fbpx
News update

กรุงศรีคาดเงินบาทสัปดาห์นี้ซื้อขายในกรอบ 34.90-35.50 กังวลเศรษฐกิจจีน

Onlinenewstime.com : กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาท ในสัปดาห์นี้ว่า เงินบาทสัปดาห์นี้มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 34.90-35.50 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดอ่อนค่าที่ 35.06 บาท/ดอลลาร์ หลังซื้อขายในช่วง 34.62-35.19 บาท/ดอลลาร์ ในสัปดาห์ที่ผ่านมา

โดยเงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 1 เดือน เงินดอลลาร์เดินหน้าแข็งค่าเทียบกับทุกสกุลเงินสำคัญในสัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตร(บอนด์ยิลด์)สหรัฐฯปรับตัวสูงขึ้นถึงแม้ข้อมูลบ่งชี้ว่าเงินเฟ้อชะลอตัวลง โดยดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปเดือนก.ค.ของสหรัฐฯเพิ่มขึ้น 3.2% เทียบกับที่เพิ่มขึ้น 3.0% ในเดือนมิ.ย.

ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 4.7% ซึ่งเป็นอัตราต่ำสุดในรอบเกือบ 2 ปี โดยท่าทีแบ่งรับแบ่งสู้จากเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด) ดัชนีราคาผู้ผลิตรวมถึงผลประมูลพันธบัตรท้ายสัปดาห์ดึงบอนด์ยิลด์ขึ้นโดยเฉพาะตราสารระยะยาว

ขณะที่สัญญาล่วงหน้าสะท้อนว่าเฟดจะคงดอกเบี้ยนโยบายในกรอบ 5.25-5.50% ทั้งนี้ จะมีข้อมูล CPI อีกหนึ่งชุดก่อนการประชุมวันที่ 19-20 ก.ย. ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิ 116 ล้านบาท และขายพันธบัตร 17,835  ล้านบาท โดยมีตราสารหนี้ครบอายุ 7,161 ล้านบาท

สำหรับภาพรวมในสัปดาห์นี้ กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรี ระบุว่า ตลาดจะให้ความสนใจกับตัวเลขยอดค้าปลีกเดือนก.ค.ของสหรัฐฯ รวมถึงรายงานการประชุมนโยบายเฟดเมื่อวันที่ 25-26 ก.ค. โดยในกรณีที่ข้อมูลยังแข็งแกร่งและเฟดยึดเหนี่ยวกับมุมมองที่ว่าภาวะเงินเฟ้อยังไม่คลายตัวลงในระดับที่เฟดพอใจ

นักลงทุนอาจปรับเลื่อนการคาดการณ์เกี่ยวกับจังหวะเวลาสำหรับการลดดอกเบี้ยครั้งแรกออกไป นอกจากนี้ หากผู้ร่วมตลาดกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจจีนมากขึ้นท่ามกลางภาวะตึงเครียดในภาคอสังหาริมทรัพย์ เรามองว่าเงินดอลลาร์จะแกว่งตัวในกรอบที่แข็งค่าต่อไปในระยะสั้นนี้

สำหรับประเด็นในประเทศ มองว่า ผู้ว่าการธปท.ให้ความเห็นว่าเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวต่อเนื่องจากการบริโภคภาคเอกชนและการท่องเที่ยว แต่คาดว่าธปท.จะปรับลดประมาณการอัตราการเติบโตเศรษฐกิจในปีนี้ และปี 67 ลงจากเดิมที่คาดไว้ที่ 3.6% และ 3.8% ตามลำดับ เนื่องจากภาคส่งออกชะลอตัว

ส่วนการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 27 ก.ย. ผู้ว่าการฯระบุว่ามีโอกาสทั้งการคงดอกเบี้ยหรือปรับขึ้นดอกเบี้ย ขณะที่ไม่ได้วิตกเกี่ยวกับความล่าช้าในการตั้งรัฐบาลมากนัก อย่างไรก็ดี ธปท.มองว่านโยบายของรัฐบาลใหม่ไม่ควรเน้นประชานิยมสุดโต่ง แต่ควรให้ความสำคัญกับเสถียรภาพในระยะยาว