Site icon Onlinenewstime.com – News and Knowledge to sustainability

สภาพัฒน์ รายงานภาวะสังคมไทยไตรมาส 1 ปี 2567 “สุขภาพจิต-สังคมคนโสด-Sandwich Generation” 3 ประเด็นต้องจับตา

nesdc29052024

ขณะที่ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน การเจ็บป่วยด้วยโรคเฝ้าระวัง และการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ยังมีการ นำเสนอสถานการณ์ทางสังคมที่น่าสนใจ 3 เรื่อง ได้แก่ (1) Mental Health ปัญหา สำคัญที่ต้องเฝ้าระวัง (2) ทำอย่างไร เมื่อประเทศไทยเป็นสังคมคนโสด ? และ (3) Sandwich Generation กับการดูแลคนหลายรุ่นรวมทั้งนำเสนอ บทความเรื่อง มุมมองการยื่นและเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของคนไทย

สถานการณ์แรงงานไตรมาสหนึ่ง ปี 2567 การจ้างงานลดลงเล็กน้อย จากการลดลงของการจ้างงาน ภาคเกษตรกรรม ขณะที่สาขานอกภาคเกษตรกรรมยังขยายตัวได้

นอกจากนี้ ชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยลดลง และอัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 1.01 ไตรมาสหนึ่ง ปี 2567 ผู้มีงานทำมี จำนวนทั้งสิ้น 39.6 ล้านคน ลดลงเล็กน้อยจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่ร้อยละ 0.1 ซึ่งเป็นผลจากการจ้างงานภาคเกษตรกรรมที่ลดลงกว่าร้อยละ 5.7 ในช่วงนอกฤดูการทำเกษตรกรรม

ขณะที่นอกภาคเกษตรกรรมยังขยายตัวได้ที่ร้อยละ 2.2 โดยสาขาโรงแรมและภัตตาคารขยายตัวต่อเนื่อง ที่ร้อยละ 10.6 จากการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างชาติกว่า 9.3 ล้านคน เช่นเดียวกับสาขาการก่อสร้างที่ขยายตัว กว่าร้อยละ 5.0

ทั้งนี้ การจ้างงานสาขาการผลิตเริ่มปรับตัวดีขึ้นที่ร้อยละ 0.7 ชั่วโมงการทำงานลดลง ตามการลดการทำงานล่วงเวลา โดยภาพรวมและเอกชนอยู่ที่ 41.0 และ 44.0 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ซึ่งผู้ทำงานล่วงเวลาลดลงกว่า ร้อยละ 3.6 และผู้เสมือนว่างงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.6 การว่างงานทรงตัว อยู่ที่ร้อยละ 1.01 หรือมีผู้ว่างงานจำนวน 4.1 แสนคน

สำหรับประเด็นที่ต้องติดตามในระยะถัดไป 1) การขาดทักษะของแรงงานไทยที่อาจกระทบต่อ เศรษฐกิจในระยะยาว โดยผลการสำรวจทักษะและความพร้อมเยาวชนและประชากรวัยแรงงาน (ASAT) ในประเทศไทย พบว่า เยาวชนและกลุ่มวัยแรงงานของไทยจำนวนมากมีทักษะ ต่ำกว่าเกณฑ์ 2) ความยั่งยืนของ กองทุนประกันสังคม ซึ่งกองทุนฯ มีแนวโน้มจะต้องจ่ายเงิน

บำเหน็จบำนาญให้แก่ผู้ประกันตนที่เกษียณอายุมากขึ้น อย่างรวดเร็วในอนาคตตามการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร โดยในปี 2575 อาจมีผู้ขอรับประโยชน์ทดแทน กรณีชราภาพมากถึง 2.3 ล้านคน และ 3)การพัฒนาทักษะแรงงานเพื่อให้ได้รับค่าจ้างที่สูงขึ้น โดยช่องว่างระหว่าง ค่าจ้างแรงงานและ GDP มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากแรงงานส่วนใหญ่ยังมีทักษะไม่สูงและทำงานในสาขาที่มีผลิตภาพ แรงงานไม่มากนัก จึงได้รับค่าจ้างน้อย

ทั้งนี้ ผลิตภาพแรงงานไทยในปัจจุบันยังไม่ฟื้นตัวจากผลกระทบของ COVID-19 ค่าจ้างจึงยังปรับตัวได้ไม่มาก โดยเฉพาะในกลุ่มแรงงานทักษะปานกลางที่ส่วนใหญ่ทำงานลักษณะงานประจำ หนี้สินครัวเรือน ณ ไตรมาสสี่ ปี2566 ขยายตัวชะลอลง ขณะที่คุณภาพสินเชื่อด้อยลงในทุกประเภท

โดยมีประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญ คือ การติดตามแนวโน้มหนี้เสียของสินเชื่อที่อยู่อาศัยโดยเฉพาะสินเชื่อ วงเงินน้อยกว่า 3 ล้านบาท และการประชาสัมพันธ์ให้ลูกหนี้เรื้อรังเข้าร่วมมาตรการแก้ไขปัญหาหนี้สิน

ไตรมาสสี่ ปี 2566 หนี้สินครัวเรือนมีมูลค่า 16.4 ล้านล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 3.0 ชะลอลงจากร้อยละ 3.4 ของไตรมาสก่อนหน้า ขณะที่สัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อ GDP อยู่ที่ร้อยละ 91.3 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสที่ผ่านมา โดยหนี้ครัวเรือนขยายตัวชะลอลงเกือบทุกประเภทสินเชื่อ ยกเว้นสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล

ขณะที่ สินเชื่อยานยนต์หดตัว ด้านความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนด้อยลงทุกประเภท โดยหนี้เสียของ ธนาคารพาณิชย์ มีมูลค่า 1.58 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 2.88 ต่อสินเชื่อรวม เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 2.79 ใน ไตรมาสก่อน

ทั้งนี้มีประเด็นที่ควรให้ความสำคัญ ได้แก่ 1) แนวโน้มการเพิ่มขึ้นของหนี้เสียในสินเชื่อที่อยู่อาศัย วงเงินน้อยกว่า 3 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นหนี้ของครัวเรือนรายได้ระดับปานกลางหรือล่าง โดยอาจต้องเฝ้าระวังและ เร่งปรับโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้กลุ่มนี้เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดหนี้เสีย

2) การเร่งรัดสถาบันการเงิน ประชาสัมพันธ์ให้กลุ่มลูกหนี้เรื้อรังเข้าร่วมมาตรการแก้ไขปัญหาหนี้สิน ซึ่งเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2567 โดยอาจต้องเร่งสื่อสาร พร้อมมีแนวทางการปิดจบหนี้ที่เหมาะสมกับลูกหนี้รายกรณีเพื่อให้การ ดำเนินมาตรการ ประสบความสำเร็จ และเกิดประโยชน์กับทุกภาคส่วน การเจ็บป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังในไตรมาสหนึ่ง ปี 2567 เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ ยังต้องให้ความสำคัญกับ การระบาดของโรค COVID-19 โรคไข้หวัดใหญ่ และโรคไข้เลือดออก ที่คาดการณ์ว่าจะพบผู้ป่วยมากขึ้น ในปี 2567 รวมถึงการเจ็บป่วยด้วยโรคไตเรื้อรังเพิ่มขึ้น การเฝ้าระวังพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่ไม่ปรุงสุก ซึ่งเสี่ยงป่วยด้วยโรคไข้หูดับ และความครอบคลุมของวัคซีนหัดในประเทศไทยยังต่ำไตรมาสหนึ่ง ปี 2567

การเจ็บป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังเพิ่มขึ้นร้อยละ 80.1 จากการเพิ่มขึ้นของโรคที่ระบาด ต่อเนื่องจากไตรมาสสี่ ปี 2566 ได้แก่ โรคไข้หวัดใหญ่ และโรคไข้เลือดออก ขณะที่สุขภาพจิตพบปัญหาเพิ่มขึ้น

โดยในด้านสุขภาพมีประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญ คือ1) โรคที่เฝ้าระวังเป็นพิเศษ ซึ่งคาดการณ์ว่าจะเกิดการระบาด ในปี2567 สามโรค คือ COVID-19 โรคไข้หวัดใหญ่ และไข้เลือดออก 2) การเจ็บป่วยด้วยโรคไตเรื้อรังเพิ่มขึ้น 3) การเฝ้าระวังพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่ไม่ปรุงสุก ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความเสี่ยงต่อการป่วยด้วยโรคไข้หูดับ และ 4) ความครอบคลุมของวัคซีนหัดในประเทศไทยยังต่ำ

ซึ่งทำให้หลายพื้นที่เสี่ยงต่อการระบาดเพิ่มขึ้น การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่เพิ่มมากขึ้น โดยต้องสร้างความตระหนักถึงผลกระทบของ ควันบุหรี่มือสอง และต้องให้ความสำคัญกับการเกิดโรคมะเร็งที่มีสาเหตุมาจากบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.5 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของการบริโภค เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ร้อยละ 7.7 เนื่องจากประชาชนมีการทำกิจกรรมเฉลิมฉลองในช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมา

ขณะที่การบริโภคบุหรี่ลดลงร้อยละ 1.0 มีประเด็นต้องติดตามและเฝ้าระวังคือ 1) ผลกระทบของควันบุหรี่ มือสอง ซึ่งการศึกษาพบว่าคนไทยเสียชีวิตจากควันบุหรี่มือสอง 9,433 คนต่อปี สูงกว่าประเทศสหรัฐอเมริกาที่มี ผู้เสียชีวิต 7,300 คนต่อปีและ 2) การเกิดโรคมะเร็งที่มีสาเหตุมาจากบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จากข้อมูล ขององค์กรนานาชาติเพื่อการวิจัยด้านมะเร็ง พบว่า ในปี2563 มีผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ ประมาณ 741,000 คน ทั่วโลก

มีสาเหตุหลักจากการดื่มแอลกอฮอล์เกินค่า 2 หน่วยดื่มมาตรฐาน สอดคล้องกับข้อมูลกรมการแพทย์ ที่พบคนไทยป่วยด้วยโรคมะเร็งตับมากที่สุดในกลุ่มโรคมะเร็ง ส่วนหนึ่งเกิดจากการบริโภคแอลกอฮอล์เป็นประจำ ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ในไตรมาสหนึ่ง ปี2567 ชะลอตัว

และมีประเด็นที่ต้องให้ ความสำคัญ คือ การตกเป็นเหยื่อล่วงละเมิดทางเพศ การหลอกลวงทางโทรศัพท์ที่ยังคงเพิ่มสูงขึ้น และความเสี่ยง ต่อการเกิดอุบัติเหตุจากการใช้รถโดยสารสาธารณะ ไตรมาสหนึ่ง ปี 2567 คดีอาญารวมเพิ่มขึ้น ร้อยละ 7.9 จากไตรมาสเดียวกันของปี 2566 เนื่องจาก การเพิ่มขึ้นทั้งจากคดียาเสพติด ร้อยละ 6.2 คดีประทุษร้ายต่อทรัพย์ ร้อยละ 16.5 และคดีชีวิต ร่างกาย และเพศ ร้อยละ 9.8

ด้านการรับแจ้งอุบัติเหตุทางถนน มีการรับแจ้งผู้ประสบภัยสะสมรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.8 จากไตรมาส เดียวกันของปี 2566 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของผู้บาดเจ็บสะสม ร้อยละ 7.0 ขณะที่ผู้เสียชีวิตสะสม ลดลงร้อยละ 2.9 และผู้ทุพพลภาพสะสม ลดลงร้อยละ 32.7

ทั้งนี้ ประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญ ได้แก่ 1) การตกเป็นเหยื่อ ล่วงละเมิดทางเพศ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 พบผู้ถูกล่วงละเมิดทางเพศเพิ่มขึ้นร้อยละ 41.4 จาก ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 โดยเด็กเป็นกลุ่มที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศมากที่สุดร้อยละ 78.9 ของผู้ถูกล่วงละเมิดทางเพศ ทั้งหมด ซึ่งผู้กระทำส่วนใหญ่เป็นคนภายในครอบครัว/คนใกล้ชิด

2) การหลอกลวงทางโทรศัพท์ยังคงเพิ่มสูงขึ้น 3 ในปี 2566 พบว่า คนไทยได้รับสายโทรเข้าและข้อความ (SMS) หลอกลวงมากที่สุดในเอเชีย จำนวน 78.8 ล้านครั้ง เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 18.0 จากปี 2565

3) ความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุของผู้ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 พบว่า มีจำนวนผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะรวมกัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 105.2 จากปีงบประมาณ พ.ศ. 2565

ขณะเดียวกัน ข้อหาที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของรถโดยสาร สาธารณะที่มีการร้องเรียนมากที่สุด คือ การขับรถประมาทน่าหวาดเสียว การไม่หยุดรับ – ส่งผู้โดยสารที่ป้ายหยุดรถ และการบรรทุกผู้โดยสารเกินจำนวนที่นั่ง การร้องเรียนผ่าน สคบ. และสำนักงาน กสทช. ลดลง

อย่างไรก็ตาม ยังมีประเด็นที่ต้องติดตาม เกี่ยวกับความเสี่ยงจากการถูกหลอกลวงให้รับ/จ่ายบิลออนไลน์และปัญหาบริการทัวร์ท่องเที่ยวไม่ตรงปก หรือผิดกฎหมาย ไตรมาสหนึ่ง ปี 2567 การรับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่ ผ่านมาร้อยละ 52.7

โดยการร้องเรียนสินค้าและบริการผ่าน สคบ. และการร้องเรียนในกิจการโทรคมนาคมของ สำนักงาน กสทช. ลดลงร้อยละ 54.2 และ 12.7 ในเกือบทุกประเภทสินค้าและบริการ

อย่างไรก็ตาม ยังมีประเด็นที่ ต้องติดตามและให้ความสำคัญ คือ 1) ความเสี่ยงจากการถูกหลอกลวงให้รับ/จ่ายบิลออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชัน ขายสินค้าออนไลน์ซึ่งผู้ใช้บริการอาจมีความเสี่ยงต่อการถูกหลอกให้โอนเงินหรือถูกนำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้ ประโยชน์อื่นได้

2) ปัญหาบริการทัวร์ท่องเที่ยวไม่ตรงปกหรือผิดกฎหมาย ซึ่งคิดเป็นกว่าร้อยละ 85.9 ของ เรื่องร้องเรียนตามข้อมูลของสภาองค์กรของผู้บริโภค (ตุลาคม 2565 – มกราคม 2567) และมีมูลค่าความเสียหาย รวมกว่า 67 ล้านบาท

Mental Health ปัญหาสำคัญที่ต้องเฝ้าระวัง ปัญหาสุขภาพจิตยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในสังคมไทย โดยข้อมูลจากกรมสุขภาพจิต พบว่า มีผู้ป่วยจิตเวชเข้ารับบริการเพิ่มขึ้น จาก 1.3 ล้านคน ในปี 2558 เป็น 2.9 ล้านคน ในปี 2566

ซึ่งหากพิจารณา ในรายละเอียด จะพบประเด็นที่มีความน่ากังวล ดังนี้ 1) แม้ว่าประเทศไทยจะมีผู้ป่วยเข้ารับการรักษา 2.9 ล้านคน แต่ผู้มีปัญหาอาจมากถึง 10 ล้านคน ทำให้สัดส่วนผู้มีปัญหาสูงกว่าค่าเฉลี่ยระดับโลก และสะท้อนให้เห็นว่ายังมี ผู้ที่ไม่ได้เข้ารับรักษาเป็นจำนวนมาก

2) ผู้มีความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิตมีสัดส่วนสูงเช่นกัน โดยระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2566 – 22 เมษายน 2567 พบผู้มีความเครียดสูงถึงร้อยละ 15.48 เสี่ยงซึมเศร้า ร้อยละ 17.20 และเสี่ยง ฆ่าตัวตายร้อยละ 10.63 ซึ่งแย่ลงกว่าในช่วงปีที่ผ่านมา

3) ปัญหาสุขภาพจิตไม่เพียงกระทบต่อตนเอง แต่ยังส่งผลต่อ เศรษฐกิจมากกว่าที่คาดคิด องค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่า ภาวะซึมเศร้าและความวิตกกังวลของประชากร ทั่วโลก ทำให้วันทำงานหายไปประมาณ 12 พันล้านวัน สร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจมูลค่ากว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ สหรัฐ

4) เกือบ 1 ใน 5 ของผู้มีปัญหาสุขภาพจิตไม่สามารถดูแลตนเองได้ ทำให้ครัวเรือนต้องจัดหาผู้ดูแล และเป็นการสูญเสียทรัพยากรบุคคลเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ ยังมีผู้ป่วยจิตเวชที่มีความเสี่ยงสูงต่อการก่อ ความรุนแรง (SMI-V) ไม่ถึง 1 ใน 4 ที่ได้รับการติดตามดูแลและเฝ้าระวังตามแนวทางที่กำหนด

5) สภาพทาง เศรษฐกิจและสังคมที่มีความกดดันส่งผลให้คนไทยเป็นโรคซึมเศร้าและโรควิตกกังวลมากขึ้น ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 พบสัดส่วนผู้ป่วยกลุ่มโรควิตกกังวลและโรคซึมเศร้า สูงเป็น 2 อันดับแรก สูงกว่าผู้ป่วยติดยาบ้าและ ยาเสพติดอื่น ๆ รวมกัน

6) การฆ่าตัวตายสูงใกล้เคียงกับช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 พบว่า มีผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายอยู่ที่ 7.94 ต่อประชากรแสนคน ใกล้เคียงช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง (8.59 ต่อประชากรแสนคน)

7) ปัญหาสิ่งแวดล้อม เป็นปัจจัยภายนอกที่ส่งผลต่อสุขภาพจิตภายใน จากการศึกษาในประเทศอังกฤษ พบว่า มลพิษทางอากาศส่งผลให้เกิดภาวะซึมเศร้าในเยาวชนเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.0 ซึ่งไทยต้องเฝ้าระวังเนื่องจากกำลัง ประสบปัญหาฝุ่น PM 2.5 สูงเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก 4

นอกจากนี้ หากพิจารณาตามช่วงวัย พบว่า 1) วัยเด็กและเยาวชนมีปัญหาสุขภาพจิตที่น่ากังวลหลายเรื่อง โดยเฉพาะความเครียด ซึ่งมีสาเหตุหลักจากการเรียนและความคาดหวังด้านการทำงานในอนาคต และสถานะ ทางการเงินของครอบครัว นอกจากนี้การกลั่นแกล้งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะซึมเศร้า

2) วัยทำงาน ความรับผิดชอบสูง และหลายปัญหารุมเร้า บริษัท Kisi พบว่า ในปี 2565 กรุงเทพฯ อยู่ในอันดับ 5 จาก 100 เมืองทั่วโลกที่มีผู้คนทำงานหนักเกินไป สอดคล้องกับมหาวิทยาลัยมหิดล ที่พบว่า คนกรุงเทพฯ 7 ใน 10 หมดไฟ ในการทำงาน อีกทั้ง ข้อมูลจากสายด่วน 1323 ของกรมสุขภาพจิต พบว่า ปี 2566 วัยแรงงานขอรับบริการเรื่อง ความเครียด วิตกกังวล ไม่มีความสุขในการทำงานถึง 5,989 สาย จากทั้งหมด 8,009 สาย

3) ผู้สูงวัยต้องอยู่กับ ความเหงาและโดดเดี่ยว สูญเสียคุณค่าในตนเอง ในปี 2566 พบว่า ผู้สูงอายุร้อยละ 84.93 มีความสุขในระดับที่ดี แต่จะลดน้อยลงตามวัย ส่วนหนึ่งเกิดจากการขาดกิจกรรมและบทบาททางสังคม อีกทั้ง ยังพบผู้สูงอายุที่ต้อง อยู่คนเดียวเพิ่มขึ้น และมีผู้สูงอายุอีก 8 แสนคน มีภาวะความจำเสื่อม ซึ่งส่วนใหญ่มีปัญหาสุขภาพจิตด้านอื่นร่วมด้วย

สถานการณ์ข้างต้นสะท้อนให้เห็นว่า ปัญหาสุขภาพจิตต้องได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง ดังนี้1) การป้องกัน ต้องสร้างความเข้มแข็งให้สถาบันทางสังคม โดยเฉพาะสถาบันครอบครัว เน้นเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดี อาทิ การพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้สึก การเลี้ยงดูเชิงสร้างสรรค์

สถาบันการศึกษา ต้องเสริมสร้างความรู้ด้านสุขภาพจิต ผ่านการเรียนการสอน รวมถึงการเฝ้าระวังพฤติกรรมเสี่ยงและให้ความช่วยเหลือเยียวยาแก่นักเรียน/นักศึกษา สถานที่ทำงาน ต้องสร้างสภาพแวดล้อมและระบบการทำงานที่ดีและลดความเสี่ยงด้านสุขภาพจิต และสถาบันชุมชน ต้องส่งเสริมการพัฒนาและจัดบริการสุขภาพจิตในชุมชน

2) การรักษา เร่งเพิ่มบุคลากรด้านสุขภาพจิตให้เพียงพอ รวมทั้งขยายบริการการรักษาผู้ป่วยจิตเวชในสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด อีกทั้งต้องนำเทคโนโลยี ดิจิทัลมาใช้ให้มากขึ้น เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการบริการ

3) การติดตามและฟื้นฟูเยียวยา ต้องจัดทำ ฐานข้อมูลกลางด้านสุขภาพจิตที่ครอบคลุม เร่งติดตามผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงก่อความรุนแรงให้ได้รับการรักษาต่อเนื่อง รวมทั้งพัฒนาระบบสวัสดิการชุมชนและสังคม ในการส่งเสริมการฟื้นฟูสภาพจิตใจและขับเคลื่อนงานด้านสุขภาพจิต

ปัจจุบันประเทศไทยอยู่ระหว่างการเร่งผลักดันนโยบายส่งเสริมการมีลูกโดยมีเป้าหมายไปที่คนมีคู่เพื่อ แก้ปัญหาเด็กเกิดน้อย อย่างไรก็ตาม ข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน (SES) ปี2566 กลับ พบว่า คนไทยครองตัวเป็นโสดมากขึ้น คิดเป็นร้อยละ 23.9 และหากพิจารณาเฉพาะช่วงวัยเจริญพันธุ์จะมีสัดส่วน มากถึงร้อยละ 40.5 สูงกว่าภาพรวมประเทศเกือบเท่าตัว และเพิ่มขึ้นจากปี2560 (ร้อยละ 35.7)

โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อ การเป็นคนโสดแบ่งได้เป็น 4 ด้าน คือ 1) ค่านิยมทางสังคมของการเป็นโสดยุคใหม่ อาทิ“SINK (Single Income, No Kids)” หรือคนโสดที่มีรายได้และไม่มีลูก” เน้นใช้จ่ายเพื่อตนเอง

จากข้อมูล SES ในปี2566 พบว่า สัดส่วนคนโสด SINK สูงขึ้นตามระดับรายได้“PANK (Professional Aunt, No Kids)” หรือกลุ่มผู้หญิงโสดอายุ 30 ปีขึ้นไป ที่มี รายได้/อาชีพการงานดีและไม่มีลูก” ที่ให้ความสำคัญกับการดูแลหลาน/เด็กในครอบครัวรอบตัว

โดยคนโสด PANK มีจำนวน 2.8 ล้านคน ส่วนใหญ่มีรายได้ดีและจบการศึกษาสูง และ“Waithood”กลุ่มคนโสดที่เลือกจะรอคอยความรัก เนื่องจากความไม่พร้อม/ไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ ส่วนหนึ่งสะท้อนได้จากคนโสดร้อยละ 40 ที่มีรายได้ต่ำสุด โดยมีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 37.7 ส่วนใหญ่เป็นเพศชายมากถึงร้อยละ 62.6 มีระดับการศึกษาที่ไม่สูงนัก ทำให้ความสามารถ ในการหารายได้จำกัด

2) ปัญหาความต้องการ/ความคาดหวังที่ไม่สอดคล้องกัน เป็นผลจากความคาดหวังทางสังคม และทัศนคติต่อการมองหาคู่ของคนที่เปลี่ยนแปลงไป โดยบริษัทมีทแอนด์ลันช์สาขาประเทศไทย (2021) พบว่า ผู้หญิงกว่าร้อยละ 76.0 จะไม่เดทกับผู้ชายที่มีรายได้น้อยกว่า และร้อยละ 83.0 ไม่คบกับผู้ชายที่มีส่วนสูงน้อยกว่า ขณะเดียวกัน ผู้ชายร้อยละ 59.0 จะไม่คบกับผู้หญิงตัวสูงกว่า และอีกว่าร้อยละ 60.0 ไม่เดทกับผู้หญิงที่เคยหย่าร้าง

3) โอกาสในการพบปะผู้คน โดยในปี2566 คนโสดมีชั่วโมงการทำงานสูงกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งประเทศ อีกทั้ง กรุงเทพฯ ยังจัดอยู่ในอันดับที่ 5 ของเมืองที่แรงงานทำงานหนักที่สุดในโลก ทำให้คนโสดไม่มีโอกาสในการมองหาคู่ และ 4) นโยบายส่งเสริมการมีคู่ของภาครัฐยังไม่ต่อเนื่องและครอบคลุมความต้องการของคนโสด โดยนโยบาย 5 ส่งเสริมการมีคู่ของไทยในช่วงที่ผ่านมายังมีไม่มากนัก โดยเน้นไปที่กลุ่มคนโสดที่มีความพร้อม

ขณะที่ ในต่างประเทศ มีแนวทางการส่งเสริมการมีคู่ที่ครอบคลุมไปถึงการบรรเทาภาระค่าใช้จ่าย และการสร้างโอกาสในการมีคู่ ทั้งนี้ มีแนวทางสนับสนุนให้คนมีคู่ ดังนี้ 1) การสนับสนุนเครื่องมือการ Matching คนโสด โดยภาครัฐอาจ ร่วมมือกับผู้ให้บริการ/พัฒนาแพลตฟอร์ม เพื่อส่งเสริมให้คนโสดสามารถเข้าถึงได้มากขึ้น

2) การส่งเสริมการมี Work-life Balance ทั้งในภาครัฐและเอกชน ทำให้คนโสดมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และเพิ่มโอกาสให้คนโสดมีเวลา ทำกิจกรรมที่ชอบและพบเจอคนที่น่าสนใจมากขึ้น

3) การยกระดับทักษะที่จำเป็นในการทำงาน เพิ่มโอกาส ความก้าวหน้าในอาชีพการงานและรายได้ซึ่งคนโสดยังมีโอกาสพบรักจากสถานศึกษาได้อีกด้วย

4) การส่งเสริม กิจกรรมและการมีส่วนร่วมทางสังคมอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้คนโสดมีโอกาสพบปะและสร้างความสัมพันธ์ใหม่ ๆได้

“แซนด์วิช เจเนอเรชั่น” มักใช้เรียกคนที่อยู่ตรงกลางที่ต้องรับผิดชอบดูแลทั้งพ่อแม่สูงอายุและลูกของตนเอง ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากประชากรสูงวัยทั่วโลกที่เพิ่มขึ้น ขณะที่วัยแรงงานมีจำนวนลดลงหรือเท่าเดิม ทำให้ประชากร ของหลายประเทศกลายเป็นคน Sandwich Generation

สำหรับประเทศไทย การศึกษาถึงคนกลุ่มนี้ในปัจจุบัน ยังจำกัด โดยครัวเรือนขยายที่ประกอบด้วยสมาชิก 3 รุ่นขึ้นไป อาจมีความใกล้เคียงกับครัวเรือน Sandwich

ซึ่งจากข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบลักษณะที่น่าสนใจ ของครัวเรือนดังกล่าว คือ 1) ครัวเรือนไทยที่มีลักษณะเป็น Sandwich มีจำนวนทั้งสิ้น 3.4 ล้านครัวเรือน ในปี 2566 คิดเป็นร้อยละ 14.0 ของครัวเรือนทั้งหมด ลดลงเมื่อเทียบกับปี 2560 โดยส่วนใหญ่เป็นครัวเรือน 3 รุ่น

2) ครัวเรือน Sandwich แม้สมาชิกส่วนใหญ่เป็นวัยแรงงาน แต่มีอัตราการพึ่งพิงสูงกว่าครัวเรือนประเภทอื่น เนื่องจากวัยสูงอายุมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น ขณะที่วัยแรงงานมีสัดส่วนลดลง

3) สมาชิกครัวเรือน Sandwich ส่วนใหญ่ เป็นแรงงานนอกระบบ โดยร้อยละ 47.2 ประกอบอาชีพเกษตรกรรมและเป็นแรงงานทั่วไป ขณะที่หัวหน้า ครัวเรือนร้อยละ 31.9 ทำงานส่วนตัว ทำให้กว่าร้อยละ 80 ขาดหลักประกันรายได้ที่มั่นคงในยามเกษียณ อีกทั้ง ยังเป็นกลุ่มที่มีทรัพย์สินทางการเงินเพื่อการออมน้อย และ

4) ครัวเรือน Sandwich มีสัดส่วนค่าใช้จ่ายต่อ รายได้เพื่อการอุปโภคบริโภคสูงกว่าคนกลุ่มอื่น โดยส่วนใหญ่มีรายได้ไม่สูงนัก เกิดจากระดับการศึกษาต่ำสถานการณ์ข้างต้น

แม้ว่าแนวโน้มครัวเรือน Sandwich จะลดลง แต่คนที่เป็น Sandwich Generation ยังมีภาระที่ต้องแบกรับที่สำคัญ คือ 1) ความเปราะบางทางการเงิน โดยร้อยละ 49.1 ของครัวเรือน Sandwich มีรายได้สุทธิคงเหลือน้อยกว่าร้อยละ 10 และร้อยละ 69.8 ยังมีภาระหนี้สิน อีกทั้ง ภาระหนี้สินต่อรายได้ต่อเดือนยัง สูงกว่าภาพรวมครัวเรือนทั้งประเทศ ส่งผลต่อความสามารถทางการเงินในระยะยาว

2) ผลกระทบต่อสุขภาพ กลุ่มคน Sandwich มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเรื้อรัง และมีสัดส่วนการเป็นหรือเคยเป็นโรค NCDs สูงกว่าค่าเฉลี่ย ของหัวหน้าครัวเรือนทั้งประเทศ นอกจากนี้ ยังประสบปัญหาความเครียดและปัญหาสุขภาพจิต ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการต้องจัดสรรเวลาการทำงานและดูแลสมาชิกในครัวเรือนไปพร้อมกัน

ทั้งนี้ มีแนวทางในการลดภาระที่จะเกิดขึ้นกับครัวเรือน Sandwich คือ 1) การส่งเสริมทักษะทางการเงิน ตั้งแต่ก่อนวัยเกษียณ 2) การส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีงานทำ สำหรับผู้สูงอายุที่ต้องการทำงาน อาทิ การส่งเสริม การฝึกอบรมทักษะแรงงานผู้สูงอายุร่วมกับการจับคู่งานเชิงรุก การเข้าถึงแหล่งทุนเพื่อการประกอบอาชีพ

3) การใช้บริการผู้ช่วยดูแล (Care Assistant) และเทคโนโลยีในการดูแลสมาชิกในครัวเรือน เพื่อช่วยอำนวย ความสะดวก และช่วยสร้างสมดุลระหว่างชีวิตครอบครัวและการทำงานให้กับวัยแรงงาน และ

4) การสนับสนุน ศูนย์ดูแลเด็กและผู้สูงอายุ โดยปรับปรุงศูนย์พัฒนาเด็กและศูนย์บริการผู้สูงอายุของภาครัฐ หรือสนับสนุน ภาคธุรกิจให้ดำเนินกิจการ โดยอาจให้สิทธิประโยชน์ทางกฎหมาย เพื่อกระตุ้นให้เกิดขยายตัวของธุรกิจรับดูแล ในพื้นที่เดียวกัน

“การจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา” ของไทย ยังมีข้อจำกัดด้านความครอบคลุมและครบถ้วน ซึ่งเกิดจาก แรงงานไทยมากกว่าครึ่งเป็นแรงงานนอกระบบ ทำให้การตรวจสอบรายได้มีข้อจำกัดและเป็นช่องโหว่ให้คนบางกลุ่ม เลือกไม่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ฯ

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่คนทั้งหมดที่มีเจตนาไม่ยื่นแบบฯ แต่เป็นผลจาก สาเหตุอื่น อาทิ ขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการยื่นแบบฯ สศช. จึงร่วมกับศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและ ธุรกิจ จำกัด ดำเนินการสำรวจและศึกษาทัศนคติของประชาชนต่อหน้าที่การยื่นแบบฯ และการจ่ายภาษีในกลุ่ม ประชาชนอายุ 25 ปีขึ้นไป

โดยพบว่า มีกลุ่มตัวอย่างเพียงร้อยละ 35.7 ที่ยื่นแบบฯ ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบอาชีพที่มี เงินเดือนประจำ และกว่าร้อยละ 80.8 มีสถานะทางการเงินที่รายได้เพียงพอกับรายจ่าย

ทั้งนี้ กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 50.5 ไม่ได้ยื่นแบบฯ แม้ว่าจะอยู่ในเกณฑ์ที่ต้องยื่นแบบฯ ซึ่งพบว่ากลุ่มนี้ส่วนใหญ่มีระดับการศึกษาไม่เกินมัธยมศึกษา ตอนปลาย/ปวช. เป็นแรงงานนอกระบบ มีรายได้เฉลี่ย 12,115 บาทต่อเดือน อีกทั้ง มากกว่าครึ่งมี การใช้จ่ายแบบเดือนชนเดือน หรือมีรายจ่ายสูงกว่ารายได้

เมื่อพิจารณาระดับความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับภาษีเงินได้ บุคคลธรรมดา พบว่า ภาพรวมคนไทยมีความรู้ในระดับต่ำโดยบางส่วนไม่รู้ว่าการยื่นแบบฯ และเสียภาษีเป็นหน้าที่ ตามกฎหมาย และกว่าร้อยละ 65.6 ไม่ทราบว่าการยื่นแบบฯ ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเสียภาษี

อีกทั้ง มากกว่า ครึ่งไม่ทราบว่า หากมีเงินได้สุทธิไม่เกิน 150,000 บาท จะได้รับการยกเว้นการเสียภาษีด้านทัศนคติเกี่ยวกับ ความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา พบว่า คนไทยส่วนใหญ่มองว่าระบบการจัดเก็บภาษีเงินได้ฯ ในปัจจุบันมีความเป็นธรรมในระดับปานกลางถึงค่อนข้างต่ำ จากประเด็นปัญหา อาทิ ระบบตรวจสอบที่ไม่ครอบคลุม ทำให้มีผู้ที่มีรายได้ถึงเกณฑ์บางส่วนไม่ยื่นแบบฯ

ผู้มีรายได้สูงบางกลุ่มอาศัยช่องโหว่ทางกฎหมายในการหลบเลี่ยงภาษี เกณฑ์เงินได้ขั้นต่ำที่ต้องเสียภาษีต่ำเกินไปไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพในปัจจุบัน

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาความเต็มใจใน การยื่นแบบฯ และเสียภาษีของคนไทย พบว่า ประมาณร้อยละ 70 ของกลุ่มตัวอย่าง เต็มใจที่จะยื่นแบบฯ และเสียภาษี หากมีรายได้ถึงเกณฑ์หรือหากได้รับสวัสดิการที่ดีขึ้น/มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ยังพบว่า 1 ใน 3 ของกลุ่มตัวอย่าง ไม่เห็นด้วยที่จะกำหนดให้ทุกคนที่มีรายได้ต้องยื่นแบบฯ โดยไม่ต้องมีเกณฑ์รายได้ขั้นต่ำ

สำหรับปัจจัยที่จูงใจให้ คนไทยยื่นแบบฯ พบว่า กลุ่มที่มีการยื่นแบบฯ อยู่แล้ว ให้ความสำคัญกับความสะดวกในการกรอกข้อมูลมากที่สุด ขณะที่กลุ่มที่ไม่ได้ยื่นแบบฯ แม้จะมีรายได้ถึงเกณฑ์ต้องการให้ไม่ตรวจสอบข้อมูลภาษีย้อนหลัง และไม่ขอเอกสาร/ หลักฐานเพิ่มเติม

ส่วนปัจจัยที่สามารถจูงใจให้เสียภาษีคือ การมีรายได้มากกว่ารายจ่าย โดยเฉพาะกับกลุ่มที่ไม่ได้ ยื่นแบบฯ แม้จะมีรายได้ถึงเกณฑ์ขณะที่กลุ่มที่ยื่นแบบฯ จะให้ความสำคัญกับการจัดสวัสดิการของรัฐมากกว่า

ดังนั้น การส่งเสริมและพัฒนาการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของไทยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น อาจต้องดำเนินการ ดังนี้ 1) การสร้างความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้แก่ ประชาชน ตั้งแต่วัยเด็ก และมีการสื่อสารอย่างต่อเนื่องด้วยรูปแบบข้อมูลที่เข้าใจง่าย

2) การสร้างการรับรู้เกี่ยวกับ การนำภาษีไปใช้ของรัฐ รวมถึงประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับจากการเสียภาษีโดยการประชาสัมพันธ์ ผลการดำเนินนโยบายและการจัดสวัสดิการที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน การดำเนินนโยบายที่เกิดผลได้อย่างเป็น รูปธรรม และการสื่อสารสถานการณ์การเงินการคลังของประเทศ

3) การมีแนวทางส่งเสริมการเข้าระบบภาษีโดย สมัครใจ อาจพิจารณาการยกเว้นหรือลดบทลงโทษต่าง ๆ รวมถึงมีมาตรการจูงใจอื่น

4) การตรวจสอบและลงโทษ ผู้ที่ปฏิบัติไม่ถูกต้องอย่างเข้มงวด โดยพัฒนาระบบการตรวจสอบให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงอาจมีบทลงโทษ สำหรับผู้ที่จงใจทำผิดเป็นการเฉพาะเพื่อให้เกิดความเกรงกลัว

5) การ อำนวยความสะดวกให้ผู้ยื่นแบบฯ ซึ่งหากพัฒนาระบบให้สามารถประมวลผลข้อมูลรายได้จากแหล่งต่าง ๆ ได้มากขึ้น รวมถึงมีบุคลากรคอยสนับสนุน และช่วยเหลือในแต่ละกระบวนการ

ทั้งนี้ภาครัฐต้องให้ความสำคัญกับการสร้างและกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ รวมถึงดำเนินการ ส่งเสริมให้ประชาชนมีรายได้ที่เพียงพอ เพื่อให้เกิดความพร้อมและความรู้สึกสบายใจในการยื่นแบบฯ และเสียภาษีซึ่งจะเป็นการขยายฐานภาษีและจะเป็นผลดีในระยะยาวสำหรับการออกแบบนโยบายและมาตรการต่าง ๆ ในอนาคต จากการมีฐานข้อมูลที่ครบถ้วนมากขึ้น

Exit mobile version