fbpx
News update

สภาฯ ผ่านร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ด้วยคะแนนเสียง 400 เสียง มุ่งปรับแก้บทบัญญัติรองรับการหมั้น – สมรส ของบุคคลเพศเดียวกัน

การประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ 30 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง วันพุธที่ 27 มีนาคม พ.ศ.2567 ที่ประชุมได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. หรือ ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ซึ่งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ .. ) พ.ศ. …. สภาผู้แทนราษฎร พิจารณาเสร็จแล้ว

โดยมีสาระสำคัญเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติบางประการในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เพื่อรองรับให้บุคคลเพศเดียวกันสามารถหมั้นและสมรสกันได้ ซึ่งจะทำให้สิทธิ หน้าที่ และสถานะทางครอบครัวเท่าเทียมกับคู่สมรสที่เป็นชายและหญิง

อีกทั้งเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของครอบครัวที่ก่อตั้งขึ้นระหว่างบุคคลไม่ว่าจะมีเพศใด เว้นแต่จะเป็นกรณีที่มีกฎหมายอื่นกำหนดเรื่องครอบครัวหรือมรดกไว้เป็นการเฉพาะ

ทั้งนี้ที่ประชุมพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวในวาระที่ 2 โดยเริ่มตั้งแต่ชื่อร่าง คำปรารภ และเรียงลำดับมาตราจนจบร่างมีทั้งสิ้น 68 มาตรา

ส่วนมาตราที่มีการปรับแก้ไข อาทิ มาตรา 5 แก้ไขมาตรา 1435 วรรค 1 โดยกำหนดอายุการหมั้นสามารถทำได้ต่อเมื่อบุคคลทั้งสองฝ่ายมีอายุ 18 ปีบริบูรณ์แล้ว จากเดิมที่กำหนดไว้ 17 ปีบริบูรณ์ และคณะกมธ. ได้เพิ่มบัญญัติใหม่อีก 1 มาตรา เพื่อกำหนดให้บทบัญญัติแห่งกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่งใด ๆ ให้ถือว่าอ้างถึงคู่สมรสที่จดทะเบียนตามกฎหมายฉบับนี้ เพื่อลดภาระให้กับหน่วยงานต่าง ๆ ในการแก้ไขกฎหมาย และบัญญัติให้หน่วยงานรัฐทบทวนกฎหมายต่าง ๆ ที่ต้องมีการแก้ไขเพิ่มเติมเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายใน 180 วัน

นอกจากนี้ในการพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้มีคณะกมธ.เสียงข้างน้อยที่ขอสงวนความเห็นจำนวน 14 มาตรา โดยภายหลังมีการอภิปรายอย่างกว้างขวางแล้ว ที่ประชุมได้ลงมติร่างกฎหมายดังกล่าวด้วยคะแนนเสียงเห็นชอบ 400 เสียง ไม่เห็นชอบ 10 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง และไม่ลงคะแนน 3 เสียง อย่างไรก็ตามที่ประชุมเห็นชอบให้ส่งข้อสังเกตของคณะกมธ.ต่อร่างกฎหมายฉบับนี้ไปยังครม.ต่อไปด้วย 

ที่มา : วิทยุรัฐสภา