Site icon Onlinenewstime.com – News and Knowledge to sustainability

สภาพัฒน์ แถลงเศรษฐกิจไทย ไตรมาสที่ 1 ปี 2567 GDP โต 1.5% คาดว่าปี 2567 โตประมาณ 2-3%

cover GDP Q1

เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกของปี 2567 ขยายตัวร้อยละ 1.5 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ  1.7 ในไตรมาสที่สี่ของปี 2566 (%YoY) และเมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรก ของปี 2567 ขยายตัวจากไตรมาสที่สี่ของปี 2566 ร้อยละ 1.1 (%QoQ_SA) 

ด้านการใช้จ่าย การส่งออกบริการและการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนขยายตัวในเกณฑ์สูง การลงทุน ภาคเอกชนขยายตัวในเกณฑ์ดี ขณะที่การส่งออกสินค้า การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคของรัฐบาล และการลงทุน ภาครัฐลดลง 

การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ขยายตัวในเกณฑ์สูงร้อยละ 6.9 ต่อเนื่องจากร้อยละ 7.4 ในไตรมาส ก่อนหน้า สอดคล้องกับการปรับตัวดีขึ้นของภาคบริการด้านการท่องเที่ยว และความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่อยู่ใน ระดับสูงสุดในรอบ 18 ไตรมาสโดยการใช้จ่ายในหมวดบริการขยายตัวในเกณฑ์สูงร้อยละ 13.7ตามการขยายตัว ของการใช้จ่ายในกลุ่มโรงแรมและภัตตาคาร และกลุ่มบริการทางการเงินร้อยละ 42.7 และร้อยละ 8.0  ตามลำดับ

การใช้จ่ายหมวดสินค้าไม่คงทนขยายตัวร้อยละ 4.7 นับเป็นอัตราการขยายตัวสูงสุดในรอบ 45  ไตรมาส ตามการขยายตัวเร่งขึ้นของการใช้จ่ายกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม และการขยายตัวของการใช้จ่าย กลุ่มไฟฟ้า ก๊าซ และน้ำมันเชื้อเพลิง สอดคล้องกับอุณหภูมิเฉลี่ยที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น

ส่วนการใช้จ่ายหมวดสินค้า กึ่งคงทนขยายตัวร้อยละ 3.3 เร่งขึ้นจากร้อยละ 0.3 ในไตรมาสก่อน ตามการขยายตัวของการใช้จ่ายกลุ่มเสื้อผ้า และรองเท้า และกลุ่มเครื่องเรือนและเครื่องตกแต่ง ขณะที่การใช้จ่ายในหมวดสินค้าคงทนลดลงร้อยละ 6.8

ซึ่งเป็นการลดลงมากที่สุดในรอบ 10 ไตรมาส ตามการลดลงของการใช้จ่ายเพื่อซื้อยานพาหนะร้อยละ 13.9 สอดคล้องกับการเพิ่มความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน และการรอความชัดเจนของการผลิต รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศและการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะ เศรษฐกิจโดยรวมในไตรมาสนี้อยู่ที่ระดับ 57.2 เพิ่มขึ้นจากระดับ 55.2 ในไตรมาสก่อนหน้า สูงสุดในรอบ 18  ไตรมาสนับตั้งแต่ไตรมาสที่สี่ของปี 2562

การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคของรัฐบาล ลดลงร้อยละ 2.1ต่อเนื่องจาก การลดลงร้อยละ 3.0 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยค่าซื้อสินค้าและบริการลดลงร้อยละ 7.6 และรายจ่ายการโอน เพื่อสวัสดิการสังคมที่ไม่เป็นตัวเงินสำหรับสินค้าและบริการในระบบตลาดลดลงร้อยละ 10.7

ขณะที่ค่าตอบแทน แรงงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.9 สำหรับอัตราการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำในไตรมาสนี้อยู่ที่ร้อยละ 19.7 (ต่ำกว่าอัตราเบิกจ่ายร้อยละ 32.0 ในไตรมาสก่อนหน้า และร้อยละ 23.4 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน) 

การลงทุนรวม ลดลงร้อยละ 4.2 ต่อเนื่องจากการลดลงร้อยละ 0.4 ในไตรมาสก่อนหน้าตามการลดลง ของการลงทุนภาครัฐ ติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 4 ร้อยละ 27.7 เทียบกับการลดลงร้อยละ 20.1 ในไตรมาสก่อน โดยเป็นผลจากการลงทุนรัฐบาลที่ลดลงร้อยละ 46.0 เนื่องจากความล่าช้าของกระบวนการงบประมาณรายจ่าย ประจำปี 2567

ส่วนการลงทุนรัฐวิสาหกิจลดลงร้อยละ 2.8 สำหรับอัตราการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายลงทุน ในไตรมาสนี้อยู่ที่ร้อยละ 5.2 (ต่ำกว่าอัตราเบิกจ่ายร้อยละ 6.4 และร้อยละ 17.7 ในไตรมาสก่อนหน้าและ ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ)

ขณะที่การลงทุนภาคเอกชน ขยายตัวในเกณฑ์ดีร้อยละ 4.6 ต่อเนื่อง จากการขยายตัวร้อยละ 5.0 ในไตรมาสก่อนหน้า และเป็นการขยายตัวติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 9 โดยการลงทุนในหมวดเครื่องจักรเครื่องมือขยายตัวร้อยละ 4.5 ต่อเนื่องจากร้อยละ 5.2 ในไตรมาสก่อนหน้า  ส่วนการลงทุนในหมวดก่อสร้างขยายตัวร้อยละ 5.2 เร่งขึ้นจากร้อยละ 3.4 ในไตรมาสก่อนหน้า 

ด้านการค้าระหว่างประเทศ การส่งออกสินค้า มีมูลค่า 69,592 ล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลงร้อยละ 1.0 ตามการลดลงของปริมาณส่งออกร้อยละ 2.3 ขณะที่ราคาส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.3

กลุ่มสินค้าที่มีมูลค่า ส่งออกลดลง อาทิทุเรียน (ลดลงร้อยละ 53.2) น้ำตาล (ลดลงร้อยละ 29.1) ผลิตภัณฑ์ยาง (ลดลงร้อยละ 19.2) เครื่องปรับอากาศ (ลดลงร้อยละ 15.4) รถกระบะและรถบรรทุก (ลดลงร้อยละ 15.3) แผงวงจรรวมและ ชิ้นส่วน (ลดลงร้อยละ 11.3) และชิ้นส่วนและอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ (ลดลงร้อยละ 6.9) ขณะที่กลุ่มสินค้าที่มี 

มูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้น อาทิ ข้าว (ร้อยละ 43.2) ยางพารา (ร้อยละ 24.9) คอมพิวเตอร์ (ร้อยละ 172.5) เหล็กและเหล็กกล้า (ร้อยละ 62.4) และอุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคม (ร้อยละ 24.3)

ส่วนการนำเข้าสินค้า มีมูลค่า 67,982 ล้านดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.2 ชะลอลงจากร้อยละ 6.1 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยปริมาณการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อย 4.5 ขณะที่ราคานำเข้าลดลงร้อยละ 1.2 ส่งผลให้ดุลการค้า เกินดุล 1.6 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (58.6 พันล้านบาท) เทียบกับการเกินดุล 3.5 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (122.6 พันล้านบาท) ในไตรมาสก่อน 

ด้านการผลิต สาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหาร และสาขาขนส่งและสถานที่เก็บสินค้าขยายตัว เร่งขึ้น ส่วนสาขาการขายส่งขายปลีกและการซ่อมฯ ขยายตัวต่อเนื่อง ในขณะที่สาขาการผลิตสินค้า อุตสาหกรรม สาขาก่อสร้าง และสาขาเกษตรกรรมปรับตัวลดลง 

สาขาเกษตรกรรม การป่าไม้ และการประมง ลดลงร้อยละ 3.5 ต่อเนื่องจากการลดลงร้อยละ 0.6  ในไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยประกอบกับปริมาณน้ำอยู่ในระดับต่ำกว่า ช่วงเดียวกันของปีก่อน ทำให้ผลผลิตหมวดพืชผลสำคัญลดลง

โดยเฉพาะปาล์มน้ำมัน กลุ่มผลไม้ข้าวเปลือก อ้อย และมันสำปะหลัง ในขณะที่ผลผลิตหมวดปศุสัตว์ขยายตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 7

ผลผลิตสินค้าเกษตร สำคัญที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ปาล์มน้ำมัน (ลดลงร้อยละ 20.9) อ้อย (ลดลงร้อยละ 12.2) และ มันสำปะหลัง (ลดลงร้อยละ 9.0) กลุ่มไม้ผล (ลดลงร้อยละ 6.8) โดยเฉพาะทุเรียนหมอนทอง (ลดลงร้อยละ 50.0) และข้าวเปลือก (ลดลงร้อยละ 6.0) ตามลำดับ ในขณะที่ผลผลิตสินค้าเกษตรที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ สุกร (เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.0) โคเนื้อ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.8) ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์(เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.0) ตามลำดับ 

ในขณะที่ดัชนีราคาสินค้าเกษตร เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 2 ร้อยละ 5.6 ตามการเพิ่มขึ้นของดัชนีราคา สินค้าเกษตรสำคัญ อาทิยางพารา (เพิ่มขึ้นร้อยละ 49.8)ข้าวเปลือก(เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.8)อ้อย (เพิ่มขึ้นร้อยละ 28.9) ปาล์มน้ำมัน (เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.4) และมันสำปะหลัง (เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.0) ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม ดัชนีราคาสินค้าเกษตรสำคัญบางรายการปรับตัวลดลง เช่น สุกร (ลดลงร้อยละ 29.5) กลุ่มไม้ผล (ลดลงร้อยละ 7.0) และไก่เนื้อ (ลดลงร้อยละ 10.3) ตามลำดับ การเพิ่มขึ้นของดัชนีราคาสินค้าเกษตร ส่งผลให้ดัชนีรายได้ เกษตรกรโดยรวมกลับมาขยายตัวครั้งแรกในรอบ 4 ไตรมาส ร้อยละ 0.3 

สาขาการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม ลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 6 ร้อยละ 3.0 เทียบกับการลดลง ร้อยละ 2.4 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการลดลงของทุกกลุ่มการผลิต โดยเฉพาะกลุ่มการผลิตที่มีสัดส่วน การส่งออกในช่วงร้อยละ 30 – 60 และกลุ่มการผลิตเพื่อการส่งออก (สัดส่วนส่งออกมากกว่าร้อยละ 60)  เป็นสำคัญ

สอดคล้องกับการลดลงของดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมร้อยละ 3.7 เทียบกับการลดลงร้อยละ 2.9  ในไตรมาสก่อนหน้า

โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนการส่งออกในช่วงร้อยละ 30 – 60 ลดลง ต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 4 ร้อยละ 7.5 โดยการผลิตสินค้าสำคัญ ๆ ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ การผลิตยานยนต์  (ลดลงร้อยละ 16.7) และการผลิตน้ำตาล (ลดลงร้อยละ 7.8)

ส่วนดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมกลุ่มการผลิต เพื่อส่งออก (สัดส่วนส่งออกมากกว่าร้อยละ 60) ลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่6 ร้อยละ 5.3 เทียบกับการลดลง ร้อยละ 10.1 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยการผลิตสินค้าสำคัญ ๆ ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ การผลิตชิ้นส่วนและ แผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (ลดลงร้อยละ 17.2)และการผลิตคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วง (ลดลงร้อยละ16.7)

และดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมกลุ่มการผลิตเพื่อบริโภคภายในประเทศ (สัดส่วนส่งออกน้อยกว่าร้อยละ 30) ลดลงครั้งแรกในรอบ 3 ไตรมาส ร้อยละ 0.4 เทียบกับการเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.9 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยการผลิต สินค้าสำคัญ ๆ ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่การผลิตน้ำมันปาล์ม (ลดลงร้อยละ20.6)และการผลิตเหล็กและเหล็กกล้า ขั้นมูลฐาน (ลดลงร้อยละ 6.8)

อย่างไรก็ตาม การผลิตปุ๋ยเคมีและสารประกอบไนโตรเจนปรับตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 41.0 สำหรับอัตราการใช้กำลังการผลิตในไตรมาสนี้เฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 60.45 สูงกว่าร้อยละ 57.38  ในไตรมาสก่อนหน้า แต่ต่ำกว่าร้อยละ 64.19 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 

สาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหาร ขยายตัวในเกณฑ์สูงร้อยละ 11.8 ต่อเนื่องจากการขยายตัว ร้อยละ 9.8 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศและการท่องเที่ยว ภายในประเทศ (ไทยเที่ยวไทย)

โดยนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย มีจำนวน 9.370 ล้านคน (คิดเป็นร้อยละ 92.01 ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศในช่วงก่อนเกิดการแพร่ ระบาดของโรคโควิด-19) เพิ่มขึ้นร้อยละ 43.5

ส่งผลให้มูลค่าบริการรับด้านการท่องเที่ยวในไตรมาสนี้อยู่ที่  3.71 แสนล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 74.40 ของมูลค่าบริการรับด้านการท่องเที่ยวในช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19) เพิ่มขึ้นร้อยละ 38.3 ส่วนการท่องเที่ยวภายในประเทศของนักท่องเที่ยวชาวไทย (ไทยเที่ยวไทย) มีจำนวน 67.99 ล้านคน-ครั้งขยายตัวต่อเนื่องร้อยละ8.6

สร้างรายรับจากนักท่องเที่ยวชาวไทย 2.32 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 9 ร้อยละ 10.2 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 26.4  ในไตรมาสก่อนหน้า

ส่งผลให้ในไตรมาสนี้มีรายรับรวมจากการท่องเที่ยว 6.03 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น ร้อยละ 26.0 สำหรับอัตราการเข้าพักเฉลี่ยในไตรมาสนี้อยู่ที่ร้อยละ 75.27 สูงกว่าร้อยละ 73.55 ในไตรมาส ก่อนหน้า และสูงกว่าร้อยละ 70.24 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และสูงสุดในรอบ 20 ไตรมาส

สาขาการขายส่งและการขายปลีก การซ่อมยานยนต์และจักรยานยนต์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.3 สอดคล้องกับ การขยายตัวของการใช้จ่ายภาคครัวเรือน สาขาการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.4 เร่งขึ้น จากการขยายตัวร้อยละ 7.0 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการขยายตัวของบริการขนส่งทุกประเภท

ขณะที่สาขา การก่อสร้าง ลดลงร้อยละ 17.3 ต่อเนื่องจากการลดลงร้อยละ 8.8 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการลดลงของ การก่อสร้างภาครัฐ โดยเฉพาะการก่อสร้างของรัฐบาล ส่วนการก่อสร้างภาคเอกชนเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 7 ตามการขยายตัวในเกณฑ์ดีของการก่อสร้างอาคารที่มิใช่ที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะอาคารโรงงานและอาคารพาณิชย์ 

เสถียรภาพทางเศรษฐกิจอัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 1.01สูงกว่าร้อยละ 0.81 ในไตรมาสก่อนหน้า แต่ต่ำกว่าร้อยละ 1.05 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงร้อยละ 0.8 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อ พื้นฐานเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 0.4

ส่วนดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 2.9 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (102.7 พันล้านบาท) เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2567 อยู่ที่ 223.4 พันล้านดอลลาร์ สรอ. และหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2567 มีมูลค่าทั้งสิ้น 11.47 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 63.4 ของ GDP 

แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2567 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.0 – 3.0 (ค่ากลางการประมาณการ ร้อยละ 2.5) ปรับตัวดีขึ้นอย่างช้า ๆ จากการขยายตัวร้อยละ 1.9 ในปี 2566 โดยในช่วงที่เหลือของปีมีปัจจัย สนับสนุนสำคัญจาก (1) การเร่งตัวขึ้นของการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ (2) การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว และภาคบริการที่เกี่ยวเนื่อง

(3) การขยายตัวในเกณฑ์ดีของอุปสงค์ภายในประเทศทั้งการอุปโภคบริโภคและ การลงทุน และ(4) การกลับมาขยายตัวอย่างช้า ๆ ของการส่งออกสินค้าตามการฟื้นตัวของการค้าโลกโดยคาดว่า การอุปโภคบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 4.5 และร้อยละ 3.2 ตามลำดับ มูลค่าการส่งออก สินค้าในรูปดอลลาร์สรอ. ขยายตัวร้อยละ 2.0 อัตราเงินเฟ้อคาดว่าจะอยู่ในช่วงร้อยละ 0.1 – 1.1 และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 1.2 

1. การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภค ประกอบด้วย (1) การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภค ภาคเอกชน คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.5 ต่อเนื่องจากการขยายตัวในเกณฑ์สูงร้อยละ 7.1 ในปี 2566 และ เป็นการปรับประมาณการขึ้นจากร้อยละ 3.0 ตามการขยายตัวดีอย่างต่อเนื่องของฐานรายได้ในระบบ เศรษฐกิจ ตลาดแรงงานที่ยังคงแข็งแกร่งและอัตราเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับต่ำ

สอดคล้องกับความเชื่อมั่น ผู้บริโภคที่ยังอยู่ในระดับสูง และ (2) การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคภาครัฐบาล คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 1.7  ปรับตัวดีขึ้นจากการลดลงร้อยละ 4.6 ในปี 2566 และเป็นการปรับเพิ่มจากการเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5  

ในการประมาณการครั้งที่ผ่านมาตามเม็ดเงินการใช้จ่ายภาครัฐภายหลังจากพระราชบัญญัติงบประมาณประจำปี  2567 ที่มีผลบังคับใช้นับตั้งแต่วันที่ 26 เมษายน 2567 และการเพิ่มขึ้นของกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ 2568

2. การลงทุนรวม คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 1.9 เร่งขึ้นจากร้อยละ 1.2 ในปี 2566 โดย(1) การลงทุน ภาคเอกชน คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.2 เท่ากับในปี 2566 สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของมูลค่าโครงการ ที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนและออกบัตรส่งเสริมการลงทุน แต่เป็นการปรับลดจากร้อยละ 3.5 ในการ ประมาณการครั้งก่อน

สอดคล้องกับอัตราการใช้กำลังการผลิตในภาคอุตสาหกรรมที่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่า ที่คาดการณ์ไว้และการปรับลดประมาณการการขยายตัวของปริมาณการส่งออก

และ (2) การลงทุนภาครัฐ คาดว่าจะลดลงร้อยละ 1.8 เท่ากับการประมาณการครั้งก่อน และเป็นการลดลงต่อเนื่องจากร้อยละ 4.6 ในปี  2566 โดยเป็นผลมาจากความล่าช้าของกระบวนการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 และ กรอบวงเงินงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจที่ลดลงจากปีก่อนหน้า 

3. มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.0 เทียบกับ การลดลงร้อยละ 1.7 ในปี 2566 และปรับลดลงจากร้อยละ 2.9 ในการประมาณการครั้งที่ผ่านมา โดยคาดว่า ปริมาณการส่งออกจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5 ปรับลดลงจากร้อยละ 2.4 ในการประมาณการครั้งก่อน ตามการปรับตัว ลดลงของปริมาณการส่งออกในไตรมาสแรกของปี 2567 และการปรับลดสมมุติฐานการขยายตัวของปริมาณ การค้าโลกจากร้อยละ 3.0 ในการประมาณการครั้งก่อน เป็นร้อยละ 2.8 ในการประมาณการครั้งนี้

เมื่อรวมกับ การส่งออกบริการที่มีแนวโน้มที่จะขยายตัวอย่างต่อเนื่องตามการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว คาดว่าปริมาณ การส่งออกสินค้าและบริการในปี 2567 มีแนวโน้มที่จะขยายตัวร้อยละ 4.7 เร่งขี้นจากร้อยละ 2.1 ในปี 2566  แต่ต่ำกว่าการขยายตัวร้อยละ 5.0 ในการประมาณการครั้งก่อน 

การบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในปี 2567 ควรให้ความสำคัญกับ  

1. การเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณเพื่อให้เม็ดเงินรายจ่ายภาครัฐเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโดยเร็ว  โดยการเร่งรัดงบประมาณประจำปี 2567 ให้สามารถเบิกจ่ายได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 90.0 ของงบประมาณ

รายจ่ายทั้งหมด แบ่งเป็น อัตราเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำไม่ต่ำกว่าร้อยละ 97.0 และงบประมาณ รายจ่ายลงทุนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60.0 ตามลำดับ

รวมทั้งการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบเหลื่อมปี และงบรัฐวิสาหกิจให้ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 และร้อยละ 75 ตามลำดับ และเร่งรัดกระบวนการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี งบประมาณ 2568 ไม่ให้เกิดความล่าช้า 

2. การดูแลสภาพคล่องให้เพียงพอสำหรับภาคธุรกิจโดยเฉพาะธุรกิจ SMEs ที่มีศักยภาพแต่ประสบ ปัญหาการเข้าถึงสภาพคล่อง ผ่านโครงการค้ำประกันสินเชื่อการสร้างการรับรู้และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการธุรกิจ  SMEs เตรียมความพร้อมในการเข้าถึงสินเชื่อดิจิทัลแฟ็กเตอริงเพื่อเป็นทางเลือกในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน

ประกอบกับการส่งเสริมให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องใช้ประโยชน์จากระบบจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจ ทางอิเล็กทรอนิกส์(e-Secured) ควบคู่ไปกับการยกระดับศักยภาพการผลิตและเพิ่มขีดความสามารถให้แก่ ผู้ประกอบการ SMEsผ่านการใช้นวัตกรรม เทคโนโลยี และความคิดสร้างสรรค์ ในการสร้างมูลค่าเพิ่มและ สร้างเอกลักษณ์ของสินค้า ให้ตรงตามความต้องการของตลาดและพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป  

รวมทั้งการใช้ประโยชน์จากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีมาเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งจะช่วย สนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ดียิ่งขึ้น ขณะเดียวกันควรดำเนินมาตรการเพื่อแก้ปัญหาลูกหนี้เรื้อรังที่มี ความเสี่ยงที่จะผิดนัดชำระหนี้ 

3. การดูแลการผลิตภาคเกษตรและรายได้เกษตรกร โดยให้ความสำคัญกับ (1) การติดตามและ วางแผนแนวทางในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างใกล้ชิด (2) การเตรียมความพร้อมด้านการป้องกัน  บรรเทา และแก้ไขปัญหาอุทกภัย (3) การฟื้นฟูภาคเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งให้กลับมาฟื้นตัว โดยเร็ว

(4) การสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนาเพื่อการปรับปรุงพันธุ์พืชให้ทนต่อสภาพอากาศและโรคพืช รวมทั้งให้มีความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ (5) การเสริมสร้างภูมิคุ้มกันแก่เกษตรกรผ่านการส่งเสริมรูปแบบและพัฒนา ระบบประกันภัยพืชผลจากความเสี่ยงของสภาพอากาศให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และ (6) การเฝ้าระวัง  ติดตาม การปราบปรามการลักลอบการนำเข้าสินค้าเกษตรผิดกฎหมาย 

4. การขับเคลื่อนการส่งออกควบคู่ไปกับการเร่งรัดปรับโครงสร้างเศรษฐกิจทั้งภาคการผลิตและ ภาคบริการ โดยมุ่งเน้น

(1) การลดต้นทุนและแก้ไขปัญหาอุปสรรคที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก (2) ขับเคลื่อน การส่งออกสินค้าที่มีศักยภาพและเป็นที่ต้องการของตลาดโลกเพิ่มขึ้น อาทิ สินค้าที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพและ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสินค้าที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์อันเนื่องมาจากความไม่แน่นอนจากความขัดแย้ง เชิงภูมิรัฐศาสตร์ รวมทั้งสินค้าที่มีโอกาสได้รับประโยชน์จากมาตรการกีดกันทางการค้า

(3) การติดตาม  เฝ้าระวังการทุ่มตลาดและการใช้มาตรการทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมกับผู้ประกอบการไทย (4) การเพิ่มผลิตภาพ การผลิตผ่านการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อนำไปสู่การผลิตสินค้าที่มีศักยภาพและมีมูลค่าสูงขึ้น ที่สามารถหลีกเลี่ยงการแข่งขันด้านราคาและมีมาตรฐานตรงตามความต้องการของตลาด และข้อกำหนดของประเทศผู้นำเข้า

ควบคู่ไปกับการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการผลิตวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง ในประเทศให้มีความพร้อมในการรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมเป้าหมาย และสามารถเชื่อมโยงสินค้าที่ผลิต ได้ภายในประเทศกับห่วงโซ่การผลิตโลกมากขึ้น

(5) การสร้างความเชื่อมั่นและเตรียมความพร้อมของระบบ นิเวศที่เหมาะสมเพื่อดึงดูดอุตสาหกรรมเป้าหมายให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย โดยเฉพาะอุตสาหกรรม ยานยนต์แห่งอนาคต อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วน ควบคู่ไปกับการเร่งรัดให้ผู้ประกอบการที่ได้รับ อนุมัติและรับบัตรส่งเสริมมีการลงทุนจริงโดยเร็ว

นอกจากนี้ ยังควรมุ่งเน้นแก้ไขปัญหาที่นักลงทุนและ ผู้ประกอบการต่างประเทศเห็นว่าเป็นอุปสรรคต่อการลงทุนและการประกอบธุรกิจสำคัญ โดยเฉพาะขั้นตอน กระบวนการ และข้อบังคับ/กฎหมาย รวมทั้งปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคการผลิต ควบคู่ไปกับการพัฒนา กำลังแรงงานเพื่อรองรับอุตสาหกรรมและภาคบริการเป้าหมาย และ

(6) การดึงดูดนักท่องเที่ยวที่มีศักยภาพ และมีกำลังซื้อสูง โดยเฉพาะกลุ่มที่ต้องการเข้ามาพำนักระยะยาว ผ่านการสร้างการรับรู้ต่อมาตรการ Long-term  resident visa (LTR)และการส่งเสริมการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวให้มากขึ้นโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากประเทศ ในเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ

นอกจากนี้ ยังควรเตรียมความพร้อมของปัจจัยแวดล้อมทางกายภาพที่ สำคัญ อาทิ สนามบิน/เที่ยวบิน กระบวนการตรวจคนเข้าเมือง โครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวก  การบริหารจัดการพื้นที่และสิ่งแวดล้อม

รวมทั้งการรักษามาตรฐาน ความปลอดภัยทั้งชีวิตและทรัพย์สินของ นักท่องเที่ยว และการแก้ไขปัญหาการหลอกลวงเอารัดเอาเปรียบ และปัญหาอาชญากรรมที่เกิดขึ้นกับ นักท่องเที่ยว เพื่อรองรับการกลับมาของนักท่องเที่ยวและยกระดับศักยภาพและฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยว ให้มีคุณภาพและยั่งยืน 

5. การติดตาม เฝ้าระวัง และเตรียมมาตรการรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของระบบเศรษฐกิจ และการเงินโลก  

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 

20 พฤษภาคม 2567

 

Exit mobile version