวโน้มด้านธุรกิจ เทคโนโลยี และการออกแบบสำหรับปีต่อไป จากเครือข่ายนักสร้างสรรค์กว่า 2,000 คนในสตูดิโอกว่า 40 แห่งทั่วโลก รายงาน Fjord Trends 2021 เน้นวิเคราะห์แนวทางที่ผู้คน องค์กร และแบรนด์ สนองต่อความต้องการของมนุษย์

ผู้สนใจสามารถอ่านรายงานฉบับเต็มได้ที่ ลิงค์ และร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นผ่านแฮชแท็กทวิตเตอร์ #FjordTrends ได้