fbpx
News update

“โรคเขตร้อน”ที่ถูกละเลย กรมควบคุมโรค รณรงค์ครั้งแรกในประเทศไทย กระตุ้นให้เครือข่ายสาธารณสุขร่วมมือกันกำจัด

วันนี้ (30 มกราคม 2567) นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เป็นประธานเปิดกิจกรรมรณรงค์วันโรคเขตร้อนที่ถูกละเลย World NTDs Day เพื่อกระตุ้นให้บุคลากรสาธารณสุข และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องร่วมมือกันกวาดล้างโรคเขตร้อนที่ถูกละเลย โดยมีคณะผู้บริหารกรมควบคุมโรค ผู้แทนองค์การอนามัยโลก และตัวแทนจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม

นายแพทย์โสภณ กล่าวว่า ในวันที่ 30 มกราคมของทุกปี องค์การสหประชาชาติกำหนดให้เป็นวันโรคเขตร้อนที่ถูกละเลย “World NTDs Day” ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรกของประเทศไทย ภายใต้แนวคิด “Make it Un-Neglected ทุกโรคจะไม่ถูกละเลย” เป็นการขับเคลื่อนร่วมกันทั่วโลกเพื่อกระตุ้นให้ผู้คนในวงการสาธารณสุขได้ตระหนักถึงความสำคัญ

รวมถึงสร้างความร่วมมือกับภาคีเครือข่าย ให้มีความเข้มแข็งและมีประสิทธิภาพในด้านการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุม และกำจัดโรคเขตร้อนที่ถูกละเลย ได้แก่ โรคเรื้อน โรคเท้าช้าง โรคลิชมาเนีย โรคหนอนพยาธิ เป็นต้น โรคดังกล่าวเป็นกลุ่มของโรคติดต่อที่สามารถป้องกันและรักษาได้ ขณะนี้ยังคงเป็นปัญหาสำคัญทางด้านสาธารณสุข มีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนอย่างต่อเนื่อง

แม้โรคเหล่านี้จะเป็นโรคที่ไม่ได้มีการระบาดรุนแรง แต่ยังเป็นโรคติดต่อที่มีความสำคัญด้าสาธารณสุข ปัจจุบันประเทศไทยได้ประกาศการกำจัด โรคเท้าช้าง สำเร็จ ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2560 และอยู่ในช่วง เฝ้าระวังติดตามหลังจากประกาศกำจัดโรค ยังมีผู้ปรากฏอาการโรคเท้าช้างที่มีความพิการถาวร จำนวน 64 ราย  

โรคสครับไทฟัส มีผู้ป่วยสะสมในปี 2566 จำนวน 8,465 ราย มีผู้เสียชีวิต 7 ราย และ โรคลิชมาเนีย ยังคงมีรายงานการพบผู้ป่วยประปรายในแต่ละปี โดยในปี 2566 พบผู้ป่วย 3 ราย เป็นผู้ป่วย ติดเชื้อมาจากต่างประเทศ 2 ราย และผู้ป่วย ติดเชื้อในประเทศ 1 ราย

นายแพทย์โสภณ กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดกิจกรรมรณรงค์วันโรคเขตร้อนที่ถูกละเลยในวันนี้ ภายในงานประกอบด้วย การประชุมสัมมนา เสวนาวิชาการ การจัดนิทรรศการ มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมจำนวน 100 คน โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรคณะแพทยศาสตร์ สถาบันการศึกษา และหน่วยงานวิชาการที่เกี่ยวข้องมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความรู้  

ทั้งนี้ การเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคเขตร้อนที่ถูกละเลย ต้องอาศัยพลังความร่วมมือ  ของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อป้องกันการอุบัติใหม่หรืออุบัติซ้ำ และคาดว่าการรณรงค์ ในครั้งนี้จะทำให้ประชาชนได้รับการดูแล ไม่เจ็บป่วยจากโรคเขตร้อนที่ถูกละเลย