fbpx
News update

ผนึกกำลังผลักดันต่อยอด ชุดนวัตกรรมสำหรับ “แยกและเคลื่อนย้ายผู้ป่วย” รับมือโรคติดเชื้ออุบัติใหม่อุบัติซ้ำ

Onlinenewstime.com : สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) (ศลช.) พร้อมด้วยคณะวิจัยจากศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช. จัดเสวนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์การรับมือโรคโควิด-19 สู่การเตรียมความพร้อมเพื่ออนาคต

โดยมีการร่วมแถลงความสำเร็จของผลการวิจัยและพัฒนาชุดผลงานนวัตกรรมสำหรับแยกและเคลื่อนย้ายผู้ป่วยเพื่อรองรับโรคติดเชื้ออุบัติใหม่อุบัติซ้ำ ได้แก่

PETE (พีท) เปลเคลื่อนย้ายผู้ป่วยความดันลบ และ HI PETE (ไฮ พีท) เต็นท์ความดันลบสำหรับแยกผู้ป่วย ซึ่งเป็นเครื่องมือแพทย์ที่เริ่มต้นพัฒนาจากประเด็นปัญหาการขาดแคลนเครื่องมือแพทย์ที่มีประสิทธิภาพ ความปลอดภัย และตอบโจทย์การใช้งาน

จนขณะนี้สามารถพัฒนาไปถึงเวอร์ชั่นที่ได้รับการรับรองจากสํานักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และขึ้นทะเบียนบัญชีนวัตกรรมไทย ของสำนักงบประมาณ มีความปลอดภัย และมีประสิทธิภาพตามมาตรฐานสากล

รวมทั้งสามารถถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับบริษัทเอกชน และมีการนำไปใช้งานจริงกว่า 100 ชุด และสนับสนุนภารกิจการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยทั่วประเทศแล้วกว่า 120 แห่ง

ซึ่งเกิดประโยชน์กับบุคลากรทางการแพทย์และผู้ป่วยจำนวนมาก รวมทั้งยังมีราคาจำหน่ายต่ำกว่าการนำเข้าจากต่างประเทศ 2 ถึง 3 เท่า และปัจจุบันทีมวิจัยยังมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อขยายผลการนำไปใช้ประโยชน์สำหรับการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ

ตลอดจนการเข้าถึงพื้นที่พิเศษในการรับมือโรคอุบัติใหม่อุบัติซ้ำในอนาคต เมื่อวันที่ 3 ก.ค. 2566 ณ ห้องประชุม SD 601 อาคารสราญวิทย์ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี 

โดยมี นายแพทย์นพพร ชื่นกลิ่น ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข คุณวราภรณ์ สุชัยชิต ผู้อำนวยการภารกิจการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศด้านการแพทย์และสาธารณสุข สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

ดร.จิตติ์พร ธรรมจินดา ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) (ศลช.) ในฐานะหน่วยงานสนับสนุนทุนวิจัยและดำเนินงานวิจัยพัฒนา และ ดร.จุลเทพ ขจรไชยกูล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ

ร่วมแถลงบทบาทและการมีส่วนร่วมผลักดันชุดผลงานนวัตกรรมสำหรับแยกและเคลื่อนย้ายผู้ป่วยให้ประสบความสำเร็จ และเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ประเทศไทยมีความมั่นคงด้านเครื่องมือแพทย์เพื่อรองรับโรคติดเชื้ออุบัติใหม่อุบัติซ้ำ

ดร.จุลเทพ ขจรไชยกูล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ กล่าวว่า ตั้งแต่เริ่มต้นของสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกแรกในประเทศไทย ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2563 คณะวิจัยจากศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช. ได้เข้ามาแก้ปัญหาดังกล่าว

โดยได้รับความร่วมมือจากบุคลากรทางการแพทย์หลายหน่วยงาน อาทิ วชิรพยาบาล โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ และได้งบประมาณสนับสนุนเบื้องต้นจาก ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช. เร่งพัฒนานวัตกรรม PETE (พีท) เปลความดันลบสำหรับเคลื่อนย้ายผู้ป่วยโควิด-19

เพื่อช่วยลดการแพร่กระจายเชื้อโควิด และอำนวยความสะดวกในการนำผู้ป่วยเข้าเครื่องเอ็กซเรย์-ซีที สแกนโดยไม่ต้องเคลื่อนย้ายผู้ป่วยออกจากเปล และสามารถใช้เคลื่อนย้ายผู้ป่วยทั้งในสถานพยาบาลหรือเคลื่อนย้ายผู้ป่วยระหว่างโรงพยาบาลด้วยรถพยาบาล

จากนั้นจึงได้ทุนวิจัยและพัฒนาจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ในฐานะหน่วยสนับสนุนทุนวิจัยพัฒนาต่อยอดนวัตกรรม ทำการทดสอบชุดอุปกรณ์ด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัยตามมาตรฐานเครื่องมือแพทย์

จนสามารถได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่บริษัท สุพรีร่า อินโนเวชัน จำกัด และได้ขึ้นทะเบียนเป็นเครื่องมือแพทย์ กับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)

หลังจากนั้น ศูนย์ฯ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติมจาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) บริษัท มติชน จำกัด บริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) รวมถึงประชาชนที่ร่วมบริจาคงบประมาณในการพัฒนา เปล PETE ซึ่งได้ส่งมอบให้แก่หน่วยงานผู้ใช้ต่าง ๆ รวมถึงปัจจุบันแล้วกว่า 120 ชุดทั่วประเทศ

และปัจจุบัน ศูนย์ฯ ก็ได้รับทุนวิจัยจากศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) (ศลช.) เพื่อขยายผลนวัตกรรมเปล PETE สู่ตลาดทั้งในและต่างประเทศ

ดร.จุลเทพ กล่าวอีกว่า ในส่วนของ HI PETE (ไฮพีท) เต็นท์ความดันลบสำหรับแยกผู้ป่วย (Patient Isolation Chamber for Home Isolation) นั้น ศูนย์ฯ ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) โดยทีมวิจัยได้ต่อยอดองค์ความรู้จากการพัฒนาเปล PETE เป็นเต็นท์ความดันลบที่ออกแบบเพื่อใช้กับผู้ป่วยสีเขียวที่จำเป็นต้องทำ Home isolation ที่บ้าน แต่ไม่มีห้องแยกในที่อยู่อาศัย

หรือใช้สำหรับโรงพยาบาลสนาม เพื่อแยกหรือกักผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายเชื้อทางเดินหายใจ หรือทำการรักษา เช่น พ่นยา ซึ่งได้มีการทดสอบผลิตภัณฑ์จนได้มาตรฐานทั้งด้านประสิทธิภาพการกรองเชื้อ และความปลอดภัยตามมาตรฐานสากล รวมทั้งมีน้ำหนักเบาเคลื่อนย้ายง่าย

สามารถย้ายไปติดตั้งเป็นห้องรักษาพยาบาลที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายของเชื้อเป็นการชั่วคราวได้ ลดระยะเวลา ลดภาระงาน ลดความเสี่ยงในการติดเชื้อของบุคลากร ตลอดจนชิ้นงานทำความสะอาดได้ง่าย สามารถปรับเลือกขนาดเต็นท์ได้เหมาะสมตามขนาดพื้นที่

ซึ่งในการส่งมอบแก่หน่วยงานผู้ใช้แต่ละครั้ง ศูนย์ฯ ได้รับความอนุเคราะห์จากบริษัท อีสเทิร์นโพลิเมอร์กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ในการสนับสนุนเตียงสนามและอุปกรณ์ที่จำเป็น เพื่อใช้งานร่วมกับเต็นท์ความดันลบ HI PETE ด้วยดร.จุลเทพ กล่าวทิ้งท้าย 

นายแพทย์นพพร ชื่นกลิ่น ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ในฐานะหน่วยงานสนับสนุนทุนวิจัยและพัฒนานวัตกรรมครั้งนี้ กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้เห็นบทเรียนในการพัฒนางานวิจัย

ภายใต้ความร่วมมือและการขับเคลื่อนความรู้เพื่อการแก้ปัญหาในช่วงสถานการณ์วิกฤตของประเทศ ซึ่งกรณีการพัฒนานวัตกรรมวิจัยสำหรับแยกและเคลื่อนย้ายผู้ป่วย เพื่อรองรับโรคติดเชื้อฯ เป็นบทเรียนที่เห็นถึงความร่วมมือและการระดมสรรพกำลัง การนำความรู้และเทคโนโลยีมาใช้งานได้ทันท่วงที

ซึ่ง สวรส. ได้สนับสนุนให้ทีมวิจัย เอ็มเทค สวทช. ผลิตและพัฒนาชุดนวัตกรรมสำหรับแยกและเคลื่อนย้ายผู้ป่วยแบบความดันลบ ที่นอกจากจะมีความถูกต้องเหมาะสมด้านวิศวกรรมและวิชาการแล้ว ชุดนวัตกรรม เปลพีท (PETE) และเต็นท์ไฮพีท (HI PETE)

ยังพัฒนาเพื่อใช้สำหรับเป็นห้องฉุกเฉินที่ติดตั้งได้ง่าย กรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน จัดเก็บได้รวดเร็ว ซึ่งมีการพัฒนาด้านการออกแบบให้เหมาะกับบริบทการใช้งานของบุคลากรทางการแพทย์มากขึ้น

รวมทั้งการนำเข้าสู่กระบวนการทดสอบจนได้มาตรฐานทั้งด้านประสิทธิภาพการกรองเชื้อ และความปลอดภัยทางไฟฟ้าตามมาตรฐานสากล ซึ่งนวัตกรรมวิจัยดังกล่าว ยังสามารถขยายผลการใช้ประโยชน์ไปในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศตามสถานการณ์การระบาดได้อีกด้วย

นายแพทย์นพพร กล่าวอีกว่า นอกจากงานวิจัยเชิงระบบแล้ว สวรส. ยังสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ และการประเมินความคุ้มค่า โดยเฉพาะนวัตกรรมระยะปลายน้ำที่มีโอกาสของการใช้ประโยชน์ได้สูง ตลอดจนการวางแผนไปถึงการใช้และกระจายทรัพยากรอย่างทั่วถึง

เพื่อให้เกิดความยั่งยืนและความเป็นธรรมในระบบสุขภาพ โดยสนับสนุนให้เครือข่ายนักวิจัยสามารถพัฒนาอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ผลิตใช้เองในประเทศให้มีคุณภาพและมาตรฐานเทียบเคียงกับผลิตภัณฑ์ที่นำเข้าจากต่างประเทศ

ตลอดจนสนับสนุนการนำองค์ความรู้ที่มีอยู่มาทำให้เกิดการต่อยอดการใช้ประโยชน์ ซึ่งในแง่ของการรับมือความรุนแรงและผลกระทบของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคอุบัติใหม่อุบัติซ้ำ นวัตกรรมนี้ถือว่าเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยลดการพึ่งพาการนำเข้าเครื่องมือแพทย์จากต่างประเทศได้อย่างมาก

คุณวราภรณ์ สุชัยชิต ผู้อำนวยการภารกิจการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศด้านการแพทย์และสาธารณสุข สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่แพร่ระบาดมาตั้งแต่ปี 2563 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้ให้ความสำคัญต่อการสนับสนุนงานวิจัยและนวัตกรรมทางการแพทย์และสาธารณสุข ที่เกี่ยวข้องกับการสนับสนุนป้องกันและลดผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ทั้งในเชิงวิชาการ การวิจัย และนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์

โดยในส่วนเชิงวิชาการ วช. ได้สนับสนุนการศึกษาวิจัยลักษณะทางพันธุกรรมและการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ในประเทศไทย และสนับสนุนให้มีการศึกษาวิจัยโครงการประเมินผลกระทบของโควิด-19 ต่อเศรษฐกิจและสังคม

และส่วนของนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์เครื่องมือแพทย์ วช. ได้สนับสนุนทุนวิจัยแก่คณะวิจัยจากเอ็มเทค สวทช. ในปี 2564 ให้ดำเนินโครงการการขยายผลการใช้งานต้นแบบเปลเคลื่อนย้ายผู้ป่วยความดันลบ โดยได้ทำการส่งมอบให้แก่หน่วยงานผู้ใช้ 16 แห่ง

อีกทั้งได้ขึ้นบัญชีนวัตกรรมไทย โดยได้ประเมินผลกระทบต่างๆ ได้แก่ การลดต้นทุนของหน่วยงาน ด้านงบประมาณในการจัดหา/นำเข้าอุปกรณ์ทางการแพทย์ราคาแพงที่มีความจำเป็นในสถานการณ์โรคติดเชื้ออุบัติใหม่อุบัติซ้ำ อีกทั้งยังเพิ่มประสิทธิภาพและลดความเสี่ยงในการปฏิบัติภารกิจรับส่งผู้ป่วยของเครือข่ายรถพยาบาลและทีมอาสากู้ภัย เพื่อรับส่งผู้ป่วยที่ความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายเชื้อจากบ้านไปยังโรงพยาบาล

รวมไปถึงการลดโอกาสในการเกิดอุบัติเหตุและการบาดเจ็บของผู้ป่วยจากการเคลื่อนย้าย โดยเฉพาะกรณีผู้ป่วยอาการรุนแรงที่มีอุปกรณ์ช่วยชีวิตอื่นร่วมด้วย เช่น เครื่องช่วยหายใจ สายน้ำเกลือ เป็นต้น และจำเป็นต้องเคลื่อนย้ายไปรักษาในหลายแผนกภายในโรงพยาบาล

ดร.จิตติ์พร ธรรมจินดา ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) (ศลช.) หรือ TCELS กล่าวว่า หนึ่งในยุทธศาสตร์หลักของ ศลช. คือการขับเคลื่อนโครงการสำคัญ (Flagships) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขันด้านการแพทย์และสุขภาพ

โดยเน้นการส่งเสริมนวัตกรรมด้านการแพทย์และสุขภาพช่วงปลายน้ำ ได้แก่ วัสดุอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ที่เป็นนวัตกรรมระดับสูงและมูลค่าสูง ให้เป็นอันดับหนึ่งของอาเซียน โดยในปี 2566 ถึง 2568 ศลช. จะให้การสนับสนุนทุนวิจัยแก่คณะวิจัยจากเอ็มเทค ดำเนินโครงการร่วมกับบริษัทผู้ผลิตในประเทศในการขยายผลนวัตกรรมเปล PETE สู่ตลาดทั้งในและต่างประเทศ

โดยชูประเด็นการผลิตเครื่องมือแพทย์มูลค่าสูงเพื่อรองรับโรคติดเชื้ออุบัติใหม่อุบัติซ้ำในระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินที่เกี่ยวเนื่องกับการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ ซึ่งที่ผ่านมาคณะวิจัยได้ดำเนินโครงการภายใต้ความร่วมมือกับหน่วยงานด้านการแพทย์ฉุกเฉิน

อาทิ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กองบินตำรวจ โรงพยาบาลตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สถาบันเวชศาสตร์การบินกองทัพอากาศ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ  พร้อมจัดทำรายงานทางคลินิก (Clinical Safety and Performance Study)

และจัดทำผลการเก็บข้อมูลการติดตามเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์เปลเคลื่อนย้ายผู้ป่วยความดันลบ หลังผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดในประเทศ ตาม พ.ร.บ. เครื่องมือแพทย์ พ.ศ. 2562 ซึ่งเป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่องด้วยการเก็บข้อมูลจากผู้ใช้งานจริง จากสถานพยาบาลต่างๆ ทั้งโรงพยาบาลรัฐ โรงพยาบาลเอกชน มูลนิธิกู้ภัย ในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดทั่วทุกภูมิภาค

โดยมีเป้าหมายเพื่อจัดเตรียมข้อมูลเพื่อขยายผลผลิตภัณฑ์เปลเคลื่อนย้ายผู้ป่วยความดันลบเข้าสู่ตลาดต่างประเทศในภูมิภาคอาเซียน ได้แก่ การจดสิทธิบัตรระหว่างประเทศ (PCT) สำหรับเครื่องมือแพทย์

ดร.ศราวุธ เลิศพลังสันติ หัวหน้าโครงการและผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยการออกแบบเชิงวิศวกรรมและการคำนวณ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า ชุดผลงานนวัตกรรมสำหรับแยกและเคลื่อนย้ายผู้ป่วยเพื่อรองรับโรคติดเชื้ออุบัติใหม่อุบัติซ้ำที่ประกอบด้วยเปล PETE ซึ่งปัจจุบันพัฒนามาถึงรุ่นที่ 9 แล้ว และเต็นท์ HI PETE โดยเฉพาะรุ่น Balloon (บอลลูน) ที่นำเสนอในเวทีครั้งนี้

นวัตกรรมดังกล่าวมีจุดเด่นเรื่อง “ติดตั้งง่าย ปลอดภัย และได้มาตรฐาน” จึงสามารถรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินได้ทันที  ซึ่งความสำเร็จของผลงานเกิดขึ้นจากการความร่วมมือของทุกภาคส่วนมาอย่างต่อเนื่อง เริ่มตั้งแต่ผู้ใช้งานที่เป็นบุคลากรทางการแพทย์ที่ให้ข้อมูลปัญหาที่ชัดเจน

และร่วมให้ความเห็นในการพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง อาทิ วชิรพยาบาล โรงพยาบาลเซนต์เมรี่ โรงพยาบาลวิภาวดี แหล่งทุนวิจัยต่างๆ ได้แก่ สกสว. สวรส. วช. ศลช. สวทช. รวมถึงภาคเอกชน ได้แก่ เครือมติชน บริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) บริษัทอีสเทิร์นโพลิเมอร์กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) บริษัทสุพรีร่า อินโนเวชัน และประชาชนที่บริจาคให้การสนับสนุนงบประมาณในการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมให้มีความถูกต้องทางวิศวกรรมและตอบโจทย์ผู้ใช้

อีกทั้งได้รับการสนับสนุนให้ต่อยอดขยายผลอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการได้รับคำแนะนำด้านการทดสอบมาตรฐานจากกองควบคุมเครื่องมือแพทย์ สํานักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (PTEC) มาตั้งแต่ต้น

ทำให้สามารถขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ได้อย่างถูกต้องและรวดเร็ว ส่งผลดีต่อบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้ใช้อุปกรณ์ที่เชื่อมั่นได้ว่ามีมาตรฐานทั้งด้านประสิทธิภาพ และความปลอดภัย ซึ่งช่วยสร้างความมั่นใจในการปฏิบัติหน้าที่ให้กับบุคลากรผู้อยู่หน้างานได้อย่างมาก

โดยทั้งเปลและเต็นท์ความดันลบนี้ จะลดความเสี่ยงในการติดเชื้อของทีมเคลื่อนย้ายผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องทำหัตถการ มีความสะดวกในการนำผู้ป่วยเข้าเครื่องเอ็กซเรย์-ซีที สแกนปอด หรืออวัยวะส่วนอื่นๆ เนื่องจากไม่ต้องนำผู้ป่วยออกจากเปล ซึ่งแม้ว่าสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง

แต่นวัตกรรมวิจัยนี้ยังสามารถใช้ประโยชน์กับผู้ป่วยที่เป็นโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจอื่นๆ อาทิ โรคไข้หวัดใหญ่ วัณโรค เป็นต้น หรือในอนาคตอาจต้องเผชิญกับการเกิดโรคติดเชื้ออุบัติใหม่อื่นๆ ประเทศไทยก็จะมีความพร้อมในการรับมือต่อสถานการณ์ได้มากขึ้น และสามารถลดการนำเข้าเครื่องมือแพทย์จากต่างประเทศได้อย่างแท้จริงต่อไป

ด้าน ดร.จุไรรัตน์ พรหมใจ ผู้จัดการงานวิจัย สวรส. กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มีโจทย์สำคัญคือ ต้องใช้งบประมาณและทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดการใช้ประโยชน์มากที่สุด ซึ่งงานวิจัยดังกล่าวเป็นตัวอย่างของการบูรณาการงานวิจัยให้เกิดการใช้ประโยชน์ได้จริงของทุกภาคส่วนได้เป็นอย่างดี

โดยตั้งต้นจากทุนความรู้ด้านวิศวกรรมสู่การวิจัยและพัฒนาเพื่อแก้ปัญหา ซึ่งนอกจากจะใช้ประโยชน์ได้จริงแล้ว ทุกหน่วยงานที่มีส่วนในการสนับสนุนยังมีเป้าหมายเดียวกันคือ การขับเคลื่อนไปสู่การพึ่งพาตนเอง ลดการนำเข้า ตลอดจนสร้างความมั่นคงและสร้างรายได้ให้กับประเทศในอนาคต