Onlinenewstime.com : จากเหตุการณ์น้ำท่วม จังหวัดนราธิวาส ที่หนักสุดในรอบ 40 ปี เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม ที่ผ่านมานั้น ได้สร้างความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเป็นอย่างมาก โดยสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนราธิวาส เปิดเผยว่า มีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ 13 อำเภอ 77 ตำบล 536 หมู่บ้าน 57 ชุมชน และประชาชนได้รับความเดือนร้อน 65,780 ครัวเรือน 266,325 ราย และมีผู้เสียชีวิต 9 ราย (วันที่ 29 ธันวาคม 2566 )
ในสถานการณ์ปัจจุบัน ต่อเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งนี้ยังคงอยู่ในระหว่างการดำเนินการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ต่อไปจนถึงการฟื้นฟู การตรวจสอบและประเมินความเสียหายทั้งในด้านทรัพย์สินและชีวิตอย่างต่อเนื่องนั้น
สำหรับในด้านแนวทางการแก้ไขปัญหา โดยการนำบทเรียนของเหตุการณ์ภัยพิบัติครั้งนี้มาหาทางออกในวันข้างหน้านั้น รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยผ่าน “เพจเฟสบุ้ค รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์” ในหัวข้อ #นราธิวาสจมบาดาลบทเรียนและทางออกคือชุมชนเข้มแข็งจัดการตนเอง โดยกล่าวว่า เมื่อวันพุธที่ 20 ธันวาคมที่ผ่านมา ผมได้แจ้งเฝ้าระวังเหตุการณ์ฝนตกหนักมาก และน้ำไหลหลากบริเวณ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (นราธิวาส ยะลา และปัตตานี) วันที่ 23-25 ธันวาคม เนื่องจากผลการประเมินดัชนีความรุนแรงของปริมาณฝนอยู่ในระดับ 90% (ดูรูปแนบ) เป็นระดับรุนแรงวิกฤต ซึ่งไม่เคยเจอมาก่อนในรอบหลายปี
ต่อมา เมื่อวันเสาร์ที่ 23 ธันวาคม ผมในนามรองประธานมูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ได้ประกาศทางสถานีวิทยุแทบทุกสถานี ยกระดับจากการเฝ้าระวังเป็นการเตือนภัยให้เตรียมย้ายรถยนต์ ทรัพย์สินไปอยู่ในที่สูงพร้อมเตรียมการอพยพไปอยู่ในที่ปลอดภัย
ข้อมูลปริมาณฝนตกจาก สสน. ตั้งแต่ 07.00 วันที่ 24 ธันวาคม ถึง 07.00 วันที่ 25 ธันวาคม มีปริมาณตั้งแต่ 300-650 mm โดยเฉพาะใน อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส มีมากถึง 650 mm ซึ่งเทียบเท่าปริมาณฝนเฉลี่ย 1 เดือน และในอนาคต (ค.ศ. 2080) คาดว่าจะเพิ่มขึ้นประมาณ 12%
คำถามปริมาณฝนขนาดนี้จะสร้างความเสียหายขนาดใหน ? หน่วยงานใดจะทำหน้าที่ประเมินความรุนแรงของเหตุการณ์ ? หน่วยงานใดจะแจ้งเตือน ? แบบถึงตัวชาวบ้าน เพื่อเตรียมแผนอพยพประชาชน ? ภารกิจต่างๆเหล่านี้ยังเป็นช่องว่างที่ทำให้สถานการณ์รุนแรงมากขึ้น หน่วยงานกลาง เช่น สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช) ไม่สามารถทำได้ เพราะเป็นองค์กรด้าน Regulator ไม่ใช่ Operator ขาดความเข้าใจสภาพทางกายภาพ สภาพสังคม และสิ่งแวดล้อมของพื้นที่ ?
คำตอบจึงอยู่ที่ต้องสร้างความเข้มแข็งให้กับท้องถิ่น เพราะท้องถิ่นเป็นผู้ประสบภัยในลำดับแรก และเป็นผู้ฟื้นกลับในลำดับสุดท้าย คำถามจึงอยู่ว่า ท้องถิ่นที่ว่าจะเป็นหน่วยใด ? มีเทคนิคอย่างไร ? คำตอบตามหลักสากล จากประสบการณ์ทำงานกับ IPCC และ UNDP และภาคเอกชนหลายราย เราทำให้ท้องถิ่นเข้มแข็งได้ภายใน 3 ปี เปลี่ยนผ่าน จาก CRM (Climate Risk Management) เป็น CRP (Climate Resilient Pathway)
สถานการณ์ฝนใน จ.นราธิวาสยังคงมีอยู่จนถึงปลายปี (ประมาณ 20-60 mm) ซึ่งจะไม่ทำให้สถานการณ์น้ำท่วมรุนแรงขึ้น หากการระบายน้ำภายใน 1-2 วันมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม ช่วงนี้เป็นช่วงฤดูฝนของภาคใต้ เรื่องของพายุฝน ยังคงต้องติดตามสถานการณ์ด้วยครับ
สำหรับความหนาวเย็นจะยังคงมีอยู่ในภาคเหนือ ภาคอีสานบน จนถึงปีใหม่ (อุณหภูมิต่ำสุด ±12oC) และหลังจากนั้น อุณหภูมิจะเพิ่มขึ้นตามลำดับ ส่วนภาคอื่นๆ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ สภาพอากาศกำลังเย็นสบายดี อุณหภูมิต่ำสุด ± 22oC (ดูรูปประกอบ)