Onlinenewstime.com : สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) และไมโครซอฟท์ ประเทศไทย ประกาศความร่วมมือครั้งสำคัญเพื่อยกระดับการป้องกันภัยคุกคามทางดิจิทัลของประเทศไทย
นำเทคโนโลยี AI ปฏิวัติมาตรฐานด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ มุ่งเน้น 2 ด้านหลัก ได้แก่ การเสริมสร้างมาตรฐานความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ของประเทศ และการพัฒนาศักยภาพของผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ รวมถึงสร้างความตระหนักรู้ให้แก่ประชาชนทั่วไปในการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างปลอดภัย
ปัจจุบันการโจมตีทางไซเบอร์มีความซับซ้อนมากขึ้นและส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ การป้องกันเชิงรุกจึงทวีความสำคัญมากขึ้น ไมโครซอฟท์จึงได้ร่วมมือกับ สกมช. ในการนำความเชี่ยวชาญด้านการวิเคราะห์ภัยคุกคามและโซลูชันความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์มาประยุกต์ใช้
โดยได้ขยายขอบเขตให้ครอบคลุมมากกว่าเพียงหน่วยงานภาครัฐ ด้วยบทบาทของ สกมช. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแล พัฒนานโยบาย และเป็นที่ปรึกษาให้กับทั้งองค์กรภาคเอกชน และรัฐวิสาหกิจที่รับผิดชอบการดูแลโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ (Critical Information Infrastructure – CII)
ส่งผลให้ความร่วมมือครั้งนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเสริมสร้างความแข็งแกร่งด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ให้แก่ประเทศไทย สอดคล้องกับแนวทาง “Secure Future Initiative” ของไมโครซอฟท์ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องความปลอดภัยเป็นอันดับแรก
พลอากาศตรี อมร ชมเชย เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (ลธ.กมช.) กล่าวว่า “รูปแบบการโจมตีทางไซเบอร์มีความซับซ้อนมากขึ้น จึงจำเป็นต้องมีโซลูชันการป้องกันขั้นสูง และบุคลากรที่มีทักษะในการใช้งานนวัตกรรมเหล่านั้น
เราเชื่อมั่นว่าความร่วมมือกับไมโครซอฟท์ ซึ่งเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี AI และความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ในระดับโลก จะช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับประเทศไทย ให้มีความพร้อมทั้งทางด้านเทคโนโลยีขั้นสูง องค์ความรู้ที่สำคัญ และโครงการฝึกอบรมที่จำเป็น ถือเป็นก้าวสำคัญในการเสริมสร้างการป้องกันและสร้างสภาพแวดล้อมด้านดิจิทัลที่ปลอดภัยยิ่งขึ้นสำหรับคนไทยทุกคน”
นายไมค์ เย รองประธานฝ่ายกิจการองค์กรและรองที่ปรึกษาด้านกฎหมายของไมโครซอฟท์ เอเชีย กล่าวว่า “ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา เราได้พูดคุยกับหน่วยงานด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์แห่งชาติหลายแห่งทั่วเอเชีย ซึ่งต่างเห็นพ้องกันว่าจำเป็นต้องมีเจตจำนงที่ชัดเจนมากขึ้นในการใช้ประโยชน์จากระบบคลาวด์ขนาดใหญ่และระบบรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี AI เพื่อรับมือการโจมตีทางไซเบอร์ที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก
รวมถึงต้องเร่งสร้างบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญอย่างต่อเนื่อง ไมโครซอฟท์เชื่อว่าความปลอดภัยทางไซเบอร์เป็นความรับผิดชอบของทุกคน เราจึงมีพันธกิจหลักคือ ‘การเพิ่มขีดความสามารถให้กับทุกคนและทุกองค์กรทั่วโลก’ ผ่านการทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนเพื่อสร้างอนาคตดิจิทัลที่มีความปลอดภัยและยืดหยุ่นมากขึ้นในประเทศต่างๆ รวมถึงประเทศไทย
เรายินดีที่ได้สานต่อความร่วมมือกับ สกมช. ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนงานด้านความปลอดภัยไซเบอร์ ร่วมกับบริษัทกว่า 100 แห่งที่รับผิดชอบด้าน CII ซึ่งการเสริมความพร้อมด้านการใช้เทคโนโลยี AI และความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ รวมถึงการกำหนดกรอบข้อบังคับที่มีความทันสมัยมากขึ้นให้แก่ผู้เชี่ยวชาญด้านไอทีในบริษัทเหล่านี้ จะเป็นพื้นฐานสำคัญที่เสริมความแข็งแกร่งด้านดิจิทัลของประเทศไทยได้อย่างยั่งยืน”
นางสุภารัตน์ จูระมงคล ผู้อำนวยการด้านทักษะ AI ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย กล่าวเสริมว่า “หน่วยงาน Microsoft Philanthropies มุ่งมั่นสร้างผลกระทบเชิงบวกของเทคโนโลยี AI ในประเทศต่างๆ ทั่วโลก เราตระหนักว่าการเข้าถึงเทคโนโลยีอย่างครอบคลุมเป็นหนึ่งในสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของศตวรรษที่ 21
ซึ่งความร่วมมือกับ สกมช. เป็นตัวอย่างการทำงานร่วมกันเพื่อขับเคลื่อนทักษะ AI ให้แก่ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ และช่วยให้องค์กรต่างๆ ยกระดับมาตรฐานด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ การป้องกันภัยคุกคาม การปกป้องข้อมูล และจัดการความเสี่ยง รวมถึงความเป็นส่วนตัวได้ดียิ่งขึ้น”
ความร่วมมือระหว่าง สกมช. และไมโครซอฟท์ ในครั้งนี้ ยังครอบคลุมถึงโครงการฝึกอบรมด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ให้แก่ผู้เข้าร่วมโครงการจำนวน 300 คน ทั้งบุคลากรของ สกมช. และตัวแทนจากองค์กรที่ดูแลด้าน CII ที่จะได้รับประสบการณ์การเรียนรู้แบบครบวงจร ผ่านการอบรมที่น่าสนใจโดยวิทยากรที่มีความเชี่ยวชาญ ซึ่งประกอบด้วยความรู้ขั้นพื้นฐาน ไปจนถึงการวิเคราะห์ด้านความปลอดภัยขั้นสูง
นอกจากนี้ ไมโครซอฟท์ ยังได้ร่วมกับ สกมช. ในการจัดหลักสูตรออนไลน์แบบไม่มีค่าใช้จ่ายให้แก่บุคคลทั่วไป เพื่อส่งเสริมการเข้าถึงองค์ความรู้ด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์อย่างทั่วถึง
ภายใต้โครงการ “AI National Skills Initiative” ซึ่งออกแบบมาเพื่อพัฒนาทักษะด้าน AI และทักษะพื้นฐานด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ให้กับผู้เรียนจำนวน 10,000 คน โดยหลักสูตรดังกล่าวมีตารางเรียนที่ยืดหยุ่นและเปิดให้เข้าเรียนออนไลน์ได้ที่ https://www.thnca.or.th
ความร่วมมือในครั้งนี้ถือเป็นการผสานความเชี่ยวชาญของ สกมช. ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ระดับชาติ กับความเชี่ยวชาญระดับชั้นนำด้านเทคโนโลยี AI และการพัฒนาทักษะของไมโครซอฟท์ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้ผู้ใช้งานทุกระดับด้วยองค์ความรู้และเครื่องมือเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมด้านการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างปลอดภัย
ซึ่งรวมถึงโซลูชันที่เป็นนวัตกรรมอย่าง Microsoft Copilot for Security ผู้ช่วยอัจฉริยะที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี AI สำหรับผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ เพื่อร่วมสร้างอนาคตของดิจิทัลที่มีความปลอดภัยและยืดหยุ่นมากขึ้นให้กับประเทศไทย