Onlinenewstime.com : สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แถลงตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ไตรมาสที่สี่ของปี 2566 ทั้งปี 2566 และแนวโน้มปี 2567 โดยมีรายละเอียด ดังนี้
เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สี่ของปี 2566
เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สี่ของปี 2566 ขยายตัวร้อยละ 1.7 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 1.4 ในไตรมาสที่สามของปี 2566 (%YoY) และเมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สี่ ของปี 2566 ลดลงจากไตรมาสที่สามของปี 2566 ร้อยละ 0.6 (%QoQ_SA) รวมทั้งปี 2566 เศรษฐกิจไทยขยายตัวร้อยละ 1.9 ชะลอตัวลงจากการขยายตัวร้อยละ 2.5 ในปี 2565
ด้านการใช้จ่าย การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนและการส่งออกบริการขยายตัวในเกณฑ์สูงต่อเนื่อง การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวเร่งขึ้น ส่วนการส่งออกสินค้ากลับมาขยายตัว ในขณะที่การใช้จ่าย เพื่อการอุปโภคภาครัฐบาลและการลงทุนภาครัฐลดลง
การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ขยายตัวในเกณฑ์สูงร้อยละ 7.4 ต่อเนื่องจากร้อยละ 7.9 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการขยายตัวของการใช้จ่ายในทุกหมวด สอดคล้องกับการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องของการจ้างงานและความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 16 ไตรมาส
โดยการใช้จ่ายในหมวดบริการขยายตัว ในเกณฑ์สูงร้อยละ 12.8 ตามการขยายตัวของการใช้จ่ายในกลุ่มโรงแรมและภัตตาคาร และกลุ่มบริการทางการเงินร้อยละ 35.4 และร้อยละ 7.9 ตามลำดับ การใช้จ่ายหมวดสินค้าไม่คงทนขยายตัวร้อยละ 4.5 เร่งขึ้นจากร้อยละ 4.3 ในไตรมาสก่อนหน้า และเป็นอัตราการขยายตัวสูงสุดในรอบ 37 ไตรมาส ตามการขยายตัวเร่งขึ้นของการใช้จ่ายกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์
การใช้จ่ายในหมวดสินค้าคงทนกลับมาขยายตัว ร้อยละ 3.6 เทียบกับการลดลงร้อยละ 0.1 ในไตรมาสก่อนหน้า และเป็นอัตราการขยายตัวสูงสุดในรอบ 5 ไตรมาส สอดคล้องกับการใช้จ่ายเพื่อซื้อยานพาหนะที่ขยายตัวร้อยละ 4.1 เร่งขึ้นจากร้อยละ 2.8 ในไตรมาสก่อนหน้า
ส่วนการใช้จ่ายหมวดสินค้ากึ่งคงทนขยายตัวร้อยละ 0.3 เทียบกับร้อยละ 1.2 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการชะลอตัวของการใช้จ่ายกลุ่มเสื้อผ้าและรองเท้า สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 55.2 เพิ่มขึ้นจากระดับ 51.7 ในไตรมาสก่อนหน้า สูงสุดในรอบ 16 ไตรมาส
การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคของรัฐบาล ลดลงร้อยละ 3.0 ต่อเนื่องจากการลดลงร้อยละ 5.0 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยรายจ่ายการโอนเพื่อสวัสดิการทางสังคมที่ไม่เป็นตัวเงินสำหรับสินค้าและบริการในระบบตลาดลดลงร้อยละ 14.1 และรายจ่ายค่าซื้อสินค้าและบริการลดลงร้อยละ 8.0 สำหรับอัตราการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำในไตรมาสนี้อยู่ที่ร้อยละ 31.0 (สูงกว่าอัตราเบิกจ่ายร้อยละ 20.5 ในไตรมาสก่อนหน้า แต่ต่ำกว่าร้อยละ 33.4 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน)
รวมทั้งปี 2566 การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนขยายตัวในเกณฑ์สูงร้อยละ 7.1 เทียบกับร้อยละ 6.2 ในปี 2565 ขณะที่การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคของรัฐบาลลดลงร้อยละ 4.6 เทียบกับ การขยายตัวร้อยละ 0.1 ในปี 2565
การลงทุนรวม ปรับตัวลดลงร้อยละ 0.4 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 1.5 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการลดลงของการลงทุนภาครัฐที่ลดลงติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 3 ร้อยละ 20.1 ต่อเนื่องจากการลดลงร้อยละ 3.4 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยเป็นผลจากการลดลงของการลงทุนรัฐบาลร้อยละ 33.5 เนื่องจากความล่าช้าของงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567
ขณะที่การลงทุนรัฐวิสาหกิจขยายตัวร้อยละ 7.0 สำหรับอัตราการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายลงทุนในไตรมาสนี้อยู่ที่ร้อยละ 7.2 (ต่ำกว่าอัตราเบิกจ่ายร้อยละ 20.9 และร้อยละ 20.1 ในไตรมาสก่อนหน้าและในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ) ขณะที่การลงทุนภาคเอกชน ขยายตัวร้อยละ 5.0 เร่งขึ้นจากร้อยละ 3.5 ในไตรมาสก่อนหน้า และเป็นอัตราการขยายตัวสูงสุดในรอบ 5 ไตรมาส
โดยการลงทุนในหมวดเครื่องจักรเครื่องมือขยายตัวร้อยละ 5.2 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 3.5 ในไตรมาสก่อนหน้า ส่วนการลงทุนในหมวดก่อสร้างขยายตัวร้อยละ 3.4 เทียบกับร้อยละ 3.8 ในไตรมาส ก่อนหน้า รวมทั้งปี 2566 การลงทุนรวมขยายตัวร้อยละ 1.2 เทียบกับร้อยละ 2.3 ในปี 2565 โดยการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 3.2 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 4.7 ในปี 2565 ขณะที่การลงทุนภาครัฐลดลงร้อยละ 4.6 เทียบกับการลดลงร้อยละ 3.9 ในปี 2565
ด้านการค้าระหว่างประเทศ การส่งออกสินค้า มีมูลค่า 68,822 ล้านดอลลาร์ สรอ. กลับมาขยายตัวครั้งแรกในรอบ 5 ไตรมาส ร้อยละ 4.6 โดยปริมาณส่งออกกลับมาขยายตัวร้อยละ 3.2 ขณะที่ราคาส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.4 กลุ่มสินค้าที่มีมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้น อาทิ ข้าว (ร้อยละ 43.8) ยางพารา (ร้อยละ 6.5) คอมพิวเตอร์ (ร้อยละ 185.3) ตู้เย็น (ร้อยละ 23.3) ชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้า (ร้อยละ 16.3) ผลิตภัณฑ์โลหะ (ร้อยละ 14.7) ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ยานยนต์ (ร้อยละ 10.7) และผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม (ร้อยละ 52.2)
กลุ่มสินค้าที่มีมูลค่าส่งออกลดลง อาทิ ทุเรียน (ลดลงร้อยละ 51.7) ผลิตภัณฑ์ยำง (ลดลงร้อยละ 18.9) กุ้ง, ปู, กั้ง, และ ล็อบสเตอร์ (ลดลงร้อยละ 7.4) ชิ้นส่วนและอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ (ลดลงร้อยละ 4.9) เครื่องปรับอากาศ (ลดลงร้อยละ 28.8) และรถยนต์นั่ง (ลดลงร้อยละ 7.3) ส่วนการนำเข้าสินค้า มีมูลค่า 65,370 ล้านดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวครั้งแรกในรอบ 3 ไตรมาสร้อยละ 6.1 เทียบกับการลดลงร้อยละ 10.7 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการกลับมาขยายตัวของการส่งออกสินค้า
โดยปริมาณการนำเข้ารวมและราคานำเข้ารวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.3 และร้อยละ 0.7 ตามลำดับ ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 3.5 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (122.6 พันล้านบาท) เทียบกับการเกินดุล 5.4 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (191.8 พันล้านบาท) ในไตรมาสก่อน รวมทั้งปี 2566 การส่งออกสินค้ามีมูลค่า 280,209 ล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลงร้อยละ 1.7 ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 263,237 ล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลงร้อยละ 3.1 ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 17.0 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (597.8 พันล้านบาท)
ด้านการผลิต สาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหาร สาขาการขายส่งขายปลีกและการซ่อมฯ และสาขาขนส่งและสถานที่เก็บสินค้าขยายตัวต่อเนื่อง ในขณะที่สาขาการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม สาขาเกษตรกรรม และสาขาก่อสร้างปรับตัวลดลง
สาขาเกษตรกรรม การป่าไม้ และการประมง ลดลงร้อยละ 0.8 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 1.1 ในไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยส่งผลให้ผลผลิตหมวดพืชผลสำคัญลดลง โดยเฉพาะปาล์มน้ำมัน กลุ่มผลไม้ มันสำปะหลัง อ้อย และข้าวเปลือก เช่นเดียวกับหมวดประมงที่ลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 2 ในขณะที่ผลผลิตหมวดปศุสัตว์ขยายตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 6
ผลผลิตสินค้าเกษตรสำคัญที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ปาล์มน้ำมัน (ลดลงร้อยละ 18.3) กลุ่มไม้ผล (ลดลงร้อยละ 10.0) โดยเฉพาะทุเรียน (ลดลงร้อยละ 61.4) มันสำปะหลัง (ลดลงร้อยละ 14.0) อ้อย (ลดลงร้อยละ 11.1) และข้าวเปลือก (ลดลงร้อยละ 3.7) ตามลำดับ ในขณะที่ผลผลิตสินค้าเกษตรที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ สุกร (ร้อยละ 20.5) โคเนื้อ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.3) ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.5) ตามลำดับ
ส่วนดัชนีราคาสินค้าเกษตรกลับมาขยายตัวครั้งแรกในรอบ 4 ไตรมาส ร้อยละ 0.1 ตามการเพิ่มขึ้นของดัชนีราคาสินค้าสำคัญ อาทิ ข้าวเปลือก (ร้อยละ 16.0) ยางพารา (ร้อยละ 11.4) มันสำปะหลัง (ร้อยละ 12.5) อ้อย (ร้อยละ 11.4) และ ปาล์มน้ำมัน (ร้อยละ 5.6)
อย่างไรก็ตาม ดัชนีราคาสินค้าเกษตรสำคัญบางรายการปรับตัวลดลง ได้แก่ สุกร (ลดลงร้อยละ 37.3) กลุ่มผลไม้ (ลดลงร้อยละ 6.2) และไก่เนื้อ (ลดลงร้อยละ 10.5) การลดลงของดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร ส่งผลให้ดัชนีรายได้เกษตรกรโดยรวมลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 3 ร้อยละ 2.5 รวมทั้งปี 2566 สาขาเกษตรกรรม การป่าไม้ และการประมงขยายตัวร้อยละ 1.9 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 2.5 ในปี 2565
สาขาการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม ลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 5 ร้อยละ 2.4 เทียบกับการลดลงร้อยละ 4.4 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการลดลงของกลุ่มการผลิตที่มีสัดส่วนการส่งออกในช่วงร้อยละ 30 – 60 และกลุ่มการผลิตเพื่อการส่งออก (สัดส่วนส่งออกมากกว่าร้อยละ 60) เป็นสำคัญ สอดคล้องกับการลดลงของดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมร้อยละ 5.1 เทียบกับการลดลงร้อยละ 6.3 ในไตรมาสก่อนหน้า
โดย ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนการส่งออกในช่วงร้อยละ 30 – 60 ลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 3 ร้อยละ 11.0 ต่อเนื่องจากการลดลงร้อยละ 6.5 ในไตรมาสก่อนหน้า และดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมกลุ่มการผลิต เพื่อส่งออก (สัดส่วนส่งออกมากกว่าร้อยละ 60) ลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 8 ร้อยละ 9.9 ต่อเนื่องจากการลดลงร้อยละ 12.0 ในไตรมาสก่อนหน้า
ในขณะที่ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมกลุ่มการผลิตเพื่อบริโภคภายในประเทศ (สัดส่วนส่งออกน้อยกว่าร้อยละ 30) กลับมาขยายตัวครั้งแรกในรอบ 5 ไตรมาส ร้อยละ 1.7 เทียบกับการลดลงร้อยละ 1.0 ในไตรมาสก่อนหน้า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมสำคัญ ๆ ที่ลดลง อาทิ การผลิตยานยนต์ (ลดลงร้อยละ 13.9) การผลิตชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (ลดลงร้อยละ 15.7) การคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วง (ลดลงร้อยละ 18.7) การผลิตน้ำตาล (ลดลงร้อยละ 20.1) และการผลิตเสื้อผ้าเครื่องแต่งกำย (ยกเว้นร้านตัดเย็บเสื้อผ้า) (ลดลงร้อยละ 21.6)
ส่วนดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมสำคัญ ๆ ที่เพิ่มขึ้น อาทิ การผลิตผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม (ร้อยละ 18.7) การปุ๋ยเคมีและสำรประกอบไนโตรเจน (ร้อยละ 30.3) การผลิตสายไฟและเคเบิลฯ (ร้อยละ 36.9) และการผลิตเครื่องประดับเพชรพลอยแท้ฯ (ร้อยละ 15.0)
สำหรับอัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 56.72 ต่ำกว่าร้อยละ 58.02 ในไตรมาสก่อนหน้า และต่ำกว่าร้อยละ 60.32 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน รวมทั้งปี 2566 สาขาการผลิตอุตสาหกรรมปรับตัวลดลงร้อยละ 3.2 เทียบกับเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.7 ในปี 2565 และอัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 59.06 ต่ำกว่าร้อยละ 62.76 ในปี 2565
สาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหาร ขยายตัวร้อยละ 10.0 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 15.0 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการขยายตัวในเกณฑ์สูงของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ และ การขยายตัวต่อเนื่องของการท่องเที่ยวในประเทศ (ไทยเที่ยวไทย) โดยนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยมีจำนวน 8.095 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 49.1
ส่งผลให้มูลค่าบริการรับด้านการท่องเที่ยวในไตรมาสนี้อยู่ที่ 2.77 แสนล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 34.8 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 76.8 ในไตรมาสก่อนหน้า ส่วนการท่องเที่ยวภายในประเทศของนักท่องเที่ยวชำวไทย (ไทยเที่ยวไทย) จำนวน 66.70 ล้านคน-ครั้ง ขยายตัวร้อยละ 14.3 รายรับจากนักท่องเที่ยวชาวไทยอยู่ที่ 2.35 แสนล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 26.4 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 29.0 ในไตรมาสก่อนหน้า
ส่งผลให้ในไตรมาสนี้มีรายรับรวมจากการท่องเที่ยว 5.12 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 30.8 สำหรับอัตราการเข้าพักเฉลี่ยในไตรมาสนี้อยู่ที่ร้อยละ 73.55 สูงกว่าร้อยละ 66.16 ในไตรมาสก่อนหน้า และสูงกว่าร้อยละ 62.64 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน
รวมทั้งปี 2566 สาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหารขยายตัวร้อยละ 18.0 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 34.5 ในปี 2565 โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศมีจำนวน 28.150 ล้านคน ส่งผลให้รายรับรวมจากการท่องเที่ยวมีมูลค่า 1.892 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 62.0 สำหรับอัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 69.22 ซึ่งเป็นอัตราสูงสุดในรอบ 4 ปี
สาขาการขายส่งและการขายปลีก การซ่อมยานยนต์และจักรยานยนต์ เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 11 ร้อยละ 5.1 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 3.3 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการขยายตัวในเกณฑ์ดีของการใช้จ่ายภาคครัวเรือนและภาคบริการด้านการท่องเที่ยว รวมทั้งปี 2566 สาขาการขายส่งและการขายปลีก การซ่อมยานยนต์และจักรยานยนต์ขยายตัวร้อยละ 3.8 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 3.7 ในปี 2565
สาขาการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.7 เทียบกับ การขยายตัวร้อยละ 7.1 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยบริการขนส่งขยายตัวร้อยละ 6.1 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 7.4 ในไตรมาสก่อนหน้า รวมทั้งปี 2566 สาขาการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้าขยายตัวร้อยละ 8.4 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 8.0 ในปี 2565 สาขาการก่อสร้าง ลดลงร้อยละ 8.8 เทียบกับการเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการลดลงของการก่อสร้างภาครัฐ โดยเฉพาะการก่อสร้างของรัฐบาล ในขณะที่การก่อสร้างภาคเอกชนเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 5 รวมทั้งปี 2566 สาขาการก่อสร้างปรับตัวลดลงร้อยละ 0.6 เทียบกับการลดลงร้อยละ 2.4 ในปี 2565
เสถียรภาพทางเศรษฐกิจ อัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 0.81 ต่ำสุดในรอบ 32 ไตรมาส และต่ำกว่าร้อยละ 0.99 ในไตรมาสก่อนหน้า และร้อยละ 1.15 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงร้อยละ 0.5 และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 0.6
ส่วนดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 1.5 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (53.9 พันล้านบาท) เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2566 อยู่ที่ 2.2 แสนล้านดอลลาร์ สรอ. และหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2566 มีมูลค่าทั้งสิ้น 11,084,577.1 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 61.3 ของ GDP
เศรษฐกิจไทยปี 2566
เศรษฐกิจไทยปี 2566 ขยายตัวร้อยละ 1.9 ชะลอลงจากการขยายตัวร้อยละ 2.5 ในปี 2565 ด้านการใช้จ่าย การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนขยายตัวในเกณฑ์สูงร้อยละ 7.1 เร่งขึ้นจากร้อยละ 6.2 ในปี 2565 ส่วนการลงทุนภาคเอกชน และการส่งออกบริการ ขยายตัวร้อยละ 3.2 และร้อยละ 38.3 ชะลอลงจาก ร้อยละ 4.7 และร้อยละ 59.9 ในปี 2565 ตามลำดับ
ขณะที่การส่งออกสินค้าลดลงร้อยละ 1.7 เทียบกับ การขยายตัวร้อยละ 5.4 ในปี 2565 และการลงทุนภาครัฐลดลงร้อยละ 4.6 เทียบกับการลดลงร้อยละ 3.9 ในปี 2565 ด้านการผลิต สาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหาร สาขาเกษตรกรรม การป่าไม้ และการประมง สาขาการขายส่งและการขายปลีก และสาขาการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า ขยายตัวร้อยละ 18.0 ร้อยละ 1.9 ร้อยละ 3.8 และร้อยละ 8.4
เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 34.5 ร้อยละ 2.5 ร้อยละ 3.7 และร้อยละ 8.0 ในปี 2565 ขณะที่สาขาการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมลดลงร้อยละ 3.2 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 0.7 ในปี 2565 และสาขาก่อสร้างลดลงร้อยละ 0.6 ต่อเนื่องจากการลดลงร้อยละ 2.4 ในปี 2565
รวมทั้งปี 2566 ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) อยู่ที่ 17.9 ล้านล้านบาท (5.13 แสนล้านดอลลาร์ สรอ.) เพิ่มขึ้นจาก 17.4 ล้านล้านบาท (4.95 แสนล้านดอลลาร์ สรอ.) ในปี 2565 และผลิตภัณฑ์มวลรวม ในประเทศต่อหัวของคนไทยเฉลี่ยอยู่ที่ 255,867.7 บาทต่อคนต่อปี (7,331.5 ดอลลาร์ สรอ. ต่อคนต่อปี) เพิ่มขึ้นจาก 248,788.6 บาทต่อคนต่อปี (7,094.1 ดอลลาร์ สรอ. ต่อคนต่อปี) ในปี 2565
สำหรับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ อัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 0.98 อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 1.2 และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 1.3 ของ GDP
แนวโน้มเศรษฐกิจไทย ปี 2567
แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2567 คาดว่าจะขยายตัวในช่วงร้อยละ 2.2 – 3.2 (ค่ากลางการประมาณการ ที่ร้อยละ 2.7) โดยมีปัจจัยสนับสนุนสำคัญจาก (1) การกลับมาขยายตัวของการส่งออกสินค้าตามการฟื้นตัวของการค้าโลก (2) การขยายตัวในเกณฑ์ดีของการอุปโภคบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน และ (3) การฟื้นตัว อย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว
ทั้งนี้ คาดว่าการอุปโภคบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนจะขยายตัวร้อยละ 3.0 และร้อยละ 3.5 ตามลำดับ มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวร้อยละ 2.9 ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ในช่วงร้อยละ 0.9 – 1.9 และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 1.4 ของ GDP
รายละเอียดของการประมาณการเศรษฐกิจในปี 2567 ในด้านต่าง ๆ มีดังนี้
1. การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภค (1) การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.0 ต่อเนื่องจากการขยายตัวในเกณฑ์สูงร้อยละ 7.1 ในปี 2566 โดยมีปัจจัยสนับสนุนสำคัญจากตลาดแรงงานที่ยังคงแข็งแกร่ง ความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่สูงขึ้น และแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่อยู่ ในระดับต่ำ
อย่างไรก็ตาม เป็นการปรับลดจากร้อยละ 3.2 ในการประมาณการครั้งก่อน เพื่อให้สอดคล้องกับการลดลงของฐานรำยได้จากการส่งออกและการผลิตอุตสาหกรรมที่ปรับลดลงจากประมาณการครั้งก่อน
และ (2) การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคภาครัฐบาล คาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5 เทียบกับการลดลงร้อยละ 4.6 ในปี 2566 และเป็นการปรับลดจากการเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.2 ในการประมาณการครั้งที่ผ่านมา ตามการลดลงของเม็ดเงินการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำในช่วงสามไตรมาสที่เหลือของปีงบประมาณ 2567 ภายหลังจากการเร่งเบิกจ่ายไปมากในช่วงไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2567
2. การลงทุนรวม คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.5 เร่งขึ้นจากร้อยละ 1.2 ในปี 2566 โดย (1) การลงทุนภาคเอกชน คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.5 ต่อเนื่องจากร้อยละ 3.2 ในปี 2566 และเป็นการปรับเพิ่มจากร้อยละ 2.8 ในการประมาณการครั้งก่อน สอดคล้องกับการปรับตัวดีขึ้นของมูลค่าโครงการที่ขอรับการส่งเสริม การลงทุนและออกบัตรส่งเสริมการลงทุน และการกลับมาขยายตัวของการนำเข้าในหมวดสินค้าทุนและหมวดวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลำง
และ (2) การลงทุนภาครัฐ คาดว่าจะปรับตัวลดลงร้อยละ 1.8 เท่ากับ การประมาณการครั้งก่อน และเป็นการลดลงต่อเนื่องจากการลดลงร้อยละ 4.6 ในปี 2566 โดยเป็นผลมาจากความล่าช้าของกระบวนการจัดทางบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 และการปรับลดอัตราการเบิกจ่าย งบลงทุนของรัฐวิสำหกิจ
3. มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. คาดว่าจะกลับมาขยายตัวร้อยละ 2.9 เทียบกับการลดลงร้อยละ 1.7 ในปี 2566 และปรับลดจากร้อยละ 3.8 ในการประมาณการครั้งที่ผ่านมา โดยคาดว่าปริมาณการส่งออกจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.4 เทียบกับการลดลงร้อยละ 2.9 ในปี 2566
แต่เป็นการปรับลดลงจากร้อยละ 3.3 ในการประมาณการครั้งก่อน สอดคล้องกับการปรับลดสมมติฐานปริมาณการค้าโลก ขณะที่ราคาส่งออกคาดว่าจะเพิ่มขึ้นในช่วงร้อยละ 0.0 – 1.0 เท่ากับประมาณการครั้งก่อน และชะลอลงจากร้อยละ 1.2 ในปี 2566 เมื่อรวมกับการส่งออกบริการที่มีแนวโน้มที่จะขยายตัวอย่างต่อเนื่องตามการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ส่งผลให้ปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการในปี 2567 มีแนวโน้มที่จะขยายตัวร้อยละ 5.0 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 2.1 ในปี 2566 และปรับลดร้อยละ 6.2 ในการประมาณการครั้งก่อน
ประเด็นการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในปี 2567
การบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในปี 2567 ควรให้ความสำคัญกับ
1. การติดตาม ตรวจสอบ และเฝ้าระวังการทุ่มตลาด รวมทั้งการใช้มาตรการและวิธีการทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมจากประเทศผู้ส่งออกสำคัญ ควบคู่ไปกับการทบทวนมาตรการทางภาษีให้มีความเหมาะสม และการปรับปรุงกระบวนการตรวจสอบคุณภาพสินค้านำเข้าให้มีความรัดกุมมากขึ้น รวมทั้งการดำเนินการ อย่างเคร่งครัดกับผู้กระทำความผิดลักลอบนำเข้าสินค้าที่ผิดกฎหมาย หลบเลี่ยงภาษี หรือใช้ช่องว่างทางกฎหมาย ต่ำง ๆ เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับธุรกิจ
2. การยกระดับศักยภาพการผลิตและเพิ่มขีดความสามารถให้แก่ผู้ประกอบการภายในประเทศ โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) โดยมุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานสินค้าผ่านการใช้นวัตกรรม เทคโนโลยี และความคิดสร้างสรรค์ เพื่อเป็นกลไกหลักในการสร้างมูลค่าเพิ่มและ สร้างเอกลักษณ์ของสินค้าให้ตรงตามความต้องการของตลาดและพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป
รวมทั้งใช้ประโยชน์จากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีมาเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ ควรสร้างการรับรู้และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการธุรกิจ SMEs เตรียมความพร้อมในการเข้าถึงสินเชื่อดิจิทัลแฟ็กเตอริงเพื่อเป็นทางเลือกในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนอีกทาง
3. การขับเคลื่อนการส่งออกสินค้าที่มีศักยภาพและเป็นที่ต้องการของตลาดโลกเพิ่มขึ้น อาทิ สินค้าที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสินค้าที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์อันเนื่องมาจาก ความไม่แน่นอนจากความขัดแย้งในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ รวมทั้งสินค้าที่มีโอกาสได้รับประโยชน์จากมาตรการกีดกัน ทางการค้า
ขณะเดียวกันควรเร่งรัดการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการผลิตวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง ในประเทศให้มีความพร้อมในการรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมเป้าหมาย และสามารถเชื่อมโยงสินค้าที่ผลิตได้ภายในประเทศกับห่วงโซ่การผลิตโลกได้มากขึ้น
นอกจากนี้ ควรให้ผู้ประกอบการสินค้าที่มีสัญญาณการลดลงของความต้องการในตลาดโลกและมีอัตราการใช้กำลังการผลิตต่ำต่อเนื่องพิจารณาทบทวนและปรับเปลี่ยนแผนการผลิตและการส่งออกสินค้า ควบคู่ไปกับการปรับโครงสร้างการผลิตไปสู่การใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูง
เพื่อนำไปสู่การผลิตสินค้ามูลค่าสูงที่สามารถหลีกเลี่ยงการแข่งขันด้านราคา และมีมาตรฐานตรงตามความต้องการของตลาดและข้อกำหนดของประเทศผู้นำเข้า รวมถึงการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนผ่านของเทคโนโลยีการผลิตโดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคอุตสาหกรรมให้สำมารถปรับตัว สู่ภาคการผลิตในอนำคต
4. การเร่งรัดให้ผู้ประกอบการที่ได้รับอนุมัติและออกบัตรส่งเสริมการลงทุนในช่วงปี 2564 – 2566 ควบคู่ไปกับการเร่งรัดอนุมัติโครงการที่ได้เสนอขอรับการส่งเสริมการลงทุนในช่วงก่อนหน้า รวมทั้งการเร่งรัดให้ผู้ประกอบการโรงงานที่ได้รับใบอนุญำตประกอบกิจการโรงงานสำมารถเริ่มประกอบกิจการให้เร็วขึ้น โดยเฉพาะโรงงานขนาดกลางและขนาดใหญ่
เพื่อให้เกิดการเพิ่มกำลังการผลิต การจ้างงาน และการลงทุนใหม่ นอกจากนี้ ยังควรมุ่งเน้นแก้ไขปัญหาที่นักลงทุนและผู้ประกอบการต่างประเทศเห็นว่าเป็นอุปสรรคต่อการลงทุนและ การประกอบธุรกิจที่สำคัญ โดยเฉพาะขั้นตอนกระบวนการ และข้อบังคับ/กฎหมาย รวมทั้งปัญหำการขำดแคลนแรงงานในภาคการผลิต ควบคู่ไปกับการพัฒนากำลังแรงงานเพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย
5. การจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ โดยจัดทำปฏิทินการท่องเที่ยวตลอดทั้งปี และการสร้างการรับรู้ต่อมาตรการ Long-term resident visa (LTR) เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวที่มีศักยภาพและมีกำลังซื้อสูงโดยเฉพาะกลุ่มที่ต้องการเข้ามาพำนักระยะยาว
นอกจากนี้ ควรเร่งรัดการส่งเสริมการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวให้มากขึ้นโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากประเทศในเอเชีย ยุโรปและอเมริกาเหนือ รวมทั้งการเตรียมความพร้อมของปัจจัยแวดล้อมทางกายภาพที่สำคัญ อาทิ สนามบิน/เที่ยวบิน กระบวนการตรวจคนเข้าเมือง โครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวก การบริหารจัดการพื้นที่และสิ่งแวดล้อม
รวมทั้งการรักษามาตรฐาน ความปลอดภัยทั้งชีวิตและทรัพย์สินของนักท่องเที่ยว เพื่อรองรับการกลับมาของนักท่องเที่ยวและยกระดับศักยภาพและฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยวให้มีคุณภาพและยั่งยืน
6. การดำเนินมาตรการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันแก่เกษตรกรผ่านการส่งเสริมรูปแบบและพัฒนาระบบประกันภัยพืชผลจากความเสี่ยงของสภาพอำกำศให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งการเพิ่มส่วนแบ่งให้เกษตรกรมีรายได้จากการจำหน่ายผลผลิตขั้นสุดท้ายมากขึ้น
ควบคู่ไปกับการส่งเสริมให้มีการปลูกพืชและใช้วิธีการผลิตที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ และปรับเปลี่ยนไปสู่การผลิตที่มีมูลค่าสูง ขณะเดียวกัน ควรมุ่งเน้น การส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมเพื่อยกระดับมูลค่าเพิ่มและผลิตภาพในการผลิต การกระจายความเสี่ยง ในการผลิตอย่างเหมาะสมและสนับสนุนความสามารถในการแข่งขันของสินค้าในภาคเกษตร
7. การรักษาแรงขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ โดยให้ความสำคัญกับ (1) การเร่งรัดเบิกจ่ายจากงบประมาณรายจ่ายเหลื่อมปีและงบลงทุนรัฐวิสาหกิจในช่วงที่พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ยังไม่มีผลบังคับใช้
(2) การเร่งรัดกระบวนการงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 ไม่ให้ล่าช้าไปกว่าแผนที่กำหนดไว้ ควบคู่ไปกับการเตรียมความพร้อมของโครงการให้มีความพร้อมสำหรับการจัดซื้อจัดจ้างและการเบิกจ่ายได้โดยเร็วหลังจากพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 มีผลใช้บังคับ
และ (3) การติดตามเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณและการใช้จ่ายภาครัฐ เพื่อให้งบประมาณประจำปี 2567 สามารถเบิกจ่ายได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 90.4 ของงบประมาณรายจ่ายทั้งหมด โดยแบ่งเป็น อัตราเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำร้อยละ 97.0 และงบประมาณรายจ่ายลงทุนร้อยละ 65.0 ตามลำดับ
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
19 กุมภาพันธ์ 2567