fbpx
News update

IPCC เตือนอุณหภูมิโลกร้อนพุ่ง “ศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์” ชี้ประเทศไทยเสี่ยงเผชิญสภาพอากาศสุดขั้วถี่ขึ้น

Onlinenewstime.com : โลกที่ร้อนขึ้นทำให้มลพิษ PM2.5 รุนแรงขึ้น ปรากฏการณ์อากาศแปรปรวนถี่ขึ้นและรุนแรงกว่าเดิม ขณะที่ไทยยังขาดแผนรับมือรายพื้นที่ เสี่ยงเจอวิกฤตน้ำแล้ง-น้ำท่วมหนัก

ศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต และรองประธานมูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ เปิดเผยผ่านเฟสบุ้ค ถึงการประเมินสถานการณ์โลกร้อนล่าสุดร่วมกับคณะนักวิทยาศาสตร์จาก คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ว่า ตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา ผมมีภารกิจกับการประเมินสภาพอากาศกับนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกจาก IPCC

อุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นส่งผลให้สภาพอากาศเหวี่ยงสุดขั้วรุนแรงและถี่ขึ้น โดยปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ได้แก่

มลพิษทางอากาศ PM2.5 จะรุนแรงขึ้น ตามอุณหภูมิที่ร้อนขึ้น ทุก ๆ 1°C ค่า PM2.5 อาจเพิ่มขึ้น 0.5-1 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จากปฏิกิริยาทางเคมีในชั้นบรรยากาศที่เกิดจากก๊าซเรือนกระจกมากขึ้น เช่น การใช้เครื่องปรับอากาศ ยานพาหนะที่ใช้พลังงานฟอสซิล และการเผาไหม้ชีวมวล

ปรากฎการณ์อุณหภูมิผกผัน (โดยเฉพาะในชุมชนเมืองที่มีสภาพอากาศร้อน และชุมชนในหุบเขา) ปริมาณไอน้ำและเมฆในบรรยากาศจะเพิ่มขึ้น ทุก ๆ 1°C ที่อุณหภูมิสูงขึ้น การระเหยของน้ำเพิ่มขึ้นถึง 7% ส่งผลให้เกิดฝนตกหนักและภัยพิบัติที่รุนแรงขึ้น จึงทำให้ความเสี่ยงของการเกิดสภาพอากาศเหวี่ยงสุดขั้วสูงขึ้น และรุนแรงขึ้น พฤติกรรมสภาพอากาศเหวี่ยงสุดขั้วอาจจะเป็นแบบรายเดือน รายฤดูกาล รายปี ก็เป็นไปได้ทั้งสิ้น

ทั่วทุกภูมิภาคบนโลกได้รับผลกระทบแตกต่างกันจากการประเมินล่าสุดโดย IPCC ประเทศไทยก็จะได้รับผลกระทบมากขึ้นด้วย แต่ยังขาดการประเมินรายละเอียดเชิงพื้นที่ ซึ่งทำให้แต่ละจังหวัดต้องเผชิญสภาพอากาศที่แตกต่างกัน เช่น บางพื้นที่จากแล้งจัดเปลี่ยนเป็นน้ำท่วมฉับพลัน ในขณะที่บางพื้นที่เผชิญภัยแล้งยาวนาน

พร้อมยกตัวอย่างพื้นที่แต่ละจังหวัดในแต่ละภาคในปี 2567 ที่ผ่านมา สภาพอากาศแตกต่างกัน มีพฤติกรรมเหวี่ยงสุดขั้วต่างกัน (เฉดสีต่างกัน) บางจังหวัดมีแนวโน้มจากร้อนแล้งไปสู่การมีฝนตกหนัก น้ำท่วม บางจังหวัดสลับขั้วกัน

ศ.ดร.เสรี เตือนว่า ทุกภาคส่วนต้องเตรียมรับมือ ไม่ว่าจะเป็น ธุรกิจ เกษตรกรรม การท่องเที่ยว หรืออุตสาหกรรม เพราะ สภาพอากาศในอนาคตจะไม่เหมือนเดิม การบริหารจัดการน้ำในพื้นที่เป็นความท้าทายสำคัญที่ต้องเร่งปรับตัวก่อนจะสายเกินไป!