Site icon Onlinenewstime.com – News and Knowledge to sustainability

ม.มหิดลชี้อันตรายจากโรคไวรัสตับอักเสบ ป้องกันก่อนคุกคามชีวิต

แพทย์หญิงเจนจิรา ทองดี แพทย์อายุรกรรมโรคระบบทางเดินอาหาร ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า โรคตับอักเสบจากเชื้อไวรัสที่พบในปัจจุบันมีทั้ง เอ บี ซี ดี และอี

แม้วัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบจะมีเพียง 2 ชนิด ได้แก่ วัคซีนป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบ “เอ” และ “บี” แต่หากได้รับการฉีดจนครบตามจำนวนเข็มที่กำหนด จะทำให้สามารถดำเนินชีวิตด้วยความมั่นใจ โดยทั้ง 2 โรคอาจเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตจากภาวะตับล้มเหลวเฉียบพลัน

ไวรัสตับอักเสบแต่ละชนิดสามารถติดต่อได้แตกต่างกัน ได้แก่ “เอ” สามารถติดต่อได้จากอาหารและน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัสก่อโรค ในขณะที่ไวรัสตับอักเสบ “บี” สามารถติดต่อได้จากเพศสัมพันธ์ และทางเลือด 

ไวรัสตับอักเสบ “ซี” ผู้ป่วยมักติดเชื้อจากการได้รับเลือด ที่ไม่ผ่านการคัดกรองไวรัส รวมถึงกลุ่มคนที่ใช้สารเสพติดฉีดเข้าเส้นเลือด การสัก เจาะร่างกาย การมีเพศสัมพันธ์กับผู้ป่วยที่ติดเชื้อ

ไวรัสตับอักเสบ “อี” เกิดจากการรับประทานเนื้อหมูที่ปรุงไม่สุกที่มีเชื้อไวรัส

ผู้ป่วยที่ได้รับเชื้อไวรัสตับอักเสบ จะมีอาการตับอักเสบเฉียบพลันได้ โดยจะมีไข้ คลื่นไส้อาเจียน ตัวเหลืองตาเหลือง ไวรัสตับอักเสบบางกลุ่ม ได้แก่ ไวรัสตับอักเสบบี และซี จะก่อให้เกิดตับอักเสบเรื้อรัง เสี่ยงต่อการเกิดตับแข็งและมะเร็งตับได้

วัคซีนป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบจะช่วยป้องกันการติดเชื้อไวรัส ลดโอกาสเกิดตับอักเสบและลดความเสี่ยงในการเกิดตับแข็งได้

วัคซีนป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบ “เอ” ในปัจจุบันสามารถป้องกันโรคได้ 95 – 100% โดยต้องฉีดวัคซีน 2 เข็ม ห่างกัน 6 เดือน

การฉีดวัคซีนป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบ “บี” ให้ได้ผล ควรฉีดให้ครบ 3 เข็ม จากผู้ผลิตต่างกันได้ โดยเข็มสอง ควรฉีดห่างจากเข็มแรกประมาณ 1 – 2 เดือน และเข็มสามควรฉีดห่างจากเข็มแรกประมาณ 6 เดือน โดยสามารถป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบ “บี” ได้ถึงร้อยละ 95

วัคซีนป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบ “เอ” และ “บี” เปิดให้บริการทุกวันโดยไม่ต้องนัดหมาย พร้อมเข้ารับการตรวจภูมิก่อนเข้าสู่โปรแกรมฉีดได้ที่ ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ติดตามรายละเอียดได้ที่ www.gj.mahidol.ac.th

Exit mobile version