
Onlinenewstime.com : Global Business Policy Council ของคาร์นีย์ (Kearney) บริษัทที่ปรึกษาด้านธุรกิจระดับโลกที่มีความเชี่ยวชาญในการให้คำแนะนำเชิงกลยุทธ์ ได้ประกาศผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นด้านการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ประจำปี 2568 (Foreign Direct Investment Confidence Index หรือ ดัชนี FDICI) ซึ่งเป็นผลสำรวจที่สะท้อนมุมมองของนักลงทุนต่อการไหลเวียนของการลงทุน FDI ในช่วงสามปีข้างหน้า ที่รวมถึงมุมมองของนักลงทุนต่อประเทศไทย
ดัชนี FDICI ประจำปี 2568 ซึ่ง Kearney ได้จัดทำขึ้นเป็นปีที่ 27 นี้ ได้สะท้อนมุมมองของนักลงทุนในขณะที่โลกกำลังเผชิญกับจุดเปลี่ยนที่สำคัญ
แม้ได้มีเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบและมีความสำคัญเกิดขึ้นหลังจากที่ทำการสำรวจในช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา แต่ใจความสำคัญหลักที่พบจากการศึกษาครั้งนี้ยังคงนำเสนอข้อมูลเชิงลึกที่น่าสนใจ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นเรื่องการที่นักลงทุนให้ความสำคัญต่อประสิทธิภาพของกระบวนการทางกฎหมายและการบังคับใช้กฎระเบียบต่าง ๆ รวมทั้งผลการดำเนินงานทางเศรษฐกิจของประเทศ และศักยภาพด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม
แปดตลาดจากภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่ติด 25 อันดับแรกของโลกในปีนี้ ซึ่งเท่ากับจำนวนที่ติดอันดับเมื่อปีที่ผ่านมา ประกอบด้วย ญี่ปุ่น (อันดับ 4), จีน (รวมฮ่องกง) (อันดับ 6), ออสเตรเลีย (อันดับ 10), เกาหลีใต้ (อันดับ 14), สิงคโปร์ (อันดับ 15), นิวซีแลนด์ (อันดับ 16), ไต้หวัน (อันดับ 23) และอินเดีย (อันดับ 24)
ผลการสำรวจดัชนี FDICI ของ Kearney พบว่านักลงทุนให้ความสำคัญเป็นอย่างมากกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และผลการดำเนินงานทางเศรษฐกิจของบางตลาดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ขณะที่ความท้าทายจากสภาพแวดล้อมทางภูมิรัฐศาสตร์โลกที่ซับซ้อนได้ส่งผลกระทบในแง่ลบต่อมุมมองของนักลงทุนที่มีต่อตลาดอื่น ๆ
ประเทศไทยติดอันดับที่ 10 ในดัชนี FDICI ในกลุ่มตลาดเกิดใหม่
การสำรวจดัชนี FDICI ในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ได้เปิดตัวครั้งแรกในปี 2566 เพื่อเน้นกลุ่มตลาดเกิดใหม่ที่น่าสนใจสำหรับการลงทุน FDI ในช่วงสามปีข้างหน้า โดยประเทศไทยได้อันดับที่ 10 จากกลุ่มตลาดเกิดใหม่ทั้งหมด
นักลงทุนจำนวนมากระบุว่าทักษะและความสามารถของแรงงานไทยเป็นเหตุผลหลักที่มีความน่าดึงดูดมากที่สุดสำหรับการลงทุนในประเทศไทย (34%) ตามมาด้วยเหตุผลด้านความยากง่ายในการประกอบธุรกิจ (24%) และทรัพยากรธรรมชาติ (24%) ซึ่งได้รับการจัดอันดับเป็นเหตุผลรองที่มีความน่าสนใจเท่ากัน
ชาญชัย ถนัดค้าตระกูล กรรมการผู้จัดการประจำประเทศไทยของ Kearney กล่าวว่า “ประเทศไทยได้แสดงบทบาทเชิงรุกในการส่งเสริมการลงทุนและลดอุปสรรคในการดำเนินงานของนักลงทุนต่างชาติ อย่างไรก็ตามภาวะการแข่งขันที่รุนแรงในการดึงดูดเงินลงทุน FDI จากหลายตลาด
ทำให้ประเทศจำเป็นต้องเดินหน้าพัฒนานวัตกรรมและเสริมความสามารถในการแข่งขันอย่างต่อเนื่อง โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากรที่มีทักษะ และสร้างมาตรการดึงดูดการลงทุนที่ตรงจุดสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย”
คุณชาญชัย กล่าวเสริมว่า “มาตรการภาษีศุลกากรใหม่ของสหรัฐฯ จะส่งผลกระทบต่อไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากสหรัฐอเมริกาเป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ได้แก่ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องจักรและอุปกรณ์อุตสาหกรรมรวมถึงยานยนต์ ซึ่งปัจจุบันก็ล้วนต้องเผชิญกับอุปสรรคด้านต้นทุนและข้อบังคับต่าง ๆ ที่มีความท้าทายอยู่แล้ว”
“แม้จะเผชิญความท้าทายต่างๆ ประเทศไทยยังคงรักษาจุดแข็งที่สามารถดึงดูดนักลงทุนด้วยปัจจัยพื้นฐาน ทั้งในด้านบุคลากรที่มีศักยภาพ ความสะดวกในการประกอบธุรกิจ และความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ ด้วยนโยบายเชิงรุกและมาตรการส่งเสริมการลงทุนเชิงกลยุทธ์ที่เหมาะสม ประเทศไทยจะสามารถปลดล็อกศักยภาพในการสร้างคุณค่าระยะยาว ท่ามกลางสภาพแวดล้อมโลกที่ผันผวนได้” คุณชาญชัยกล่าวสรุป
เทคโนโลยีและเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งหนุนตลาดเอเชียแปซิฟิกให้เติบโต
ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกยังคงได้รับความเชื่อมั่นจากนักลงทุน โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและพื้นฐานเศรษฐกิจที่มั่นคง
โดยเฉพาะญี่ปุ่นที่ก้าวขึ้นจากอันดับ 7 สู่อันดับ 4 เป็นหนึ่งในตัวอย่างของตลาดในภูมิภาคที่มีความเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมทางเทคโนโลยีและการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง ประกอบกับแรงหนุนจากตลาดแรงงานที่คึกคักและการปรับขึ้นค่าจ้างที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์
ในทำนองเดียวกัน เกาหลีใต้ได้แสดงผลงานที่โดดเด่นที่สุดเท่าที่เคยทำการสำรวจมา โดยขยับขึ้นจากอันดับที่ 20 มาอยู่อันดับที่ 14 โดย 41% ของนักลงทุนระบุว่าภาคเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องของเกาหลีใต้คือปัจจัยสำคัญที่ช่วยฟื้นความเชื่อมั่น ขณะที่การลงทุนอย่างมีนัยสำคัญของรัฐบาลในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ก็เป็นอีกปัจจัยที่ส่งอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงของผลการจัดอันดับในครั้งนี้
ผลการสำรวจยังพบว่านักลงทุนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก 82% ได้วางแผนเพิ่มการลงทุน FDI ในช่วงสามปีข้างหน้า และ 50% มีมุมมองต่อเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้ในเชิงบวกมากกว่าปีที่ผ่านมา
ปัจจัยระดับภูมิภาคสร้างความกดดันต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน
ความเชื่อมั่นของนักลงทุนได้รับผลกระทบจากความไม่แน่นอนที่เพิ่มขึ้น ประมาณ 43% ของนักลงทุนที่ตอบแบบสอบถามจากในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก มองว่าการปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์เป็นแนวโน้มที่น่าจะเกิดขึ้นมากที่สุดในช่วงหนึ่งปีข้างหน้า ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 14% จากปีที่ผ่านมา
การคาดการณ์ที่สูงขึ้นนี้สะท้อนให้เห็นถึงความกังวลของนักลงทุนต่อสถานการณ์ความขัดแย้งทั่วโลกที่อาจส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทาน และผลักดันให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย
การเปลี่ยนแปลงที่นักลงทุนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกคาดว่าจะเกิดขึ้นในปี 2568 อันดับที่สอง คือแนวโน้มการบังคับใช้กฎระเบียบทางธุรกิจที่เข้มงวดมากขึ้นในกลุ่มตลาดที่พัฒนาแล้ว โดยมีนักลงทุนถึง 36% ที่มีมุมมองในลักษณะนี้ โดยเพิ่มขึ้น 2% จากปีก่อน
ขณะที่ในอันดับสามมีสองประเด็นที่รับได้คะแนนเท่ากันที่ 28% ได้แก่ ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มขึ้น และสภาพแวดล้อมด้านกฎระเบียบในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ที่เข้มงวดมากยิ่งขึ้น
ประเทศจีนได้ลดอันดับลงจากที่ 3 มาอยู่ในอันดับที่ 6 สะท้อนถึงความท้าทายทางเศรษฐกิจที่ยังคงมีอยู่ โดยเฉพาะวิกฤตภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ยังไม่คลี่คลาย และความตึงเครียดทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น อย่างไรก็ดี จีนยังคงมีความโดดเด่นในด้านนวัตกรรมทางเทคโนโลยี ดังที่เห็นได้จากการเปิดตัวของ DeepSeek AI ในช่วงที่ผ่านมา
นอกจากนี้ การที่ประเทศสิงคโปร์ได้ลดอันดับลงจากอันดับที่ 12 มาอยู่ที่อันดับที่ 15 และอินเดียลดอันดับลงจากที่ 18 มาอยู่ในอันดับที่ 24 สะท้อนให้เห็นถึงความกังวลที่เพิ่มขึ้นของนักลงทุนต่อความเสี่ยงด้านการค้า และความซับซ้อนของกฎระเบียบ
ประเทศไทยโดดเด่นในด้านความเชื่อมั่นเชิงบวกสุทธิของนักลงทุนในกลุ่มตลาดเกิดใหม่
การสำรวจพบว่าความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกยังคงอยู่ในระดับสูง แม้จะมีแรงกดดันจากหลายปัจจัยก็ตาม และตลาดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงก็ใต้ยังคงมีความแข็งแกร่ง
โดยประเทศไทย มาเลเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ ติดอันดับอยู่ใน 15 ประเทศแรกด้านความเชื่อมั่นเชิงบวกสุทธิของนักลงทุน (Net Investor Optimism) ในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ ประเทศไทยยังคงโดดเด่นในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ โดยรักษาอันดับที่ 5 ด้านความเชื่อมั่นเชิงบวกสุทธิของนักลงทุนในปี 2568