fbpx
News update

เยาวชนขอนแก่น เรียนรู้การจัดการขยะ ลดปัญหาขยะล้นเมือง

นอกจากปัญหามลภาวะทางกลิ่นจากขยะตกค้างแล้วการกำจัดขยะในชุมชน โดยเฉพาะในพื้นที่ต่างจังหวัดยังคงใช้วิธีการเผาขยะ แทนการส่งต่อให้หน่วยงานเทศบาลคัดแยกอย่างถูกต้อง ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดมลพิษทางอากาศและ PM2.5 ตามมา

การจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพจึงต้องเริ่มจากการคัดแยกขยะก่อนทิ้ง พานาโซนิค จึงได้ริเริ่มกิจกรรมสร้างจิตสำนึกในการคัดแยกขยะ โดยเริ่มต้นจากการปลูกฝังให้กับเยาวชน เพื่อนำความรู้ไปใช้ในระดับครัวเรือน และต่อยอดไปยังการดูแลชุมชนและสังคมในวงกว้าง ภายใต้โครงการ “พานาโซนิค แคร์ (Panasonic Cares)”

ซึ่งเริ่มคิกออฟในจังหวัดขอนแก่น และมีแผนขยายผลไปยังจังหวัดอื่นๆ ทั่วประเทศ กิจกรรมนี้ไม่เพียงให้ความรู้เยาวชนเกี่ยวกับการคัดแยกขยะเท่านั้น แต่ยังมอบชุดถังขยะแยกประเภทแก่สถานศึกษาต่างๆ เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นให้เยาวชนได้เรียนรู้ถึงการจัดการขยะที่ถูกต้องและยั่งยืน

ซึ่งภายในกิจกรรม “พานาโซนิค ชวนแยกขยะ ลดมลภาวะในชุมชน” ได้เน้นการให้ความรู้กับน้อง ๆ ในการแยกขยะ 2 ในประเภทหลัก คือ ขยะรีไซเคิล เพื่อส่งเสริมการนำทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่ และขยะอันตราย ที่ควรแยกก่อนนำไปทิ้งเพื่อลดอันตรายจากการทิ้ง และสามารถนำเข้าสู่กระบวนการทำลายอย่างถูกวิธี

เด็กหญิงอภิชญา สิทธิ – น้องมิน นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนเทศบาลบ้านเป็ด  เผยว่า “กิจกรรมครั้งนี้หนูได้รับความรู้เยอะมากเลย และยังทำให้ได้รู้ว่าการคัดแยกขยะนั้นสำคัญมากต่อสิ่งแวดล้อมของเรา เพราะหากเราไม่ช่วยกันคัดแยกขยะผลเสียที่ตามมาจะเยอะมาก เช่น แหล่งธรรมชาติบนโลกของเราจะเกิดการปนเปื้อนจากสารเคมีที่อันตราย

ทำให้เป็นอันตรายต่อทั้งคนและสัตว์ แหล่งน้ำเน่าเสีย มนุษย์ขาดแหล่งอาหารที่ยั่งยืน นอกจากนี้ขยะบางประเภทอาจมีสารเคมีหรือเป็นขยะประเภทของมีคม ซึ่งจะทำให้พี่พนักงานเก็บขยะเสี่ยงต่อการติดเชื้อหรือเกิดปัญหาสุขภาพได้ เพราะฉะนั้นเรามาช่วยกันคัดแยกขยะไปด้วยกันนะคะ เพื่อแหล่งอาหารที่สมบูรณ์ เพื่อให้ทุกคนปลอดภัย และมีสุขภาพที่แข็งแรงค่ะ”

ทางด้าน เด็กชายภูวเรศ ธุรารัตน์ – น้องภูผา นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนเทศบาลบ้านเป็ด กล่าวเสริมว่า “การแยกขยะเป็นเรื่องที่ดีมาก ๆ เลยครับ เพราะนอกจากจะทำให้สิ่งแวดล้อมดูสะอาดขึ้นแล้ว ยังสามารถนำขยะบางประเภทกลับมารีไซเคิลใหม่เพื่อใช้งานให้เกิดประโยชน์ได้อีกครั้ง \

อีกทั้งยังทำให้การกำจัดขยะลดน้อยลงซึ่งมลพิษทางอากาศที่เกิดจากการเผาไหม้ขยะมหาศาลก็ลดลงตามไปด้วย นอกจากนี้ภายในกิจกรรมพี่ ๆ พานาโซนิคยังได้สอนผมและเพื่อน ๆ ให้รู้จักสีของถังขยะแต่ละประเภทว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร เ

พื่อให้ต่อไปสามารถนำไปทิ้งได้ถูกต้อง  เช่น “สีเขียว” สำหรับขยะเปียกที่เป็นเศษอาหารหรือผัก ซึ่งสามารถนำไปทำปุ๋ยหมักเพื่อใช้บำรุงพืชผักได้ “สีฟ้า” คือขยะทั่วไปที่ย่อยสลายยาก ไม่ว่าจะเป็นประเภทซองขนมและถุงพลาสติก ที่ต้องหาวิธีกำจัดอย่างถูกต้อง

“สีเหลือง” คือขยะรีไซเคิลที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ เช่น ขวดพลาสติก และ กล่องกระดาษ สุดท้าย “สีแดง” คือขยะอันตรายที่มีสารพิษ เช่น ยาหมดอายุ กระป๋องสเปรย์ จะต้องถูกกำจัดอย่างถูกวิธี และต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษเพราะอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อตัวเราและคนรอบข้างได้”

เด็กชายกร ถิ่นจำนงค์ – น้องกร นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนเทศบาลบ้านเป็ด   เผยว่า “โดยปกติไม่ว่าจะอยู่บ้านหรือที่โรงเรียน ผมจะคัดแยกขยะเป็นประจำ เช่น การแยกกระดาษทิชชูที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้ทิ้งในถังขยะทั่วไป และล้างกล่องนมก่อนทิ้งเพื่อให้สามารถนำกลับมารีไซเคิลได้อีกครั้ง

ตอนนี้ผมได้เรียนรู้สิ่งใหม่ที่ไม่เคยทราบมาก่อน คือการแยกขยะอันตรายให้ถูกต้อง อย่างเช่น ถ่านไฟฉายควรทิ้งในถังขยะสีแดง เพราะมีสารเคมีที่เป็นอันตราย หากทิ้งร่วมกับขยะทั่วไปอาจทำให้เกิดการปนเปื้อนกับสิ่งแวดล้อมและส่งผลเสียต่อสุขภาพ สำหรับความรู้ที่ผมได้รับในวันนี้ ผมตั้งใจจะนำไปบอกเล่าให้ทุกคนในครอบครัวและเพื่อนบ้านในชุมชนได้รู้ว่าการคัดแยกขยะที่ถูกต้องส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมและชีวิตของเรายังไงครับ”

สุดท้ายนายฮิเดคาสึ อิโตะ ซีอีโอ กลุ่มบริษัทพานาโซนิค ในประเทศไทย กล่าวว่า กิจกรรมมอบ “ชุดถังขยะแยกประเภท” เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “พานาโซนิค แคร์ (Panasonic Cares)” ที่เราได้ดำเนินการต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 2 ภายใต้แนวคิด For the Wellbeing of People, Society and the Planet ซึ่งมุ่งส่งเสริมการคัดแยกขยะอย่างถูกต้องให้กับเยาวชนไทย

โดยเริ่มจัดกิจกรรมนำร่องที่โรงเรียนเทศบาลบ้านเป็ด จังหวัดขอนแก่น ปีนี้พานาโซนิคฯ ได้ขยายการดำเนินงานจาก 3 มิติของ Sustainable Development Goals (SDGs) ไปอีก 2 มิติใหม่ ได้แก่ “ขจัดความยากจน” และ “การบริโภคและการผลิตอย่างมีความรับผิดชอบ”

พานาโซนิคฯ หวังว่ากิจกรรมนี้จะไม่เพียงแต่สร้างความตระหนักรู้และแรงบันดาลใจในการคัดแยกขยะอย่างถูกต้อง แต่ยังช่วยปลูกฝังนิสัยที่ดีให้กับเยาวชนในการดูแลสิ่งแวดล้อม และมีส่วนร่วมในการสร้างสังคมที่สะอาดและยั่งยืนสำหรับอนาคตที่ดีกว่าให้กับทุกคน