fbpx
News update

พืชผักสมุนไพรและอาหาร สู้ฝุ่น PM 2.5 กิน-สูด-ทา ปกป้องสุขภาพครบวงจร

Onlinenewstime.com : กรมการแพทย์แผนไทยฯ แนะสมุนไพรดูแลสุขภาพครอบคลุมทั้งระบบทางเดินหายใจ ผิวหนัง และภูมิคุ้มกัน อาทิ ขมิ้นชัน รางจืด หญ้าดอกขาว รวมถึงพืชผักสมุนไพรวิตามินซีสูง เสริมด้วยเมนูอาหารและการสุมยาบรรเทาอาการจากมลพิษทางอากาศ

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ท่ามกลางฝุ่นพิษลาม 55 จังหวัด และจังหวัดสระบุรีแตะระดับสีแดงนั้น ดร.นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ โฆษกกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย ดร.ภญ.ดวงแก้ว ปัญญาภู รองผู้อำนวยการกองวิชาการและแผนงาน กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก แถลงแนวทางการดูแลสุขภาพจากสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5

และนอกจากนี้ ดร.นพ.วรตม์ ย้ำให้ประชาชนในพื้นที่ค่าฝุ่นอยู่ในเกณฑ์สีส้มขึ้นไป สวมหน้ากากอนามัยป้องกันฝุ่น และหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายกลางแจ้ง หรือทำงานที่ต้องใช้แรงมากแล้ว 

ทางด้าน ดร.ภญ.ดวงแก้ว ยังได้กล่าวถึงสมุนไพรช่วยดูแลสุขภาพจาก PM 2.5 ว่า จากงานวิจัยพบว่ามีสมุนไพรที่มีสารต้านอนุมูลอิสระและช่วยลดการอักเสบในระบบทางเดินหายใจ ซึ่งสามารถนำมาดูแลสุขภาพในช่วงสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ได้ คือ

1) ขมิ้นชัน สามารถรับประทานได้ทั้งแบบสดหรือผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป ในขนาดที่แพทย์/เภสัชกรแนะนำ แต่ต้องระมัดระวังในหญิงตั้งครรภ์ ให้นมบุตร และเด็ก และห้ามใช้ในผู้ป่วยท่อน้ำดีอุดตัน, นิ่วในถุงน้ำดี

2) รางจืด ช่วยปกป้องตับและไตจากแคดเมียมที่พบใน PM 2.5 ได้ โดยใช้เป็นชาชงครั้งละ 1 ซอง วันละ 3 ครั้ง ซึ่งผู้มีโรคประจำตัวที่ต้องใช้ยาประจำ ต้องปรึกษาแพทย์/เภสัชกรก่อนใช้ ส่วนผู้ป่วยโรคตับ ไต เบาหวาน หญิงตั้งครรภ์ ให้นมบุตร เด็กเล็ก ต้องใช้อย่างระมัดระวัง  และไม่ควรใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน  ไม่แนะนำให้ใช้ในผู้ที่สงสัยว่าเป็นไข้เลือดออก

3.) หญ้าดอกขาว ช่วยลดการอักเสบของเซลล์ในระบบทางเดินหายใจ ใช้เป็นชาชง ครั้งละ 1 ซอง วันละ 3-4 ครั้ง ต้องระมัดระวังในผู้ป่วยโรคหัวใจ โรคไต เนื่องจากมีโพแทสเซียมสูง 

ทั้งนี้ ยังมียาสมุนไพรที่ช่วยบรรเทาอาการระบบทางเดินหายใจจาก PM 2.5 ได้แก่ ยาแก้ไอมะขามป้อม ช่วยบรรเทาอาการไอ ระคายคอ ยาปราบชมพูทวีป ช่วยลดอาการภูมิแพ้ ยาสมุนไพรใช้ภายนอก เช่น  คาลาไมน์พญายอ สเปรย์รางจืด ช่วยลดอาการ ผื่น แพ้ คัน ลมพิษ เป็นต้น

รวมทั้งสามารถรับประทานพืชผักสมุนไพรที่มีวิตามินซีสูงช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกัน เช่น ดอกขี้เหล็ก ใบเหลียง คะน้า ผักหวาน ผลไม้วิตามินซีสูง เช่น มะขามป้อม หรือผลไม้สีเหลือง ส้ม แดง ม่วง เช่น กล้วย ส้ม มะละกอ สับปะรด เป็นต้น

รวมถึงพืชผักสมุนไพรในครัวซึ่งมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ เช่น ขิง ข่า กระเทียม เห็ดต่างๆ ตรีผลา และพลูคาว

นอกจากนี้ยังแนะนำ เมนูอาหารช่วยบรรเทาอาการทางเดินหายใจ ได้แก่ ต้มยำ และ ต้มโคล้ง ที่มีสมุนไพรหลากชนิด รสเปรี้ยว เผ็ดร้อน ช่วยให้หายใจโล่งและขับเหงื่อดี ส่วน แกงเหลือง มีขมิ้นชันเป็นส่วนประกอบหลัก ช่วยลดการอักเสบในร่างกาย อีกทั้งรสเปรี้ยวเผ็ดร้อนช่วยกระตุ้นการไหลเวียนโลหิต

ตะไคร้ หอมแดง ขิง ข่า ใบมะกรูด ผิวมะกรูด สามารถนำมาใช้ในการสุมยา ซึ่งเป็นการใช้ความร้อนชื้นจากไอน้ำ นำพาน้ำมันหอมระเหยจากสมุนไพรมาช่วยให้ทางเดินหายใจโล่ง จึงบรรเทาอาการคัดจมูก ได้ด้วย 

การใช้สมุนไพรเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการดูแลสุขภาพ ท่ามกลางปัญหามลพิษทางอากาศที่ส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจและผิวหนัง อย่างไรก็ตาม ควรใช้สมุนไพรอย่างถูกต้อง เหมาะสม และปรึกษาผู้เชี่ยวชาญก่อนใช้ เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดและปลอดภัยต่อสุขภาพ