Onlinenewstime.com : ศูนย์วิจัยอนาคตศึกษา ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ โดยบริษัทแมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (FutureTales Lab by MQDC) ร่วมกับ คณะสถาปัตยกรรม ศิลปะและการออกแบบ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) จัดงานฟอรั่มครั้งแรกของปี ภายใต้หัวข้อ “Future Habitat for the Next Generation จินตภาพเมืองในอนาคต เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตคนทุกกลุ่ม”
งานฟอรั่มที่พูดคุยเรื่องราวเกี่ยวกับการพัฒนาเมืองและความสำคัญของการออกแบบที่อยู่อาศัยในอนาคตของเราทุกคน มาร่วมเปิดมุมมองแนวความคิด ต่อยอดความรู้ด้านอนาคตศึกษาและโอกาสในโลกเมตาเวิร์ส (Metaverse) เพื่อเป็นประโยชน์กับทุกภาคส่วน
พร้อมทั้งสัมผัสประสบการณ์โชว์เคสจากผู้เชี่ยวชาญด้าน Metaverseและโชว์เคสการออกแบบเมืองแห่งอนาคต (Future habitat showcase)
โดยมีนักเรียน นิสิตนักศึกษา ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบเมือง สถาปนิก นักนวัตกร รวมถึงผู้สนใจด้านการออกแบบที่อยู่อาศัยเข้าร่วมงานที่ FutureTales Lab by MQDC ชั้น 8 ทรูดิจิตอล พาร์ค และทาง Facebook Live
ดร.การดี เลียวไพโรจน์ ผู้อำนวยการบริหาร ศูนย์วิจัยอนาคตศึกษา ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ โดยบริษัทแมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (FutureTales Lab by MQDC) เปิดเผยว่า การจัดงานฟอรั่มครั้งนี้ นับเป็นความร่วมมือที่เกิดขึ้นระหว่าง FutureTales Lab by MQDC ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านอนาคตศาสตร์ และคณะสถาปัตยกรรมฯ สจล. ในฐานะสถาบันการศึกษาด้านการออกแบบเมืองและที่อยู่อาศัยชั้นนำของประเทศไทย
เป้าหมายเพื่อเป็นเวทีในการปลุกความคิดเปิดมุมมองด้านการพัฒนาเมืองที่คำนึกถึงอนาคตของทุกคน ภายใต้หัวข้อ “Future Habitat for the Next Generation จินตภาพเมืองในอนาคต เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตคนทุกกลุ่ม” เพื่อฉายภาพการพัฒนาเมืองในอนาคต
ตลอดจนต่อยอดไปสู่การพัฒนาและออกแบบเมืองในโลกเสมือนเมตาเวิร์ส เพื่อดึงทั้งโลกจริงและโลกเสมือนเข้ามาใกล้กัน ภายใต้การดำเนินการที่จะไม่ทำให้เกิดช่องว่างและความเหลื่อมล้ำขึ้น
ผศ.ดร.อันธิกา สวัสดิ์ศรี คณบดีคณะสถาปัตยกรรมฯ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า เป้าหมายใหญ่ของการศึกษาในวันนี้และอนาคตอันใกล้ คือร่วมพัฒนาคนของประเทศให้พร้อมเป็น พลเมืองโลก หรือ Global citizens เพราะปัญหาระดับประเทศและโลกต่อจากนี้ต้องอาศัยความร่วมมือในระดับสากลอย่างมาก เรื่องที่อยู่อาศัยหรือการพัฒนาเมืองก็เป็นตัวอย่างสำคัญเพราะโลกนี้เชื่อมกันหมดแล้ว
ดังนั้น การเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยของมนุษย์จะต้องมีความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมที่มี เครือข่ายทั้งองค์ความรู้และพาร์ทเนอร์ที่จะช่วยภาคอุดมศึกษา ในการพัฒนาคน ความร่วมมือระหว่างคณะสถาปัตย์พระจอมเกล้าลาดกระบังกับ FutureTales Lab by MQDC ในครั้งนี้เรามีจุดมุ่งหมายร่วมกันนั่นคือให้คนรุ่นใหม่ได้มีส่วนร่วมในการกำหนดและออกแบบเมืองในอนาคตซึ่งเป็นที่ที่เขาต้องอยู่และรับมือกับความท้าทายระดับโลก
“บทบาทของมหาวิทยาลัยในปัจจุบันมีความเปลี่ยนแปลงอย่างยิ่ง จากความไม่แน่นอน ความซ้ำซ้อน และความผันผวนที่ไม่สามารถคาดเดาได้เหมือนเดิม ถึงแม้เราไม่ต้องการเปลี่ยน แต่กระแสของโลกและสังคมก็จะผลักดันให้เราต้องเปลี่ยน มหาวิทยาลัย อาจจะไม่สามารถปรับตัวได้ทันเท่ากับภาคอุตสาหกรรม
แต่ภาคอุตสาหกรรมก็ไม่มีเวลาเพียงพอกับการศึกษาองค์ความรู้เชิงลึก จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเกิดความร่วมมือระหว่างภาคการศึกษาและภาคอุตสาหกรรม หรือเป็นการ Connect The Dot ระหว่างกัน เพื่อช่วยส่งเสริมศักยภาพของกันและกันให้สูงยิ่งขึ้น
รวมทั้งสร้างทรัพยากรมนุษย์ให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมเช่นเดียวกับความร่วมมือระหว่างคณะสถาปัตย์พระจอมเกล้าลาดกระบังกับ FutureTales Lab by MQDC ในครั้งนี้ นับเป็นหนึ่งในอีกหลายความร่วมมือที่จะผลักดันมหาวิทยาลัยจาก University เป็น Multi University” ผศ.ดร.อันธิกา กล่าว
ดร.การดี กล่าวเพิ่มเติมในปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “5 ปรากฎการณ์เทคโนโลยีที่จะส่งผลต่อไลฟ์สไตล์ในอนาคต (5 Technology Phenomena that Impact Your Lifestyle)” ว่า สำหรับปรากฎการณ์ด้านเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงล่าสุด ซึ่งมีความชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆว่าจะมาเปลี่ยนชีวิตของเราทุกคนและการออกแบบพัฒนาเมืองในอนาคต ประกอบด้วยทั้งหมด 5 ปรากฎการณ์ด้วยกัน ประกอบด้วย
1. Big Data & AI เทคโนโลยีด้านปัญญาประดิษฐ์ที่มีการพัฒนาไปสู่ Near – Human Emotion ปัญญาประดิษฐ์ที่สามารถจับหน้าตา ท่าทาง อารมณ์ของมนุษย์ รวมถึงการนำปัญญาประดิษฐ์มาวิเคราะห์เพื่อช่วยลดอาชญากรรม หรือ Crime Predicting AI
ซึ่งล่าสุดมหาวิทยาลัยชิคาโก้ ประเทศสหรัฐอเมริกาได้ทำการศึกษาพบว่า มีความแม่นยำถึง 90% ซึ่งรัฐบาลของสหรัฐฯ เตรียมนำเรื่องดังกล่าวมาใช้วิเคราะห์เมือง ที่สามารถนำมาประยุกต์กับประเทศไทยในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ตลอดจนประเด็นของการใช้ปัญญาประดิษฐ์ในการสำรวจพื้นที่ที่ไม่คุ้นเคยอย่างอวกาศ หรือ AI in expedition อย่างMQDC และ Futuretales Lab ก็จับตาความเคลื่อนไหวอย่างใกล้ชิดและให้ความสำคัญกับเรื่องราวความเปลี่ยนแปลงของอวกาศเช่นกัน
2. Robotics & Automation เราจะเห็นการทำงานของหุ่นยนต์ที่เข้าถึงมนุษย์มากขึ้นเรื่อย จากเดิมที่จะกระจุกตัวส่วนใหญ่ในภาคอุตสาหกรรม แต่ในปัจจุบันเราจะเห็นการทำงานของหุ่นยนต์ในภาคบริการ ที่ใกล้ชิดกับชีวิตประจำวันของมนนุษย์มากขึ้นหลายเท่าตัว
อาทิหุ่นยนต์ส่งของ (Autonomous Delivery Robots) หุ่นยนต์ที่ใช้สำหรับเป็นเพื่อน (AI-Powered Companion Robot) หุ่นยนต์สำหรับอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Modular Robot Arm for Creative Makers) ระบบบ้านอัจริยะที่ถูกควบคุมด้วยปัญญาประดิษฐ์ (Automated Home Fueled by AI)
3. Internet of Everything คือการที่ทุกสิ่งถูกเชื่อมโยงเข้างสู่โลกอินเตอร์เน็ต ในอนาคตจะนำไปสู่ Internet of Behavior การเชื่อมโยงอินเตอร์เน็ตเข้าสู่พฤติกรรม และจะนำไปสู่ Internet of Senses คือการเชื่อมโยงอินเตอร์เน็ตเข้าสู่ประสาทสัมผัสทั้ง 5 เพื่อเข้าถึงความต้องการของมนุษย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
4. Printing Technology เทคโนโลยีการพิมพ์ในปัจจุบันมีการพัฒนาไปไกลอย่างมาก ซึ่งกำลังพลิกโฉมการผลิต การก่อสร้าง และเข้ามามีส่วนในชีวิตประจำวันของเรามากยิ่งขึ้นไปอีก
ประกอบด้วย การพิมพ์สามมิติเพื่อการก่อสร้างโครงสร้างบ้านต่างๆ (3D Printing Construction) การพิมพ์สามมิติเพื่อการก่อสร้างกระสวยอวกาศ (First-Ever Fully 3D Printed Rocket) การพิมพ์อาหารให้มีความสวยงาม (Smart Food Printers) และการผลิตยาตามความต้องการของแต่ละบุคคล (3D Printed Personalized Pills at Home)
5. Extended Reality คือ ประสบการณ์การปฏิสัมพันธ์แบบ 3 มิติ ที่ผสมผสานมุมมองของโลกจริงเข้ากับเทคโนโลยีแบบเรียลไทม์ ปัจจุบันมีการพัฒนาเทคโนโลยีไปอย่างมาก อาทิ Microsoft Holoportation การจำลองโมเดล 3 มิติของคน สัตว์ หรือสิ่งของ แล้วส่งไปยังผู้รับซึ่งอยู่ที่ใดก็ได้ในโลก
ทั้งสองฝั่งสามารถมีปฏิสัมพันธ์ ได้แบบเรียลไทม์อย่างไร้รอยต่อ และ Personal AI Digital Twins หรือ ฝาแฝดในโลกดิจิทัล คือ การจำลองของสิ่งต่างๆทางกายภาพให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัล
“จะเห็นได้ว่า ปรากฎการณ์เทคโนโลยีทั้งหมดนี้ ความเร็วของการพัฒนาเทคโนโลยี มีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วขึ้นจากเดิมที่คาดการณ์ไว้มาก เดิมที่คาดการณ์ไว้อีก 5 – 10 ปี อาจเกิดขึ้นเร็วกว่านั้น ดังนั้นในฐานะนักอนาคตศาตร์ และนักพัฒนาเมืองจะต้องติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด เพราะทุกอย่างกำลังเปลี่ยนแปลงในอัตราเร่ง เพื่อให้การออกแบบที่เกิดขึ้นสอดรับกับอนาคตที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็วอย่างที่เราสามารถเตรียมตัวตั้งรับได้ทัน” ดร.การดี กล่าวสรุป