Onlinenewstime.com : เนื่องจากกระแสสุขภาพและสุขภาวะความเป็นอยู่ที่ดี มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในประเทศไทย จากผลสำรวจล่าสุด โดย Marketbuzzz (มาร์เก็ตบัซซ) โดยมีคนไทยร่วมตอบแบบสอบถาม จำนวน 500 คน ในเดือนกรกฎาคม 2567เน้นย้ำให้เห็นถึงความปรารถนาและความเป็นจริงของคนไทยเกี่ยวกับการรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ รวมถึงการรับรู้เกี่ยวกับอาหารออร์แกนิคในประเทศไทย
จากผลการศึกษาครั้งนี้ พบว่าปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการซื้ออาหารมากที่สุดคือ ราคา (56%), ข้อมูลโภชนาการ (53%), รสชาติ (40%), แบรนด์ (39%) และคำกล่าวอ้างด้านสุขภาพ (34%) ข้อมูลนี้ ชี้ให้เห็นว่าแม้สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีจะมีความสำคัญ แต่ราคาและรสชาติยังคงมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการตัดสินใจซื้อ
นายแกรนท์ บาร์โทลี่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มาร์เก็ตบัซซ ให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับผลการศึกษาว่า “การศึกษาของเราแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจของผู้บริโภคที่ต้องการมีสุขภาพและสุขภาวะที่ดีในประเทศไทย
แต่อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลยังชี้ให้เห็นถึงช่องว่างระหว่างความต้องการที่จะบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพและปัจจัยในการตัดสินใจเลือกซื้อ ถึงแม้ว่าคนไทยหลายคนมีเป้าหมายที่จะเลือกอาหารที่ดีต่อสุขภาพ แต่ปัจจัยต่างๆ เช่น ราคาและรสชาติ ยังคงมีอิทธิพลอย่างมากต่อการซื้ออาหารอย่างมีนัยสำคัญ”
เมื่อพูดถึงคุณลักษณะเฉพาะของอาหารที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ พบว่าคนไทยให้ความสำคัญกับ อาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ 57%, อาหารธรรมชาติ 42%, และอาหารที่ปราศจากสารปรุงแต่ง 39% ซึ่งได้นำมาพิจารณาและให้ความสำคัญมากกว่าอาหารออร์แกนิค
ซึ่งมีเพียง 24% ของคนไทยที่ให้ความสำคัญกับอาหารออร์แกนิค แสดงให้เห็นว่าแนวคิดในการรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพของคนไทยนั้น ครอบคลุมมากกว่าการเลือกอาหารที่ได้รับเครื่องหมายรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ หรือออร์แกนิคนั่นเอง
ความรับรู้ของคนไทยส่วนใหญ่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ออร์แกนิคเป็นไปในเชิงบวก โดยหลายคนเชื่อว่าผลิตภัณฑ์เหล่านี้ปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค ปลอดสารพิษ และมาจากธรรมชาติ 100% โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้บริโภค 16% ซื้อผลิตภัณฑ์ออร์แกนิคอย่างสม่ำเสมอ และ 70% ยินดีที่จะจ่ายเพิ่มขึ้นสำหรับผลิตภัณฑ์ออร์แกนิค โดยส่วนใหญ่ยินดีจ่ายเพิ่มขึ้นประมาณ 10 – 20%
อย่างไรก็ตาม คนไทยยังสับสนเกี่ยวกับการรับรองเกษตรอินทรีย์หรือออร์แกนิค โดยผลสำรวจพบว่า มีผู้บริโภคเพียง 36% สามารถระบุตรารับรองที่ออกโดยสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (ACFS) ได้อย่างถูกต้อง และมีเพียง 26% ที่รู้จักตรารับรองที่ออกโดยสำนักงานมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (ACT) และอีก 64% ไม่รู้จักหรือไม่สามารถระบุหน่วยงานที่ออกตรารับรองเกษตรอินทรีย์หรือออร์แกนิคได้อย่างถูกต้อง
นายแกรนท์ บาร์โทลี่ อธิบายเสริมว่า “สิ่งที่เห็นได้ชัดจากการสำรวจของเราคือ คนไทยให้ความสำคัญกับอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ อาหารธรรมชาติ และการไม่มีสารปรุงแต่ง มากกว่าอาหารที่ได้รับตรารับรองออร์แกนิค
ชี้ให้เห็นว่าคนไทยมีภาพความเข้าใจเปิดกว้างเกี่ยวกับอาหารเพื่อสุขภาพ โดยเน้นอาหารที่มีส่วนผสมจากธรรมชาติและมีประโยชน์ต่อสุขภาพที่ชัดเจน มากกว่าตราการรับรองเกษตรอินทรีย์หรือออร์แกนิคเพียงเท่านั้น”
ผลการสำรวจเหล่านี้ เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการให้ความรู้และประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการรับรองผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์หรือผลิตภัณฑ์ออร์แกนิคในประเทศไทยให้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยสร้างความรู้ความเข้าใจ และเพิ่มความมั่นใจของผู้บริโภคในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ออร์แกนิค ซึ่งอาจจะส่งผลให้มียอดขายเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
ความปรารถนาที่จะมีสุขภาพและสุขภาวะที่ดีนั้น จำเป็นที่จะต้องสร้างการรับรู้และให้ความรู้ให้กับผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่แนวโน้มเทรนด์การดูแลสุขภาพยังเติบโตต่อไป จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ที่เกี่ยวข้องในทุกภาคส่วน รวมถึงหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้ผลิตอาหาร และผู้ค้าปลีก จะจับมือทำงานร่วมกันเพื่อให้ความรู้แก่ผู้บริโภคและส่งเสริมทางเลือกอาหารที่ดีต่อสุขภาพให้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้คนไทยปรับพฤติกรรมสู่แนวทางการกินอาหารเพื่อสุขภาพได้มากขึ้น