fbpx
News update

วิจัยกรุงศรีเผยบทวิเคราะห์ภาวะเศรษฐกิจและการเงิน (ฉบับวันที่ 10 ก.ย. 67)

เศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัวต่อเนื่องแต่ยังไม่เข้าสู่ภาวะถดถอย ในเดือนสิงหาคม ดัชนี PMI ภาคการผลิตอยู่ที่ 47.2 หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ขณะที่ตัวเลขการเปิดรับสมัครงาน (JOLTS) ในเดือนกรกฎาคมปรับตัวลงสู่ระดับ 7.67 ล้านตำแหน่ง ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2564

นอกจากนี้ ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 142,000 ตำแหน่ง หลังจากเพิ่มขึ้น 89,000 ตำแหน่งในเดือนกรกฎาคม ส่วนอัตราการว่างงานปรับตัวลงสู่ระดับ 4.2% จากเดือนก่อนที่ 4.3% ในส่วนของตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงานเพิ่มขึ้น 3.8% YoY จากเดือนก่อนที่ 3.6%

ภาวะการเงินตึงตัวคาดว่าจะส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐมีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปีนี้จนถึงปีหน้า อย่างไรก็ตาม โอกาสที่สหรัฐฯจะเข้าสู่ภาวะถดถอย (recession) ยังค่อนข้างต่ำจาก (i) การว่างงานที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่เกิดจากการขยายตัวของกำลังแรงงานที่เร็วกว่าการสร้างงาน ไม่ใช่การถูกเลิกจ้าง

(ii) การเติบโตของกิจกรรมภาคบริการที่มีสัดส่วนราว 80% ของ GDP โดยในเดือนสิงหาคม ดัชนี PMI ภาคบริการขยายตัวดีขึ้นสู่ระดับ 57.3 จากเดือนก่อนที่ 57 (iii) การบริโภคภาคเอกชนที่ยังขยายตัวได้ดีแม้ความเชื่อมั่นปรับลดลง

การฟื้นตัวของเศรษฐกิจยูโรโซนยังเปราะบางและมีความไม่แน่นอนสูง ในเดือนสิงหาคม ดัชนี PMI ภาคการผลิตอยู่ที่ 45.8 หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 22 อย่างไรก็ตาม ดัชนี PMI ภาคบริการขยายตัวดีขึ้นสู่ระดับ 52.9 ทำระดับสูงสุดในรอบ 3 เดือน

ในส่วนของดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ลดลง -2.1% YoY ในเดือนกรกฎาคม จากเดือนก่อนหน้าที่ -3.3% นอกจากนี้ ตัวเลข GDP ไตรมาส 2 ของยูโรโซน ขยายตัวเพียง 0.2% QoQ ต่ำกว่าตัวเลขประมาณการเบื้องต้นที่ 0.3% โดยการลงทุนยังคงเป็นปัจจัยฉุดรั้งเศรษฐกิจ ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนเติบโตต่ำกว่าคาด

แม้ว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจยูโรโซนในภาคบริการจะดีขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากได้รับแรงหนุนจากการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่ฝรั่งเศสในเดือนสิงหาคม แต่การบริโภคภาคเอกชนยังคงฟื้นตัวอย่างช้าๆ จากความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจในระยะข้างหน้าที่สะท้อนจากอัตราการออมของครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นซึ่งเป็นสัญญาณว่าครัวเรือนเริ่มใช้จ่ายอย่างระมัดระวังมากขึ้น

ขณะเดียวกันต้นทุนทางการเงินที่สูงยังคงเป็นสาเหตุของอัตรากำไรของภาคธุรกิจที่ปรับลดลงและอาจทำให้การลงทุนและการจ้างงานลดลง สอดคล้องกับดัชนี PMI ภาคการผลิตที่หดตัวต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ความเสี่ยงจากการกีดกันทางค้ากับจีนและความไม่แน่นอนของนโยบายหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะเป็นปัจจัยที่สร้างความท้าทายต่อการฟื้นตัวของยูโรโซน ดังนั้น จากปัจจัยดังกล่าววิจัยกรุงศรีคาดว่า ECB จะปรับลดดอกเบี้ยอีก 2 ครั้ง ซึ่งจะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบาย ณ สิ้นปีอยู่ที่ 3.25%

ภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนยังซบเซาต่อเนื่อง ขณะที่สงครามทางการค้าและเทคโนโลยีมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ยอดขายบ้านใหม่ของผู้พัฒนาอสังหาฯ 100 อันดับแรกหดตัวเร่งขึ้นจาก -19.7% YoY ในเดือนกรกฎาคมเป็น -22.8% ในเดือนสิงหาคม หลังจากกระเตื้องขึ้นบ้างในช่วงเดือนเมษายนถึงมิถุนายน

ขณะที่รัฐบาลกำลังพิจารณามาตรการรีไฟแนนซ์สินเชื่อบ้านมูลค่า 5.4 ล้านล้านดอลลาร์ ด้านความขัดแย้งทางการค้าและเทคโนโลยียังขยายตัวต่อเนื่อง

ล่าสุด จีนประกาศตรวจสอบพฤติกรรมการทุ่มตลาดของแคนาดาสำหรับน้ำมันคาโนลาและเคมีภัณฑ์ นอกจากนี้ จีนเตือนจะตัดการเข้าถึงแหล่งแร่สำคัญในการผลิตยานยนต์หากญี่ปุ่นจำกัดการขายและซ่อมบำรุงเครื่องจักรผลิตชิปให้กับบริษัทสัญชาติจีน ขณะเดียวกันสหรัฐฯ มีแผนขยายการควบคุมการส่งออกเทคโนโลยีขั้นสูงไปยังจีนเพิ่มเติม เช่น คอมพิวเตอร์ควอนตัม เซมิคอนดัคเตอร์

ภาคการผลิตที่อ่อนแอ ภาคบริการที่ขยายตัวชะลอลง ความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ยังไม่ฟื้นตัว และความซบเซาในภาคอสังหาริมทรัพย์ ล้วนเป็นปัจจัยที่อาจส่งผลให้เศรษฐกิจจีนในไตรมาสที่ 3 ขยายตัวต่ำกว่าไตรมาสก่อนหน้า

ขณะที่เศรษฐกิจจีนในไตรมาสที่ 4 เสี่ยงที่จะเผชิญกับการส่งออกที่ชะลอลงจากความขัดแย้งทางการค้าที่ทวีความรุนแรงขึ้น ส่วนภาคอสังหาริมทรัพย์คาดว่าจะชะลอตัวต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปี แม้อาจกระเตื้องขึ้นบ้างจากมาตรการรีไฟแนนซ์สินเชื่อบ้าน

ดังนั้นผลบวกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจล่าสุดอาจไม่เพียงพอที่จะทำให้เศรษฐกิจจีนในปีนี้เติบโตได้ตามเป้าหมายของรัฐบาลที่ราว 5% ท่ามกลางกับปัจจัยลบที่จีนเผชิญอยู่

แม้เงินเฟ้อล่าสุดชะลอลงแต่ยังมีแนวโน้มกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงปลายปี ส่วนภาคท่องเที่ยวฟื้นตัวเข้าใกล้ 90% ของช่วงก่อนเกิดโควิด

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนสิงหาคมชะลอลงต่ำสุดในรอบ 4 เดือน แต่เงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้น คาดกนง.คงดอกเบี้ยนโยบายจนถึงสิ้นปีนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนสิงหาคมอยู่ที่ 0.35% YoY ชะลอลงจาก 0.83% ในเดือนกรกฏาคม ผลจากราคาสินค้าในหมวดที่มิใช่อาหารและเครื่องดื่มที่ปรับลดลง (-0.68%) ตามการลดลงของราคาสินค้าสำคัญในหมวดพลังงานและหมวดเคหสถาน อาทิ ก๊าซโซฮอล์ ค่ากระแสไฟฟ้า

ขณะที่ราคาสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ปรับเพิ่มขึ้น (+1.83%) จากการสูงขึ้นของราคาสินค้าในกลุ่มอาหาร โดยเฉพาะผักสดและผลไม้สด เนื่องจากปริมาณผลผลิตได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ฝนตกหนักและอุทกภัยในบางพื้นที่เพาะปลูก

ด้านอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (หักราคาหมวดอาหารสดและพลังงาน) อยู่ที่ 0.62% เพิ่มขึ้นจาก 0.52% ในเดือนกรกฎาคม สำหรับในช่วง 8 เดือนแรกของปี (มกราคม-สิงหาคม) อัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ยอยู่ที่ 0.15% และ 0.44% ตามลำดับ

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนสิงหาคมแม้ชะลอลงมาอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 4 เดือน แต่คาดว่าในช่วงที่เหลือของปีมีแนวโน้มปรับขึ้นและทยอยกลับเข้าสู่กรอบเงินเฟ้อเป้าหมายที่ 1-3% ได้ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้

ส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานของราคาน้ำมันดีเซลที่ต่ำในปีก่อนที่ 30 บาทต่อลิตร เทียบกับปัจจุบันที่กำหนดเพดานที่ 33 บาทต่อลิตร นอกจากนี้ สถานการณ์อุทกภัยในบางพื้นที่เพาะปลูกอาจส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรบางประเภทปรับสูงขึ้นได้ รวมถึงสถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจส่งผลต่อความผันผวนของราคาสินค้าโภคภัณฑ์

สำหรับมุมมองด้านดอกเบี้ยนโยบาย วิจัยกรุงศรีคาดว่ากนง.มีแนวโน้มคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.50% จนถึงสิ้นปี เนื่องจากเศรษฐกิจอาจได้แรงหนุนเพิ่มจากนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่ที่จะมีการดำเนินมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายผ่านกลุ่มเปราะบาง 14.5 ล้านคน ในเดือนกันยายนนี้

อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตาม (i) ประเด็นที่กนง.แสดงความกังวลไว้เกี่ยวกับภาวะการเงินที่ตึงตัวขึ้น โดยเฉพาะผลกระทบของคุณภาพสินเชื่อที่ด้อยลงซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจและการเงิน (ii) แนวโน้มการปรับลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ และแรงกดดันจากการลดดอกเบี้ยในภูมิภาค (Peer pressure)

และ (iii) มาตรการทางการคลัง ประเด็นดังกล่าวอาจส่งผลให้กนง.อาจมีการทบทวนการดำเนินนโยบายทางการเงินในระยะข้างหน้าได้

จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในช่วง 8 เดือนแรกของปีอยู่ที่ 23.6 ล้านคน ทั้งปีวิจัยกรุงศรียังคงคาดการณ์ไว้ที่จำนวน 35.6 ล้านคน กองเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและกีฬารายงานจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในเดือนสิงหาคม 2.96 ล้านคน ขยายตัว 20.1% YoY ลดลงเล็กน้อยจากเดือนกรกฏาคมที่ 3.1 ล้านคน 

ทั้งนี้ ในช่วง 8 เดือนแรกของปี มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยรวมทั้งสิ้น 23.6 ล้านคน ขยายตัว 23.9% โดยจำนวนนักท่องเที่ยวสะสมสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ จีน 4.79 ล้านคน มาเลเซีย 3.28 ล้านคน อินเดีย 1.36 ล้านคน เกาหลีใต้ 1.25 ล้านคน และรัสเซีย 1.08 ล้านคน

ภาคท่องเที่ยวยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของการเติบโตทางเศรษฐกิจ และมีแนวโน้มฟื้นตัวเข้าใกล้สู่ช่วงก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 โดยในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยแล้วคิดเป็น 89% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2562 (ก่อนเกิดการระบาดโควิด)

โดยจำนวนนักท่องเที่ยวจากมาเลเซีย อินเดีย เกาหลีใต้ และรัสเซีย กลับมาสูงใกล้เคียงหรือสูงกว่าช่วงก่อนเกิดโควิดแล้ว (100-125%) ขณะที่นักท่องเที่ยวจีนแม้มีจำนวนมากสุด แต่เมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดโควิดยังอยู่ที่ประมาณ 63%

ส่วนรายได้จากการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติรวมทั้งสิ้น 1.11 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 89% ของช่วงเดียวกันในปี 2562

สำหรับในช่วง 4 เดือนที่เหลือของปี คาดว่ามีโอกาสที่นักท่องเที่ยวต่างชาติจะเฉลี่ยราว 3 ล้านคนต่อเดือน โดยมีปัจจัยหนุนจากมาตรการขยายวีซ่าฟรีให้แก่ 93 ประเทศ ประกอบกับมีช่วงวันหยุดยาวของจีน (Golden week) และการเข้าสู่ช่วงไฮซีซั่นของท่องเที่ยว วิจัยกรุงศรีจึงยังคงคาดการณ์ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งปีจะอยู่ที่ 35.6 ล้านคน