Site icon Onlinenewstime.com – News and Knowledge to sustainability

โมเดล “Innovation In Time of Crisis” เครื่องมือสำคัญเพื่อรับมือกับภาวะวิกฤตโลก

Onlinenewstime.com : วิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้อโคโรนาไวรัส 19 ส่งผลกระทบในวงกว้างไปทั่วโลก ทั้งวิถีการดำเนินชีวิต สังคม และระบบเศรษฐกิจ ทำให้ประชาคมโลก ตระหนักถึงการเตรียมพร้อม เพื่อรับมือเหตุการณ์วิกฤต ที่อาจจะมาในหลากหลายรูปแบบมากขึ้นในอนาคต

บทเรียนหนึ่งที่โลกได้รับในครั้งนี้คือ ความจำเป็นของประเทศ ที่จะต้องมีการสนับสนุนแนวทางคาดการณ์อนาคต (Foresight) ควบคู่กับการพัฒนา “นวัตกรรมเพื่อรับมือกับภาวะวิกฤต” หรือ “Innovation in time of Crisis” ซึ่งแนวคิดดังกล่าว ถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยตั้งรับ ป้องกัน และฟื้นฟู เพื่อบรรเทาผลกระทบจากวิกฤตให้เบาบางลง 

ทำความรู้จักแนวคิดนี้กันมากขึ้นกับ ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA หน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนนวัตกรรมของประเทศไทย

ดร.พันธุ์อาจ กล่าวว่า การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สร้างการเปลี่ยนแปลงต่อวิถีชีวิตของคนในสังคมเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงด้านสาธารณสุขและสุขภาวะ รวมถึงการดำเนินชีวิต ในยุคของการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing)

ทำให้มีความจำเป็นต้องมองหาโซลูชั่น เพื่อมาตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ เกิดเป็นนวัตกรรมหลากหลายรูปแบบ ทั้งในระดับบุคคล องค์กรธุรกิจ ประเทศ รวมถึงระดับโลก ตัวอย่างเช่น ประเทศจีน สามารถสร้างโรงพยาบาลสนามในเวลาไม่กี่สัปดาห์ เพื่อรองรับจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มสูงขึ้น ในประเทศไทย ก็มีเครื่องจ่ายแอลกอฮอล์แบบเท้าเหยียบที่สามารถพบเห็นได้ในสถานที่ทั่วไป ระบบและบริการออนไลน์ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในยุค Work from Home

สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็น “นวัตกรรม” ที่มาตอบสนองต่อ “ความเปลี่ยนแปลงในภาวะวิกฤต” และจะมีบทบาทในอนาคต จนกลายเป็นคำว่า “ความปกติรูปแบบใหม่ หรือ New Normal” ที่ทุกวงการกำลังปรับตัวกันในขณะนี้

นวัตกรรมการรับมือภาวะวิกฤต แบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ นวัตกรรมช่วงต้นการเกิดภาวะวิกฤต นวัตกรรมรับมือท่ามกลางภาวะวิกฤต และนวัตกรรมรับมือหลังภาวะวิกฤต โดยมีตัวแปรสำคัญ 3 ด้าน คือ

เวลา (Time) ที่ต้องถูกออกแบบ และนำมาใช้อย่างรวดเร็ว เพื่อตอบสนองและแก้ไขสามารถอย่างทันท่วงที เช่น ชุดคัดกรองเชื้อไวรัสโควิด-19 แบบรวดเร็ว นวัตกรรมสุขภาพทางไกล หรือ Telehealth ที่ช่วยให้ผู้ป่วยทั่วไป สามารถเข้าถึงการวินิจฉัยโรคจากแพทย์ได้รวดเร็วโดยไม่ต้องไปโรงพยาบาล การรายงานผลและสถานการณ์บนแพลตฟอร์มต่าง ๆ หรือแม้กระทั่งการตอบสนองในเชิงนโยบาย เพื่อกำหนดให้ผู้คนไปในทิศทางเดียวกัน ฯลฯ

ตัวแปรที่ 2 คือรูปแบบของนวัตกรรม ที่จะต้องสอดรับกับสถานการณ์ เพื่อตอบโจทย์ผู้ใช้อย่างมีประสิทธิภาพ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ เมื่อเกิดการขาดแคลนหน้ากากอนามัย ทำให้มีการแก้ไขปัญหา ด้วยการพัฒนาหน้ากากอนามัยแบบใช้ซ้ำ หรือหน้ากากผ้าสะท้อนน้ำขึ้นเพื่อทดแทน

ส่วนตัวแปรสุดท้ายคือคำว่าวิกฤต ที่ผู้พัฒนานวัตกรรม ต้องเข้าใจถึงสภาพปัญหาที่แท้จริงในสถานการณ์นั้น รู้ปัญหาระหว่างทาง และสามารถคาดการณ์ปลายทางได้ว่า จะลดความรุนแรงและแก้ไขสิ่งเหล่านั้นได้ด้วยวิธีใด

ดร.พันธุ์อาจ กล่าวต่อว่า ไม่เพียงแต่ปัญหาวิกฤตด้านสาธารณสุขที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเท่านั้น ปัญหาวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อม เช่น โลกร้อน ขยะพลาสติก ฝุ่น PM2.5 ปัญหาวิกฤตด้านภัยธรรมชาติ เช่น ไฟป่า น้ำท่วม น้ำแล้ง แผ่นดินไหว รวมถึงปัญหาวิกฤตด้านเศรษฐกิจ ที่ส่อแววชะงักงันกันทั่วโลก จำเป็นต้องอาศัยการปรับตัว เพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของ Innovation in Times of Crisis มากยิ่งขึ้น สำหรับประเทศไทย ในช่วงนี้ ก็มีความจำเป็น ที่ต้องปรับตัวเพื่อรับมือความเปลี่ยนแปลง อันเป็นผลพวงจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในหลากหลายมิติ ทั้งเรื่อง วิถีชีวิตใหม่ (Lifestyle) ที่ต้องอยู่ในภาวะเว้นระยะห่างทางสังคม การเติบโตของธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (e-commerce) ที่เปลี่ยนสังคมไปสู่ยุคดิจิทัลเร็วขึ้น ส่งผลให้พฤติกรรมผู้บริโภค ในการใช้บริการเปลี่ยนไป

สังคมไทย (Society) ที่อาจจะเกิดปัญหาทางสังคมเพิ่มขึ้น จากภาวะเศรษฐกิจถดถอย เช่น ปัญหาอาชญากรรม ปัญหาครอบครัว การรับมือภัยพิบัติ ที่จะเข้ามาซ้ำเติม อาทิ ภัยแล้ง น้ำท่วม และปัญหาแรงงาน ทั้งการเลิกจ้าง การขาดแรงงานต่างด้าว และการย้ายกลับถิ่นฐาน การรักษาระดับฐานการจ้างงานในภาคธุรกิจ เป็นต้น

รวมถึงเศรษฐกิจไทย (Economy) ที่ต้องอาศัยนวัตกรรม เพื่อยกระดับและเข้าถึงธุรกิจรูปแบบใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ตอบโจทย์ Offline-2-Online ซึ่งมีโอกาสเติบโตเพิ่มขึ้น รวมถึงมาตรการ และแนวทางช่วยเหลือเยียวยาภาคธุรกิจ ที่ได้รับผลกระทบจากการปิดประเทศ

“ที่ผ่านมานวัตกรรมเพื่อการรับมือภาวะวิกฤตในระดับโลกนั้น ยังไม่ได้ถูกให้ความสำคัญหรือตื่นตัวมากนัก ส่วนใหญ่มักมุ่งไปเรื่องเศรษฐกิจ สังคม การเปลี่ยนแปลงประชากร การชี้เทรนด์ และมักจะอยู่ในรูปแบบของสารคดี หรือภาพยนตร์เพื่อให้ความบันเทิง

แต่จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 นี้ ทำให้หลายประเทศ เริ่มตื่นตัวมากขึ้น รวมถึงในประเทศไทย ที่สามารถรับมือกับภาวะวิกฤตครั้งนี้ได้ดี สะท้อนให้เห็นถึงรูปแบบนวัตกรรมการสื่อสาร และการบริหารจัดการไม่ให้คนตื่นตระหนก

โดยเกิดจากความร่วมมือของภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ปรากฏการณ์ดังกล่าวเรียกได้ว่าเป็น DNA ของคนไทย คือ คนไทยเกิดการตื่นตัวอย่างรวดเร็ว และสามารถประยุกต์นำนวัตกรรมที่มีอยู่แล้ว เข้ามาแก้ไขปัญหาได้เป็นอย่างดี สำหรับความท้าทายต่อจากนี้ NIA มองว่าจะอยู่ที่การฟื้นฟู การ์ดอย่าตก และการแก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจระลอกใหม่ที่ประเทศไทยต้องเผชิญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้”

NIA ในฐานะหน่วยงานส่งเสริมให้เกิดการพัฒนานวัตกรรม ได้เริ่มดำเนินการฟื้นฟูและบรรเทาวิกฤตการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด – 19 มาตั้งแต่ช่วงเริ่มต้น ด้วยการดึงสตาร์ทอัพไทยด้านการแพทย์ สาธารณสุข และกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของคนในสังคมมาช่วยกันบรรเทาปัญหาต่างๆ รวมถึงการส่งเสริมนวัตกรรมลดปัญหาขยะพลาสติก การบรรเทาภัยแล้ง การขาดแคลนน้ำ ผ่านแนวคิดและโมเดลทางอาชีพใหม่ๆ

ซึ่งในวันที่ 1-4 กันยายน 2563 เราจะได้เห็นนวัตกรรมในภาวะวิกฤต ‘Innovation in Times of Crisis’ อย่างเป็นรูปธรรมในงาน STARTUP THAILAND x INNOVATION THAILAND EXPO 2020 กับมิติใหม่ของการจัดงาน ในรูปแบบโลกนวัตกรรมเสมือนจริง (Virtual World) ครั้งแรกของประเทศไทย โดยภายในงานประกอบไปด้วย 

1) การเสวนากว่า 40 หัวข้อ จากวิทยากรทั้งในประเทศและต่างประเทศกว่า 80 ท่าน

2) โอกาสในการหาคู่ค้าทางธุรกิจและการประกอบอาชีพผ่านกิจกรรมต่าง ๆ

3) การแสดงสดผ่านทางออนไลน์ (MARTech: Music, Art, Recreation Show)

4) การมอบรางวัล Prime Minister Award รายละเอียดเพิ่มเติมที่ ลิงค์ ดร.พันธุ์อาจ กล่าวทิ้งท้าย

สำหรับผู้ที่สนใจรายละเอียด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) โทรศัพท์ 02-017-5555 เว็บไซต์ และ facebook.com/NIAThailand  

Exit mobile version