Onlinenewstime.com : กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาท ในสัปดาห์นี้ว่า เงินบาทสัปดาห์นี้มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 35.80-36.55 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดแข็งค่าที่ 36.20 บาท/ดอลลาร์ หลังซื้อขายในช่วง 36.06-36.55 บาท/ดอลลาร์
เงินดอลลาร์แข็งค่าเทียบกับสกุลเงินสำคัญส่วนใหญ่ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะที่ข้อมูลเศรษฐกิจส่วนใหญ่ของสหรัฐฯยังคงบ่งชี้ถึงความแข็งแกร่งเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่น ทางด้านธนาคารกลางยุโรป(อีซีบี)มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยเงินฝากไว้ที่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 4% หลังปรับขึ้นดอกเบี้ยมาแล้ว 10 ครั้งติดต่อกัน
โดยประธานอีซีบีส่งสัญญาณว่าจะคงนโยบายการเงินไว้ตามเดิมต่อไปท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจอ่อนแอในยูโรโซน แต่หากความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ส่งผลให้ราคาพลังงานพุ่งขึ้นจะเพิ่มความเสี่ยงต่อแนวโน้มเงินเฟ้อ นอกจากนี้ อีซีบีไม่ได้หารือกันเกี่ยวกับการเลื่อนเวลายุติ Reinvestments ในโครงการซื้อสินทรัพย์ฉุกเฉินเพื่อบรรเทาผลกระทบจากโรคระบาด (PEPP) ให้เร็วขึ้นจากเดิม
ทั้งนี้ สหรัฐฯรายงานจีดีพีไตรมาส 3 ขยายตัว 4.9% ซึ่งสูงสุดในรอบเกือบ 2 ปี ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิ 2,598 ล้านบาท แต่มียอดซื้อพันธบัตร 9,695 ล้านบาท ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิ 2,598 ล้านบาท แต่มียอดซื้อพันธบัตร 9,695 ล้านบาท
สำหรับภาพรวมในสัปดาห์นี้ กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรี มองว่า ตลาดจะให้ความสนใจกับผลการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น(บีโอเจ)ซึ่งอาจมีการปรับนโยบาย Yield Curve Control (YCC) เพิ่มเติมในวันที่ 31 ต.ค. ส่วนธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด)มีแนวโน้มคงดอกเบี้ยไว้ที่ 5.25-5.50% ในวันที่ 1 พ.ย.
ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯปรับตัวสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญนับตั้งแต่การประชุมเฟดเมื่อเดือนก.ย.และนักลงทุนไม่มั่นใจว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯจะสามารถรักษาอัตราการเติบโตที่สูงมากไว้ได้ในระยะข้างหน้า นอกจากนี้ คาดว่าธนาคารกลางอังกฤษ(บีโออี)จะคงดอกเบี้ยที่ 5.25%
โดยท่าทีการสื่อสารของธนาคารกลางหลักหลายแห่งดังกล่าวและข้อมูลการจ้างงานเดือนต.ค.ของสหรัฐฯมีแนวโน้มสร้างความผันผวนให้กับอัตราแลกเปลี่ยนซึ่งอาจกระตุ้นให้ทางการญี่ปุ่นตัดสินใจเข้าพยุงค่าเงินเยนโดยเฉพาะในกรณีที่บีโอเจคงนโยบาย YCC ไว้ตามเดิม
สำหรับประเด็นในประเทศ นักลงทุนจะติดตามตัวเลขดุลบัญชีเดินสะพัดเดือนก.ย. ทางด้านสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.)ปรับลดคาดการณ์จีดีพีไทยปี 66 เป็นเติบโต 2.7% จากเดิมคาดว่าจะขยายตัว 3.5% โดยอ้างถึงการหดตัวของส่งออกและการบริโภคภาครัฐ ส่วนในปี 67 คาดว่าเศรษฐกิจจะเติบโต 3.2% ซึ่งยังไม่รวมผลของโครงการ Digital Wallet