Site icon Onlinenewstime.com – News and Knowledge to sustainability

สจล. ลงพื้นที่สำรวจจุดเกิดเหตุโครงสร้างสะพานยกระดับอ่อนนุช-ลาดกระบัง พังถล่ม คาดสาเหตุจากอุปกรณ์ตัวร้อยคานคอนกรีต (Launcher) รับน้ำหนักไม่ไหวจึงพลิกตัว

Onlinenewstime.com : ทีมวิศวกรและผู้เชี่ยวชาญวิศวกรรมโยธา สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ประกอบด้วย รศ. ดร.คมสัน มาลีสี อธิการบดี รศ.สุพจน์ ศรีนิล รองอธิการบดีด้านกายภาพ สิ่งแวดล้อม และทรัพย์สิน และทีมงาน ลงพื้นที่สำรวจจุดเกิดเหตุ กรณีสะพานยกระดับอ่อนนุช-ลาดกระบัง พังถล่ม บริเวณหน้าโลตัสลาดกระบัง ถนนหลวงแพ่ง แขวงทับยาว เขตลาดกระบัง มีผู้เสียชีวิต 2 ราย และบาดเจ็บอีกกว่า 10 ราย รถและอาคารพาณิชย์เสียหาย

คาดการณ์สาเหตุมาจากลวดสลิงขาด อุปกรณ์ ตัวร้อยคานคอนกรีต หรือ ลอนเชอร์ (Launcher) รับน้ำหนักไม่ไหวจึงพลิกตัว ทำให้พื้นทางคอนกรีตที่อยู่ระหว่างการติดตั้งหลุดจากหัวเสาตอม่อถล่มลงมา พร้อมข้อเสนอแนะป้องกันปัญหา

ในวันเกิดเหตุ 10 ก.ค. 66 เวลา 18.08 น. เป็นช่วงที่คนเลิกงานกำลังเดินทางกลับบ้าน ในที่เกิดเหตุเป็นโครงการก่อสร้างทางยกระดับอ่อนนุช-ลาดกระบัง ซึ่งมีกำหนดแล้วเสร็จในเดือน ธ.ค.2567 ได้พังครืนทั้งตัวคานและเสาทรุดลงมาจากความสูงประมาณ 20 เมตร

ทำให้เศษซากคอนกรีต โครงเหล็ก ตัวคาน เสาหล่นทับรถที่ผ่านไปมาบริเวณถนนอ่อนนุช-ลาดกระบังได้รับความเสียหาย มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ อุบัติเหตุครั้งนี้ทำให้การจราจรติดขัดเป็นพื้นที่กว้างจากการพังถล่มเป็นทางยาวกว่า 300 เมตร เจ้าหน้าที่การไฟฟ้าเข้าตัดกระแสไฟฟ้าและเคลียร์สายไฟเพื่อให้รถเครนสามารถเข้าไปเคลียร์พื้นที่

รศ. ดร.คมสัน มาลีสี อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า ความปลอดภัยสาธารณะ (Public Safety) เป็นสิ่งที่หน่วยงานรัฐและเอกชนทุกภาคส่วนต้องตระหนักและปฏิบัติตามหลักวิศวกรรมความปลอดภัย เพื่อให้เกิดความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ตลอดจนภาพลักษณ์อันดีของประเทศไทย

เหตุการณ์แบบนี้ไม่ค่อยเกิดขึ้น สาเหตุที่แน่ชัดของสะพานพังถล่มที่ย่านลาดกระบังยังต้องรอการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่จากการคาดการณ์เบื้องต้น สาเหตุความเป็นไปได้ มีหลายสาเหตุ โดยอาจเกิดจากตัวโครงเหล็กที่ยึดกับตอม่อสะพานเอียง แล้วล้มลงไปทางด้านซ้าย

ทำให้ตัวโครงสร้างเหล็กสีฟ้า ที่เรียกว่า‘ลอนเชอร์’ (Girder Launcher Crane) ที่ใช้ร้อยคานคอนกรีต ซึ่งทำหน้าที่นำเอาคานคอนกรีตหลายชิ้นมาต่อเรียงกันแล้วร้อยด้วยลวดสลิง ขณะกำลังดึงลวดสลิงนั้นเกิดเสียงดังลั่นคล้ายระเบิด จึงเป็นไปได้ว่าอาจมีลวดเส้นใดเส้นหนึ่งขาด

แล้วเกิดแรงสั่นไหวทำให้ตัวร้อยคานคอนกรีต (Girder Launcher Crane) ซึ่งตั้งอยู่บนหัวเสาสะบัดแรงพลิกตัวหักลง และด้วยน้ำหนักที่มากส่งผลให้ตอม่อทั้ง 2 ข้างบิดรุนแรง โดยชุดหนึ่งโค่นลง และตอม่ออีกชุดหนึ่งฉีกขาดออกจากกัน ทำให้โครงสร้างคานคอนกรีตที่ยังไม่เสร็จสมบูรณ์พังทลายลง

รศ. สุพจน์ ศรีนิล รองอธิการบดีฝ่ายกายภาพสิ่งแวดล้อมและทรัพย์สิน สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า ความจำเป็นเร่งด่วนขณะนี้ คือการประเมินความปลอดภัยของโครงสร้างที่ได้รับความเสียหายมาก เพื่อมิให้เกิดการพังถล่มต่อเนื่อง

ข้อควรระมัดระวังในการเคลียร์พื้นที่ตอนนี้ คือ สะพานลงมาอยู่ที่ชั้นพื้นดินแล้ว ห้ามคนเข้าไป ต้องเอาผู้เชี่ยวชาญมาตัดตัวสะพานเป็นชิ้นๆ แล้วค่อยยกออก ถึงจะดำเนินการต่อไปได้

ส่วนการตรวจสอบหาสาเหตุในรายละเอียดที่ต้องทำเช่น ควรตรวจสอบการเสริมเหล็กกับคอนกรีต เนื่องจากในการออกแบบ ต้องออกแบบเผื่อ ‘การบิดตัว’ ซึ่งการบิดตัวที่กล่าวถึง เกิดจากตัวสะพานไม่อยู่ในจุดส่วนกลาง แต่เบี่ยงไปทางซ้าย พอเบี่ยงไปทางซ้าย ทำให้ตอม่อบิดไปด้วย จนเกิดการขาดของตอม่อ

หลังจากนี้ต้องมีการตรวจสอบว่า อุปกรณ์เครื่องมือไม่มีความพร้อมหรือไม่ เพราะปกติการก่อสร้างสะพานก็ใช้วิธีนี้ เป็นทำทั่วไป แต่เพราะอะไรโครงยึดถึงเอียงตัวได้

อาจต้องไปตรวจสอบถึงการดีไซน์เสาตอม่อเสริมเหล็กเป็นอย่างไร เพราะขาดหลุดไปเลย ความบางความหนาไม่เกี่ยวกัน ขึ้นกับความแข็งแรงของการเสริมเหล็ก สำหรับการตรวจสอบความปลอดภัยของอาคารที่อยู่อาศัยโดยรอบ ต้องใช้เวลาตรวจสอบประมาณ 2-3 สัปดาห์      

ส่วนข้อสังเกตเรื่องชั้นดินนั้น รศ. สุพจน์ ศรีนิล  อธิบายว่า เสาเข็มที่รับตอม่อเป็นเข็มยาว 60 เมตร ถึงชั้นดินแข็ง เรื่องการบกพร่องของเข็มโดยทั่วไปจะมีการทดสอบก่อน แม้โอกาสที่จะเกิดปัญหาที่ชั้นดินมีน้อยแต่ก็ต้องใช้เวลาตรวจสอบอีกเช่นกัน ทั้งนี้ยังเป็นการวิเคราะห์เบื้องต้นและคาดการณ์ตามหลักวิศวกรรมเท่านั้น

ผศ. ดร. อาทิตย์ เพชรศศิธร ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกายภาพ สิ่งแวดล้อมและทรัพย์สิน สจล. กล่าวสรุปถึงข้อเสนอแนะจาก สจล. ว่า หน่วยงานภาครัฐที่เป็นเจ้าของโครงการก่อสร้างต่างๆ ควรดูแลและตรวจสอบการปฏิบัติงานของผู้รับจ้าง

โดยให้ผู้รับจ้างปฏิบัติตามแผนปฏิบัติงานความปลอดภัยในการก่อสร้างและควรต้องรายงานผลการปฏิบัติงานด้านความปลอดภัยดังกล่าวให้กับเจ้าของโครงการรับทราบตามรอบระยะเวลาที่กำหนด

ในขณะที่ผู้ประกอบการ หรือผู้รับเหมาก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ควรจัดทำแผนปฏิบัติงานความปลอดภัยในการทำงานอย่างละเอียดและชัดเจน มีวิศวกรควบคุมงานที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในการก่อสร้างสิ่งก่อสร้างนั้นๆ ประจำอยู่ในสถานที่ก่อสร้างตลอดระยะเวลาที่มีการก่อสร้าง และควรจัดฝึกอบรมความปลอดภัยในการทำงานให้กับพนักงานทุกคนอย่างสม่ำเสมอ

Exit mobile version